ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์รายงาน การว่างงานไตรมาส 3 สูงสุดตั้งแต่เกิดโควิด ครัวเรือนก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

สภาพัฒน์รายงาน การว่างงานไตรมาส 3 สูงสุดตั้งแต่เกิดโควิด ครัวเรือนก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

22 พฤศจิกายน 2021


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/64

สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19

ภาพรวมการจ้างงาน

ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ ซึ่งมีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ที่ลดลงถึงร้อยละ 7.3 และ 9.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมการเปิดปิดสถานประกอบการ ทั้งการปิดแคมป์คนงาน และจากัดการขายอาหาร สาหรับสาขาที่ขยายตัวได้ ประกอบด้วย สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 0.2 และ 4.6 ตามลำดับ สาขาการผลิตที่มีการจ้างงานขยายตัวได้ดี อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงการทำงานหลักโดยเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน (ผู้มีงานทำที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาทิ ลาหยุด ลาป่วย ถูกพักงาน หรือสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคน เท่านั้น

การว่างงาน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.63 รองลงมาเป็น ปวส. ร้อยละ 3.16 ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัดและคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีอายุ 15 19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 9.74 รองลงมาเป็นอายุ 20 24 ปี ที่ร้อยละ 8.35 สะท้อนว่า COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน

การว่างงานของแรงงานในระบบ มีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 2.47 ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบกับสถานประกอบการมีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน

ที่มาภาพ:https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5491&filename=socialoutlook_report

ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
1. การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดือนตุลาคม ศบค. เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ และมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้
1) การควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาด ที่ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น
2) การหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ซึ่งอาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศดังกล่าว
3) การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานให้กับภาคการท่องเที่ยวซึ่งอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มเดิมที่ถูกเลิกจ้างในช่วง COVID-19 มีการเปลี่ยนอาชีพ และ
4) การดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กันไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากโครงการจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ฉบับใหม่ ซึ่งต้องเน้นให้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

2. ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วงที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ทั้งนี้ อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนาไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตรอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ สถานการณ์ ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564) ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ และทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 3,246 ครัวเรือน ซึ่งอาจต้องมีการช่วยเหลือเยียวยา ความเสียหายด้วยเช่นกัน

3. ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจาก การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต และกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาในการดำรงชีพ

4. การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน แรงงานมีการว่างงานยาวนานขึ้นและธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ทำให้แรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะของตนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น (รูปแบบการทำงาน และเทคโนโลยี) ในระยะถัดไป ภาครัฐอาจส่งเสริมให้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น

5. การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีแรงงานเกือบ 7 ล้านคนได้สมัครเป็นผู้ประกันตนของมาตรา 40 จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นผู้ประกันตน และหามาตรการจูงใจเพื่อโน้มน้าวแรงงานให้คงสถานะเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง

หนี้สินครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่อง

หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านคุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น

ไตรมาสสอง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้านคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็น ไตรมาสที่สองติดต่อกันจากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อนมาเป็นร้อยละ 3.51 รวมถึงลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี

หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก
1) ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชาระหนี้ของครัวเรือน และ
2) ผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่
1. หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น
2. การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัจจุบันที่หนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้
3. การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562

ที่มาภาพ:https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5491&filename=socialoutlook_report

จับตา “LONG COVID”

การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อ COVID-19 หรือ “LONG COVID”
ไตรมาสสาม ปี 2564 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 46.1 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค ยกเว้นโรคปอดอักเสบที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูฝนและการติดเชื้อ COVID-19 ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยโรคหัด ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ลดลงร้อยละ 93.0 89.2 88.0 และ 73.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังผลจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งอาจทำให้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อ COVID-19 หรือ “LONG COVID” ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อ COVID-19

ที่มาภาพ:https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5491&filename=socialoutlook_report

  • สถิติฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ในวิกฤติ… “ต้มย้ำกุ้งและโควิด-19”
  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง

    ไตรมาสสาม ปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 2.0 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 2.1 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าทดแทน อาทิ ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงอาจส่งผลต่อการลับลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีฯ อาจไม่ช่วยลดการสูบบุหรี่เท่าที่ควร ดังนั้น ต้องมีการควบคุมสินค้าที่มาทดแทนควบคู่ ไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีและลดอัตราการเป็นโรคจากการสูบบุหรี่ ได้อย่างแท้จริง

    ที่มาภาพ:https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5491&filename=socialoutlook_report

    คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ที่เป็นการกระทำผิดมากที่สุดของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีจับกุมการเสพยาเสพติดซึ่งมากที่สุดของคดียาเสพติดทั้งหมด จึงต้องมีมาตรการป้องกันเหตุที่เข้มงวดมากขึ้น

    ไตรมาสสาม ปี 2564 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดี ยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ขณะที่คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ รับแจ้ง 3,085 คดี ลดลงร้อยละ 14.7 ซึ่งในช่วงที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเข้มงวด พบการกระทำผิดในคดีลักทรัพย์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.4 ของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ทั้งหมด และในส่วนของคดียาเสพติด มีการจับกุมในคดีเสพยาเสพติดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52.3 ของคดียาเสพติดทั้งหมด จึงต้องมีมาตรการในการป้องกันเหตุที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่อาจเพิ่มความถี่ในการออกตรวจจุดเสี่ยง ตั้งจุดตรวจสกัด เน้นการตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย

    ที่มาภาพ: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5491&filename=socialoutlook_report

    การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง การลดความสูญเสียต้องเริ่มต้นด้วยการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเล็กให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ มีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ

    ไตรมาสสาม ปี 2564 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 24.6 และ 31.3 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 19.3 รองลงมาเป็นขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 18.1 จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ThaiRSC รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ช่วง 9 เดือนของปี 2564 พบว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเป็นเด็กและเยาวชนรวม 10,959 ราย บาดเจ็บรวม 687,254 ราย นับเป็นการสูญเสียโอกาส ในการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการสูญเสียจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็ก รวมทั้งการปลูกฝังวินัยจราจร พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การแก้ปัญหา สร้างจิตสำนึกในการใช้ถนนที่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็กเล็กเพื่อให้เกิดการตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง

    ที่มาภาพ: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5491&filename=socialoutlook_report