ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > โควิด-19 โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ ของชีวิตเพื่อนบ้านชาวเมียนมา

โควิด-19 โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ ของชีวิตเพื่อนบ้านชาวเมียนมา

7 สิงหาคม 2021


ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน

ที่มาภาพ : https://www.myanmar-now.org/en/news/myanmars-healthcare-crisis-leaves-expecting-mothers-stranded-and-at-risk

เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี สายลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะนำความชุ่มชื่นจากมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันเข้าสู่ดินแดนลุ่มน้ำอิรวดี วันแล้ววันเล่าสายลมไม่เคยเปลี่ยนแปลงทิศทาง ชีวิตของชาวเมียนมาดำเนินมาหลายชั่วชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน และผ่านพายุร้ายแห่งฤดูมรสุมมานับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่หนักหนาสาหัสเท่ากับมรสุมร้ายครั้งนี้ คนเมียนมามีหลากหลายเผ่าพันธุ์ แต่โดยรวมพวกเขาได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ทรหด ผ่านมหาสงครามบูรพามาอย่างบอบช้ำ ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่นานปี รวบรวมความกล้าแกร่ง ดิ้นรนต่อสู้อยู่นานปีกว่าจะได้รับเอกราช คนเมียนมาได้ลิ้มรสเสรีภาพอยู่ไม่นานทหารก็เข้ามายึดอำนาจ ปิดประเทศพาชีวิตของประชาชนเข้าสู่มุมมืดภายใต้ฉากหน้าของสังคมนิยม จนประเทศประสบกับสภาพล้าหลัง…

มรสุมพัดพาความชุ่มชื้นและความหวังมาให้ชีวิตผู้คนทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นว่าเผ่าพันธุ์ใด จะเป็นชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มใหญ่ คนพื้นราบ คนพื้นสูง ต่างก็ได้รับพรจากธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน คราใดธรรมชาติลงทัณฑ์มีพายุร้ายโหมถล่มพัด บ้านเรือน ไร่นา ทรัพย์สินเสียหาย พวกเขาก็ปรับตัวกันไปตามยถากรรม ตามประสาคนลุ่มน้ำอิรวดี ที่ใช้ชีวิตและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ผู้คนจากสายพันธุ์นี้อดทนสูง และแทบจะไม่หวังพึ่งพารัฐบาลของพวกเขามากนัก ยกเว้นในห้วงสี่ห้าปีหลังที่ผ่านมา ที่รัฐบาลประชาธิปไตยจากพรรค NLD นำพากระแสลมแห่งความหวังในชีวิตมาสู่คนเมียนมา พวกเขาตื่นขึ้นจากการหลับใหลสู่ความหวังครั้งใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ร่วมเฉลิมฉลองกับอนาคตใหม่ กองทัพเมียนมาก็ลุกเข้ามายึดอำนาจและทำลายความฝันของพวกเขาให้สูญสลายไป

มรสุมร้ายครั้งใหญ่ของชีวิต – ความตายที่ถูกจัดฉาก

จากข้อมูลของทางการเมียนมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ประกาศว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 306,354 คน มีผู้เสียชีวิต 10,061 ราย อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่าตัวเลขของทางการเมียนมาขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก โดยเฉพาะในการระบาดระลอก 3 ตัวการใหญ่มาจากสายพันธุ์เดลตา ที่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายกว่าเดิมหลายเท่า อีกทั้งระบบสาธารณสุขของเมียนมาที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติมานับจากการยึดอำนาจเมื่อ 1 กุมภาพันธุ์ 2564 ทำให้บุคคลกรทางการแพทย์จำนวนมากถูกจับกุมและปราบปรามเนื่องจากออกมาต่อต้านการยึดอำนาจ พวกเขาจำนวนมากถอนตัวจากระบบ และกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้กุมอำนาจ ทำให้ศักยภาพของระบบสาธารณสุขในเวลานี้มีไม่มากนัก แม้ว่าทางการจะพยายามจูงใจให้คนเหล่านี้กลับมาทำงาน และใช้หน่วยแพทย์ทหารเข้ามาช่วยเสริมจุดอ่อน แต่ตัวเลขที่ทางการทำได้คือสามารถตรวจหาเชื้อได้เพียง 15,000 คนต่อวันเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.26 คนต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น ซ้ำร้ายพบว่า ในจำนวนนี้จะตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดถึงร้อยละ 30 ศักยภาพในการตรวจเชื้อได้น้อยทำให้การควบคุมจำกัดวงการแพร่ระบาดทำได้อยาก และมีโอกาสแพร่ระบาดไปในวงกว้างมากขึ้น

ที่มาภาพ : https://www.myanmar-now.org/en/news/no-time-to-mourn-bodies-pile-up-in-yangon-as-some-lose-multiple-relatives-to-covid-19-surge

ด้วยระบบสาธารณสุขของเมียนมาที่อ่อนแอลงทำให้ระบบเข้าสู่ความโกลาหล เมื่อโควิดระลอกใหม่แพร่ระบาดระบบจึงไม่สามารถจะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตได้ โรงพยายาลของรัฐแทบทุกแห่งแน่นไปด้วยผู้ป่วย เกิดภาวะขาดแคลนเตียง ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขาดแคลนยา และขาดออกซิเจนที่จะช่วยประคองชีวิต แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนราคาแพงก็ต้องปฏิเสธที่จะตรวจเชื้อหรือรับรักษาผู้ป่วยเพิ่ม ภาพของผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้เสียชีวิตที่หน้าโรงพยาบาลหรือในซอกมุมเล็กๆ ภายในบ้านจะมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ต่างกันตรงที่คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกตรวจเชื้อเพิ่ม และถูกระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นเพียงอาการ “ปอดอักเสบ” เท่านั้น ทั้งนี้เพราะทางการต้องการจัดฉากไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารจัดการสถานการณ์ของผู้กุมอำนาจเท่านั้นเอง

หายนะยังไม่มีวันจบลงง่ายๆ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเมียนมาได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่ออย่าง “เอเชียไทม์” คาดการณ์เอาไว้ว่า ประชากรชาวเมียนมาราวร้อยละ 50 จากทั้งหมด 55 ล้านคนจะติดเชื้อโควิด-19 (ทั้งจากสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เดลตา) ภายใน 3 เดือน นับจากนี้ และนั่นจะทำให้ประชากรเมียนมา “หายไป” อย่างน้อย 10-15 ล้านคน

ใบไม้ร่วงหล่นกลางวสันต์

ผู้คนกำลังล้มตายดั่งใบไม้ร่วงกลางวสันตฤดู ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดในเมียนมาเกินกว่าตัวเลขของทางการที่ประกาศออกเป็นอย่างมาก คนตายเพระอาการ “ปอดอักเสบ” เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ไม่ว่าคุณจะสังกัดกลุ่มชาติพันธุ์ใด นับถือศาสนาไหน อายุเท่าไหร่ เป็นหญิงหรือชาย ก็มีโอกาสหายไปจากโลกนี้ได้พอๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าเวลานี้พญามัจจุราชจะเลือกฉุดลากใครไปก่อนและหลัง ต่อให้เป็นครอบครัวอภิสิทธิ์ เช่น ครอบครัวของทหารระดับสูง ที่มีสิทธิ์เข้าถึงยา เข้าถึงระบบสาธารณสุข หรือแม้แต่ออกซิเจนที่มีข่าวว่าถูกทหารเอาไปกักตุนไว้ ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากมัจจุราชโควิดไปได้ ก็แค่อาจจะตายสวย ตายหรู ตายสบายกว่าคนทั่วไปหน่อยก็เท่านั้น

ประชาชนเมียนมาเข้าคิวเพื่อเติมออกซิเจนในมัณฑะเลย์ ที่มาภาพ : https://www.myanmar-now.org/en/news/in-the-shadow-of-an-uprising-kalay-battles-another-scourge

แต่สำหรับคนยากไร้ในเมียนมา แม้แต่ความตายซึ่งเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของชีวิตก็ยังถูกพราก คนที่ตายไปแล้วชีวิตของพวกเขาก็ยังไม่พ้นวิบากกรรม เพราะด้วยข้อจัดกัดของฌาปนสถานในเมียนมา ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทำให้มีศพของผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากต้องไปเข้าคิวรอการฌาปนกิจ จนเกิดภาพเตาเผาระเบิด เตาเผาพัง

วิกฤติซ้ำซ้อนของระบบที่ไม่สามารถรองรับการเผาศพผู้เสียชีวิตได้ และชีวิตยิ่งเลวร้ายมากขึ้น หากผู้ตายเป็นกลุ่มผู้ยากไร้ ไม่มีเงิน ไม่มีฐานะ พวกเขายิ่งต้องเจออุปสรรคในการจัดการศพญาติมิตรที่ล่วงลับไปด้วยข้อจำกัดสารพัด หลายคนที่พอมีทางเลือกอยู่บ้างจึงตัดสินใจฝังร่างไร้วิญญาณของคนในครอบครัวไว้ในพื้นที่เล็กๆ เท่าที่หาได้ บางคนที่ไม่มีทางเลือกก็ใช้วิธีการแอบฝังศพไว้ที่ชายป่าหรือตลิ่งริมน้ำเท่าที่พอจะลับตาจากผู้คน (และทางราชการ) ได้บ้าง

…แต่มาวันนี้ อิรวดีที่เอ่อล้น ยิ่งทำให้ทางเลือกเช่นนี้ไม่อาจทำได้ น้ำที่ท่วมสูงทำให้การฝังศพญาติมิตรไม่อาจทำได้ง่ายๆ ต้องใช้วิธีอื่นๆ แก้ไขปัญหาไปตามมีตามเกิด ภาพของความโกลาหล อุจาดตา ของกองศพเริ่มปรากฏเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ หลายมุมเมือง และเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการแพร่ขยายของเชื้อโรคจากศพคนตายได้ง่ายกว่าปกติด้วย

อิรวดีสีขุ่นข้น

หากจะเปรียบแม่น้ำอิรวดีคือเส้นเลือดใหญ่ของเมียนมา ด้วยเธอคือแม่น้ำสายสำคัญที่ทอดผ่านจากภาคเหนือสู่ตอนใต้ของประเทศ หล่อเลี้ยงผู้คนหลากเผ่าพันธุ์มากกว่า 55 ล้านคนให้มีชีวิตที่สงบสุข ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง และทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด กอปรกับทำเลที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในผืนแผ่นดินแห่งนี้

อาจกล่าวได้ว่าเมียนมา ดินแดนแห่งลุ่มน้ำอิรวดี คือแผ่นดินทองที่สวรรค์ประทานมาให้แด่ผู้คน แต่น่าเสียดายที่วันนี้สายน้ำสีเขียวอำพันแห่งนี้ได้เปลี่ยนสีและขุ่นมัวไปด้วยซากศพของผู้คนที่กำลังล้มตายดั่งใบไม้ร่วงกลางพายุ ศพของคนตายถูกกระแสน้ำที่เอ่อล้นพัดพาล่องลอยไปตามสายน้ำมีให้พบเห็นมากขึ้นราวกับวันล้างโลก

แม้ภาพชวนสยดสยองเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นรุนแรงอย่างในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย แต่มันคือสัญลักษณ์ของโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตชาวเมียนมาในวันนี้

นับจากการรัฐประหารโดยคณะทหารเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา เหตุการณ์ความวุ่นวายและความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมายังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ ตรงกันข้าม จากการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้เราต้องตระหนกมากขึ้น ด้วยว่ามาถึงวันนี้ ดินแดนอิรวดีที่เคยสงบสุขกลับจะต้องเผชิญสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ต่อเนื่องยาวนาน ผู้คนหยิบอาวุธออกมาต่อสู้ประหัตประหารกันเองเพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ทั้งจากอุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือจากความคับแค้นที่ต้องตกเป็นฝ่ายถูกรุกไล่รังแก ไร้ความยุติธรรม แต่ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่นำความเจ็บปวดมาสู่แผ่นดินแม่ของพวกเขาทั้งสิ้น สงครามอุดมการณ์และอาวุธยังพอหลบเลี่ยงได้ แต่สงครามกับมัจจุราชร้ายโควิดเช่นนี้ ยากที่ลำพังชาวเมียนมาจะเอาตัวรอดไปได้ หากประชาคมโลกยังนิ่งเฉย ไม่พยายามเข้าไปช่วยเหลือ ก็เห็นทีแผ่นดินอิรวดีคงต้องเหือดแห้งไปจากแผ่นที่โลกใบนี้

ดูเหมือน “มิน อ่อง หล่าย” ผู้กุมอำนาจสูงสุดในเมียนมา ก็เพิ่งจะยอมรับความจริง ยอมลดทิฐิ และเรียกร้องต้องการความช่วยเหลือในการช่วยควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศเมียนมาจากเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศมหามิตรอย่างจีนและรัสเซีย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า “มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา และประธานคณะมนตรีบริหารประเทศ แถลงการณ์ว่า ต้องการความร่วมมือจากสมาชิกอาเซียนและ “ประเทศสนิทสนม” ในการช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักภายในประเทศ ทั้งในด้านการป้องกัน ควบคุม และการรักษาจากการติดเชื้อโควิด

ขณะที่ประเทศมหาอำนาจโลกอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้าน จะเป็นไปได้ไหมที่เวลาเช่นนี้ควรหยุดเรื่องการเมืองและอำนาจไว้ก่อน แล้วหาทางช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์ในฐานะมนุษยชาติด้วยกัน เป็นไปได้ไหมที่จะมีการระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือเมียนมาโดยไม่อ้างอิงอุดมการณ์ทางการเมืองที่เพ้อเจอมากเกินไป

จิตอาสาช่วยเตรียมฝังศพชาวKalay ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : ที่มาภาพ : https://www.myanmar-now.org/en/news/in-the-shadow-of-an-uprising-kalay-battles-another-scourge
    หมายเหตุผู้เขียน…

    ผมทบทวนตัวเอง เพื่อจะเขียนบอกเล่าเรื่องซากศพและความตายในเมียนมาอยู่นาน มันสะเทือนใจจนเขียนไม่ค่อยออก ไม่ค่อยอยากเล่าถึงโศกนาฏกรรมนี้มากนัก สาเหตุลึกๆ เกิดจากแรงสะเทือนใจเมื่อมองย้อนกลับเข้ามาดูเพื่อนร่วมชาติในบ้านเมืองของตนเอง ภาพของผู้คนที่อ่อนล้า และความตายของผู้คนที่ไร้ความหวัง คราบน้ำตาและเสียงร่ำไห้ของญาติมิตรผู้ที่กำลังเฝ้าดูคนที่พวกเขารักกำลังจะจากโลกนี้ไปมันช่างเสียดแทงใจ

    แน่นอนหากไม่มองโลกในแง่ร้ายนักก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในไทยเรายังดีกว่าเมียนมาหลายเท่า แต่ก็ต้องไม่โกหกตัวเองมากเกินไปว่าระยะห่างในเชิงตรรกะก็จะทำให้เราวางใจได้นัก มันคงน่าเจ็บปวดหากเรายังปล่อยให้สถานการณ์โรคระบาดในไทยเดินตามไปในทิศทางแบบเมียนมา …

    ผมไม่ใช่พวกคลั่งอุดมการณ์ทางการเมืองจัดจนมองข้ามชีวิตจริง แต่ผมก็อดทบทวนฉากชีวิตของเมียนมามาเป็นบทเรียนสะท้อนสถานการณ์ในบ้านเมืองเรา…

    มันตกผลึกกลับไปที่ประเด็นเดิมๆ คือ ถ้าระบบการเมืองดี ผู้นำมีคุณธรรม มีความสามารถ ยึดถือผลประโยชน์ของชาติและประชาชนมาก่อนผลประโยชน์และการแสวงหาอำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง เชื่อว่าบ้านเมืองเราก็จะรอดพ้นจากทุกวิกฤตินี้ไปได้ ถามผมว่าแล้วบ้านเมืองเราตอนนี้เป็นอย่างไร …รูปธรรมจากฉากชีวิตที่ปรากฏของพวกท่านๆ นักการเมืองและผู้กุมอำนาจทั้งหลายในเวลานี้ มันทำให้ผมค่อนข้างเศร้าสลด…