ThaiPublica > เกาะกระแส > ปตท.สผ. กวาดสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช “ศิริ” แจง ประเทศได้ประโยชน์ 6.5 แสนล้านบาท

ปตท.สผ. กวาดสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช “ศิริ” แจง ประเทศได้ประโยชน์ 6.5 แสนล้านบาท

14 ธันวาคม 2018


เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวภายหลังครม. มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอเอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลสัมปทานปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณ – บงกช ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอเอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G2/61 (แปลงบงกช) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (20+10) ปี

“กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจากข้อเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียูสำหรับทั้งสองแปลง เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันที่ 165 บาทต่อล้านบีทียูสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และ 14.26 บาทต่อล้านบีทียูสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ช่วยลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศเท่ากับ 5.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำหรือปีละ 55,000 ล้านบาท และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วยไปได้อย่างน้อย 10 ปี จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท โดยรวมแล้วประเทศจะได้รับประโยชน์จากการประมูลครั้งนี้ 6.5 แสนล้านบาท นายศิริกล่าว

นอกจากนี้ การพัฒนาทั้งสองแปลงนี้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิตคาดว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวงภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ตลอดจนเกิดการจ้างงานในสัดส่วนร้อยละ 98 และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LPG ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

อนึ่ง ในส่วนของการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25 นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลทั้งสองแปลงคือบริษัทในเครือของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าว บริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขด้านการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยแปลงเอราวัณในสัดส่วนร้อยละ 60 และแปลงบงกชในสัดส่วนร้อยละ 100 ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศทั้งสองแปลงอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนสูงสุด

ด้านนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศผลผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ โดย ปตท.สผ. ชนะการประมูลและได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติทั้งสองแหล่งนั้น ปตท.สผ. ยืนยันว่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้ตามที่ยื่นข้อเสนอในการประมูล

“การที่บริษัทชนะการประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณนั้น ด้วยประสบการณ์และความชำนาญกว่า 20 ปีของ ปตท.สผ. ที่เป็นผู้ดำเนินงานในแหล่งบงกช และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการคอนแทร็ค 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของแหล่งเอราวัณนั้น ทำให้เรามีความเข้าใจพื้นฐานทางเทคนิคของทั้งสองแหล่งเป็นอย่างดี เราจึงมั่นใจว่าแผนการพัฒนาและการลงทุนที่เราเสนอไป จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานปิโตรเลียมปัจจุบันไปยังสัญญาแบ่งปันผลผลิต รวมถึงรักษาระดับการผลิตตามที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอของแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่ไม่ต่ำกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ สำหรับแหล่งบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว เราสามารถที่จะลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตได้ทันที ส่วนแหล่งเอราวัณนั้น เรามีแผนการดำเนินงานและการลงทุนที่ชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเรามั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ดำเนินการปัจจุบัน ประกอบกับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาครัฐและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยเราจะเริ่มดำเนินงานทันทีเมื่อมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต” นายพงศธรกล่าว

แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ เป็นแหล่งที่มีการผลิตมาเป็นระยะเวลานานและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เราจึงสามารถประเมินปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ทราบแล้วได้อย่างมั่นใจ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับในอดีตที่ยังนับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีพื้นที่ที่ต้องทำการสำรวจเป็นจำนวนมาก ไม่มีข้อมูลการผลิตมากพอ และยังต้องมีการลงทุนในการสร้างแท่นผลิตหลักที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานมาโดยตลอด ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การได้รับสิทธิให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งในแหล่งบงกชและเอราวัณ จะยิ่งช่วยให้ ปตท.สผ.สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ลดต่ำลงได้มากขึ้นอีก จากการเพิ่มอำนาจต่อรองจากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจาก 2 แหล่งรวมกัน เช่น ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง เป็นต้น

ด้วยหลายปัจจัยที่ได้กล่าวมา ทำให้เราสามารถยื่นข้อเสนอและผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้ในการประมูลครั้งนี้ โดยข้อเสนอดังกล่าวยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุนเช่นกัน ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ดำเนินงานหลักสำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เพื่อนำไปสู่การที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด

ในการประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลเองด้วยสัดส่วนการลงทุน 100% ในแหล่งบงกช ในขณะที่แหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ประมูลร่วมกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ ทั้งนี้ แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ

ขณะที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ออกแถลงข่าว โดยระบุว่า บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณและบงกชในการประมูลครั้งนี้ ทั้งนี้ เชฟรอนได้ยื่นข้อเสนอที่มีแผนการดำเนินงานและการลงทุนอย่างเหมาะสม ในทางปฏิบัติสามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้มากที่สุด ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ในการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ เคารพการตัดสินใจของภาครัฐ และยังคงมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ ให้กับราชอาณาจักรไทยต่อไป

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นว่าบุคลากรชาวไทยที่เปี่ยมด้วยความสามารถของเชฟรอนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของราชอาณาจักรไทยมามากกว่าครึ่งศตวรรษ นับเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจยิ่ง”