ThaiPublica > คอลัมน์ > Khashoggi กับความรวยชั่วคราว

Khashoggi กับความรวยชั่วคราว

16 มิถุนายน 2013


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ในทศวรรษ 1970 และ 1980 ชื่อของ Adnan Khashoggi นักค้าอาวุธ นักธุรกิจ ตัวกลางค้าขายเชื่อมซาอุดิอาระเบียกับโลกตะวันตกโลดแล่นว่าเป็นมหาเศรษฐีที่ทรงอิทธิพลและรวยที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบันหลังจากติดคุกในสวิสเซอร์แลนด์ หนีคดีในอเมริกาอยู่หลายปี ความมั่งคั่งล้นฟ้าที่ว่านั้นก็หายไปพร้อมกับชื่อเสียง

Khashoggi ปัจจุบันอายุ 78 ปี เกิดในซาอุดิอาระเบีย เชื้อสายตุรกี พ่อเป็นหมอที่มีชื่อเสียง เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของ King Abdul Aziz Al Saud สมาชิกราชวงศ์และเศรษฐี แม้กระทั่งเป็นหมอประจำตัวพ่อของ Osama Bin Laden ผู้เป็นมหาเศรษฐีก่อสร้าง น้องสาวของ Khashoggi คนหนึ่งเป็นภรรยาของ Mohammed Al-Fayed และเป็นแม่ของ Dodi Fayed ผู้เสียชีวิตพร้อมกับเจ้าหญิง Diana

เขาเรียนหนังสือในอเมริกาตั้งแต่ยังเด็ก เรียนหลายมหาวิทยาลัยแต่ไม่จบเพราะออกมาเป็นนักธุรกิจเสียก่อนเพราะเห็นช่องทางเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในต้นทศวรรษ 1970

Khashoggi มีเครือข่ายกว้างขวางในซาอุดิอาระเบียเพราะเรียนหนังสือและเป็นเพื่อนสนิทกับเจ้าชายหลายองค์ เขาเป็นตัวแทนของหลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้กับซาอุดิอาระเบีย

สมบัติสำคัญของเขาก็คือเครือข่ายสัมพันธ์กับคนสำคัญในยุคนั้นทั้งด้านอาวุธ น้ำมัน และอสังหาริมทรัพย์ เขามีเพื่อนเป็นผู้นำประเทศ เศรษฐี ดาราภาพยนตร์ ภาพที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาก็คือเป็นคนรวยที่สุดในโลก วันหนึ่งใช้เงิน 250,000 เหรียญสหรัฐ (10 ล้านบาทในอัตราแลกเปลี่ยนสมัยนั้น) เพื่อรับรองแขก ทั้งจัดหาความสะดวกสบาย จัดหาหญิงงามจากทั่วโลกให้เพื่อน ๆ และคู่ค้าธุรกิจ แนะนำช่องทางทำมาหากิน ขยายมิตรไมตรีไปทั่ว ว่ากันว่าเขาเป็นยอดในเรื่องการจัดการกับผู้คนเช่นนี้

โลกก็ฮือฮาในภาพลักษณ์ของเขา ภาพเขาปรากฏบนปกของนิตยสาร Time, Newsweek หลายครั้ง ใคร ๆ ก็เรียกหาแต่เขา ตัวเลขความรวยที่อ้างอิงกันก็คือเขามีทรัพย์สินสุทธิมูลค่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท)

 Adnan Khashoggi  ที่มาภาพ : http://frombrusselstobeirut.files.wordpress.com
Adnan Khashoggi ที่มาภาพ : http://frombrusselstobeirut.files.wordpress.com

การใช้ชีวิตที่หรูหรา การมอบของขวัญล้ำค่าให้เพื่อน ปาร์ตี้ที่ใช้เงินครั้งละนับล้านเหรียญ (ครั้งหนึ่งมีงานอยู่ 5 คืนติดกัน) มีบ้านอยู่ทั่วโลกกว่า 12 หลัง (ที่นิวยอร์กเป็นเจ้าของ 16 อพาร์ทเม้นท์ติดกันเป็นบล็อก) ทำให้เขาต้องใช้จ่ายเงินมากมหาศาล

ชีวิตเขาผันผวนในปลายทศวรรษ 1980 อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายที่สุดหรูหรา การตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด และการไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์อื้อฉาว 2 เหตุการณ์ คือ การซ่อนสมบัติของมหามิตร คือ Ferdinand Marcos และกรณี Iran-Contra

เมื่อรัฐบาลอเมริกันพยายามคืนสมบัติที่ Ferdinal และ Imelda Marcos ฉ้อฉลมาจากประชาชนฟิลิปปินส์ก็พบว่าทรัพย์สินกว่า 160 ล้านเหรียญ ซึ่งประกอบด้วยภาพเขียนล้ำค่าที่ถูกลักลอบมาจาก Metropolitan Musem of Manila และอสังหาริมทรัพย์ที่แอบซ่อนทรัพย์ไว้นั้น Khashoggi เป็นผู้เก็บไว้โดยมีการทำเอกสารซื้อขายย้อนหลังเพื่ออำพรางความฉ้อฉล หลังจากต่อสู้กันอยู่นานหลายปี Khashoggi ก็หลุดพ้นคดี

ส่วนเรื่อง Iran-Contra นั้น รัฐบาลอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี Reagan แอบขายอาวุธให้อิหร่านอย่างผิดกฎหมายเพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน และเอาเงินนี้ส่งต่อไปช่วยกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ในนิการากัว ในเรื่องนี้ Khashoggi มีบทบาทเป็นนายหน้าค้าขายคนสำคัญ

เมื่อชื่อเสียงหายไป มิตรภาพและเครือข่ายก็หายไปด้วย พร้อมกับทรัพย์สินมหาศาลที่เขาเคยมีซึ่งร่อยหรอลงไปจากการใช้จ่ายสูงและการลงทุนที่ผิดพลาด ปัจจุบันเขาต้องขายบ้านไปเกือบทั้งหมด รวมทั้งเรือยอร์ชที่ถือกันว่าราคาแพงที่สุดในโลกในสมัยนั้น โดยขายให้ Donald Trump ในราคาเพียง 30 ล้านเหรียญ จากราคาจริง 70 ล้านเหรียญ

ปัจจุบัน Khashoggi มีคดีหนีเงินค่าหุ้นรวมดอกเบี้ยเกือบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เจ้าหนี้ต้องต่อสู้โดยใช้ปัญหาทางเทคนิคกฎหมายในการบังคับให้ใช้หนี้ข้ามประเทศ ปัจจุบันเขาต้องเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่ในยุโรป ถึงคาดว่าจะมีทรัพย์สินแอบไว้บ้างแต่ก็ไม่มีชีวิตเหมือนอดีตแม้แต่น้อย

สิ่งที่ชายผู้สูงเพียง 160 เซนติเมตร เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เป็นนักธุรกิจที่ไม่เก่งแต่เป็นมหาเศรษฐี เป็นนักจัดการความสัมพันธ์และเป็นนักประชาสัมพันธ์ชั้นยอดทิ้งเป็นบทเรียนแก่ชาวโลกก็คือ “ของจริง” เท่านั้นที่เป็นสิ่งที่คงทนต่อวันเวลา

ความมั่งคั่งร่ำรวยนั้นทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่หลงใหลได้ปลื้ม หวือหวาชื่นชมกับชื่อเสียงและอำนาจที่ตามมา แต่เมื่อความผันผวนมาเยือน ในที่สุดมนุษย์ก็มีโอกาสเห็นสาเหตุแห่งความล่มสลายซึ่งหมอกแห่งอานุภาพเงินและอำนาจเคยบังตาอยู่

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 11 มิ.ย. 56