ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดสัมมนา “SET Sustainability Forum : จากเป้าหมายความยั่งยืน…สู่การปฏิบัติ” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน สู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน ขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่ทุกภาคส่วนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
โดยผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมให้ข้อมูลถึงบทบาทผู้นำองค์กรในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ เวทีหัวข้อ “Human Rights & Modern Slavery Risk Management” มีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในองค์กร โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางอรกานดา อรรถวิภัชน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, นางสาวหทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บมจ. ไทยวา, ดร.แมน ชุติชูเดช รองเลขาธิการกลุ่มงานกลยุทธ์ลงทุนและบริหารผู้จัดการกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และดำเนินรายการโดย พนอจันทร์ จารุรังสีพงศ์ ที่ปรึกษาอิสระด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร
MINOR รับฟังเสียงพนักงาน สร้างองค์กรเป็น Great Place to Work
นางอรกานดา อรรถวิภัชน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลว่า ไมเนอร์ฯ ประกอบด้วยธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ (แบรนด์เครื่องครัว และเสื้อผ้า) และกลุ่มธุรกิจโรงแรม มีพนักงานรวมกว่า 70,000 คนใน 63 ประเทศทั่วโลก และกว่า 70% ของพนักงานไม่ได้อยู่ในประเทศไทย
ในปี 2561 บริษัทได้เก็บรวบรวมความคิดเห็นประเด็นสิทธิมนุษยชนของพนักงานมากกว่า 10,000 คน และนำมาจัดเป็นประเด็นสำคัญได้ 345 ประเด็น ต่อมาปี 2562 บริษัทได้หาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อยกระดับการดูแลประเด็นสิทธิมนุษยชนของพนักงานให้มีความเป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมกับมีการอบรมพนักงานในประเด็นดังกล่าว และยังอบรมจรรยาบรรณในการทำงาน (code of conduct) ให้กับพนักงานทุกปี
“สิ่งที่ตามมาคือ right to be heard การรับฟังเสียงพนักงาน เขาสามารถขอความช่วยเหลือ รวมถึงข้อเสนอแนะ นอกเหนือจากการทำ listening tool เรายังออกไปรับฟังและพบปะกับพนักงานด้วยตัวเองเป็นประจำทุก 6 เดือน ไปฟัง และติดตามผลว่าสิ่งนั้นได้รับการแก้ไขหรือยัง เพราะนี่คือการสร้าง great place to work ”
“เรายัง on journey ตั้งแต่ปี 2018 (2561) มีตัวชี้วัด แต่ไม่ได้มองเชิงกำไร เราอยากสนับสนุนเรื่องการทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ เรามองภาพรวมทุกด้านไปพร้อมกัน…ถ้าองค์กรสร้างสรรค์แต่สิ่งดีๆ พนักงานก็อยู่ได้ องค์กรก็จะสามารถเติบโตได้”
ไทยวา รวมทีมกลยุทธ์รวมความยั่งยืน ฝัง DNA ให้พนักงาน
นางสาวหทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บมจ.ไทยวา ให้ข้อมูลว่า ไทยวาประกอบธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์แป้งและที่เกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยบริษัทมีวัตถุดิบที่เป็นซัพพลายเชน กว่า 1.3 ล้านตันต่อปี ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมองว่าการทำธุรกิจของไทยวาไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป แต่ต้องทำให้มั่นใจว่าเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นางสาวหทัยกานต์กล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนของบริษัทว่า ประเด็นดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) พนักงานในองค์กร และ (2) ซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง
สำหรับพนักงาน บริษัทมีแนวคิดว่า “We are Building a Great Place to Work” โดยมีการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีในทุกโรงงาน เพื่อทำให้พนักงานอยากมาทำงานทุกๆ วัน
นางสาวหทัยกานต์กล่าวต่อว่า โรงงานแต่ละแห่งมีประเด็นสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกัน แต่ทุกโรงงานมีใบรับรองและมาตรฐานต่างๆ ซึ่งโจทย์คือทำอย่างไรให้สิทธิมนุษยชนเป็น DNA
“ก่อนหน้านี้เรามีทีม sustainability เป็นทีมเก็บข้อมูลด้านต่างๆ แต่ในปี 2565 เรานำทีมกลยุทธ์เข้ามารวมด้วยกัน เนื่องจากกลยุทธ์องค์กรต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน จากนั้นเอาเป้าหมายความยั่งยืนเข้าไปฝังในเคพีไอของพนักงาน เพราะถ้าเป็นเคพีไอของทุกคน เขาจะคิดเรื่องนี้ทุกวัน และอยู่ในดีเอ็นเอขององค์กร”
ส่วนประเด็นสิทธิมนุษชนของเกษตรกร นางสาวหทัยกานต์ อธิบายว่า บริษัทมีทีมเข้าไปแนะนำเกษตรกรว่าควรพัฒนาผลิตผลอย่างไร และต้องบอกให้ได้ว่ชีวิตเขาจะดีขึ้นอย่างไร
“เกษตรกรทำไร่ทำนามา 20 ถึง 30 ปี เขาทำได้ดีในแบบของเขา เช่น การใช้สารเคมี การจัดเก็บสารเคมีในบ้าน บางคนเก็บได้ไม่มีปัญหา แต่เราเข้าไปบอกว่าการเก็บสารเคมีไว้ในบ้านหรือเอาไปใช้ ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเราไม่บอกว่าห้ามใช้อย่างเดียว เราต้องมี solution เช่น แนะนำวิธีจัดเก็บ หรือพยายามเปลี่ยนผ่านให้เขาใช้สารไบโอฯ หรือชุดที่ป้องกันสารเคมี”
นางสาวหทัยกานต์เล่าอีกว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนของเกษตรกรไทยมีความแตกต่างจากมาตรฐานสากล เห็นได้จากครอบครัวเกษตรกรซึ่งเป็นครอบครัวที่ทุกคนช่วยกันทำการเกษตร โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ช่วยพ่อแม่ในการขุดหรือทำอะไรต่างๆ ทว่ามาตรฐานสากลไม่ชอบวิธีการดังกล่าว เพราะมองว่าเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก ดังนั้น บริษัทจึงต้องเข้าไปสอนแนวทาง best practice เพื่อให้ได้รับการประเมินที่ดีขึ้น
ท้ายที่สุด นางสาวหทัยกานต์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้อย่างรวดเร็วคือ ความต้องการของตลาด (demand)
กบข. มองการลงทุนต้องมีทั้งผลตอบแทนและ ESG
ดร.แมน ชุติชูเดช รองเลขาธิการกลุ่มงานกลยุทธ์ลงทุนและบริหารผู้จัดการกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า บทบาทนักลงทุนคือสนับสนุนให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น แต่ยิ่งกว่านั้นคือทำอย่างไรเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ
“สิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่ความสมัครใจ แต่เป็นภาคบังคับที่ต้องจัดการให้เกิดขึ้น”
ดร.แมน กล่าวต่อว่า กบข. ประกาศว่าจุดประสงค์การลงทุนไม่ใช่แค่ผลตอบแทนสูงสุดเท่านั้น เพราะผลตอบแทนเป็นแค่ขั้นต่ำในด้านการเงิน แต่สิ่งที่มองหาคือ การลงทุนที่มี ESG เป็นส่วนหนึ่งด้วย
“ภายหลังเรารู้ว่าถ้าหุ้นมี ESG ที่ดี จะได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย เวลาลงทุนเราจะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนทางการเงิน 65 เปอร์เซ็นต์ (financial return) และ ESG 35 เปอร์เซ็นต์ แต่ละอุตสาหกรรมจะมีน้ำหนัก ESG ไม่เท่ากัน เช่น ธนาคารจะให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลมากกว่า (governance) ธุรกิจก่อสร้างให้น้ำหนักกับมิติคนและสังคม (social) ส่วนพลังงานคือน้ำหนักด้านสิ่งแวดล้อม (environment)”
“เรื่องสิทธิมนุษยชน ต่างจากสิ่งแวดล้อม เพราะตัว S มันจับต้องยาก ต้องใช้การพูดคุยและประเมินคะแนน แต่นักลงทุนมีคำตอบอยู่แล้ว อาจจะใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนแบบเดิม แต่เปรียบเทียบระหว่างปี และดูว่ามีพัฒนาการอย่างไร หรือมีวิธีการใหม่ๆ อะไรบ้าง”
ดร.แมนกล่าวต่อว่า นักลงทุนมีบทบาทผลักดันเรื่องนี้อย่างยิ่ง ดังนั้น ในการลงทุนของ กบข. กว่า 70% ต้องผ่านกระบวนการสแกน ESG เนื่องจากมีผลการศึกษามาแล้วว่า บริษัทที่มี ESG จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และเป็นผลตอบแทนในระยะยาว