ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > เปิดเรียน On-site 1 พ.ย. ศธ. โยนภาระ “ผู้ปกครอง-ผอ.รร.” แบกรับมาตรการเข้มโควิด-19

เปิดเรียน On-site 1 พ.ย. ศธ. โยนภาระ “ผู้ปกครอง-ผอ.รร.” แบกรับมาตรการเข้มโควิด-19

1 พฤศจิกายน 2021


ที่มาภาพ : กระทรวงศึกษาธิการ

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระดมฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 12-18 ปีมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงข่าวประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ภาคเรียนที่ 2/2546 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยประกาศ ศธ. ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เงื่อนไขของมาตรการ แนวปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ และรายละเอียดต่างๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน (อ่านรายละเอียดเกณฑ์ปฏิบัติในล้อมกรอบ)

ต่อประเด็นการเปิดเรียนแบบ on-site ผู้ปกครองรายหนึ่งเล่าว่ามีลูกเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เพิ่งได้รับอนุญาตจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ให้เปิดเรียนแบบ on-site ตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร สร้างความสับสนให้กับผู้ปกครองนักเรียนว่าจะต้องส่งบุตรหลานของตนเองไปเรียนแบบ on-site ที่โรงเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้หรือไม่ โดยเฉพาะนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษา ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนใดๆ เลย ทำให้ทางโรงเรียนต้องเชิญผู้ปกครองมาประชุมเพื่อชี้แจง ทางโรงเรียนยืนยันว่าจะเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2564 ทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ไปก่อน และคาดว่าจะเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบของ on-site ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 หากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนจะแจ้งผู้ปกครองให้ทราบต่อไป

พร้อมแจ้งว่าสำหรับผู้ปกครองที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียน ทางโรงเรียนขอปรับค่าบริการเพิ่มขึ้นอีก 50% เช่น เคยเสียค่าบริการรถรับ-ส่งนักเรียนเทอมละ 7,000 บาท ปรับเพิ่ม 10,500 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากทางโรงเรียนต้องปฏิบัติตามประกาศหรือข้อกำหนดของมาตรการป้องกันโรค จึงต้องจัดที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่าง ทำให้โรงเรียนมีต้นทุนสูงขึ้นจากการเพิ่มจำนวนรถรับส่งนักเรียนและคนขับรถ ส่วนค่าเทอมนั้น ภาคเรียนที่ 1 ของปี 2564 ทางโรงเรียนได้ปรับลดค่าเทอมลงมา 25% เช่น ค่าเทอม 20,000 บาท ปรับลดลงมาเหลือ 15,000 บาท เนื่องจากโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ไม่ได้เปิดแอร์ ส่วนเทอมที่ 2 อาจจะต้องมีการปรับค่าเทอมขึ้น

ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในต่างจังหวัดให้ข้อมูลว่า จากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้เปิดโรงเรียนแบบ on-site ในวันที่ 1 พ.ย. นั้น ให้ความเห็นว่าทางกระทรวงศึกษาธิการโยนภาระการตัดสินใจให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรับผิดชอบ เนื่องจากเงื่อนไขการเปิด รร. ได้หรือไม่ต้องได้รับการประเมินความพร้อมโดย Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งเงื่อนไขของ TSC+ มีทั้งสิ้น 6 มิติ 44 ข้อที่ต้องปฏิบัติ จึงจะสามารถผ่านเกณฑ์เพื่อเปิดเรียนแบบ on-site ได้

“ตอนนี้ครูในโรงเรียนหารือกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรหากจะต้องเปิดเรียนแบบ on-site และจะต้องตรวจ ATK นักเรียนทุกคนหรือไม่และต้องตรวจทุกสัปดาห์ตลอดเวลาที่เปิดเรียนแบบ on-site หรือไม่ แล้วค่าใช้จ่ายในส่วนของ ATK เป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันกระทรวงศึกษาให้ค่าใช้จ่ายรายหัวต่อนักเรียนต่อเทอม เด็กอนุบาล 1,700 บาท/คน/เทอม ส่วนเด็กประถมชั้นที่ 1-6 1,900 บาท/คน/เทอม ซึ่งวงเงินนี้รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ หากจะต้องตรวจ ATK ด้วย โดยเฉพาะเด็กอนุบาลซึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน จะตรวจอย่างไร ก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีเงินก็ต้องขอรับบริจาค นี่คือสภาพการศึกษาของไทยวันนี้ ดังนั้น วันนี้จึงต้องเลื่อนการเปิดเรียนแบบ on-site ออกไปก่อน เพราะยังไม่มีความพร้อมด้วยเกณฑ์ 44 ข้อที่เข้มงวด แต่บางโรงเรียนในพื้นที่ที่มีนักเรียนเป็น 100 ขึ้นไป ก็มีการเปิดเรียนวันที่ 1 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นอำนาจการตัดสินของผู้อำนวยการโรงเรียน”

ทางด้านโรงเรียนหอวัง ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ในเขตจตุจักร มีนักเรียนราว 4,000 คน ได้เปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 พฤศจิกายน แบบ online โดยผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายประวัติ สุทธิประภา
ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 เรื่องการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 และการรับเอกสารประกอบการเรียน มีข้อความว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงมีการ

แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ประกอบกับนักเรียนจำนวนทั้งหมด 3,801 คน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 1 จำนวน 3,236 คน คิดเป็นร้อยละ 84.09 โดยมีกำหนดได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันโรคมากขึ้นนั้น โรงเรียนหอวังจึงขอเรียนให้ทราบว่า ในภาคเรียนที่ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล ในรูปแบบ online, on air, on hand และ on demand ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป และจะพิจารณาการจัดการเรียนการสอน on-site ตามแนวปฏิบัติของกระทรงศึกษาธิการ และจะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบต่อไป

ต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โรงเรียนได้แจ้งด่วน ถึงครูและบุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียน ว่าด้วยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ขอให้โรงเรียนสำรวจความคิดเห็นต่อการเปิดภาคเรียนตามปกติ (on-site) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดขอโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เก็บข้อมูลโดยการสุ่มจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ครูและบุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียน โรงเรียนจึงขอความร่วมมือครูและบุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียน ในการตอบแบบสำรวจ ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น.

อย่างไรก็ตาม ณ เย็นวันที่ 31 ตุลาคม ผู้ปกครองยังไม่ได้รับการแจ้งผลการสำรวจ และการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนแบบออนไลน์

นอกจากนี้ โรงเรียนยังคงดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับนักเรียน ม.4-ม.6 อย่างต่อเนื่อง

  • เปิดเทอมวันแรก รร.สังกัด สพฐ. 12,000 แห่ง เปิด On-Site สธ.จี้ อย.เร่งขึ้นทะเบียนไฟเซอร์ฉีดเด็ก 5-11 ปี
  • การประเมินความพร้อมโดย Thai Stop Covid Plus (TSC+) 6 มิติ 44 ข้อ

    …….

      เกณฑ์ปฏิบัติสาระสำคัญ 5 ส่วน ของศธ.

      ส่วนที่ 1 เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox Safety Zone in School โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ on-site แบ่งตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

      ส่วนที่ 2 เงื่อนไขข้อกำหนด ของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ)

      ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

      ส่วนที่ 4 มาตรการตามแผนเผชิญเหตุ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา

      ส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

      ในการเปิดเรียนแบบ on-site โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ขณะที่ครูและบุคลากรในพื้นที่อื่นๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด แต่ ศธ. ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองเอง

      ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะนี้กำลังสำรวจจำนวนโรงเรียนว่า ในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้จะใช้รูปแบบใด โดยพบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ on-site 100% หรือ on-site ส่วนใหญ่ รวมกว่า 10,000 โรงเรียน มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังไม่ให้เปิดแบบ on-site ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ แต่ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 15 พ.ย. แทน อย่างไรก็ตามจะปิดเทอม 2/2564 พร้อมกันในวันที่ 1 เม.ย. 2565

      สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสิ้น 869 แห่ง ตอบแบบสอบถามมา 832 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ 531 แห่งขอใช้รูปแบบผสมผสานคือมีทั้ง on-site และ online รองลงมา 192 แห่ง ขอใช้รูปแบบ online 100% และจำนวน 109 แห่งขอใช้ on-site 100%

      รมว. ศธ. กล่าวว่า ระหว่างภาคการศึกษา โรงเรียนหรือสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งรูปแบบ on-site หรือ online หรือแบบผสมผสาน (hybrid) โดยนักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด รวมถึงมีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง มีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ small bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน และจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือพื้นที่แยกกักชั่วคราว พร้อมทั้งมีแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษามีการติดเชื้อโควิด 19 หรือมีผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด ควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น และหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่างๆ จะปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด

      ทั้งนี้ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย 1. Distancing เว้นระยะห่าง 2. Mask wearing สวมหน้ากาก 3. Hand washing ล้างมือ 4. Testing คัดกรองวัดไข้ 5. Reducing ลดการแออัด 6. Cleaning ทำความสะอาด

      ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น คือ 1. Self-care ดูแลตนเอง 2. Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3. Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4. Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5. Check สำรวจตรวจสอบ และ 6. Quarantine กักกันตัวเอง