ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ. เร่งเอ็กซเรย์พื้นที่ – เด็กวัยเรียน ป้องกัน “การเสียโอกาสชีวิต” ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

กสศ. เร่งเอ็กซเรย์พื้นที่ – เด็กวัยเรียน ป้องกัน “การเสียโอกาสชีวิต” ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

15 สิงหาคม 2018


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้กล่าวในการจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ในหัวข้อนโยบายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า

“การประชุมรับฟังความเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะ ตลอดจนประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของกองทุน รวมทั้งการจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนจะเริ่มงาน ผมจะใช้เวลาสักเล็กน้อยเล่าถึงที่มาและเจตนารมณ์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาชุดแรกที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มุ่งที่จะบรรลุให้ได้ในระยะเริ่มแรก”

1. ที่มาและเจตนารมณ์ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ในการปฏิรูปประเทศ เรื่องที่มีความสำคัญและท้าทายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การปฏิรูปการศึกษา ดังที่ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยกล่าวไว้ว่า “การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ปัญหาในสังคมไทยมีผลสืบเนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน”

ความสำคัญของเรื่องนี้ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียง 1 ใน 2 เรื่องการปฏิรูปสำคัญที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยตามรัฐธรรมนูญ ม.261 กำหนดให้มี “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” (กอปศ.) และ ม.54 กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

“ความเสมอภาคของการศึกษา” ซึ่งเป็นชื่อที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เลือกเป็นชื่อของกองทุนนี้ เพราะต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นปัจจัยรากฐานสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน

ความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นสิทธิของประชาชนที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง ในส่วนนี้คือหัวใจสำคัญ เพราะสิทธิของประชาชนเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นแท้จริง เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายสูงสุดของประเทศ

เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม นับตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2561 ที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีผลบังคับใช้ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาทุกคนล้วนตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะทุกวินาทีคือการเสียโอกาสชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยกว่า 4 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรเด็กเยาวชนวัยเรียนในประเทศ การที่มีเด็กไทยที่มีศักยภาพราว 670,000 คนยังคงอยู่นอกระบบการศึกษาอยู่ หรือราว 5% ของประชากรในวัยเดียวกัน ถือเป็น “การเสียโอกาสชีวิต” ที่น่าเสียดาย องค์การยูเนสโกประเมินว่า การที่เด็กเยาวชนไทยที่มีศักยภาพ แต่ต้องหลุดออกจากระบบเช่นนี้ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

2. ทิศทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ 3 ปัจจัยหลัก ด้วย 4 หลักการทำงาน

บทบาทของ กสศ. มุ่งเสนอแนะมาตรการและผลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เน้นการลงทุนโดยใช้ความรู้เป็นตัวนำ เพื่อช่วยเหลือและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งจัดการ 3 ปัจจัยหลัก ที่เป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่

    1. ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส
    2. สนับสนุนโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง
    3. เสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายของกองทุน

    โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะมี 4 หลักการสำคัญในการดำเนินงานดังต่อไปนี้

(1) การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานของกองทุนและภาคีทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริง (evidence-based) มาช่วยในการค้นหาเป้าหมาย คัดกรองความยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งติดตามพัฒนาการกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุเป้าหมายการทำงานตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกองทุนตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นภารกิจที่ กสศ. ให้น้ำหนักอย่างมาก โดยจะมีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ หรือ Information System for Equitable Education (iSEE) ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงเลขประจำตัว 13 หลักของกลุ่มเป้าหมายกองทุนกว่า 4 ล้านคนเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้ง 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อการค้นหา คัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของกองทุนในระยะยาว โดยมีข้อมูลครอบคลุมทุกมิติในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยระบบ “iSEE” จะช่วยให้เราสามารถ “มองเห็น” เด็กเยาวชน และประชาชนทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุน ไม่ให้มีเด็กเยาวชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว

(2) การร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนตั้งแต่การกำหนดแผนสู่การปฏิบัติและการติดตาม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างหลากหลายทั้งในมิติของกลุ่มคนและเชิงพื้นที่ กองทุนจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น โดยต้องมีการประสานงาน เพื่อไม่ให้การทำงานเกิดความซ้ำซ้อน มีการบูรณาการทรัพยากรและข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทำงานร่วมกับภาคีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่นี้ หรือกองทุน 10 บาท ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาย่อมต้องการโอกาสในการทำงานร่วมกับกลไกที่มีข้อมูล และประสบการณ์เช่นนี้ทุกพื้นที่ในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานในทุกจังหวัดได้อย่างยั่งยืน

(3) การดำเนินการที่โปร่งใส มีระบบธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลที่รอบคอบ กองทุนจะมีการนำเทคโนโลยีด้านระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้า เช่น การเบิกจ่ายสวัสดิการโดยตรงแก่ผู้รับ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ในการบันทึกหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน เพื่อป้องกันการทุจริตและลดความรั่วไหลของการใช้งบประมาณ นอกจากนี้ กองทุนจะต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานให้แก่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และประชาชนเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งการเข้ารับการประเมินโดยคณะกรรมการประเมินที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุก 3 ปี

(4) ความเป็นอิสระในการดำเนินงานและการสนับสนุนงบประมาณตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของกองทุนแม้จะใช้หลักการทั้ง 3 ประการข้างต้นแล้ว ก็ยังยากที่จะประสบความสำเร็จ หากไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทรัพยากร รวมทั้งความเป็นอิสระในการบริหารจัดการที่จะสามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ หากปราศจาก 2 สิ่งนี้แล้วกองทุนใหม่นี้ก็อาจจะเป็นเพียงหนึ่งกลไกแบบเดิมๆ ที่จะไม่ให้ผลลัพธ์ต่างจากที่เคยเป็นมา

3. ผลงานสำคัญของ กสศ. ตามแผนการใช้เงินในปีงบประมาณ 2561-2562

ในระยะ 14 เดือนข้างหน้านี้ หาก กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อนแล้วนั้น (636 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 และ 5,950 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2562) กองทุนน่าจะมีผลงานที่สำคัญในช่วงแรกเริ่ม 3 เรื่องดังต่อไปนี้

(1) ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 620,000 คนทั่วประเทศ

จากต้นทุนการทำงานร่วมกันของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและ สพฐ. ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เรามีข้อมูลรายบุคคลของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. จำนวนมากกว่า 1.6 ล้านคนทั่วประเทศที่ครอบครัวมีสถานนะยากจน โดยประเมินจากรายได้ต่อครัวเรือนที่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน มีสภาพที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรม ผู้ปกครองไม่มีรายได้ รวมทั้งไม่มีรถยนต์และที่ดินทำกินเกิน 1 ไร่ โดยในจำนวนนี้มีนักเรียนอยู่ราว 620,000 คนที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาทต่อคน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาทเท่านั้น ซึ่ง กสศ. และ สพฐ. เรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่านักเรียนยากจนพิเศษ และต่างเห็นตรงกันว่าเป็นนักเรียนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนโดยเร่งด่วน ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ สพฐ. จึงมีแผนจะเร่งช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียนทั้ง 620,000 คนนี้ด้วยกลไกทำงานในระดับโรงเรียนเป็นรายบุคคล ทั้งผ่านการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว รวมทั้งมาตรการต่อเนื่องโดยครูและสถานศึกษาในการขจัดปัญหาอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

(2) เอ็กซเรย์พื้นที่ 15 จังหวัด ค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา 100,000 คนแรก เพื่อส่งต่อสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ

แม้ปัจจุบัน กสศ. จะมีข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา 670,000 คนทั่วประเทศแล้ว แต่การทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนเหล่านี้ยังคงจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับกลไกการทำงานระดับจังหวัดที่คุ้นเคยกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายนี้ดี ทั้งกลไกภาครัฐสังกัดกระทรวงต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และองค์กรภาคประชาชนต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเด็กเยาวชนวัยเรียนอายุ 3-18 ปีจำนวน 100,000 คนแรกในพื้นที่ 15 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยซึ่งกองทุนมีเครือข่ายการทำงานที่ดีอยู่แล้ว สามารถเป็นต้นแบบการทำงานให้ครบทั้ง 77 จังหวัดได้ในปีงบประมาณต่อไป

เมื่อพบตัวเด็กเยาวชนและครอบครัวแล้ว กองทุนจะบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาและส่งต่อเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อค้นหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กแต่ละคนในการเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบปกติ หรือการฝึกพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพของเด็กเป็นรายคน รวมทั้งสอดคล้องกับโอกาสในการประกอบอาชีพในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศด้วย

(3) สนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพสูง 12,000 ทุน

ในแต่ละปี เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่เรามีนักเรียนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพจำนวนมากที่ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย/ปวช. ได้อันเนื่องมาจากปัญหาความยากจน จากค่าเฉลี่ยของประเทศที่เยาวชนไทยราว 35% ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายอาชีพ เยาวชนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศกลับมีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 7 เท่า และต่ำกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ 20% แรกมากกว่า 20 เท่า

ประเทศไทยเสียโอกาสเป็นอย่างมากจากการที่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถจะต้องยุติการศึกษาอยู่เพียงแค่ ม.3 เพราะปัญหาความยากจนของครอบครัว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงจะเตรียมทุนการศึกษาจำนวนประมาณ 12,000 ทุนต่อปี เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนยากจนที่มีศักยภาพสูงได้มีโอกาสในการศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. เป็นอย่างน้อย โดยกองทุนจะทำงานร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้แก่เด็กช้างเผือกเหล่านี้ให้สามารถสำเร็จการศึกษาและมีงานทำได้ทันที ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเยาวชนและครอบครัวออกจากกับดักความยากจน ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)

(4) การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาค

ด้วยเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานี้ ต้องการให้กองทุนรับฟังข้อมูลและประสบการณ์จริงจากหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการและการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ที่สำคัญๆ ของกองทุนได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ กลางเดือนสิงหาคม ไปจนถึง ต้นเดือนกันยายน กสศ. จึงจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค โดยในวันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นครั้งแรก และครั้งที่ 2 จะจัดที่จังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ครั้งที่ 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 22 สิงหาคม และครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพมหานครในเดือนกันยายน เป็นเวทีเปิดกว้างให้ประชาชนทุกภาคส่วน หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนฯ ก็จะนำเอาทุกประเด็นความเห็นนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ต่อไป