ThaiPublica > คอลัมน์ > American – Canadian Indian Boarding School โรงเรียนประจำ(นรก)ของเด็กๆอินเดียน

American – Canadian Indian Boarding School โรงเรียนประจำ(นรก)ของเด็กๆอินเดียน

30 สิงหาคม 2018


รังสิมา กุลพัฒน์

ขึ้นชื่อว่าโรงเรียนประจำ ไม่มีเด็กคนใดชอบอยู่แล้ว หรืออาจมีใครบางคนนึกถึงโรงเรียนประจำที่มีแม่ชีปกครองอย่างในหนังไทยหรือฮอลลีวู้ดยุคก่อนที่มีแต่เรื่องรักโรงแมนติก โรงเรียนประจำที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ได้เป็นโรงเรียนในหนัง horrorในซีรียส์ดังของอเมริกัน แต่เป็นโรงเรียนประจำที่มีอยู่จริง ที่ใช้ฆาตกรรมหมู่ชาวอเมริกันอินเดียน หรือคนไทยเรียกว่า อินเดียนแดง ได้ราบคาบยิ่งกว่าวิธีใดๆ เป็นการล้างเผ่าพันธุ์ที่แนบเนียนไม่โจ่งแจ้งเหมือนฮิตเล่อร์ทำกับยิว เขมรแดงทำกับเขมรด้วยกัน หรือพม่าทำกับโรฮิงญา เหตุการณ์นี้ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า ต่อเนื่องมาจนถึงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ แค่หกสิบปีก็ล้างบางทุกเผ่าเรียบวุธ ไม่สงสัยเหรอว่าไม่เห็นมีชาวอินเดียนแดงมาร้องเรียกสิทธิความเสมอภาคมากมายเหมือนคนดำ ไม่มีใครแต่งตัวในชุดชนเผ่า เดินไปมาดูไม่ออกว่าใครอยู่เผ่าไหน พวกเขาหายไปไหน วิธีอันแยบยลแบบนี้ใครจะคิดออก หรือ กล้าคิด ถ้าไม่ใช่คนผิวขาวที่เรียกตัวเองว่า อเมริกัน

สังหารคนหมู่ด้วย “การให้ศึกษา ” มนุษย์เราทำอย่างนี้ได้จริงๆ การให้การศึกษาในอีกวัฒนธรรมหนึ่งก็เป็นการทำลายการศึกษาในอีกวัฒนธรรมหนึ่งได้อย่างราบคาบ ในเมื่อการกำจัดแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดูไม่น่าจะศิวิไลซ์ อีกต่อไปและก็เหนื่อยเสียกำลังในการต่อสู้ นักคิดชาวอเมริกันผู้รักชาติ รักแผ่นดินคนอื่นเหล่านี้ ต่างก็หันมาหาวิธีการที่จะจัดการให้ ชาวเผ่าต่างๆที่มีกันหลากหลายเปลี่ยนเป็นชาวอเมริกันให้หมดน่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด แต่ก็ใช้เวลาอยู่บ้าง นอกจากจะเป็นวิธีที่เยี่ยมยุทธ์แล้วยังได้คำชมจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นภาคศาสนา สังคม เศรษฐกิจ ประชาคมโลก จะไปด้านไหนก็ดีไปซะทุกด้าน ในเมื่อเอาชาวป่าเหล่านี้มาพัฒนาให้เป็นชาวเมือง ให้เรียนรู้ภาษาวัฒนธรรมของชาวตะวันตก รับประทานอาหารแบบตะวันตก ใส่เสื้อผ้าอย่างตะวันตก มีมารยาทแบบคนตะวันตก เรียนรู้การอยู่บ้านแบบตะวันตก การทำงานแบบคนตะวันตกที่มีวัฒนธรรม ถือว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา และเข้มข้นอย่างมากในประเทศแคนาดา

“Kill the Indian and Save the man” “ฆ่าอินเดียนแดงที่มีอยู่ในตัวทิ้ง แล้วเหลือส่วนที่เป็นคนเอาไว้”

ท่ามกลางสงครามระหว่างคนขาวกับอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ โรงเรียนประจำสำหรับชาวอเมริกันอินเดียน ถือกำเนิดในปี 1860 โดย สำนัก Bureau of Indian Affairs ที่Yakima Indian Reservation รัฐวอชิงตัน โรงเรียนประจำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฎิรูปการศึกษาของ Herbert Welsh and Henry Pancoast ผู้ก่อตั้งองค์กรต่างๆอย่างเช่น Board of Indian Commissioners, the Boston Indian Citizenship Association and the Womens National Indian Association. คนสำคัญที่จะถูกละเลยไม่ได้ก็คือ ผู้กองริชาร์ด เฮนรี่ แพรท (Richard Henry Pratt) บุคคลผู้กล่าววลีเด็ดในปี ๑๙๘๒ ว่า “ฆ่าอินเดียนแดงที่มีอยู่ในตัวทิ้ง แล้วเหลือส่วนที่เป็นคนเอาไว้”( Kill the Indian in him, and save the man.)

เป้าหมายของนักปฎิรูปก็คือใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะ “เปลี่ยน” คนอินเดียนแดงเผ่าต่างๆให้เข้าสู่ “วิถีชีวิตแบบอเมริกัน” ซึ่งแนวคิดนี้ได้ดัดแปลงมาจากแนวคิดในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้าของชาวโปรแทสแตนต์ คนอินเดียนแดงจะถูกสอนให้เห็นความสำคัญของทรัพย์สินส่วนตัว วัตถุที่มีค่าและครอบครัวเดี่ยว นักปฎิรูปคิดแนวคิดพวกนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะ “นำความเจริญ”มาสู่คนอินเดียนแดง ทำให้คนเหล่านี้ยอมรับความเชื่อและระบบค่านิยมของแบบคนขาว การเป็นแบบคนขาวต้องสูญเสียภาษา ศาสนา โครงสร้างครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การแต่งกาย ทรงผมยาวแบบอินเดียนก็ต้องถูกกำจัดออกไป

โรงเรียนประจำจึงกลายเป็นเรื่องมือในอุดมคติในการซึมซับคนและสร้างมโนคติ เพื่อให้อยู่ในวิถีเดียวกัน โรงเรียนประจำสามารถปรับเปลี่ยนเยาวชนชาวอินเดียนได้อย่างรวดเร็ว ความเร่งด่วนดันดับแรกนั้นก็คือจัดให้มีการเรียนการสอนเชิงวิชาการ ตามหลักการอ่าน เขียน และพูดภาษาอังกฤษ โดยเรียนวิชาเลขคณิต วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศิลปะ เพื่อเปิดโลกทัศน์การค้นพบ พลังแห่งความรู้ด้วยตนเอง เยาวชนชาวอินเดียนถูกทำให้เป็นปัจเจกบุคคล ถูกบังคับเข้ารีตเป็นคริสเตียน สอนให้รู้สังคมประชาธิปไตย โครงสร้างทางสถาบันและสังคม เพื่อฝึกให้เรียนรู้ในฐานะพลเมืองอเมริกันที่ดี เป้าหมายสูงสุดของการก่อตั้งโรงเรียนประจำก็คือ การกำจัดวัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดงให้สิ้นซาก

ในช่วงทศวรรษ 1880 มีการจัดตั้งโรงเรียนประจำแบบนี้ถึง ๑๐๐โรง มีนักเรียนกว่าหมื่นคน ในจำนวนนี้รวมถึงนักเรียนที่อยู่ในสถานกักกัน Reservationทั้งประจำและไปกลับ

โรงเรียนแบบไปกลับ เป็นโรงเรียนที่ใช้งบประมาณน้อยและมีความขัดแย้งกับผู้ปกครองน้อย ส่วนโรงเรียนประจำที่อยู่ในReservation มีการเรียนการสอนทางวิชาการครึ่งวัน อีกครึ่งวันฝึกอาชีพ การควบคุมดูแลก็มีตารางในแต่ละวัน ส่วนนักเรียนใช้เวลากับการสวนสนาม การใช้ชีวิตในชั้นเรียน การรับประทานอาหาร และการพักในโรงเรียนตลอดเวลาที่เรียนอยู่ การอยู่ในกรอบปฎิบัต การบังคับ และการมีระเบียบวินัย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัตรถปฏิบัติของคนขาว

ระบบการเรียนสอน คือ การฝึกวินัยและการถูกลงโทษ

“เราแทบไม่ได้รับความรู้อะไรเลย โรงเรียนแบบปกติของรัฐเป็นของต้องห้ามสำหรับพวกเราเนื่องจากการเหยียดสีผิว เราต้องอยู่ที่โรงเรียนแบบที่เขาจัดให้ เกือบทุกคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรื่องโรงเรียนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการศึกษามันเป็นเรื่องของวินัยและการลงโทษต่างหาก” ลูซี่ โตเลโด หญิงอินเดียนชาวนาวาโอ ซึ่งเคยเรียนที่โรงเรียนเชอร์แมน ในช่วงทศวรรษที่ ๕๐ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววิทยุแห่งชาติ (NPR) เธอกล่าวต่อไปว่า นักเรียนไม่เคยเรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษอะไรเลย เธอยังจำได้ว่าเวลาว่างกิจกรรมที่ได้ทำเป็นประจำคือ “วันเสาร์พวกเขาก็ให้เราดูหนัง หนังอะไรรู้ไหม คาวบอยกับอินเดียนแดง ใช่หนังที่ทำให้เราเห็นว่าพวกเราถูกฆ่าทั้งหมดยังไง นี่ไงของที่พวกเขาให้เราดู”

หลายทศวรรษต่อมา จนถึงปี ๖๐ เด็กๆก็ยังถูกทำร้ายถูกตี บังคับใช้แรงทำงานหนัก รายงานจากสภาคองเกรสยังแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มีแค่ การฝึกฝนทางวินัย และการทำโทษเท่านั้น การทำร้ายนั้นถึงขั้นสาหัสต้องเข้าโรงพยาบาล เป็นฝันร้ายติดตัวให้กับนักเรียนตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา พวกเขาไม่สามารถออกจากโรงเรียนที่เขาถูกพรากมาจากครอบครัวตั้งแต่อายุหกขวบได้ ถ้าคิดจะออกจากเขตโรงเรียนก็จะมีตำรวจจับตัวมาส่งโรงเรียน ถึงตอนนั้นเขาก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก ไรท์ นักต่อสู้ชาวอินเดียนกล่าวว่า เขาคิดว่าแม่ทำโทษให้เขาออกจากบ้าน แต่วันที่เขาต้องเดินทางไปโรงเรียนเขาเห็นแม่ร้องไห้เขาเลยสับสน เขายังจำภาพนั้นได้ถึงแม้ว่ามันจะเกิดมาหลายสิบปี

บิล วไรท์ ชาวพื้นเมืองเผ่า Pattwin ถูกส่งไปยังโรงเรียน Stewart Indian School ในรัฐเนวาด้า เมื่อเขาอายุเพียง หกขวบเช่นกัน
วไรท์จำได้ว่าเขาถูกอาบน้ำแบบขัดสีฉวีวรรณ โกนหัว และนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนประจำทุกคนจะถูกสั่งไม่ใช้นำวัฒนธรรมพื้นถิ่นออกมาใช้ ทุกๆอย่างตั้งแต่ห้ามไว้ผมยาว ห้ามพูดภาษาพื้นถิ่นแม้แต่คำเดียว วไรท์บอกว่าไม่ใช่แต่แค่เขาจะลืมภาษาพูดของเขาหมด แม้กระทั่งชื่อของเขาเองเขาก็จำไม่ได้

เมื่อเขากลับมาเจอยายของเขา เขาบอกยายว่าเขาชื่อบิลลี่ “ชื่อของหลานไม่ใช่บิลลี่นะ ชื่อหลานคือ ทารุม TAH-rruhm” อาจารย์ Tsianina Lomawaima หัวหน้าภาควิชาการศึกษาอเมริกันพื้นเมือง แห่งมหาวิทยาลัยอริโซน่า กล่าวว่า รัฐบาลในยุคนั้นมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนคนพื้นเมืองแบบถอนรากถอนโคน มีวัถถุประสงค์ที่จะลบล้างวัฒนธรรมของชาวพื้นถิ่น และแทนที่ด้วยวัฒนธรรมขอบคนขาว

การเรียนรู้หรือการใช้แรงงานเด็ก

เด็กชาวอินเดียนทั้งชายและหญิงที่ถูกส่งมายังโรงเรียนประจำได้รับการฝึกฝนในด้านวิชาชีพ ผู้หญิงเรียนรู้การทำอาหาร เย็บปักถักร้อย ทำความสะอาด ส่วนผู้ชายก็ได้เรียนรู้อาชีพต่างๆเช่นการทำไร่ คนฆ่าสัตว์ ช่างตีเหล็ก ช่างตัดเสื้อ ช่างทำรองเท้า ช่างวาดภาพ ช่างทำอิฐ ช่างพิมพ์ ช่างทำรถม้า ดูเสมือนว่าโรงเรียนให้ความรู้แก่พวกเขาเป็นอย่างดี แรงงานอย่างนี้ก็เป็นที่ต้องการจริงๆ

ผู้กองริชาร์ด แพรท บิดาแห่งการศึกษาชาวอินเดียน , Army War College

ผู้กองริชาร์ด แพรท มาถึงเขตกักกัน Rosebud ปลายเดือนกันยายน ปี 1879 ในปีนี้ผู้กองได้พบกับนักรบแหละหัวหน้าเผ่าอินเดียน 40 คน ทั้งแพรทและนักรบจากหลายเผ่ารู้จักกันดีในสงครามระหว่างคนขาวและอินเดียนที่ได้สู้รบกัน คราวนี้ แพรทบอกล่ามให้บอกกับนักรบเหล่านี้ว่า ต้องการลูกสาวและลูกชายของพวกเขามาที่โรงเรียนเพื่อฝึกภาษาและสอนให้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนขาว หางจุด (Spotted Tail)

หัวหน้าเผ่า Sioux บอกว่าไม่ต้องการให้เด็กๆของตนไปเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนขาว “พวกคนขาวมีแต่คนขี้ขโมยและโกหก เขาขโมยทองที่ซ่อนไว้ในภูเขาของเราและบอกให้เรายกดินแดนให้” ผู้กองแพรทแย้งว่า “พวกท่านฉลาดก็จริงแต่ก็ไม่รู้ภาษาที่เราใช้กันในประเทศนี้นะ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร” หลังจากประชุมและคิดอย่างถ้วนถี่แล้ว หัวหน้าเผ่าจึงส่งลูกสี่คนและหลานอีกสองคนมายังโรงเรียน Carlisle เป็นจุดเริ่มให้เผ่าอื่นๆทำตาม กำลังของชาวอินเดียนลดถอยลงพร้อมกับจำนวนประชากร ซึ่งก่อนที่จะมีการสู้รบกับคนขาวนั้นประชากรมีถึงล้านคน แต่ในปี 1879 นี้มีเพียงไม่ถึงสามร้อยคนเท่านั้น นับแต่นั้นชาวอินเดียนก็ถูกปกครองโดยรัฐบาลอเมริกัน โดยถูกจำกัดให้อาศัยในเขตกักกัน ภายใต้การกำกับดูแลของ Bureau of Indian Affairs in Washington, D.C หรือเรียนว่า BIA ซึ่งจะเป็นธุระจัดหาสิ่งจำเป็นทั้งอุปโภค บริโภคให้กับชาวอินเดียน รวมทั้งกำหนดวิถีชีวิตด้วย

วันที่ 6 ตุลาคม 1879 เป็นวันแรกที่ประชาชนในเมืองหลายร้อยคนได้เป็นสักขีพยานต้อนรับเด็กๆชาวอินเดียนกุล่มแรกเผ่า Sioux จากดาโกต้า มาถึง Carlisle, Pennsylvania

โรงเรียน โรงงาน และสุสาน

โรงเรียน Carlisle ตั้งอยู่ห่างจากค่ายกักกันตะวันตก Carlisle เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆในรัฐเพนซิลวาเนีย หุบเขา Cumberland ห่างจากนิวยอร์คไปสองร้อยไมล์ตะวันตกเฉียงใต้ และหนึ่งร้อยไมล์ตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวง วอชิงตันดีซี ก่อตั้งโดย ผู้กองริชาร์ด แพรท นายทหารผู้กล้าแห่งสงครามกลางเมืองแห่ง สมรภูมเกตตี้สเบอรค

โรงเรียนประจำแห่งนี้ไม่เคยขาดเสียงร่ำไห้นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เคยไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนCarlisle จะรับรู้ถึงความวังเวง อ้างว้าง แต่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของเด็กๆผู้ถูกทรมาณที่โรงเรียนที่ดำเนินการโดยทหารและนักบวชแห่งนี้ ด้านหลังของโรงเรียนจะมีญาติชาวอินเดียนแดงยืนไว้อาลัยและหลั่งน้ำตาให้บรรพบุรุษของพวกเขา ดอกไม้ที่ไม่เคยขาดหายไปจากสุสานหลังโรงเรียนเป็นประจักษ์พยานถึงความโหดร้ายที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกัน

หลังจากที่โรงเรียน Carlisle ก่อตั้งก็มีโรงเรียนต่างๆนำวิธีการเอาไปเป็นแบบอย่าง และได้ดำเนินการต่อมาเรื่อยๆจนถึงเกือบปลายศตวรรษที่ 20 โรงเรียนประจำสำหรับเด็กอินเดียนแดงนี้เพิ่งจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนสอนวิชาชีพแบบโรงเรียนปกติเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง รัฐบาลอเมริกันประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวอินเดียนแดงได้อย่างเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เกือบทุกคนไม่สามารถพูดภาษาของตนเอง ไม่มีการใช้เครื่องมือดำรงชีพอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานถูกนำมาขายในพิพิธภัณฑ์โดยมีราคาแพง ชาวอินเดียนแดงต้องเข้าไปศึกษาการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสร้างมาจากเงินที่ได้กำไรจากบ่อนการพนันที่ได้รับการอนุญาติให้ก่อตั้งได้โดยรัฐบาลอเมริกันในเขตกักกันของชาวอินเดียนแดง ซึ่งในบางรัฐปรับคำพูดใหม่เรียกว่า “ประเทศ”

โบรชัวร์นำชมโรงเรียนCarlisle

ครั้งหน้าพบกับโรงเรียนประจำของเด็กๆชาวอินเดียนแดงที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมีความโหดร้ายและน่ากลัวที่ได้ขึ้นชื่อว่า มากที่สุด