ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > รุ่งเจริญโมเดล Community Isolation หมู่บ้านแรงงานเคลื่อนที่… ปิดชุมชนจัดการโควิดเบ็ดเสร็จ

รุ่งเจริญโมเดล Community Isolation หมู่บ้านแรงงานเคลื่อนที่… ปิดชุมชนจัดการโควิดเบ็ดเสร็จ

25 สิงหาคม 2021


ศรีนาคา เชียงแสน

บ้านรุ่งเจริญ หมู่บ้านแรงงานเคลื่อนที่กลางขุนเขา

ทันทีที่นกเถื่อนตัวแรกตื่นจากหลับใหล ยังมิทันที่ตะวันแรกจะฉาดฉายแสง ชาวบ้านรุ่งเจริญส่วนใหญ่จะลุกขึ้นจากที่นอน เตรียมความพร้อมเพื่อสู่กับวันใหม่ของชีวิต หญิงสาวเข้าครัวทำอาหารแบบง่ายๆ พวกเธอจะจัดเตรียมเสบียงไว้หลายส่วนทั้งสำหรับตัวเองและพ่อบ้าน สมาชิกในครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกบ้าน และสำหรับคนแก่และสมาชิกรุ่นเยาว์ที่ใช้ชีวิตทั้งวันที่บ้าน ขณะที่พ่อบ้านและลูกชายเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับหน้างานที่รอคอยอยู่ในวันนั้นๆ สำหรับเด็กๆ ที่ยังเล็กอยู่ได้สิทธิพิเศษ ไม่ต้องตื่นเช้ามากนัก เพราะห้วงนี้โรงเรียนปิดยาวเนื่องจากสถานการณ์โควิด บรรดาเจ้าตัวเล็กเหล่านี้ได้สิทธิ์พิเศษเลือกใช้ชีวิตตามวิถีซุกซนตามวัยของตนอยู่ที่บ้านกับปู่ย่าตายาย เรียนออน์ไลน์ด้วยจินตนาการจากสิ่งรอบตัวตามธรรมชาติ ต้นไม้ ไร่นา ป่าเขา ทั้งหมู่บ้านแห่งนี้แทบไม่มีเด็กคนไหนมีอุปกรณ์สมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ มาใช้เป็นเครื่องมือเรียนหนังสือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตามที่กระทรวงการศึกษาของไทยวางแบบไว้ได้

หมู่บ้านรุ่งเจริญ ม.11 ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย มีประชากรในระบบ 469 คน 75 ครัวเรือน (แต่หากรวมประชากรแฝงที่ไม่อยู่ในรายชื่อสำรวจของทางราชการจะสูงถึง 600 คน) ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าอาข่า ทั้งที่เป็นกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิม และส่วนที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ใหม่ อาชีพหลักของพวกเขาคือเกษตรกรรรม แต่เนื่องจากข้อพื้นที่ทำกินของแต่ละครัวเรือนมีจำกัด เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนประชากรในพื้นที่ ทำให้ลำพังแค่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอให้เลี้ยงชีพ จึงเกิดการปรับตัวตามวิถีสมัยใหม่กลายเป็นชุมชนแรงงานรับจ้างราคาถูกที่เคลื่อนย้ายแบบเช้าไป-เย็นกลับ เพื่อออกไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่ งานที่พวกเขาออกไปรับจ้างมีตั้งแต่เป็นแรงงานรับจ้างดำนา จ้างเหมาปลูกข้าวโพด หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากๆ บางส่วนที่มีความรู้ความชำนาญด้านช่างก็จะแยกไปทำงานด้านการรับเหมาก่อสร้าง บางส่วนแยกไปทำงานในงานโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บางส่วนเป็นแรงงานรับจ้างรายวันทั่วไป เช่น เป็นคนสวน เป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร พนักงานขายของ คาร์แคร์ ปั๊มน้ำมัน เรียกว่าสารพัดในแทบจะทุกวงการ

โควิดกับวิกฤติครั้งใหญ่ของชีวิตที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้

เมื่อประมาณวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบการติดเชื้อโควิดจากแรงงานที่ไปรับจ้างเป็นแม่บ้านในรีสอร์ทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ถัดมาอีกสองสามวันก็เกิดเป็นกระแสข่าวลือ “คลัสเตอร์ดำนา” แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ อ.แม่จัน และใกล้เคียง โดยเฉพาะ อ.เมืองเชียงราย อ.แม่สาย และ อ.แม่ฟ้าหลวง สาเหตุเกิดจากชาวบ้านรุ่งเจริญที่ออกไปรับจ้างดำเนา หรือปลูกนาแบบจ้างเหมา จะใช้วิธีการเดินทางออกจากหมู่บ้านผ่านหัวหน้าทีมที่เป็นนายหน้ารับจ้างเหมางานมา พวกเขาเดินทางเบียดเสียดอยู่บนรถกระบะคันเดียวกัน ทำงานด้วยกัน นั่งร่วมวงรับประทานอาหารด้วยกัน และสัมผัสคลุกคลีกันตลอดแทบทั้งวัน นอกจากนี้พบว่าในระยะแรกๆ ผู้ป่วยเหล่านี้แทบไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นเลย จึงยิ่งทำให้เกิดความชะล่าใจจนเชื้อแพร่กระจายไปทั่วทั้งชุมชน และกระจายไปยังชุมชนอื่นๆ ใกล้เคียงจำนวนมาก

ด้วยปัจจัยและข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้ฝ่ายปกครองจังหวัด ฝ่ายปกครองอำเภอ ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ต้องตัดสินใจเลือกใช้วิธีการปิดหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา และเลือกใช้ระบบ CI หรือ community isolation บูรณาการบุคลากร ทรัพยากร จากทุกฝ่าย โดยมีหน่วยงานท้องถิ่น (อบต.ศรีค้ำ) เข้าให้การช่วยเหลือด้านอาหาร เครื่องยังชีพต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำการกักตัว

จากวันแรกๆ ที่ตรวจพบผู้ป่วยแค่ 3 ราย เริ่มพบเพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย แล้วขยับเป็น 69 ราย ก่อนจะกระโดดไปเป็น 120 ราย ภายในระยเวลาเพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) อ.แม่จัน จึงต้องระดมทรัพยากรและหน่วยงานลงพื้นที่เพื่อตรวจเชิงรุกกับประชาชนในชุมชนทั้งหมดกว่า 600 ราย พบว่า ณ จุดที่พีกที่สุดมีชาวบ้านในหมู่บ้านติดเชื้อทั้งที่เป็นสีเขียวและสีเหลือง กว่า 300 ราย หรือประมาณครึ่งหมู่บ้าน

ถึงจุดนี้ หมู่บ้านรุ่งเจริญ หมู่บ้านแรงงานเคลื่อนที่ที่เคยมีการเคลื่อนไหวของผู้คนแสนคึกคัก ต้องปิดตัวเองลงท่ามกลางความวิตกกังวลสารพัด ชีวิตที่เหลือจะเป็นอย่างไร จะเอารายได้ที่ไหนมาหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว เพราะนับจากหมู่บ้านถูกปิดตัวลง ชาวบ้านที่นี่ต้องดำรงชีพได้ด้วยอาหารกล่องจาก อบต.ศรีค้ำ และข้าวปลาอาหาร และสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ จากการบริจาคของผู้คนและหน่วยงานต่างๆ เท่านั้น

รุ่งเจริญโมเดล-ข้ามวิกฤติโควิดไปด้วยกัน

นับจากจุดนี้ การบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนแห่งนี้จึงนับว่าน่าสนใจมาก เพราะระยะแรกที่ทางราชการสั่ง “ปิดหมู่บ้าน” ได้รับเสียงต่อต้านและการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิชาการและเอ็นจีโอบางกลุ่มค่อนข้างมาก ตั้งแต่วิจารณ์ว่ารังแกคนจน หรือเพราะพวกเขาเป็นคนชนเผ่า เป็นคนชายขอบ จึงเลือกทำกับพวกเขาแบบนั้น ถ้าเป็นหมู่บ้านคนเมืองคงไม่เลือกทำแบบนี้ หรือแม้กระทั่งวิจารณ์ถึงเรื่องกระบวนการรายงานผลที่ไม่มีการทำไทม์ไลน์ ไม่มีการนับรวมในสถิติผู้ป่วยของอำเภอและจังหวัด เป็นต้น

แต่จากการติดตามข่าวสารและกระบวนการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ด้วยสายตาที่ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน พบว่า เมื่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดบนพื้นฐานของความดี ความบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมายเพียงใด แต่ในที่สุดพวกเขาก็สามารถข้ามพ้นวิกฤติที่แสนสาหัสไปได้ด้วยกันเสมอ

ในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้าในพื้นที่ ได้ใช้กระบวนการแยกแยะ คัดกรองผู้ป่วยออกจากคนที่ไม่ป่วยหรือไม่มีอาการ หลังจากนั้นก็มาคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการหนักส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่จัน การรักษาก็มีการระดมทีมแพทย์ที่มีความชำนาญจากในและนอกพื้นที่มาช่วยเหลือ มีการจัดโอพีดีเฉพาะทางเฝ้าดูอาการ กลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ในเด็กที่ติดเชื้อจากพ่อแม่ ก็แยกมาให้กุมารแพทย์ดูแลเป็นพิเศษ ผู้ป่วยอาการหนักบางคนที่ได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและรักษา อาการจะค่อยๆ หายและทยอยกลับบ้านได้จนหมดแล้ว

ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่ยังไม่ป่วย ไม่แสดงอาการ หรือยังตรวจไม่พบเชื้อนั้น ก็ได้รับการดูแลประคับประคองสถานการณ์เพื่อให้ผ่านพ้นห้วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิตห้วงนี้ไปให้ได้ก่อน ผ่านการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ อ.แม่จัน และใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ในพื้นที่ นักการเมืองท้องถิ่น องค์กรการกุศล เอ็นจีโอ หรือแม้แต่พ่อค้า ประชาชนในพื้นที่ ก็มีส่วนในการระดมความช่วยเหลือส่งผ่านเข้ามาในชุมนเพื่อบรรดาความเดือดร้อนของชาวบ้านลงบ้าง

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อราวๆ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณวันที่ 20-21 ส.ค. 2564) มีการส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเร่งตรวจหาภูมิคุ้มกันของคนในชุมชน แม้ว่าจะยังไม่มีตัวเลขที่ปรากฏออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากการตรวจสอบข่าวเชิงลึก พบว่ามีสัดส่วนตัวเลขที่น่าสนใจมาก คือพบว่าชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ภูมิคุ้มกันหมู่สูงถึง 53% จากผู้ได้รับการตรวจทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงมากในเชิงระบาดวิทยา ตัวเลขนี้เป็นทั้งความหวังและแนวทางในการบริหารจัดการชุมชนหมู่บ้านที่อาจจะมีการตรวจพบเป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิดในอนาคต และจะเป็นต้นแบบหรือทางเลือกในการแก้ไขปัญหาโควิดอีกรูปแบบหนึ่งบนสมมติฐานว่าพวกเรายังต้องรับมือกับโรคร้ายนี้ไปอีกนาน

สังคมไทยยังมีความหวังเสมอ

แน่นอนว่า “รุ่งเจริญโมเดล” อาจจะไม่ใช่ต้นแบบที่สมบูรณ์นัก เพราะยังมีปัญหา อุปสรรค ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาแทบทุกขั้นตอน เอ็นจีโอและคนบางคนดูหมิ่นดูแคลนว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานนี้สำเร็จเพราะนี่เป็นหมู่บ้าน “ชนเผ่า” ที่ข้าราชการสามารถกดขี่ บังคับพวกเขาได้ง่ายกว่าชุมชนเมือง หรือแม้แต่วิจารณ์ว่าคนในชุมชนแห่งนี้เป็นสายพันธุ์พิเศษ ที่มีความอึด ความอดทน หรือมีภูมิคุ้มกันตนเองมากกว่าคนเมืองทั่วไป ซึ่งเหล่านี้เป็นคำวิจารณ์ที่เกิดจากอคติต่างๆ นานา ในใจของแต่ละคน แต่หากดูจากผลสัมฤทธิ์ในการรักษาผู้ป่วยที่หายกลับบ้านได้ และไม่มีใครเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว รวมถึงสามารถสกัดกั้นไม่ให้โควิดร้ายแพร่กระจายไปทั่วทั้งชุมชน แล้วกระจายออกไปชุมชนภายนอก ก็ต้องนับถือในน้ำใจของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคน

อีกทั้งวิกฤติของบ้านรุ่งเจริญครั้งนี้ ยังเผยให้เห็นความรัก ความเมตตาในจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่มีการระดมทุน ตั้งโต๊ะรับบริจาคสิ่งของ นำไปช่วยเหลือชาวบ้านในยามที่ต้องเผชิญความยากลำบากของชีวิต ไม่ค่อยปรากฏภาพของการดูถูก รังเกียจเดียดฉันท์หรือต่อต้านทำนองว่าเป็นตัวแพร่โรคร้ายเหมือนที่เคยปรากฏเป็นข่าวในบางพื้นที่ ซึ่งแม้แต่การจะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือสถานพักคอยชุมชน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้านพี่น้องคนในชุมชนของตัวเองก็ยังถูกต่อต้าน… ส่วนตัวผมก็พบว่าชาวอำเภอแม่จัน ชาวเชียงราย เหล่านี้ช่างน่ารัก และชุนชมแห่งนี้ก็ช่างน่าอยู่ น่าใช้ชีวิตเหลือเกิน ถ้ายังมีผู้คนและชุมชนอย่างนี้ ประเทศไทยเราก็ยังมีความหวัง…

ถ้าทุกสิ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เช้ามืดวันที่ 4 กันยายน 2564 นี้ รั้วปิดกั้นเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านรุ่งเจริญ ที่เป็นรั้วไม้ไผ่ซึ่งเคยปิดกั้นเสรีภาพของคนในชุมชน และเคยเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่ปิดกั้นแบ่งแยกความเป็นคนเมืองกับคนชนเผ่า จะถูกยกออกไป เมื่อถึงวันนั้น ฝูงนกเถื่อนจะออกโดยบิน เป็นแรงงานขับเคลื่อนระบบ และหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของสังคมอีกครั้ง… เพราะพวกเขาคือชาวบ้านรุ่งเจริญ หมู่บ้านแรงงานเคลื่อนที่