ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค.ล็อกดาวน์ต่อถึง 31 ส.ค. เปิดแบงก์ในห้าง ให้นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เที่ยวเพิ่ม 3 จังหวัด

ศบค.ล็อกดาวน์ต่อถึง 31 ส.ค. เปิดแบงก์ในห้าง ให้นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เที่ยวเพิ่ม 3 จังหวัด

16 สิงหาคม 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

16 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมศบค.ขยายล็อกดาวน์ต่อถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ไฟเขียวเปิดกิจการ ‘ธนาคารและสถาบันการเงิน’ ตั้งเป้าฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสภายในเดือนกันยายน พร้อมต่อยอดโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มอีก 3 จังหวัดภายใน 7 วัน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ว่า นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ด้วยการตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤติ ซึ่งมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ มีนายเสรี วงษ์มณฑา และนายเกษมสันต์ วีรกุล เป็นบรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.

โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในรูปแบบคู่มือประชาชน คู่มือชุมชน ช่องทางติดต่อทั้งโทรศัพท์ สายด่วน ไลน์ แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนทราบการปฏิบัติตัวตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ สิ่งที่สังคมต้องการ คือข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง มีความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ ทั้งเรื่องวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ ยาสมุนไพร สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทุกหน่วยต้องแก้ข่าวบิดเบือน (Fake News)

นอกจากนี้ที่ประชุมศบค.มีเรื่องพิจารณา 5 เรื่อง และเรื่องแจ้งให้ทราบ 2 เรื่อง ดังนี้

การประเมินผลและการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19

นพ.ทวีศิลป์ ให้ข้อมูลว่า ในที่ประชุมได้มีการแสดงกราฟผู้ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยคาดการณ์สถานการณ์ฉากทัศน์ 3 รูปแบบ (scenario) ได้แก่ สถานการณ์ที่ไม่มีมาตรการใดมารองรับ โดยผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น 60,000-70,000 รายต่อวันในเดือนกันยายน สถานการณ์ที่มีผลจากมาตรการ WFH (Work from Home) และปิดสถานที่เสี่ยงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 20% จำนวนผู้ติดเชื้อจะทรงตัวถึงประมาณปลายเดือนกันยายน และพุ่งสูงขึ้นสูงสุดถึง 50,000 รายต่อวันในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ถัดมาเป็นสถานการณ์ที่มาตรการเข้มข้นขึ้น 25% จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อถึงปลายเดือนกันยายน แต่หากมีการระบาดช่วงเดือนตุลาคมจะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมประเมินผลมาตรการจำกัดการเดินทางจังหวัดกรุงเทพฯ และชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใช้มาตรการสีแดงเข้ม พบว่าเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือลดการเดินทางข้ามจังหวัดทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ทำให้ศบค.ใช้มาตรการให้ทุกพื้นที่คงระดับมาตรการเดิมตั้งแต่วันที่ 18-31 สิงหาคม 2564

ที่ประชุมศบค.มีข้อเสนอการปรับเพิ่มมาตรการและการจัดการขององค์กร เช่น ดำเนินมาตรการค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK มากขึ้น (Test-Trace-Isolate) และเตรียมทีม CCRT เพื่อแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ Home Isolation และ Community Isolation

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมาตรการระดับองค์กร โดยกำหนดให้ WFH ต่อเนื่อง ส่วนพนักงานที่ต้องมาทำงานในสถานที่ทำงานให้มีการตรวจด้วย ATK ทุกสัปดาห์ และให้เตรียม Company Isolation สำหรับองค์กรที่มีพนักงานเกิน 50 คน และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษา ขณะที่ตลาดขนาดใหญ่มีมาตรการให้คัดกรองด้วย ATK ผู้ค้าและแรงงานทุกสัปดาห์ และสุ่มตรวจผู้มาใช้บริการเป็นระยะ รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางดำเนินงาน Thai Covid Pass เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ทำให้คนที่ฉีดวัควีนแล้วสามารถใช้บริการต่างๆ ได้

นอกจากนี้ที่ประชุมศบค.ยังเห็นชอบข้อเสนอที่สมาคมศูนย์การค้าไทยเสนอคือเปิดกิจการธนาคารและสถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้โดยมีมาตรการอย่างเคร่งครัด 26 ข้อ

“ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย ที่ประชุมก็รับฟัง แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มองว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ คือการสั่งสินค้าออนไลน์ ยังสามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่อย่างไรก็ตามต่อไปก็จะมีการพิจารณาอีกรอบหนึ่ง”

จัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส จองไฟเซอร์เพิ่ม 10 ล้านโดส

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงมาตรการลดการเสียชีวิตว่า ที่ประชุมเสนอให้เร่งการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 60% ในกทม. และ 70% ใน 12 จังหวัด และ 50% ในพื้นที่อื่นๆ

จากข้อมูลการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ระบุว่า มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 23,592,227 ราย เป็นผู้ได้รับอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว 17,996,826 ราย (25% ของประชากร) และได้รับครบสองเข็มแล้ว 5,109,476 ราย (7.1%) และมีผู้ได้รับวัคซีนไขว้เข็ม (ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า) 974,563 ราย

“ที่ประชุมเสนอว่าเป้าหมายคือหาวัคซีนบริการให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดสภายในเดือนกันยา เร่งฉีดในกลุ่ม 608 พูดง่ายๆ คือกลุ่ม 60 ปี กับ 8 กลุ่มเสี่ยง กรณีที่หาได้น้อยกว่า 10 ล้านโดส กรณีที่จัดสรรก็จะลดลงตามส่วน”

ที่ประชุมศบค.เห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มขึ้น 12 ล้านโดส และให้กรมควบคุมโรคดำเนินการจองวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส และจัดหาวัคซีนอื่นๆ เพิ่มอีก 10 ล้านโดสภายในปี 2564

แลกเปลี่ยนบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ศบค.เห็นชอบให้การแลกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย ประมาณ 1.5 แสนโดส โดยระเบียบการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ภาษีนำเข้าส่งออก และค่าธรรมเนียมต่างๆ ยังต้องรอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ถัดมาเป็นการรับบริจาคยา Monoclonal Antibody จากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี โดยประเทศไทยได้รับบริจาคประมาณ 1,000-2,000 ชุด คาดว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต 50%-70% 

ควบคุมการเดินทางเข้าออกทางน้ำ กรณี ‘ปิโตรเลียม’

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงข้อเสนอจากที่ประชุมศบค.ดังนี้

  1. อนุญาตให้เรือที่ไม่มีสัญชาติไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเดินทางเข้ามาในประเทศได้ เพื่อปฏิบัติภารกิจปิโตรเลียม ภารกิจบนยานพาหนะหรือสิ่งปลูกสร้างทางทะเล
  2. ให้ส่วนราชการกำหนดแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการนี้
  3. ศปก.ศบค. จัดทำคำสั่งศบค. กราบเรียนนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศบค. เพื่อลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องโมเดล 7+7

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ทำให้ที่ประชุมมีมติให้นักท่องเที่ยวเริ่มเที่ยวจากภูเก็ตได้ 7 วันและใช้เวลาเที่ยวอีก 7 วันไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่และพังงา โดยเริ่มมาตรการในวันที่ 16 สิงหาคม 2564

“ภูเก็ตไปที่เขาหลักผ่านทางรถยนต์ ถัดมาไปเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ หรือจะเลือกไปเกาะพีพี หรือต่อไปไร่เลย์ 7 วันก็ได้ ไปเกาะไหงก็ได้ และยังมีทางเลือกคือบินไปลงที่เกาะสมุย ตรงนั้นก็จะมีเกาะพงันและเกาะเต่าด้วย เป็นการพัฒนาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แทนที่จะเป็น 14 วันในภูเก็ต ก็เป็น 7 บวก 7”

ผ่อนผันประชุมสภา – ควบคุมพื้นที่เฉพาะและคุมการระบาดในโรงงาน

ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการผ่อนผันกรณีที่รัฐสภาประชุมเลยเวลาที่กำหนด และให้ถือว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมรวมกลุ่มที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตามข้อ 5 (5) แห่งข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสามารถเดินทางได้ในช่วงเคอร์ฟิล

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการป้องกันและควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) เพื่อทำให้อุตสาหกรรมโรงงานสามารถดำเนินการได้ โดยให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขจัดทำมาตรการดังกล่าวร่วมกัน