ThaiPublica > สู่อาเซียน > AJBM เวทีแลกเปลี่ยนธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น-อาเซียน ผ่านความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน

AJBM เวทีแลกเปลี่ยนธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น-อาเซียน ผ่านความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน

26 พฤศจิกายน 2017


ดร.ทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการฝ่ายไทยกล่าวเปิดการประชุม AJBM ครั้งที่ 43

จากการย้ายฐานการค้าการลงทุนเข้าไทยและอาเซียนด้วยปัจจัยด้านต้นทุนเมื่อ 30 ปีก่อน กลับกลายเป็นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางธุรกิจของญี่ปุ่นกับไทยและญี่ปุ่นกับอาเซียนด้วยการพูดคุยแบบเพื่อนฝูง ผ่านการกระชับความสัมพันธ์ในเวที AJBM

การลงทุนของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่องนับตั้งแต่คลื่นลงทุนระลอกแรกในช่วงปี 2528-2533 ภายหลังจากการทำข้อตกลงในสนธิสัญญาพลาซ่าในปี 2528 (ค.ศ. 1985) ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นโยกย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย เพื่อรักษาสถานะทางการแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นในด้านต้นทุนการผลิต

ความร่วมมือทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นและอาเซียนกับญี่ปุ่น เริ่มขึ้นก่อนมีการย้ายฐานการลงทุน ดังจะเห็นได้จากการประชุม  ASEAN-Japan Business Meeting (AJBM) ที่เป็นการประชุมของภาคเอกชนระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2517 ต่อเนื่องทุกปี และในปีนี้เป็นปีที่ 43

การประชุม  ASEAN–Japan Business Meeting (AJBM) เป็นเวทีหารือเรื่องการพัฒนาการดำเนินกิจการและความร่วมมือของธุรกิจภาคเอกชน ระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและนักธุรกิจจาก ASEAN ได้จัดต่อเนื่องมาทุกปี มีการหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างประเทศญี่ปุ่นและสมาชิกอาเซียน

AJBM เป็นการสัมมนาและการประชุมระดับนานาชาติสำหรับการสนทนา แลกเปลี่ยนความคิด และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่นและอาเซียนในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การพัฒนาความร่วมมือในเอเชีย การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในระยะหลังได้รับความร่วมมือจากองค์กร Japan External Trade Organization (JETRO) เข้าร่วมจัดประชุมด้วย

ปีนี้ คณะกรรมการ AJBM ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN–Japan Business Meeting ครั้งที่ 43 ในหัวข้อ “Deepening ASEAN-Japan Economic Partnership Through Promotion of Tourism and Related Industries” ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน  2560  ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่มากขึ้นในด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆระหว่างประเทศญี่ปุ่นและอาเซียน และระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการของคณะกรรมการฝ่ายไทย เปิดเผยว่า การประชุม AJBM จะมีลักษณะพิเศษตรงที่ว่าเป็นการพบปะขององค์กรธุรกิจไม่ใช่บริษัท แต่เป็นผู้นำองค์กรธุรกิจในญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ดังนั้น ในการประชุมจะไม่คำนึงถึงว่าใครอยู่บริษัทอะไร และไม่เกี่ยวข้องกับนโยบาย โดยที่การประชุมแต่ละครั้งจะพิจารณาหัวข้อที่สร้างความร่วมมือทางธุรกิจ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยการออกความเห็นอย่างเสรีของสมาชิก

การประชุม AJBM มีองค์กร Keizai Doyukai องค์กรสำคัญของภาคธุรกิจของญี่ปุ่นซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ บริษัทต่างๆ  เป็นตัวแทนฝ่ายญี่ปุ่น (องค์กร Keizai Doyukai ก่อตั้งมานานแล้ว 100 ปี เป็นองค์กรที่คู่ขนาน Kei Danren) ขณะที่ตัวแทนของสมาชิกอาเชียนประกอบด้วยนักธุรกิจชั้นนำของแต่ละประเทศในอาเชียน

การประชุม AJBM ปีนี้ตรงกับไทยเป็นเจ้าภาพ ครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคือ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ AJBM มีการสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ โดยอาเซียนเป็นเจ้าภาพ 2 ปี ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ 1ปี

ดร.ทนง เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายไทยมา 6-7 ปี เปิดเผยต่อว่า จากการได้เข้าร่วมประชุม AJBM ในญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ เห็นได้ว่า AJBM มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนกับการสร้างสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจโดยตรง แต่เป็นความสัมพันธ์ที่คุยกันแบบเปิดเผย เมื่อต้องการจะทำธุรกิจร่วมกันก็มีการคุยกันแบบเพื่อนฝูงและความสัมพันธ์เหล่านี้ก็แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ

“หากวัดความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่น อาเซียนกับญี่ปุ่น และระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง จากการประชุม AJBM ที่จัดขึ้น 43 ครั้งแล้ว นับว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมที่เพิ่มเป็นกว่า 300 คนจาก 100 กว่าคน แสดงให้ว่ามีการให้ความสำคัญกับการประชุมแบบไม่เป็นทางการ การสร้างความสัมพันธ์ระดับบุคคล ทั้งการแลกเปลี่ยนธุรกิจ ที่ผ่านการคุยกันแบบเพื่อนฝูง มีการท่องเที่ยวไปมาหาสู่กัน มีการสร้าง connection และ network ระหว่างคนด้วยกัน”

ดร.ทนงกล่าวว่า การประชุม AJBM ได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดย JETRO ได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการประชุมในวันที่ 2 ของการประชุมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ซึ่ง JETRO นอกจากเชิญตัวแทนซึ่งเป็นธุรกิจญี่ปุ่นมาร่วมการประชุมแล้วยังจัดกิจกรรมการประชุมเพื่อเสริมกับสิ่งที่ AJBM ทำและเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่สนใจจะไปลงทุนในญี่ปุ่น

การที่มี JETRO เข้ามาร่วมทำให้กิจกรรมนี้ยกระดับขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปีที่แล้วมีการประชุมที่ฮอกไกโด JETRO ได้นำผู้เข้าประชุมไปเยี่ยมชม SME ของญี่ปุ่น ชมโรงเรียนสอนการทำเกษตร เพื่อให้รู้ถึงวิธีการและแนวทางผลักดันให้คนฮอกไกโดมีความรู้ยกระดับขึ้นเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งไปเยี่ยมชมการท่องเที่ยวและโรงงานมากมาย ซึ่งเกิดจาก SME ทั้งนั้น

“เราก็มีความหวังว่าการท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่การท่องเที่ยวเท่านั้น แต่รวมไปถึงอุตสาหกรรมบริการทั้งหมด สิ่งที่นักท่องเที่ยวใช้ จับจ่ายใช้สอย เช่น นักท่องเที่ยวซื้อไหมไทยก็ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทย ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านทำ เช่น ผลไม้อบแห้ง การท่องเที่ยวไม่ได้จำกัดแค่การเที่ยว  การท่องเที่ยวคือประสบการณ์ชีวิตแบบหนึ่ง การมาหาชีวิตแบบชนบทไทย แบบคนไทย แบบญี่ปุ่น แบบอินโดนีเซีย แบบประเทศต่างๆ สร้างอุตสาหกรรมตามมามาก ตอนนี้จึงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เยอะมากของประเทศ”

สำหรับเป้าหมายของการประชุม ดร.ทนงกล่าวว่า ไม่ได้มุ่งหวังด้านตัวเลข เพราะตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอยู่แล้วในทุกประเทศ หัวใจสำคัญคือ การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนในอาเซียนเข้าด้วยกันและหวังว่าจะเพิ่มขึ้นตามมา

จากการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าประชุมทุกคนเริ่มมองเห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนสภาพไปมาก สภาพที่หนึ่งคือสภาพปกติที่มีอยู่ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมา สินค้าบริการเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงมาตลอด สิ่งที่ตามมาคืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคือ อุตสาหกรรมสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพกลายเป็นหัวใจหลัก จะเห็นได้คนมีเงินในต่างประเทศที่มารักษาในไทยพาครอบครัวมาด้วย ถือโอกาสท่องเที่ยวในไทย

อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพโตเร็วมาก มีหลายโรงพยาบาลที่รับนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากระยะแรกที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีเงินจากตะวันออกกลาง ระยะหลังเป็นนักท่องเที่ยว พม่า บังกลาเทศ จีน  ทำให้อุตสาหกรรมนี้ในไทยโตกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

อีกด้านหนึ่งคืออุตสาหกรรมทางเลือกการแพทย์ทางเลือก ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก ในการประชุมวันที่ 2 จึงได้นำผู้เข้าร่วมประชุมไปเยี่ยมชมกิจกรรมแพทย์ทางเลือก เช่น สปา รวมทั้งไปเยี่ยมชมสถานีสนามไชย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายซึ่งเป็นสถานีที่สวยที่สุด เพื่อให้เห็นว่าไทยพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าใปเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว

ผู้ที่เข้าประชุมในครั้งนี้มีตัวแทนจากธุรกิจท่องเที่ยวราว 4-5 คน และที่เหลือมาจากธุรกิจประเภทอื่น โดย Keizai Doyukai ส่งสมาชิกมาเข้าประชุม 40 กว่าคน ซึ่งผู้ที่มาร่วมประชุมนี้ต้องการที่จะทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนที่จับคู่กันได้ และเพื่อการสังสรรค์ การทำความรู้จักกับนักธุรกิจด้วยกัน ที่จะนำไปสู่การร่วมมือระหว่างกันได้

ดร.ทนงกล่าวว่า การท่องเที่ยวขยายตัวโดยธรรมชาติของตัวเอง แต่ไทยพยายามเน้นถึงความสำคัญ การพัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วย เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีผลลงไปถึงประชาชนระดับรากหญ้า อุตสาหกรรมประเภทอื่นที่มีส่วนต่อเศรษฐกิจก็มีผลต่อคนในระดับข้างบน การส่งออกก็มีผลในระดับบน แต่การท่องเที่ยวลงไปถึงทุกคน

ญี่ปุ่นสนใจ EEC แต่ขอชัดเจน

ดร.ทนงกล่าวว่า ญี่ปุ่นให้ความสนใจนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย ดังจะเห็นจากการที่สมาชิก Kei Danren จำนวนร่วม 600 คน เข้ามาเยี่ยมชม EEC ทั้ง 3 จังหวัด ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็เป็นการเยี่ยมชมพื้นด้าน Logistics ทั้งสนามบิน ท่าเรือ และยังไม่มีความชัดเจนด้านพื้นที่ที่จะใช้ตั้งโรงงานหรือ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

“EEC ต้องมี Model ที่ดีพอ ตอนนี้กฎหมายยังไม่ชัดเจน อุดมการณ์ชัดเจน วิธีการทำให้สำเร็จยังไม่ชัดเจน การวางแผนยังไม่เสร็จดี แต่มีการทำ road show ให้ทุกคนรู้จัก EEC รู้จัก Thailand 4.0 หมดแล้ว แต่ภาคปฏิบัติยังดึงออกมาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นเอาสมาชิก Kei Danren มาเยี่ยมชมพื้นที่ EEC ถึง 600 คน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และไทยจัดนักธุรกิจไทย 600 คนมา match กันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

การลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นในไทยในช่วง 30 กว่าปีนี้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายประเภทในภูมิภาคเอเชีย และญี่ปุ่นยังลงทุนโดยรวมในไทยมากที่สุดในอาเซียน แต่การลงทุนใหม่ๆ ญี่ปุ่นเริ่มสนใจประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเพื่อเป็นจุดย้ายการลงทุน คือ อินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และเวียดนาม อย่างไรก็ตามเป็นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งไม่เหมาะกับไทยแล้ว เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ราคาถูกๆ

ยอดเงินคงค้างการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในไทย การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในไทย สิ้นไตรมาส 2 ปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 79,237.49 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากยอดคงค้างของทั้ง 2559 ที่มีจำนวน 72,756.49 ล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด

ประเทศไทยต้องยกระดับสินค้าตัวเองขึ้นมา เพราะโดยธรรมชาติอุตสาหกรรมต้องมีการยกระดับเทคโนโลยีในการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อให้แข่งขันกับในโลกได้

นอกจากนี้ หากไทยต้องการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น AI, Robotic เพื่อเป็นฐานในการผลิตของ Hi-tech industry ก็ต้องตรียมความพร้อมในหลายด้าน ได้แก่ หนึ่ง ทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องมีความเข้าใจ เรียนรู้ในสิ่งที่นักลงทุนทำ ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีเพราะทำอยู่แล้วในญี่ปุ่น แต่การที่จะย้ายฐานการผลิตมาต้องมี ทรัพยากรมนุษย์ด้านนี้รองรับ ส่วนการย้ายพนักงานญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในไทยก็ไม่คุ้มค่า

ตัวอย่าง R&D ที่มีผลดีต่อการสร้างอุตสาหกรรม คือ  KIST หรือ Korea Institute of Science and Technology ของเกาหลีใต้ เป็นสถาบันวิจัยเพียงแห่งเดียว แต่สนับสนุนเอกชนทั่วประเทศ และวิจัยครอบคลุมทุกด้าน

ดร.ทนงกล่าวต่อว่า ไทยยังต้องมีนวัตกรรมเพื่อผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ให้ประสบความสำเร็จ โดยหัวใจหลักของนวัตกรรมมีด้วยกัน 3 ข้อ คือ หนึ่ง สิ่งประดิษฐ์ มีคนคิดขึ้นมา สอง ต้องมีเทคโนโลยีทำให้เหมาะสมให้สู้กับโลกได้ สาม ลูกค้าต้องการซื้อ ที่ผ่านมาไทยมักมีไม่ครบทั้ง 3 ข้อ เพราะขาดการวิจัยที่ต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ให้สามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ หรือขาดข้อใดข้อหนึ่งมาตลอด ยกเว้น สินค้าเกษตร สินค้าเพื่อการบริการที่มีนวัตกรรม  แต่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงกลับไม่มีนวัตกรรม

เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงอาเซียน

ดร.ทนง ให้ความเห็นถึงภาวะเศรษฐกิจไทยว่า จากประมาณการณ์ล่าสุดเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ใกล้  4% ปีหน้าก็น่าจะเติบโตได้ 4.5-5% ถือว่าเศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงกับอาเซียน

เศรษฐกิจเมื่อเริ่มเติบโตได้ใกล้ 4% จะเริ่มกลับไปที่จุด take off ใหม่ คือ จุดที่จะเริ่มเติบโตขึ้นไปได้ใหม่ มีแรงผลักดันขึ้นจากการส่งออก แม้การขยายตัวของการส่งออกระยะแรกจะไม่มีผลต่อคนในระดับรากหญ้านัก แต่ระยะยาวอำนาจการบริโภคจากในเมืองจะเริ่มลงมาข้างล่าง แม้ใช้เวลาก็ดีกว่าที่การส่งออกไม่โต

“ตอนนี้ระดับรากหญ้ากำลังจะดีขึ้น รัฐบาลกำลังทำอยู่ เมื่อเห็นว่าสามารถทำให้การส่งออกโตขึ้น สามารถทำให้จีดีพีโตขึ้นได้ใกล้ 4% เริ่มเห็นความหวังที่จะดันรากหญ้า ผมเชื่อว่ารัฐบาลกำลังมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่แนวทางจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ตอนนี้เศรษฐกิจไทยโตใกล้ 4% ปีหน้าน่าจะได้ 4.5-5% ตอนนี้เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงกับอาเซียน Momentum แบบนี้สร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจ ก็จะทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทุกคนมีอาชีพ”

ประเทศไทยขณะนี้ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง มีทุนสำรองระดับ 200 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงมาก ซึ่งทำให้สร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลมีสิทธิที่จะลงทุนเพิ่ม มีสิทธิที่จะจ้างงานเพิ่ม สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือสร้างงานในต่างจังหวัดให้ได้ เพราะประเทศไทยถึงจุดที่อุตสาหกรรมในชนบทจะต้องโต อุตสาหกรรมในชนบทหมายถึงศูนย์ต่างๆ ในภูมิภาค เช่น โคราช ขอนแก่น ลำปาง เชียงใหม่ นครสวรรค์ ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของจังหวัดรอบๆ เป็นการสร้างความเติบโตในระดับรากหญ้า

สำหรับในปีหน้าประเด็นที่ต้องจับตา คือ ยุโรป ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นตัวเต็มที่หรือไม่ เมื่อไร แค่ไหน เพราะปัญหา Brexit ยังไม่จบ แม้สหรัฐอเมริกาฟื้นแล้ว ปัญหาในยุโรปยังแก้กันไม่ดีพอ ก็จะเป็นตัวถ่วงของโลกได้ ส่วนจีนก็เริ่มสร้างภาวะสร้างความเข้มแข็งกลับมาใหม่แม้จะโตไม่มาก ขณะที่อาเซียนโตเร็วมาก อินเดียโตเร็วที่สุดในโลก เอเชียโตเร็วที่สุดในโลก ฉะนั้น ไทยจะได้ผลพวงจากเอเชียที่โตเร็วที่สุดในโลก แม้ไทยจะโตต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียนแต่ก็ตามได้