ThaiPublica > คอลัมน์ > ซีพีทีพีพี : ต้มยำการเมืองกับเศรษฐกิจ

ซีพีทีพีพี : ต้มยำการเมืองกับเศรษฐกิจ

30 กันยายน 2021


กวี จงกิจถาวร

ซีพีทีพีพีมีชื่อเต็มภาษาอังกฤษคือ Comprehensive and Progressive Tran-Pacific Partnership — CPTPP) เป็นข้อตกลงการค้าเสรีในระดับพรีเมียม ตกเป็นข่าวมาตลอดในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งคือในประเทศริเริ่มก่อตั้ง สหรัฐอเมริกาเกิดเปลี่ยนใจถอนตัวทันควันออกจากทีพีพี (Tran Pacific Partnership) ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีชุดดั้งเดิมในวันแรกๆ ที่นายโดนัล ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ในปลายเดือนมกราคมปี 2017 เล่นเอาสมาชิกอื่นๆ อีก 11 ประเทศตั้งหลักแทบไม่ทัน

เคราะห์ดีมีมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสามคือประเทศญี่ปุ่นเข้ามาขัดตาทัพ รวบรวมพละกำลังจากสมาชิกที่เหลือมาประชุมเจรจากันใหม่โดยตัดข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาออกไป เปลี่ยนโฉมเปลี่ยนชื่อ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จและมีการใช้ชื่อใหม่คือซีพีทีพีพี

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซีพีทีพีพีเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากประเทศจีนประกาศชัดเจนจะเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้านี้ หลังจากนั้นไม่นานเกาะไต้หวันก็ไม่รอช้าแสดงความจำนงออกมาแบบเดียวกัน ต้องถือว่าเป็นยุทธศาสตร์การเมืองระดับเพชรตัดเพชรเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้อังกฤษสมัครเข้าซีพีทีพีพีไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ ประเทศสนับสนุนการค้าเสรีทราบดีว่าอังกฤษเข้ามาเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีได้ทุกเมื่อเพราะเพิ่งออกมาจากประชาคมยุโรปสดๆ

กรอบการค้าซีพีทีพีพีไม่เหมือนกับกรอบการค้าอาร์ซีอีพี (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของอาเซียนในปี 2012 ที่ต้องการรวบรวมเอามหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกมาเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญที่สุดในโลก นับว่าเป็นข้อตกลงการค้าที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับสถานภาพทางการค้าและสังคมของสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาซึ่งมีทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

เดิมทีมีประเทศอินเดียรวมอยู่ด้วย แต่นาทีสุดท้ายในตอนประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ ในต้นพฤศจิกายน ปี 2019 นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ตัดสินใจถอนตัวเพราะกลัวเสียคะแนนเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มเกษตรและกลุ่มผลิตนมโคท้องถิ่นมาแรงมากๆ รัฐบาลอินเดียไม่กล้าเสี่ยง เกรงจะมีผลเสียต่อการบริหารประเทศ

ประเด็นการเมืองที่เกี่ยวโยงกับซีพีทีพีพีมีมากมาย ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนสหรัฐอเมริกาเล็งขยายสมาชิกทีพีพีนั้นมีสาเหตุอย่างเดียวคือปิดล้อมจีนทางการค้าไว้ก่อน จึงได้ช่วยเหลือเวียดนามให้เข้ามาเป็นสมาชิกได้ ช่วยโค้ชเวียดนามให้ในทุกเรื่องทุกวิถีทาง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานในแง่มุมต่างๆ จนสอบผ่าน

ตอนนี้ซีพีทีพีพีไม่มีสหรัฐอเมริกา แต่บังเอิญมีอังกฤษ จีน และไต้หวัน ขอเข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้พลวัตของกลุ่มนี้เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ทำให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเพิ่งจะดึงเรื่องนี้จากกระทรวงต่างประเทศกลับคืนเมื่อเร็วๆ นี้

ถึงเวลาแล้ว เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการเริ่มเจรจาเป็นสมาชิกกรอบการค้าเสรีนี้ได้เมื่อไร

ถ้าดูสถานการณ์โดยเฉพาะหลังโรคระบาดโควิดในขณะนี้และต่อไปในอนาคต ไทยเราควรแสดงความจำนงต่อคณะกรรมธิการของซีพีทีพีพีซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นประธานได้แล้ว เชื่อได้เลยว่าในกรณีของไทยคงใช้เวลาเจรจานานมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่หุ้นส่วนภาคประชาสังคมในไทย รวมทั้งภาคเอกชนเกษตรกรรมยังไม่เห็นหรือยอมรับ

กรอบการค้าเสรีที่มีอยู่เป็นร้อยๆ กรอบในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ไม่มีประเทศสมาชิกไหนที่ได้ผลประโยชน์การค้าหมดหรือเสียหมด มีทั้งได้และที่ต้องเสียสละในบางส่วนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศในระยะยาวเป็นหลัก

ไทยมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ ผู้เกี่ยวข้องไม่กล้าทำเพราะกลัวผลภายหลังติดตามมา ประเทศอื่นๆ ก็เผชิญกับประเด็นท้าท้ายนี้เช่นกันก่อนตัดสินใจ เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่ผัดวันประกันพรุ่งเหมือนบ้านเรา

ท้ายที่สุด ถ้าเราตกขบวนรถไฟนี้ ผลเสียระยะยาวที่มีต่อศักยภาพและการแข่งขันเศรษฐกิจไทยกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกอาเซียนด้วยก็จะเป็นศูนย์ กู่ไม่กลับ ประเทศอื่นๆ ที่กล้าตัดสินใจสามารถเข้าร่วมกับระบบการค้าเสรีแบบพหุภาคี มีตลาดยักษ์ใหญ่ของจีนและอื่นๆ เป็นฐานรองรับ

ถึงตอนนั้นไม่ต้องโทษคนโน้นคนนี้อีกต่อไป เพราะทุกๆ คนในสังคมไทยมีส่วนทำให้รัฐบาลไทยไม่กล้าตัดสินใจ