ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อชาวไทยอยากฉีดวัคซีนแต่ไม่มี แต่สหรัฐมีเหลือเพราะไม่ฉีด

เมื่อชาวไทยอยากฉีดวัคซีนแต่ไม่มี แต่สหรัฐมีเหลือเพราะไม่ฉีด

27 สิงหาคม 2021


รังสิมา กุลพัฒน์

คิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2564 ภาพที่ประชาชนวอล์คอินเข้าไปฉีดวัคซีน ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เป็นภาพที่นักข่าวถ่ายภาพมาออกข่าวทุกสำนัก เป็นภาพสะเทือนใจคนหลายคน รวมทั้งบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักแต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที ภาพนี้สะท้อนให้เห็นอะไร ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ จะแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร อาจจะต้องลองเปรียบเทียบกับการจัดการของรัฐสวัสดิการ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เกิดปัญหาภาวะผู้นำในยุคที่โควิด-19 เริ่มต้น เมื่อเปลี่ยนผู้นำก็ได้เปลี่ยนนโยบายการจัดการ และทำให้มีสถิติผู้ติดเชื้อน้อยลงกว่าประเทศไทยในแต่ละวัน ซึ่งเคยมีสถิติที่ดีระดับต้นๆของโลก เพราะการดูแลตนเองของประชากรชาวไทยอยู่ในระดับดีมาก แต่เมื่อการจัดการไปถึงมือผู้บริหารบ้านเมือง ที่ต้องตอบสนองให้สอดคล้องกันแล้ว กลับเกิดปัญหาและสะดุดตัวลงจนเกิดเป็นภาพดังกล่าว

กรณีศึกษาการจัดการวัคซีนของประเทศสหรัฐอเมริกา มีความน่าสนใจในแง่การปรับตัวกับมาตรการโรคระบาด ที่มีความเปลี่ยนแปลงจากภาวะผู้นำอย่างมีนัยสำคัญ ในตอนเริ่มต้นของโรคระบาด เป็นช่วงตอนปลายของสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความชัดเจนว่า ไม่เชื่อว่าโคโรนาไวรัส เป็นโรคระบาดที่จัดการได้ยาก ไม่มีความเชื่อถือในด้านสาธารณสุขพื้นฐานในการใส่หน้ากากอนามัย ไม่สนใจเรื่องการล้างมือ ไม่ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งมีการระบาดทำให้สหรัฐอเมริกาไต่ระดับขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลกจนกระทั่งทุกวันนี้

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนจึงเทใจมาให้ผู้นำคนใหม่อย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยหวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้าม จนทุกวันนี้แม้ว่าสถิติประชากรที่ติดโควิดก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 มีประชากรที่ติดโควิดประมาณ 38.4 ล้านคน แต่มีสถิติการติดเพิ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยนโนบายการกระจายวัคซีนที่เข้าถึงทุกครัวเรือน การส่งชุดตรวจโควิดให้ผู้ที่เดินทางออกมาจากบ้านไม่ได้และการตรวจโควิดในสถานศึกษาอาทิตย์ละสองครั้งเป็นอย่างน้อยสำหรับผู้ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส การพึ่งพาระบบดิจิตัลอย่างอินเตอร์เนทอย่างเป็นระบบ และการจัดการข้อมูลให้เข้าถึงประชาชนทุกคน

ถ้าสมมติว่าเราเป็นคนที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พลเมือง หรือเข้าเมืองอย่างถูกกฏหมาย ทุกคนสามารถได้รับวัคซีน เนื่องจากไม่มีการตรวจบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีการต้องลงทะเบียนนัดหมาย ทุกคนสามารถ walk in เข้าไปถึงยังร้านขายยา หรือสถานพยาบาลของชุมชนใกล้บ้าน ได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าเตรียมตัวพร้อมก็สามารถสำรวจข้อมูลด้านวัคซีน สถานที่ และรายละเอียดอื่นๆจากเว็บไซต์ของรัฐ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน

ระบบดังกล่าวนี้มีประวัติวิธีการเริ่มจากระบบการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu) ของสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นความคุ้นชินของทุกคนที่จะต้องไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว เป็นประจำทุกปี กรณีที่มีประกันสุขภาพก็จะมีจดหมายเตือนให้ไปฉีด หรือ โรงพยาบาลส่งข้อความมาเตือน แต่ถ้าคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ (คนในสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีประกันสุขภาพ ต้องใช้ความเสี่ยงในการเข้ารักษาแบบคนจน โดยขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลจะเก็บค่าใช้จ่ายในระดับต่ำหรือไม่เก็บเลย) นั้นมักจะพยายามหาสิทธิหรือรักษาสิทธิตนเองอยู่แล้ว ก็จะรู้ว่าไปฉีดได้ฟรีตามสถานที่ต่างๆอะไรบ้าง ด้วยระบบนี้จึงใช้วิธีการเดียวกันกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

จากสถิติล่าสุด (24 สิงหาคม 2564) พบว่ามีประชากรในสหรัฐอเมริกาติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 38,303,433 คน มีคนที่ได้รับวัคซีนไปแล้วแบบครบโดสจำนวน 171,367,657 คน ซึ่งหมายความว่าได้จัดหาวัคซีนให้ประชากรไปแล้ว 363,915,792 โดส ซึ่งเริ่มมีการฉีดตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2564 และยังได้เตรียมวัคซีนให้ประชากรครบจำนวน รวมทั้งเหลือเผื่อแผ่ไปยังประชาคมโลก โดยเลือกใช้วัคซีนทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน คือ Pfizer, Merdona และ Johnson &Johnson โดยประชาชนสามารถเลือกวัคซีนที่ต้องการฉีดได้ โดยไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า ต้องฉีด 2 โดส ระยะเวลาห่างกันประมาณ 3 อาทิตย์ ส่วนจอห์นสันฉีดเข็มเดียว

หากดูสถิติจากตามรัฐต่างๆ รัฐที่มีประชากรฉีดวัคซีนครบโดสสูงสุด ณ ขณะนี้คือ รัฐแมสซาชูเส็ท อยู่ที่ร้อยละ 63.6 สถิติต่ำสุดอยุ่ที่รัฐ อาร์คันซอ อยู่ที่ร้อยละ 36 โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนทางใต้ก็อยู่ในระดับต่ำกว่าที่อื่น แต่ทางภาคอื่นๆก็มีกระจายๆกันไปที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ทำให้ค่าเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบโดส อยู่ที่ร้อยละ 49.5 แต่จากสถิติพบว่าอัตราการตายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ที่อยากฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากแต่ภาครัฐยังไม่สามารถจัดการวัคซีนให้ประชาชนได้เพียงพอ ด้วยสาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อยังมีจำนวนสูงอยู่

ที่มาข้อมูล : https://www.vaccines.gov

การจัดการข้อมูลอย่างง่ายๆของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างง่ายๆเช่นเดียวกัน โดยเริ่มจาก เว็บไซต์ของรัฐบาล vaccines.gov ที่ทุกคนสามารถหาสถานที่ฉีดวัคซีนฟรีได้ใกล้ๆบ้าน นอกเหนือไปจากเว็บไซต์ของร้านขายยาเฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Wallgreen หรือ CVS

ที่มาข้อมูล : https://www.vaccines.gov

ภาพตัวอย่างจากเว็บไซต์ของรัฐบาล ทุกคนสามารถกรอกเลขรหัสพื้นที่ และสถานที่ฉีดวัคซีนใกล้บ้านจะปรากฏขึ้นมา ดังในภาพผู้เขียนกรอกรหัสพื้นที่ของผู้เขียน พบว่ามีสถานที่ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ 19 แห่ง จำนวน ในระยะ 5 ไมล์

เมื่อคลิกไปที่สถานที่ใดก็ตามจะปรากฏข้อมูลว่ามีวัคซีนอะไรเหลืออยู่และมีรายละเอียดคร่าวๆถึงอายุของผู้ที่สามารถฉีดได้ เช่น Moderna และ Johnson & Johnson ควรจะมีอายุ 18 ปีขึ้นไป วัคซีน Pfizer ควรจะมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

ที่มาข้อมูล : https://www.vaccines.gov

ณ เวลาปัจจุบันนี้บางที่จะต้องทำการนัดหมายก่อนรับวัคซีน เพราะเกิดความนิยมในการฉีดมากขึ้น เนื่องจากมีนโยบายเปลี่ยนแปลงของหลายสถานที่รับมาตรการป้องกันเชื้อ Delta ที่กำลังแพร่กระจาย รัฐบาลและหน่วยงานหลายแห่ง มีข้อกำหนดที่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนครบโดสมากขึ้น เช่น สถานศึกษาส่วนใหญ่จะทำการให้นักศึกษาและบุคลากรในสถานศึกษาตรวจหาเชื้อโควิดอาทิตย์ละสองครั้งสำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนครบโดส และสถานศึกษาบางรัฐก็ไม่ให้นักศึกษาเข้าเรียนถ้าไม่ฉีดวัคซีนครบโดส

สาธารณสุขอเมริกัน ออกแบบชุดการฉีดวัคซีนแบบง่าย เข็มที่ใช้นั้นมีขนาดเล็กแล้วใช้วิธีการปักจึงสามารถฉีดเองได้ หรือใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นจึงทำให้สะดวกต่อการนำไปฉีดตามร้านขายยาต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้ที่มาฉีดให้นั้นส่วนใหญ่แล้วคือเภสัชกรที่ได้รับใบอนุญาตประจำร้าน

ในการขอรับการฉีดวัคซีนก็สามารถไปที่ร้านขายยาใกล้บ้าน และเดินเข้าไปที่ช่องรับยา แจ้งความจำนงค์และนั่งรอเพื่อรับการฉีดวัคซีนได้เลย ซึ่งในขณะที่ผู้เขียนเดินทางไปขอรับวัคซีนนั้น ไม่มีลูกค้ามาฉีดวัคซีนมีแต่ลูกค้าที่นำใบสั่งจ่ายยาจากโรงพยาบาลมารับยาทั่วไป

ปัญหาการต่อต้านการฉีดวัคซีนในกลุ่ม Anti Vaxxer

คนไทยส่วนใหญ่ประหลาดใจที่เห็นการต่อต้านการฉีดวัคซีนและใส่แมสก์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่มีวัคซีนเพียงพอต่อประชากรทั้งประเทศ แถมยังมีเหลือให้ประเทศอื่นๆอีก การที่คนกว่าครึ่งประเทศไม่ออกมาฉีดวัคซีน ทั้งอาจจะกลัวผลข้างเคียงของวัคซีนทั้งสามชนิดที่รัฐบาลจัดหาให้ และความไม่เชื่อว่าเชื้อโคโรนาไวรัสจะอันตราย ดังนั้นจึงทำการต่อต้านการฉีดทุกรูปแบบ นอกจากจะไม่ฉีดแล้วยังออกไปรวมกลุ่มประท้วงยังที่ต่างๆโดยไม่ใส่หน้ากาก กลุ่มนี้ไม่ใช่เพียงแต่สมาชิกพรรครีพลับบลิกัน เท่านั้น แต่มีหลายกลุ่มหลายพวกหลากหลายสีผิว ทั้งผิวขาว ผิวดำ และผิวเหลือง แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนขาวนั่นเอง

กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน ที่เมือง Raleigh มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา

ภาพกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน ที่เมือง Raleigh มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ยืนประท้วงที่รัฐให้ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัส โดยเขียนป้ายมีใจความว่า “ร่างกายของฉัน ฉันไม่ต้องการวัคซีน” “การบังคับฉีดวัคซีนไม่ต่างอะไรกับการเป็นคอมมิวนิสต์” กลุ่มคนพวกนี้รวมกลุ่มกันที่ศาลากลางเมืองหลวงของรัฐและเดินไปมารอบๆถนนชูป้ายเพื่อให้คนที่ผ่านไปมาเห็น ถ้าประมาณการจากสถิติของแต่ละรัฐที่มีตัวเลขประมาณร้อยละ 30 กว่าๆจนถึง 60 กว่าๆ ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีประชากรสหรัฐอีกเป็นจำนวนมากไม่ยอมฉีดวัคซีน ซึ่งจาก

สถิติของวันที่ 24 สิงหาคม 2564 พบว่า มีประชากร 171 ล้านคน ที่ฉีดวัคซีนไปครบโดส ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.2 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 364 ล้านโดส

สถานการณ์ของอาเซียน

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ จะเห็นว่าการจัดการของรัฐบาลแต่ละประเทศมีผลต่อการได้รับวัคซีนของประชากร ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ประเทศในแถบอาเซียนนี้ต้องการรับวัคซีนมากกว่าที่จะมีแนวคิดแบบ Anti Vaxxer เหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยมีสิงคโปร์สามารถนำวัคซีนแบบ mRna มาให้ประชาชนได้มากที่สุดคือร้อยละ 76.2 ประเทศกัมพูชามีการจัดการที่น่าสนใจคือสามารถตามติดสิงคโปร์มาได้เป็นลำดับที่ 2 ประเทศเวียดนามนั้นรั้งท้ายคือมีแค่ร้อยละ 2 ส่วนประเทศไทยอยู่เป็นลำดับที่ 8 เหนือกว่าเพียงสองประเทศคือ พม่าและเวียดนาม ซึ่งสามารถเรียงลำดับประสิทธิภาพในการให้วัคซีนแก่ภาคประชาชนได้ดังนี้ (ข้อมูลจากฐานการรายงานของชุมชนเกี่ยวกับ Covid-19 ในกูเกิ้ล)

  • ลำดับที่1. ประเทศสาธารณรัฐสิงค์โปร์ร้อยละ 76.2
  • ลำดับที่2.ประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ร้อยละ 48.8
  • ลำดับที่3.ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 42.5
  • ลำดับที่ 4. ประเทศบรูไนร้อยละ 17
  • ลำดับที่ 5 ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวร้อยละ 13.5
  • ลำดับที่ 6 ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ร้อยละ 12.2
  • ลำดับที่ 7 ประเทศอินโดนีเซีย 12.1
  • ลำดับที่ 8.ประเทศไทย ร้อยละ 8.2
  • ลำดับที่ 9 ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 3.3
  • ลำดับที่ 10 ประเทศเวียดนาม ร้อยละ 2
  • อ้างอิง
    Google COVID-19 Community Mobility Reports
    https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/How-Do-I-Get-a-COVID-19-Vaccine.html?s_cid=10505:where%20can%20i%20get%20vaccinated:sem.ga:p:RG:GM:gen:PTN:FY21
    https://news.google.com/covid19/map?hl=en-US&mid=%2Fm%2F05fkf&state=7&gl=US&ceid=US%3Aen
    https://www.vaccines.gov/search/