ThaiPublica > เกาะกระแส > โควิด-19 สั่นคลอนฐานะการเงินของสโมสรบาร์เซโลน่า แม้เคยมั่นคงยิ่งกว่าธนาคารกลางอังกฤษ

โควิด-19 สั่นคลอนฐานะการเงินของสโมสรบาร์เซโลน่า แม้เคยมั่นคงยิ่งกว่าธนาคารกลางอังกฤษ

9 สิงหาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ลิโอเนล เมสซี ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/fcbarcelona/photos/

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่าแถลงเปิดเผยว่า ลิโอเนล เมสซี ที่เล่นฟุตบอลให้กับสโมสรฯมานาน 17 ฤดูกาลอย่างต่อเนื่องกัน จะไม่เซ็นสัญญาใหม่ สำหรับการลงเล่นในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ แม้ว่าทั้งสโมสรฯและเมสซีสามารถบรรลุข้อตกลงกันแล้ว แต่ไม่สามารถลงนามในสัญญาใหม่ได้ เนื่องจากปัญหาทางการเงินของสโมสรฯและกฎระเบียบ Financial Fair Play (FFP) ของฟุตบอลลีกลาลิก้าของสเปน

นาย Juan Laporta ประธานสโมสรฯ กล่าวว่า การต่อสัญญากับเมสซี่ จะทำให้สโมสรฯเกิดความเสี่ยง สโมสรบาร์เซโลน่านั้นอยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด รวมทั้งนักฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลก ในการแถลงข่าวอำลาต่อสื่อมวลชน ในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม เมสซีเองก็กล่าวว่า ในส่วนของตัวเขาเองได้ทำทุกอย่างแล้ว ที่จะอยู่กับบาร์เซโลน่า

ทำไมเมสซีจึงแยกทางกับบาร์ซ่า

เว็บไซด์ sportingnews.com รายงานว่า ทางสโมสรบาร์เซโลน่าบอกถึงสาเหตุที่เมสซีแยกตัวออกไป เพราะกฎระเบียบฟุตบอลลาลิก้าลีกของสเปน ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2013 โดยกำหนดว่า รายได้ของนักฟุตบอล รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อตัวนักฟุตบอล จะต้องไม่เกิน 70% ของรายได้แต่ละปีของสโมสร

มีรายงานว่า สัญญาใหม่กับบาร์เซโลน่า เมสซียอมลดเงินรายได้ลงแล้ว 50% จากสัญญาเดิม 4 ปี ระหว่างปี 2017-2021 ที่สื่อมวลชนในสเปนเปิดเผยว่า เมสซีจะมีรายได้ทั้งหมด 675 ล้านดอลลาร์ หรือ 167 ล้านดอลลาร์ (4,890 ล้านบาท) ต่อฤดูกาลแข่งขัน

บทความของ nytimes.com ชื่อ Barcelona and the Crippling Cost of Success บอกว่า บาร์เซโลน่าเป็นสโมสรฟุตบอล ที่ร่ำรวยที่สุดของโลก เป็นสโมสรฟุตบอลแห่งเดียวที่มีรายได้ปีหนึ่งมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ลิโอเนล เมสซี ก็ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักฟุตบอลดีที่สุดในประวัติศาสตร์ และสนามฟุตบอลของบาร์เซโลน่า บรรจุแฟนคลับได้ถึง 100,000 คน

บาร์เซโลน่าเป็นสโมสร ที่มีชื่อเสียงเรื่องการทุ่มเงินจ่ายค่าตัวนักฟุตบอลสูงสุดในโลก และตัวสโมสรเองก็กลายเป็นเครื่องจักรทำเงินมากสุดเช่นกัน Carles Tusquets รักษาการประธานสโมสร เมื่อปี 2020 บอกว่า ค่าใช้จ่ายเป็นเงินเดือนของทีมปีหนึ่ง 771 ล้านดอลลาร์ เท่ากับ 74% ของรายได้ของสโมสร

ขณะที่สโมสรฟุตบอลอื่นพยายามไม่ให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกิน 60% แต่หากมีรายได้ปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ การจ่ายค่าตัวที่สูง ก็เป็นเรื่องยังสามารถทำได้

แต่โควิด-19 ทำให้รายได้ของบาร์เซโลน่าอาจหายไปถึง 600 ล้านดอลลาร์ เพราะ 30% ของคนเข้าชมในสนามของบาร์เซโลน่า เป็นนักท่องเที่ยว โควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวนี้หายไป

ลิโอเนล เมสซี ที่มาภาพ : youtube

มั่นคงกว่า “ธนาคารกลางอังกฤษ”

หนังสือ Soccernomics ใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายว่า ทำไมสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียง จึงมีฐานะมั่นคงกว่าธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) และทำไมสโมสรฟุตบอลอาชีพ แทบไม่เคยหายสาบสูญเลย

ก่อนจะล้มละลายในเดือนกันยายน 2008 ธนาคาร Lehman Brothers มีรายได้ 59 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ารายได้สโมสร Manchester United 148 เท่า มีกำไร 6 พันล้านดอลลาร์ มากกว่า United 50 เท่า แต่ Lehman Brothers หายสาบสูญไปแล้ว แต่ Manchester United ยังอยู่ปกติดี

Simon Kuper นักเขียนของ Financial Times ที่เขียน Soccernomics บอกว่า ก่อนหน้าและหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 หลายฝ่ายออกมาเตือน และวิตกต่อการอยู่รอดของสโมสรฟุตบอล

แต่เป็นความคิดที่ผิดหากจะมองว่า ฟุตบอลเป็นธุรกิจที่ไม่มั่นคง สโมสรฟุตบอลอาชีพไม่เคยล้มละลายเลย แม้จะบริหารแบบไม่มีฝีมือก็ตาม

ฟุตบอลเป็นธุรกิจที่มั่นคงที่สุดของโลกอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ด้านฟุตบอล นอกจากจะหวาดกลัวว่า สโมสรฟุตบอลจะล้มละลายแล้ว ยังไปวิตกกังวลผิดสโมสรอีกด้วย

ในปี 1923 ฟุตบอลลีกอังกฤษมีทั้งหมด 88 สโมสร กระจายอยู่ใน 4 ดิวิชั่น ในปี 2011-2012 สโมสรฟุตบอลที่ยังดำเนินการอยู่ มีทั้งหมด 85 สโมสร เท่ากับ 97% สโมสรที่ยังเล่นอยู่ใน 4 ดิวิชั่น มีทั้งหมด 80 สโมสรหรือ 91% สรุปก็คือว่า ประวัติศาสตร์สโมสรฟุตบอลอาชีพอังกฤษ มีเสถียรภาพมาก

เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ช่วงทวรรษ 1930 คนคาดกันว่าจะเป็นภัยต่อการอยู่รอดของสโมสรฟุตบอล ภาคเหนือของอังกฤษได้รับผลกระทบมาก และเป็นพื้นที่ของสโมสรฟุตบอลอาชีพสำคัญของอังกฤษ เมื่อคนไม่มีเงินซื้ออาหาร ก็เลิกไปดูฟุตบอล ช่วงปี 1929-1931 แฟนฟุตบอลหายไป 12% แต่ปี 1932 ก็กลับมาเติบโตใหม่ แม้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษยังไม่ฟื้นตัวเลย

หนังสือ Soccernomics บอกว่า ในยามที่ยากลำบาก สโมสรฟุตบอลต่างก็หาทางช่วยเหลือกันและกัน ปี 1931 เมื่อสโมสรฟุตบอล Orient ในลอนดอน ประสบปัญหาการเงิน สโมสร Arsenal ของลอนดอนเขียนเช็ก 3,450 ปอนด์ช่วยสโมสรนี้

ทุกสโมสรฟุตบอลต่างก็รู้ดีว่า ตัวเองดำเนินธุรกิจไม่ได้ หากไม่มีสโมสรคู่แข่ง ธุรกิจฟุตบอลจึงต่างจากธุรกิจอื่น การล้มละลายหายไปของคู่แข่ง ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลย

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/fcbarcelona/photos/

นอกจากนี้ เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน สโมสรฟุตบอลก็สามารถดำเนินการเพื่อฟื้นฟู ตามแบบอย่างสโมสรที่เคยประสบปัญหามาแล้ว เช่น การลดเงินเดือนนักฟุตบอล จ้างนักฟุตบอลคุณภาพที่ต่ำลง หรือถูกลดชั้นการแข่งขันให้ไปอยู่ดิวิชั่นที่ต่ำลง มาตรการบางอย่างเพื่อการอยู่รอดของสโมสรฟุตบอลดังกล่าว ธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ อาจนำไปใช้ไม่ได้ อย่างเช่นบริษัทรถยนต์ฟอร์ดเลิกจ้างแรงงานมีฝีมือ แล้วหันไปจ้างแรงงานฝีมือต่ำ เพื่อผลิตรถยนต์คุณภาพที่ต่ำออกมาขาย ทั้งรัฐบาลและผู้บริโภคคงจะไม่ยอมรับในสิ่งนี้

ทำไมธุรกิจฟุตบอลจึงอยู่รอดเสมอ

ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ฟุตบอล มักประสบปัญหาความไม่มั่นคง เพราะสาเหตุจากการแข่งขัน แม้จะมีลูกค้าที่ภักดีต่อสินค้า แต่เมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า ลูกค้าก็จะย้ายไปหาคู่แข่ง ดังนั้น ธุรกิจทั่วไปจึงต้องมีนวัตกรรมตลอด ไม่เช่นนั้นก็ล้มเหลว ธุรกิจทั่วไปจึงประสบกับปัญหาต่างๆแบบไม่มีวันจบสิ้น เช่น คู่แข่งก้าวล้ำหน้า รสนิยมผู้ซื้อเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ทำให้อุตสาหกรรมเดิมล้าสมัย สินค้าราคาถูกมาจากต่างประเทศ เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจลงทุนมากเกินไป หรือล้มละลาย

แต่ Soccernomics บอกว่า ธุรกิจของสโมสรฟุตบอลไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ สโมสรที่แข่งขันไม่ได้ ก็เพียงลดชั้นมาแข่งอยู่ในดิวิชั่นที่ต่ำลง และในที่สุด ก็ยังสามารถอยู่รอดได้ บางสโมสรอาจจะมีจำนวนแฟนฟุตบอลลดลง แต่สโมสรแต่ละแห่งต่างก็มีอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ที่แน่นอน พื้นที่ที่สโมสรเป็นตัวแทน (catchment area) อาจหดตัวเล็กลง แต่ก็ไม่เคยสูญหายไปเลย “เทคโนโลยี” ของฟุตบอลไม่เคยล้าสมัย เพราะตัวเทคโนโลยีก็คือเกมการเล่น

สโมสรคู่แข่งจากต่างประเทศก็ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมอย่างอื่น หากทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ก็ล้มละลาย แต่สโมสรฟุตบอลอาชีพแทบจะไม่ล้มละลายเลย ไม่ว่าจะใช้จ่ายเงินผิดพลาดไปอย่างไร ก็จะมีนักลงทุนเข้ามาโอบอุ้มตลอด ในแวดวงการเงินเรียกสิ่งนี้ว่า “moral hazard” คือสภาพที่ฝ่ายหนึ่งรู้ว่า ตัวเองจะได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะขาดทุนมากขนาดไหน ดังนั้น ตัวเองจึงมีเสรีภาพที่จะขาดทุน

ที่มาภาพ : amazon.com

Soccernomic เขียนไว้ว่า การอยู่รอดเสมอมาของสโมสรฟุตบอล ทำให้มีการนำไปเปรียบเทียบ ระหว่างฟุตบอลอาชีพกับคอมมิวนิสต์ Janos Kornai นักเศรษฐศาสตร์ฮังการีพยายามหาคำตอบว่า ทำไมระบอบคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้ผล คำตอบของเขาคือ “การหย่อนยานเรื่องงบประมาณ” (soft-budget constraint) เช่น แม้โรงงานผลิตรถแทรกเตอร์จะขาดทุน รัฐก็จะเพิ่มงบประมาณส่วนต่างให้เสมอ

สโมสรฟุตบอลก็เหมือนโรงงานผลิตแทรกเตอร์ในประเทศคอมมิวนิสต์ การขาดทุนเกิดขึ้น เพราะสามารถที่จะขาดทุนได้ สโมสรจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีประสิทธิภาพ พวกนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลชั้นนำ ต่างรีบถอนตัวออกมา เมื่อไปค้นพบสิ่งนี้ขึ้นมา

Soccernomics บอกว่า โชคดีที่สังคมโดยรวม สามารถรักษาสโมสรฟุตบอลที่ไม่มีผลกำไร โดยสังคมไม่มีต้นทุนที่แพง ปี 2011-2012 สโมสรฟุตบอลอาชีพในยุโรปมีรายได้รวมที่ 24.6 พันล้านดอลลาร์ แค่ 1 ใน 5 ของรายได้ของบริษัทยาสหรัฐฯชื่อ McKesson การขาดทุนของบางสโมสรฟุตบอลอาชีพ จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เมื่อมองในมุมที่ ฟุตบอลได้ให้อรรถประโยชน์ทางอารมณ์ความรู้สึกแก่แฟนฟุตบอล ดังนั้น ปัญหาทางการเงินของสโมสรฟุตบอลจึงเป็นเรื่อง “เล็กเกินไปที่จะปล่อยให้ล้ม” (too small to fail)

สโมสรฟุตบอลไม่เหมือนธุรกิจอื่น ที่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติต่างๆมาได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแฟนฟุตบอลยังคงซื่อสัตย์ภักดี ไม่ว่าผลงานของสโมสรจะย่ำแย่ขนาดไหนก็ตาม เพราะมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง Eric Cantona อดีตนักฟุตบอลชื่อดังของ Manchester United เคยกล่าวไว้ว่า…

“คุณสามารถเปลี่ยนภรรยาของคุณ การเมืองของคุณ และศาสนาของคุณ แต่คุณไม่มีวันที่จะเปลี่ยนทีมฟุตบอลที่คุณนิยม”

เอกสารประกอบ
Barcelona and the Crippling Cost od Success, February 12, 2021 nytimes.com
Soccernomics, Simon Kuper and Stefan Szymansky, Nation Books, 2014.