ThaiPublica > คอลัมน์ > ไต้หวัน(台灣)ที่มีอะไรมากกว่าชานมไข่มุก (針具奶茶)และการจัดการกับไวรัสโคโรนา (新冠病毒)

ไต้หวัน(台灣)ที่มีอะไรมากกว่าชานมไข่มุก (針具奶茶)และการจัดการกับไวรัสโคโรนา (新冠病毒)

30 มิถุนายน 2020


รังสิมา กุลพัฒน์

บรรยากาศที่ร่มรื่นภายในมหาวิทยาลัย NCKU

เมื่อกล่าวถึงสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สิ่งที่คนรุ่นก่อนๆจะนึกถึงคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บิดาแห่งไต้หวัน นายพลเจียงไคเช็ค ส่วนภาพลักษณ์ในปัจจุบัน ตัวแทนของความเป็นไต้หวันกลับเป็นความทันสมัย สถานที่ท่องเที่ยว ของกิน โดยเฉพาะชานมไข่มุกซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ถือกำเนิดจากการประดิษฐ์คิดค้นขึ้น จากร้านชาเล็กๆในเมืองไท่จุง (台中) ทางใต้ของไต้หวัน และในช่วงเวลานี้ที่มีโรคระบาดโคโรน่าไวรัส แพร่กระจายไปทั่วโลก สิ่งที่คนทั้งโลกต่างก็มุ่งถอดบทเรียนก็คือ การจัดการเรื่องโรคระบาดของไต้หวัน เป็นมาตราการตอบรับที่ฉับไว เอาใจใส่ จนประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศที่เคยเข้ามาปกครองไต้หวัน อย่างญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศที่ไต้หวันถูกกล่าวถึงว่าเป็นเมืองขึ้นกลายๆในปัจจุบันคือสหรัฐอเมริกา

บทความนี้จะกล่าวถึงสาธารณรัฐจีน (Republic of China) หรือประเทศไต้หวันในความเข้าใจของคนไทย ในมุมมองตามประสบการณ์ของผู้เขียน ในบทความนี้ผู้เขียนขอเรียกว่า สาธารณะรัฐจีน ว่า ไต้หวัน

ผู้เขียนได้รับเชิญไปเป็นนักวิชาการเยี่ยมเยือนที่ภาควิชาการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกุง หรือ National Cheng Kung University (NCKU) เมืองไท่หนาน (台南)ที่ไต้หวันเป็นเวลาสามเดือนครึ่ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งระยะเวลาที่ได้พำนักอยู่ในไต้หวันนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญของโลกสองประการคือ การกราดยิงหมู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และสถานการณ์โคโรน่าไวรัส การเกิดเหตุการณ์ทั้งสองประการนี้ มหาวิทยาลัยเฉิงกุง ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองแบบฉับพลัน โดยการตั้งบอร์ดแสดงความเสียใจและให้กำลังใจคนโคราช ส่วนสถานการณ์โคโรน่าไวรัส มหาวิทยาลัยมีมาตรการคัดกรองนักศึกษา และคืนค่าเรียน จากประเทศที่มาจากกลุ่มความเสี่ยง รวมทั้งตรวจวัดอุณหภูมิมาตั้งแต่เดือนมกราคม

กระดานที่ทางมหาวิทยาลัยจัดเตรียมให้นักศึกษาแสดงความเสียใจในกรณีกราดยิงที่โคราช

คนไต้หวันมาจากไหน และการสร้างชาติ ทำได้สำเร็จหรือไม่

คำว่า ไต้ tai (台) ในภาษาจีนแปลว่า “สถานที่” ส่วนคำว่า หวัน wan (灣) แปลว่า “อ่าว” เกิดจากการกร่อนคำจากภาษาถิ่นของพวกชาวเมืองพื้นถิ่นศีรายา จากคำว่า เทา (tau) ซึ่งหมายถึง “ผู้คน” (people) และคำว่า อัน (an) ซึ่งหมายถึง “สถานที่” (place) มีความเชื่อว่าชาวพื้นเมืองศีรายานี้เป็นกลุ่มคนที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณทะเลอันผิง เมืองไท่หนาน เมื่อชาวดัตช์เข้าเกาะไต้หวันในอดีตได้เข้ามาบริเวณอันผิง เมืองไท่หนานก่อนพื้นที่อื่น ดังนั้นจึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า ไถหวัน ตามคนพื้นเมือง และต่อมาชาวฮั่นที่มาตั้งรกรากอยู่บริเวณเมืองไฉอี้ เรียกเกาะแห่งนี้ตามชาวดัตช์ หลังจากนั้นจึงเทียบเคียงเสียงและความหมายให้ตรงกับภาษาจีน

ดังนั้น ไต้หวันในความหมายของชาวจีนจึงหมายถึง “เกาะ” หรือบริเวณที่มีทั้งส่วนที่เป็นแผ่นดิน และแหลม หรืออ่าว ตำราเรียนของไทยทำให้นักเรียนไทยคุ้นเคยกับการเรียกไต้หวันว่า เกาะฟอร์โมซา (Formosa) ซึ่งหมายถึงเกาะที่สวยงาม เป็นคำในภาษาโปรตุเกสที่นักเดินเรือชาวโปรตุเกสที่เข้ามาที่เกาะไต้หวันเป็นกลุ่มแรกๆ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ คนพื้นเมืองในไต้หวันนั้นแบ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่บนภูเขา (Mountiain Indiginious) และคนที่อยู่บนพื้นราบ (Plains Indiginious) มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน การสำรวจเรื่องคนพื้นเมืองและเรื่องราวทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบส่วนใหญ่มีการศึกษาโดยชาวญี่ปุ่นเมื่อตอนที่เข้ามาปกครองไต้หวัน

ภาพคนพื้นเมืองไต้หวัน ถ่ายภาพโดย John Thompson ปีพ.ศ. 2414 ที่มาภาพ : https://www.pinterest.com/pin/557320522609387846/

กล่าวโดยสรุป เรื่องผู้ปกครองไต้หวันนั้นสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ ไต้หวันถูกปกครองโดยเสปนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2169-2185 เป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ช่วงปี พ.ศ. 2167-2205 ในรัชสมัยของราชวงศ์หมิง โกซิงก้า เข้ามาปกครองช่วงปี พ.ศ. 2205-2226 และราชวงศ์ชิงก็ปกครองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ 2226-2438 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไท่หนาน ต่อมาในช่วงสงครามโลกที่ญี่ปุ่นมีแสนยานุภาพก็ได้เข้ามาปกครองไต้หวันถึง 50 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438-2488 ในช่วงนี้ญี่ปุ่นได้วางรากฐานการศึกษา และวัฒนธรรมให้กับชาวไต้หวันอย่างหลากหลายทั้งสถาปัตยกรรม อาหาร บุคลิกภาพ การจัดการองค์กรต่างๆ แนวทางการศึกษาวิจัย ทั้งด้านโบราณคดี ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นพ่ายสงคราม และนายพลเจียงไคเช็กและ ดร.ซุนยัตเซน อพยพชาวจีนเข้ามาที่ไต้หวันในปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลจีนถือว่าตนเองได้ปกครองไต้หวันนับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

การเข้ามาไต้หวันของชาวจีนที่นำโดยเจียงไคเช็ก นำพาชาวจีนกว่าสองล้านคน ส่วนใหญ่คือทหาร นักการเมือง พ่อค้า และประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยการอพยพนี้ทั้งผู้นำและผู้ที่ตาม ต่างก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นการมาตั้งรกรากถาวร ถึงแม้ว่าจะได้ขนสมบัติมาจากพระราชวังกู้กงกว่าล้านชิ้นมาด้วยก็ตาม

นายพลเจียงไคเช็กเองนั้นก็คิดว่าตนเองจะสามารถกลับไปปกครองยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้ แต่ด้วยการขัดขวางของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการจนทำให้จีนไม่สามารถไปรวมตัวกันได้ การตั้งรกรากของชาวจีนที่อยู่ในไต้หวันจึงเริ่มขึ้นหลังจากนั้นเป็นต้นมา เพราะกว่าที่จะเกิดความสงบในไต้หวัน จากแนวทางการปราบปรามประชาชนตนเองของประธานาธิบดีเจียงไคเช็กและลูกชายผู้สืบทอด ก็ใช้เวลากว่าหลายสิบปี จนกระทั่งทุกคนในไต้หวันต่างก็ตระหนักว่า พวกเขาจำเป็นต้องจัดการกับแผ่นดินที่ตนเองอยู่และพยายามที่จะก่อให้เกิดกระบวนการสร้างชาติ

อย่างไรก็ตามสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีนโยบาย “จีนเดียว” สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศชัดเจนว่าใครก็ตามที่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศ ก็เท่ากับเป็นศัตรูกับจีนแผ่นดินใหญ่ สหประชาชาติและสหรัฐอเมริกายังต้องเลือกอยู่ข้างประเทศจีนแทนไต้หวัน ดังนั้นสถานภาพของไต้หวันจึงไม่มีสภาพเป็นชาติอย่างเป็นทางการ การเรียกไต้หวันว่าไต้หวันจึงเป็นเหมือนสมญานาม ส่วนชื่อที่เป็นทางการของไต้หวันนั้นคือ Repubic of China หรือสาธารณรัฐจีน

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองที่เป็นทางการของไต้หวัน แต่ถ้าได้สนทนากับประชาชนไต้หวันแล้วก็จะพบว่า มีความเห็นถึงความเป็นสองแนวทาง กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีคิดว่าตนเองเป็นทั้งคนจีนและเป็นคนไต้หวัน และไต้หวันไม่ได้เป็นประเทศ กลุ่มนี้มักจะมีช่วงอายุที่ได้อยู่ร่วมสมัยกับรัฐบาลผู้สร้างชาติและยังได้อยู่ร่วมกับคนในปัจจุบัน

จากการพูดคุยกับคนกลุ่มนี้เขากล่าวว่า “เราไม่อาจจะหลีกหนีไปจากความเป็นจริงที่ว่าเราเป็นชาวจีน และอพยพมา และประเทศไต้หวันไม่มีอยู่จริงๆ ถ้าเช่นนั้นสหประชาชาติและประชาคมโลกก็ต้องยอมรับให้เราเรียกตัวเองว่าไต้หวันแทนคำว่า “สาธาณรัฐจีน” กลุ่มนี้มักจะเป็นประชาชนที่มีอายุคาบเกี่ยวระหว่างความเก่าและใหม่ และกล่าวว่าการแสดงความต้องการมีตัวตนเป็นชาติอีกชาติหนึ่งนั้นเป็นการบงการของประเทศตะวันตกที่อยากจะแยกจีนออกจากกัน เขาคิดว่าพวกเขาเป็นทั้งคนจีนและคนไต้หวันในขณะเดียวกัน

ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเสมือนเป็นขั้วตรงข้ามมองว่า ไต้หวันคือชาติ และแตกต่างจากประเทศจีนซึ่งมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ พร้อมที่จะประกาศความเป็นตัวตน เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ไช่อิงเหวินที่สังกัดพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ไช่อิงหวินนั้นให้การสนันสนุนฮ่องกงอย่างเปิดเผยต่อต้านนโยบายของจีนแผ่นดินใหญ่ คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนไช่อิงหวินนั้นเป็นคนวัยหนุ่มสาว ต่างก็ชื่นชมทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น คนรุ่นใหม่นี้รวมตัวการสร้างกิจกรรมทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม รวมทั้งการนำเสนอความแตกต่างจากความเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ ผสมปนเปไปกับวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การท่องเที่ยว สถาปัตยกรรม ภาษา หรือแนวคิดทางการเมือง

สติกเกอร์ที่ระลึกขายทั่วไปตามท้องตลาด มีการสอดแทรกแนวคิดทางการเมืองไว้ด้วย

การสร้างอัตลักษณ์ด้วยอาหารและการท่องเที่ยว

อาหารและการท่องเที่ยวนั้นสามารถเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของไต้หวันโดยการย้ำเน้นว่าความเป็นตัวตนไต้หวันต่างกับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โช่โต้ฝู หรือเต้าหู้เหม็น (臭豆腐) เสี่ยวหลงเปา (小龍包) หนิวโร่เมี่ยน หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มอาหารว่างหรือเสี่ยวชือ (小吃)ของวัฒนธรรมอาหารแบบสตรีทฟู้ดที่มีจุดขายชัดเจน

นอกจากนั้นอาหารเหล่านี้ ยังได้รับการบรรจุอยู่ในรายการท่องเที่ยว ในหนังสือนำเที่ยว หรือแม้แต่บทเรียนภาษาจีนกลาง ทำให้เป็นที่จดจำและเมื่อกล่าวซ้ำๆ ก่อให้เกิดความเชื่อในที่สุด นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไต้หวันต่างก็ต้องแสวงหาอาหารทานเล่นต่างๆ ที่ได้รับการนำมาโปรโมต จนกระทั่งอาจจะละเลยไปว่า แท้ที่จริงนั้นอาหารเหล่านี้มีอายุมานับพันปีที่ยังสืบทอดอย่างต่อเนื่องในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และยังไม่นับรวมอาหารหรือเครื่องดื่มที่ได้รับการคิดค้นใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอย่างเช่นชานมไข่มุก

อาหารว่างที่หาได้ทั่วไปตามท้องถนน เสี่ยวหลงเปา และชานมไช่มุก

ชานมไข่มุก มีชื่อในภาษาจีนแมนดารินว่า เจินจูหน่ายฉา (珍珠奶茶) ภาษาอังกฤษคือ Bubble Pearl Milk Tea หากว่าเราจะแยกองค์ประกอบออกมาแต่ละอย่างแล้ว ส่วนผสมต่างๆ เหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันดีสำหรับวัฒนธรรมอาหารจีน ซึ่งประกอบด้วย ชาดำ นม และเม็ดบัวลอย ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ไข่มุกในภายหลัง

ในที่นี้คือแป้งมันสำปะหลังปั้นเป็นเม็ด ใส่น้ำตาลแดงทำให้เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะคล้ายเม็ดบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว (จะมีเทศกาลวันไหว้ขนมบัวลอยในช่วงวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงสุดของช่วงฤดูหนาว) ชานมไข่มุกนี้นับเป็นนวัตกรรมที่มีการกล่าวว่า มีกำเนิดจากร้านขายชาและขนมชื่อ ชุนชุ่ยทัง Chun Chui Tang (春水堂) ที่ถนนซิเว่ย ที่เมืองไท่ชุง ซึ่งอยู่ตอนกลางของไต้หวัน ปัจจุบันมีสาขาในประเทศและต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและฮ่องกง

กำเนิดของชานมไข่มุกนี้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 ในปี พ.ศ. 2526 ทางร้านได้เริ่มผสมชาดำใส่น้ำแข็งขายลูกค้า ซึ่งปกติร้านจะจำหน่ายชาอู่หลงเป็นหลัก แต่การขายชาอู่หลงนั้นมีฤดูกาลคือ ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูหนาว ในฤดูร้อนทางร้านไม่มีชาจะจำหน่ายแต่ธุรกิจต้องดำเนินต่อไป และฤดูนี้ลูกค้าไม่นิยมดื่มชาร้อนๆ เมื่อเจ้าของร้านได้แวะไปที่เมืองโอซาก้า เขาพบว่าชาวญี่ปุ่นนิยมดื่มกาแฟเย็น เขากลับมาพร้อมแนวคิดเรื่องชาเย็น โดยใช้ชาดำ ผสมกับน้ำตาลและเขย่าให้เข้ากัน ทำให้เกิดฟองบนพื้นผิวบน (ผู้เขียนชอบชาเย็นสูตรนี้มากกว่าชานมไข่มุก)

ตั้งแต่นั้นมา ทางร้านก็ได้เพิ่มเมนูชาร้อนทั้งหกชนิด ดัดแปลงเป็นชาเย็น ชาดำ ชาเขียว ชาขาว และชาผลไม้ ในอดีตคนที่นิยมการดื่มชามักจะใส่ผลไม้ชนิดต่างๆ ในชา แต่ยุคสมัยใหม่นี้ทางร้านคิดว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทางร้านน่าจะได้ทดลองทำขาย คุณลิ่ว เจ้าของร้านมักจะกระตุ้นให้บรรดาพนักงานคิดค้นอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และวันหนึ่ง Liu Han-Chieh หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้าน ได้คิดค้นนำเม็ดไข่มุกที่ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังผสมลงบนชานม และตั้งชื่อว่าชามันสำปะหลัง ซึ่งเม็ดมันสำปะหลังต้มนี้เป็นขนมที่คนไต้หวันชอบรับประทานอยู่แล้ว มีชื่อว่า เฟินหยวน หรือเรียกว่า ขนมพุดดิ้งมันสำปะหลัง

คุณลิ่วเล่าว่า เมื่อผู้จัดการด้านสินค้าของร้านชื่อ คุณลิน เหอซุ่ย ฮุ่ย ได้ลองเอาขนมพุดดิ้งมันสำปะหลังเทลงไปในชาเย็นแล้วดื่มในการประชุมครั้งหนึ่ง เมื่อลองให้ทุกคนในที่ประชุมลองดื่ม ทุกคนชอบชาใส่พุดดิงมันสำปะหลังของเธอมาก จากนั้นทางร้านจึงเริ่มผลิตออกจำหน่ายลูกค้า และกลายเป็นที่นิยมทั้งจากคนในไต้หวันและทั่วโลกในเวลาอันสั้น ปัจจุบันมีร้ายขายชาเย็นในรูปแบบต่างๆ ในไต้หวันเป็นจำนวนมาก โดยมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป มีการนำส้มซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของไต้หวันมาผสมกับชาอู่หลง และผลไม้อื่นๆ ใส่น้ำเชื่อมและน้ำแข็ง สนนราคาเริ่มตั้งแต่ระดับ 15-160 เหรียญไต้หวัน แล้วแต่ขนาดถ้วย และร้านชาว่ามีชื่อเสียงหรือเป็นที่นิยมมากเพียงใด

ผู้เขียนยืนอยู่ที่หน้าร้านชุนชุ่ยทัง ร้านชาที่ให้เกิดเนิดชานมไช่มุก แห่งเมืองไท่จง

ปรากฏการณ์ชานมไข่มุกเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากวาทะทางการเมืองเรื่อง Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมระหว่างไทย ฮ่องกง และไต้หวัน จากกรณีนักแสดงไทยและแฟนคลับของเขา เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา นายชุง เชียพิน สมาชิกผู้แทนราษฏรจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า DPP (The Democratic Progressive Party) ได้นำเสนอแบบปกพาสปอร์ตใหม่ 3 แบบ หนึ่งในสามแบบนี้เป็นภาพชานมไข่มุก เขาได้ใช้พาสปอร์ตเป็นสัญลักษณ์การแสดงตัวตนของไต้หวัน โดยเขาเสนอให้ตัดชื่อภาษาอังกฤษคำว่า Republic of China ออกไปให้เหลือเพียงคำว่า Taiwan Passport

นายซุง เซียพิน นำเสนอแนวคิดการตัดคำว่า China ออกจากพาสปอร์ตเปลี่ยนเป็น Republic of Taiwan โดยมีปกพาสปอร์ตให้เลือกหลายภาพ หนึ่งในนั้นคือชานมไข่มุก ที่มาภาพ : Taipeitime

การสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นสัญลักษณ์ที่จดจำ เป็นตัวแทนของประเทศไม่ต่างจากกลยุทธ์การสร้างชาติ นักท่องเที่ยวจะถูกกำหนดรายการท่องเที่ยวโดยบริษัททัวร์และหนังสือทำเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวหลักของไต้หวันจะเน้นไปที่เมืองไทเป ด้านสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็กพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง อีกแนวทางหนึ่งเป็นแนวทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้การเรียนภาษาจีนซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วโลก นำไปสู่การท่องเที่ยวระยะยาว ไม่ต่างจากการท่องเที่ยวแบบ grand tour (ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวยุโรปชั้นสูงในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นการเดินทางไปแสวงหาองค์ความรู้รากเหง้าของตนเอง โดยมุ่งเดินทางไปยังประเทศอิตาลี การเดินทางนี้ต้องผ่านประเทศในยุโรปอื่นๆ ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นเดินทางโดยเรือและรถม้าจึงใช้เวลานาน และไปท่องเที่ยวตามโบราณสถานต่างๆ ก็ต้องแวะพักในแต่ละที่เป็นเวลานานพอที่จะเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม) เพราะเวลาการเรียนภาษานั้นแต่ละคอร์สไม่ต่ำกว่าสองเดือนครึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเรียนกันครึ่งปีถึงสองปี ในช่วงเวลานี้นักเรียนภาษาจีนต่างก็ได้ซึมซับวัฒนธรรมแบบไต้หวัน และท่องเที่ยวไปรอบๆ เกาะ

จุดเด่นของการเรียนภาษาจีนที่ไต้หวันนั้นคือ การเรียนแบบจีนเดิมคือเน้นที่การเขียนตัวอักษรจีนตัวเต็ม หรือ Traditional Chinese (การเรียนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมักจะเรียนด้วยอักษรจีนตัวย่อ และพินอิน) ในด้านค่าใช้จ่ายนั้นไม่แตกต่างกับการเรียนที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนค่าครองชีพในเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงไทเปนั้นบางเมืองถูกกว่าการเรียนที่ประเทศจีน สำหรับการเรียนภาษานั้น กระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันเป็นผู้เขียนและจัดพิมพ์ตำราและได้ถูกนำไปใช้ทั่วประเทศ เพื่อการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนกลางที่มีนักเรียนต่างๆ จากทั่วโลกเข้ามาเรียนในหลักสูตรระยะสั้นและยาว ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ได้รับการบรรจุไว้ในบทเรียนให้ทุกคนต้องเรียนทุกวันตลอดระยะเวลาสามเดือนต่อหนึ่งระดับชั้นเรียน เปรียบเสมือนการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง วิธีการต่างๆ หลากหลายนี้ ทำให้คนทั้งโลกเกิดความคุ้นเคยว่าอาหารเหล่านี้เป็นอาหารของชาวไต้หวัน

ภาพที่8
ภาพที่ 9

ภาพที่ 8-11 การเรียนภาษาจีนที่ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกุงโดยการใช้ตัวอักษรจีนตัวเต็ม และใช้ตำราที่ผลิตโดยกระทรวงศึกษาธิากร นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศแถบอเมริกาใต้ ตัวอย่างการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ การคัดเลือกวัตถุจัดแสดงในในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หรือที่เรียกว่ากู้กง เพิ่มความโดดเด่นชัดเจน ที่ทำให้ทุกคนที่ไปเยือนไต้หวัน ต้องไปชมสามมหาสมบัติแห่งกู้กง” (故宮三寶) ประกอบด้วย ผักกาดขาวหยก (翠玉白菜) หินหมูสามชั้น ไต้จ้วงปี้สือ (帶狀碧石) และกระถางสำริดของเหมากง (毛公鼎)

หยกผักกาดนั้น เดิมถูกวางไว้ในพระราชวังของหรงยู่ พระมเหสีของจักรพรรดิกวังซวี่ (ค.ศ. 1875- 1908) ในเขตพระราชวังต้องห้าม จึงมีคนสันนิษฐานว่า งานชิ้นนี้อาจจะเป็นของขวัญสำหรับหมั้นหมาย

ภาพที่ 10
ภาพที่ 11

หินหมูสามชั้น ไต้จ้วงปี้สือ มีลักษณะเหมือนหมูพะโล้ หรือหมูตงโพ (Dongpo Pork — 東坡肉) เพราะเชื่อกันว่าเป็นสูตรหมูตุ๋นน้ำแดงของกวียุคราชวงศ์ซ่งที่มีชื่อเสียงชื่อ ซู ตงโพ (อ้าง วาสนา วงสุรวัฒน์) การแกะสลักและย้อมสีหิน ทำให้หินชิ้นนี้มีลักษณะลวดลายเหมือนหมูสามชั้นของจริงอย่างมาก

ส่วนกระถางสำริดของเหมากง เป็นงานของราชวงศ์โจวตะวันตก (ปี 1046-771 ก่อนคริสตกาล) มีจารึกที่อยู่ภายในกระถางบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์เสวียน (Xuan) แห่งราชวงศ์โจวบอกเล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ และวิธีการปกครองประเทศ

การจัดการประเทศด้วย Resilience City แนวทางการจัดการภัยพิบัติด้วยเมืองยืนหยัด

ชาวจีนที่อพยพมารู้ดีว่าตนเองนั้นอยู่ในดินแดนที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่พวกเขาอยู่ พวกเขาได้ย้ายมาอยู่ในดินแดนที่เป็นเกาะ มีภูมิอากาศที่พร้อมจะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติประเภทต่างๆ และมีความเป็นอยู่ที่ผสมผสานระหว่างคนพื้นถิ่นและชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ นับตั้งแต่ชาวดัตช์และชาวญี่ปุ่น การปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และเหตุการณ์จึงเป็นการที่ต้องทำทุกอย่างที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด ไม่ต่างจากคำกล่าวที่ว่า “survival of the fittest” ตามทฤษฎี Natural Selection ของชาลส์ ดาร์วิน จากปรากฏการณ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติได้หล่อหลอมคนไต้หวันให้มีบุคลิกภาพเป็นของตนเอง จนมีคำกล่าวว่าคนไต้หวันเป็นคน กระตือรือร้น (เร่อฉิง) 热情

แสดงพื้นที่อยู่อาศัยของชาวไต้หวัน ข้อมูลจาก Open Street Mapและ Google Satelite ที่มาภาพ โดย อภินันท์ สีม่วงงาม

ไต้หวันมีพื้นที่เหลือให้อยู่อาศัยได้ไม่มากนัก โดยจะอาศัยอยู่บริเวณขอบๆ ของพื้นที่ประเทศ ส่วนตรงกลางนั้นจะเป็นพื้นที่ภูเขาเป็นส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย

ไต้หวันมีภัยพิบัติเกิดขึ้นเป็นประจำคือไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว การที่ต้องต่อสู้กับปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้เกิดการพัฒนาการอย่างหนึ่งคือความรู้ในเชิงวิศวกรรม ความรู้ในด้านการจัดการกับสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้เมืองของตนเองอยู่รอด ไต้หวันจึงพัฒนาขึ้นในเงื่อนไขของความอัตคัดทางทรัพยากรธรรมชาติ

จากแผนที่ข้างต้น จุดสีเหลืองแสดงบริเวณที่อยู่อาศัยของประชากรไต้หวัน จะเห็นได้ว่าพวกเขามีแผ่นดินที่จำกัด เพราะส่วนกลางของเกาะนั้นเป็นภูเขาสูงไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย และการตั้งถิ่นฐานนั้นส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตก เพราะทางทิศตะวันออกจะมีพายุไต้ฝุ่นปะทะเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงแม้ว่าไต้หวันต้องผจญกับภัยแผ่นดินไหวที่คาดเดาเวลาไม่ได้และไต้ฝุ่นที่กระหน่ำมาเกือบตลอดปี แต่ไต้หวันอาศัยน้ำที่ไต้ฝุ่นหอบมาเก็บกักไว้ใช้ เพราะน้ำธรรมชาติที่ไต้หวันได้มาจากฝนนั้นเพียงแค่หนึ่งหรือสองชั่วโมงก็ไหลลงทะเลหมดแล้ว ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง

การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.ข่ง เสี้ยนฝ่า (孔憲法) ศาสตราจารย์ด้านผังเมือง แห่งมหาวิทยาลัยเฉิงกุง เมืองไท่หนาน ผู้จัดทำหลักสูตรประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องเมืองยืนหยัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

รัฐบาลกลางนั้นมีคำสั่งให้เทศบาลเมืองทุกแห่งในไต้หวันต้องมีการจัดทำข้อมูลให้ทันสมัย ทุกเดือน หรือทุกสองอาทิตย์ ต้องส่งข้อมูลด้านต่างๆ ไปที่ส่วนกลาง ทั้งด้านประชากร สาธารณสุข วัฒนธรรม เกษตรกรรม พาณิชย์ ทุกหน่วยงานที่มีประจำในเทศบาล และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เปิดให้เป็นสาธารณะ ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและเรียกใช้ข้อมูลได้หมด การเตรียมเมืองยืนหยัดนี้ไต้หวันมีการศึกษามากว่าสิบปีแล้ว ทุกองค์กรเข้าใจวิธีการทำงาน และประสานงานกันได้อย่างดี

ศาสตราจารย์ ดร.ข่ง เสี้ยนฝ่า
กลุ่มสัมนาเชิงปฏิบัติการเมืองยืนหยัดจากประเทศไทย

เมื่อสนทนากับอาจารย์รุ่นใหม่อย่างรองศาสตราจารย์ ดร.หวงเว่ยจู (黃偉茹) นั้น เธอกล่าวว่า ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐบาล อย่างเช่น https://data.gov.tw จากภาพที่ 15 จะเห็นได้ว่า ข้อมูลของเมืองนั้นมีทุกประเภททั้งเรื่องสุขภาพ การเกิด การตาย การลงทุน การแต่งงาน การศึกษา การทหาร ข้อมูลคนทำงาน คนตกงาน การเปิดบริษัทใหม่ การดูแลคนชรา การเกษียณ การเลือกตั้ง ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต การขนส่งและการสื่อสาร การเดินท่องเที่ยว การแพทย์ การเคหะ ที่อยู่อาศัยการเป็นเจ้าของและการขายบ้านและที่ดิน หรือกรณีที่อยากค้นคว้าด้านภูมิศาสตร์ อย่างเช่นหากต้องการข้อมูลของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geography information system: GIS) ก็สามารถไปที่เว็บไซต์ https://www.tgos.tw/tgos/EngWeb/TGOS_ENG_Home.aspx ซึ่งในเว็บนี้ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของเกาะไต้หวัน บางข้อมูลอาจดาวน์โหลดได้ฟรี และบางข้อมูลอาจจะต้องทำการจัดซื้อ โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533

ในเว็บนี้มีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน ทรัพยากร เครือข่ายคมนาคม การใช้ที่ดิน ระบบการวางท่อต่างๆ ส่วนแผนที่นั้นสามารถดูข้อมูลได้จาก https://egis.moea.gov.tw/EGISWeb/ ซึ่งจะเป็นข้อมูลแผนที่ของทุกเมืองทั่วไต้หวัน มีความละเอียดสูง ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลก อาจารย์เอสเทอร์กล่าวว่า ไต้หวันใช้เวลาถึง 20 ปีในการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบได้ขนาดนี้ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาข้อมูลต่างๆ ก็มีความโปร่งใสมากขึ้น

(ภาพที่15) การจัดการข้อมูลของรัฐบาลไต้หวัน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกหมวดหมู่

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มากก็เป็นปัญหาให้กับรัฐบาล อาจารย์หวงกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มเอ็นจีโอ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยรัฐบาลจัดการข้อมูลที่มีมหาศาลเหล่านี้ โดยแยกย่อยเป็นหมวดหมู่และย่อยข้อมูลให้รัฐบาลและประชาชนทั่วไปได้ใช้อย่างง่าย ซึ่งความร่วมมือเช่นนี้เป็นแนวคิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะข้อมูลต่างๆ ที่มีความพร้อมและทันสมัย ย่อมนำพาให้เกิดประโยชน์สูงสุดยามที่เกิดภัยพิบัติ เพราะคือการเตรียมพร้อมในด้านการจัดการทุกด้าน

รองศาสตราจารย์ ดร.หวง เว่ยจู (黃偉茹) อาจารย์ประจำภาควิชาผังเมือง NCKU

เมื่อปี พ.ศ. 2546 ไต้หวันได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อว่า The National Science and Technology Center for Disaster Reduction หรือ NDCR ขึ้น หลังจากเกิดแผ่นดินไหว Chi Chi ขึ้นในปี พ.ศ. 2542 NDCR มีหน้าที่ศึกษาการต้านภัยภิบัติทุกประเภท และเตรียมให้ข้อมูลแก่คณะรัฐมนตรีและประธานาธิบดี เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่ทำงานด้านต่างๆ แต่ต้องพร้อมที่จะถูกเรียกตัวกลับมาที่กองบัญชาการที่กรุงไทเปภายในหนึ่งชั่วโมง (ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการวางโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่ได้รับการพัฒนาทั่วประเทศ รถไฟความเร็วสูงที่เข้าจอดทุกๆ สิบห้านาที ทำให้การเดินทางจากเมืองทางภาคใต้ไปภาคเหนือใช้เวลาเพียง หนึ่งหรือสองชั่วโมงเท่านั้น) เพื่อทำงานในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ หน่วยงานนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ภัยพิบัติที่ออกขึ้นในปี พ.ศ. 2543 หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว Chi Chi

อภินันท์ สีม่วงงาม นักศึกษาปริญญาเอกด้านผังเมืองที่มหาวิทยาลัย NCKU ได้มีโอกาสเรียนวิชา Mitigation Method and Technology in Hydro-Metriological Hazard กับอาจารย์ที่เป็นบุคลากรของ NDCR กล่าวว่า “NDCR สามารถเข้าถึงข้อมูลของทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อนำข้อมูลมาจัดการวิเคราะห์ป้องกัน ช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น” ปัจจุบัน NDCR อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันนี้ NDCR ก็ทำงานอย่างหนักและฉับพลันเพื่อต้านภัยพิบัติ มีการวิเคราะห์แนวทางต่างๆ ให้กับประธานาธิบดีตลอดเวลา และร่วมมือกับกระทรวงสาธารณะสุขในการจัดการ ซึ่งอภินันท์กล่าวว่า อาจารย์ของเขานั้นถูกเรียกตัวเมื่อสามเดือนก่อนอย่างกะทันหันจากสถานการณ์โควิดนี้ด้วย

จะเห็นได้ว่าแนวทางของเมืองยืนหยัด เป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้กับกรณีการจัดการเรื่องโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นเป็นรูปธรรม คนไต้หวันนั้นเคยชินกับการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลารับภัยพิบัติในทุกรูปแบบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามหรือภัยธรรมชาติ การซักซ้อมภาวะสงครามจำลองมีอยู่ตลอดเวลา เช่น มีการประกาศเรื่องจะมีเครื่องบินรบบินผ่าน เมื่อมีสัญญาณทุกคนต้องหลบอยู่ในอาคารห้ามออกมานอกสถานที่ จนกระทั่งมีสัญญาณให้ออกไปได้ถ้าใครไม่ทำตามตำรวจสามารถจับพลเมืองและปรับเป็นเงินจำนวนสูง การใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการต่างๆ ก็ได้นำมาใช้กับกรณีของสถานการณ์โควิด-19 กรณีที่พลเมืองกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วไม่อยู่ในบ้านหรือสถานที่กักตัว ออกมาข้างนอกบ้านถ้ารัฐบาลสุ่มตรวจพบ ก็มีการปรับเงินจำนวนสูงถึงหนึ่งล้านเหรียญไต้หวัน การตื่นตัวต่อการจัดการในสถานการณ์นี้อย่างฉับพลันและจริงจังกว่าประเทศอื่นๆ เป็นการป้องกันดีกว่าแก้ไข แนวคิดนี้ผู้บริหารในระดับสูงสุด เช่น ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ให้นโยบายแก่รัฐมนตรีสาธารณสุขที่รับมาปฏิบัติอย่างจริงจัง และความจริงจังนี้ได้ลงมาสู่ระดับท้องถิ่น ทุกองค์กร สิ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ คือ ความรวดเร็ว ฉับพลัน ไม่ประมาท และการนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาใช้ได้อย่างทันท่วงทีและทันสมัย เป็นกลยุทธ์การบริหารที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกในกรณีการจัดการสถานการณ์โควิด-19นั่นเอง

อ้างอิง

https://taiwan-scene.com/bubble-milk-tea-and-beyond-in-taiwan-part-one/

https://www.youtube.com/watch?time_continue=24&v=FvvSTJtZ8Es&feature=emb_logo

https://edition.cnn.com/travel/article/bubble-tea-inventor/index.html

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3920156#:~:text=A%20second%20version%20created%20by,is%20the%20word%20%22Taiwan.%22

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3919576

https://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2020/04/21/2003735008