ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นดึงไทยร่วม “ซีพีทีพีพี” – “สมคิด” เผยมีเวลา 1 ปี เตรียมพร้อม แก้ข้อเสียเปรียบ

ญี่ปุ่นดึงไทยร่วม “ซีพีทีพีพี” – “สมคิด” เผยมีเวลา 1 ปี เตรียมพร้อม แก้ข้อเสียเปรียบ

1 พฤษภาคม 2018


นายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (รับผิดชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลัง) เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในโอกาสเยือนไทย ณ ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ทำเนียรัฐบาล นายโทชิมิตสึ โมเทกิ (H.E. Mr. Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (รับผิดชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลัง) เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยการพบปะพูดคุยในครั้งนี้มีสาระสำคัญเป็นเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) เมื่อสหรัฐประกาศถอนตัว ได้เปลี่ยนชื่อเป็นความตกลงหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดย 11 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ลงนามความร่วมมือกันไป เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

ไทยที่เคยปฏิเสธการเข้าร่วมทีพีพีไปในก่อนหน้า ได้มีความเห็นพ้องจากหลายฝ่ายให้เข้าร่วมซีพีทีพีพี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศชัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีแนวโน้มที่ไทยจะเข้าร่วมซีพีทีพีพี เนื่องจากภาครัฐมีความเห็นว่า ซีพีทีพีพีได้ตัดบทบัญญัติหลายส่วนที่เสนอโดยสหรัฐ และเป็นเรื่องที่ไทยมีข้อกังวลออก อาทิ การใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน กับสัญญาการลงทุน หรือการอนุญาตการลงทุน  อย่างไรก็ตามภาครัฐยังคงเห็นว่า ซีพีทีพีพียังเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เพราะบางข้อบทยังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของไทย และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย

โดยนายสมคิด เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้กล่าวยืนยันกับนายโทชิมิตสึไปว่าไทยจะเข้าร่วม แต่ยังคงมีบางประเด็นที่ต้องแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับไทยให้เบาลง โดยคณะทำงานจากกระทรวงพาณิชย์จะเริ่มหารือกันในข้อกฎหมายตั้งแต่พรุ่งนี้เลย ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีในวันข้างหน้า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการค้าเสรีหากไทยไม่เข้าร่วมจะทำให้ไทยเสียเปรียบทางการค้าได้ ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับทัง ซีพีทีพีพี และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)

“ในอนาคตข้างหน้าจะมีความร่วมมือกันในทั้งในเรื่องของ Big Data และ AI ซึ่งในการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องมีการเจรจาและพูดคุยกับทั้ง 11 ประเทศสามาชิก โดยตามกลไกประเทศสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศจะดำเนินการรับรองภายในประเทศเสร็จสิ้นราวต้นปี 2562 ซึ่งไทยยังคงมีเวลาอีก 1 ปี ในการที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาในบางประเด็น สำหรับประเด็นที่ไทยเป็นกังวล เช่น ไบโอเทคโนโลยี ที่เกรงจะมีการแพร่ระบาดของพืชตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) อย่างไรก็ตามได้ยืนยันกับเขาว่าไทยเป็นพันธมิตรที่แนบแน่น” นายสมคิด กล่าว

อนึ่งสำนักข่าวนิเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่านายโมเตกิผู้มีบทบาทสำคัญในข้อตกลงซีพีทีพีพี ต้องการสร้างโมเมนตัมให้ไทยเข้าสู่การเจรจาความตกลงซีพีทีพีพี เนื่องจากไทยเป็นประเทศฐานการผลิตใหญ่ในอาเซียน ซึ่งหากไทยเข้าร่วมก็อาจดึงดูดให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ให้หันมาเข้าร่วมซีพีทีพีพีด้วย โดยหากมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกฯ มากขึ้น จะส่งผลให้บรรดาบริษัทอเมริกันหันมากดดันประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้กลับมาเข้าร่วมซีพีทีพีพีอีกครั้ง เนื่องจากภาคธุรกิจอเมริกันกังวลว่าจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าเอเชียให้แก่บริษัทท้องถิ่นที่ได้รับผลประโยชน์ของความตกลงดังกล่าว อาทิ อัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำ