วรากรณ์ สามโกเศศ
เมื่อมองไปรอบตัวโดยไม่สังเกตเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เสมือน “ปลาที่ไม่เห็นน้ำ มนุษย์ไม่เห็นออกซิเจน” โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “normalization” หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเข้าสู่ความเป็นปกติอีกลักษณะหนึ่งหรือระดับหนึ่ง(new normal)อย่างไม่รู้ตัว
“normalization” มีความหมายที่กว้าง ในทางสถิติโดยทั่วไปหมายถึงการปรับค่าของข้อมูลดิบที่วัดด้วยสเกลหรือลักษณะที่ต่างกันเพื่อให้มีความเป็นปกติคือใช้สเกลเดียวกันเพื่อจะได้นำไปคำนวณร่วมกันต่อไปได้
ในที่นี้ “normalization” มีความหมายที่ต่างออกไปโดยใช้ความหมายดังกล่าวถึงแล้วในตอนต้น ตัวอย่างได้แก่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของบ้านเราที่เคยอยู่ในระดับปีละ 15-20 เปอร์เซ็นต์ได้ลดลงเป็นลำดับในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมาจนอยู่ในช่วงเลขตัวเดียว ซึ่งต่อไปจะถือได้ว่าเป็นค่าปกติ ทั้งหมดเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยของเศรษฐกิจโลก ของเทคโนโลยี ของประเทศคู่ค้าของเรา ฯลฯ
“normalization” เกิดขึ้นในสังคมของเรามากมายในรอบ 10-20 ปี ที่ผ่านมาจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ค่านิยมในชีวิต การทำมาหากิน วิถีชีวิต ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขในชีวิต
เราอาจตกใจหรือไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในตอนแรกแต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกต่าง ๆ จะปรับตัวเข้าสู่การยอมรับ ซึ่งหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ถูก normalizedในใจของเราไปแล้ว
ครั้งหนึ่งประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่โตในใจของผู้คนในโลกและในบ้านเราเพราะสื่อถึงความเป็นนิติธรรมหรือสังคมที่มีกฎหมายเป็นฐาน (rule of law) สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันการปกครองของประชาชนโดยประชาชน เพื่อประชาชน เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ แต่บัดนี้เป็นที่หวาดหวั่นกันว่ามันได้ถูก normalized ไปในระดับหนึ่งในใจของผู้คนโลกที่ดูจะรังเกียจความเป็นเผด็จการน้อยลง
จีนมหาอำนาจที่สองในโลกได้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นประธานาธิบดีชั่วชีวิต ปูตินแห่งรัสเซียมีอำนาจล้นฟ้า Donald Trump แหวกแนวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เคยมีมาทั้งหมดที่ยึดถือ truth หรือความจริงเป็นเรื่องสำคัญ ในวันหนึ่งพูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง 4-5 ครั้ง และชื่นชอบการใช้อำนาจของตนเองเป็นพิเศษและประชาชนอเมริกันส่วนหนึ่งก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน และมีอีกหลายประเทศ เช่น ตุรกี อียิปต์ คิวบา อิหร่าน เวเนซุเอลา ซีเรีย ฯลฯ ที่ประชาชนยอมรับหรือไม่คัดค้านการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น
การยอมรับอิทธิพลจีนในหลายลักษณะในทุกแห่งหนบนโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ เป็นอีกnormalization หนึ่งที่เห็นชัดเจน คนไทยคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งล่าสุดมีจำนวนถึง 9 ล้านคน อย่างไม่คาดคิดมาก่อน การมีปฎิสัมพันธิ์กับคนจีนเป็นกระบวนการที่จะอยู่ต่อไปกับเราอีกนานแสนนาน
อีกเรื่องหนึ่งที่ normalization ได้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือการเสริมความงามของอวัยวะต่าง ๆ ตั้งแต่จมูก นม คาง แก้ม ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาจนไม่ปิดบังกันอีกต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องแฟนที่อยู่กินกันก่อนแต่งงานอย่างกว้างขวาง ค่านิยมเหล่านี้ได้ถูก normalized ในสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว
การมี “กิ๊ก” ก็เป็น normalization อีกลักษณะหนึ่งของสังคมไทยที่คนส่วนหนึ่งดูเหมือนจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยให้เหตุผลกับตนเองว่ามันเป็นเพียงแค่ “กิ๊ก” ไม่ใช่การนอกใจ จะเอาอะไรกับมันนักหนา มันแค่ “กิ๊ก” (gig) เดียวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิบ ๆ สักหน่อย (1 gig หรือเรียกเต็มยศว่า 1 gigabyte ของ ITนั้น มีความจุเท่ากับเอกสาร A4 จำนวนประมาณ 400,000 หน้า) อย่างไรก็ดีถ้าตรองสักหน่อยก็จะเห็นว่า“กิ๊ก” ก็คือชู้ ซึ่งเป็นการทรยศและทำร้ายจิตใจของคนรักอย่างปฏิเสธไม่ได้
Normalization ที่เลวร้ายสุดของสังคมก็คือสภาพจิตใจที่มองเห็นความชั่วเป็นเรื่องธรรมดา คอรัปชันเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีกันบ้าง มนุษย์ก็ต้องมีอะไรเลวบ้างเป็นเรื่องปกติ สังคมใดที่กระบวนการคิดเช่นนี้มีความเข้มแข็งและมีโมเมนตัม สังคมนั้นความเสื่อมกำลังเข้าครอบงำ เพราะการชื่นชมอละยึดมั่นความดีคือรากฐานที่สำคัญยิ่งของสังคมที่มีความสุขสงบ ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต และมีสิทธิเสรีภาพ
ในยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง การเกิดขึ้นของ normalization ในหลายสิ่งทั้งดีและไม่ดีเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือสมาชิกของสังคมต้องมีวัคซีนที่ทรงพลังในการต้าน normalization ที่นำไปสู่ความเสื่อมและความเลวทราม
สมาชิกจะมีวัคซีนเช่นนี้ได้ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันสร้างโดยไม่หวังพึ่งภาครัฐเป็นสรณะ เริ่มต้นจากการตระหนักว่ามีกระบวนการไปสู่ความเสื่อมเช่นนี้อยู่ และต้องพยายามต้านด้วยการรู้ทัน และยึดมั่นใน “ความดี ความงาม ความจริง” ในการดำรงชีวิตเป็นหลัก
หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ก.ค. 2561