ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > Krungsri Research > วิจัยกรุงศรีถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤติโควิด สู่ 6 มาตรการใหม่ไทยใช้เงิน 7 แสนล้าน

วิจัยกรุงศรีถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤติโควิด สู่ 6 มาตรการใหม่ไทยใช้เงิน 7 แสนล้าน

9 สิงหาคม 2021


วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การแพร่ระบาดของโควิค-19 มีแนวโน้มเข้าสู่กรณีเลวร้ายจากประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าต่ำกว่าที่คาดไว้โดยคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม ทำให้ต้องขยายการใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (full lockdown) ไปจนถึงกลางเดือนกันยายน หลังจากนั้น แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดต่อไปจนถึงสิ้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย

ในช่วงที่เหลือของปี ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจของไทยจะอยู่รอดหรือไม่ รัฐจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว กลับมาเติบโตเต็มศักยภาพ และก้าวทันเศรษฐกิจโลกที่กลับมาขยายตัว

สำนักขาวไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าเศรษฐกิจ และทีมวิจัย คือ รชฏ เลียงจันทร์ และกุศลิน จารุชาต เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564

วิจัยกรุงศรีมองว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขยายการใช้มาตรการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 และมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดได้ รวมทั้งให้ภาคธุรกิจอยู่รอด คนยังมีงานทำและมีรายได้ และเพื่อให้กิจกรรมเศรษฐกิจไปต่อได้หลังสิ้นสุดการระบาดเพราะคาดว่าการระบาดจะยังยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี

การระบาดของไวรัสนอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นเวลานานแล้วยังมีผลกระทบหนักอีกด้วย โดยวิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐานว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน (-0.6% และ -0.7% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ) ก่อนกลับมาขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 1.2% และ 3.0% สำหรับปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ โดย GDP ของไทยจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดในปลายปี 2565 อย่างไรก็ตาม หากการระบาดรุนแรงกว่าที่ คาดไว้ (คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเส้นสีแดง) ซึ่งทำให้ทางการต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดยาวนานขึ้น เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวติดลบ 3 ไตรมาสติดต่อกัน (ไตรมาสที่ 2 ถึง 4 ปี 2564) โดยในกรณีเลวร้ายนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตเพียง 0.6% และ 2.4% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

“การประเมินการระบาดแต่ละรอบในระยะหลังกรณีเลวร้ายกลายเป็นกรณีฐาน และในกรณีเลวร้ายการเติบโตของเศรษฐกิจ ศักยภาพของเศรษฐกิจ ระดับรายได้จะไม่กลับไปที่ระดับเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่กังวล เราได้เห็นหลายสำนักวิจัยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจลงหลายรอบ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ” ดร.สมประวิณกล่าว

ประเทศหลักๆ ของโลกกำลังทยอยเปิดเศรษฐกิจ แม้ประสบกับการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการอะไรในการควบคุมการระบาดและกระตุ้นการให้เศรษฐกิจฟื้นตัว วิจัยกรุงศรีได้ศึกษามาตรการของหลายประเทศในโลกแล้วถอดมาเป็นบทเรียนเพื่อให้ไทยได้นำมาปรับใช้เป็นมาตรการต่อไป

ใครที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 มาตรการควบคุมการระบาด และเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อให้ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย วิจัยกรุงศรีจึงได้นำตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน มาเป็นฐานในการประเมินหากลุ่มเป้าหมาย โดยพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง (คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด) ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน (คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด) และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

    1) ธุรกิจใน 29 จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด มีทั้งหมด 615,813 ราย คิด เป็น 76.6% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด
    2) แรงงานใน 29 จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด มีทั้งหมด 18.0 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 10.0 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 8.0 ล้านคน
    3) ธุรกิจนอก 29 จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด มีทั้งหมด 187,981 ราย
    4) แรงงานนอก 29 จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด มีทั้งหมด 19.9 ล้านคนแบ่งเป็นแรงงานใน ระบบ 7.6 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 12.3 ล้านคน

มาตรการเยียวยาภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

ดร.สมประวิณกล่าวว่า การเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาจากสองแนวคิดหลัก คือ

1) เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดได้ รวมทั้งให้ภาคธุรกิจอยู่รอด คนยังมีงานทำและมีรายได้ และ
2) เพื่อให้กิจกรรมเศรษฐกิจไปต่อได้หลังสิ้นสุดการระบาด ทั้งนี้มาตรการเศรษฐกิจจะช่วยลดการระบาดได้ เพราะแม้คนจะต้องอยู่กับบ้านตามมาตรการองภาครัฐ แต่ยังสามารถดำรงชีพได้ด้วยมาตรการของภาครัฐ

โดยมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมควรครอบคลุมใน 4 กลุ่มหลักได้แก่

    1) มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
    2) มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ
    3) มาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและการจ้างงาน
    4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากการศึกษานโยบายของหลายประเทศและเขตปกครอง ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ พบว่า ดำเนินมาตรการได้ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ เช่น สหรัฐฯ จีน เศรษฐกิจฟื้นตัว

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต่างประเทศ

ดร.สมประวิณให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาพบว่า แนวมาตรการทั้ง 4 กลุ่มหลัก ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการในบางด้านเหมือนกับต่างประเทศ เช่น ในด้านมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด มีเป้าหมายทั้งในการเพิ่มค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจรักษา และเพิ่มการเข้าถึงโรงพยาบาล ประเทศไทยดำเนินมาตรการที่ครอบคลุมผู้ป่วยทุกคน ผู้ที่ต้องกักตัว และประชาชนทั่วไปทุกคน แต่ยังไม่มากพอ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ด้วยการยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม ประเทศไทยก็ดำเนินมาตรการข้อนี้แต่ไม่ยังไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับการเพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อที่ประเทศไทยก็มีแต่ยังไม่เพียงพอ

ด้านมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและการจ้างงาน ต่างประเทศมีการยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคล และมีเป้าหมายไปที่คนที่ต้องจ่ายภาษีซึ่งเป็นกลุ่มผู้ทีรายได้น้อย แต่ประเทศไทย แม้มีการยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคล แต่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผูมีรายได้น้อย

ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่างประเทศได้มีการให้เงินช่วยเหลือเพื่อซื้อสิ่งของจำเป็น เพราะมีเป้าหมายไปที่กระตุ้นการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ประเทศไทยก็มีมาตรการนี้ช่นกันแต่ไม่ครอบคลุม

สำหรับมาตรการสำคัญและเร่งด่วนที่ต่างประเทศดำเนินการภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดมีด้วยกัน 7 มาตรการ ได้แก่ 1) ให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว 2) การรักษาระดับการจ้างงาน 3) ให้เงินเพื่อสนับสนุนค่าจ้าง 4) การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ 5) มาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 6) การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ 7) ให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน

ทั้ง 7 มาตรการสำคัญและเร่งด่วน ไทยมีการดำเนินการบางด้านซึ่งไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม โดยมาตรการของไทยเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเร่งการใช้จ่ายในภาครัฐ การเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ถอดบทเรียนสู่ 6 มาตรการใหม่ใช้เงิน 7 แสนล้าน

วิจัยกรุงศรีถอดบทเรียนมาจากการแนวนโยบายของต่างประเทศ เพื่อประเทศไทยจะได้นำไปปรับใช้ในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยต่อไปมีด้วยกัน 6 มาตรการ ได้แก่

1) มาตรการให้เงินช่วยเหลือในการกักตัว
รชฏ ให้ข้อมูลในเรื่องมาตรการให้เงินช่วยเหลือในการกักตัวว่า ในต่างประเทศถือว่ามาตรการที่มีความสำคัญสูง และเป็นมาตรการที่ดำเนินการเพื่อทำให้คนกักตัวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด โดยจากการศึกษาของ ออสเตรเลีย เยอรมนี สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า ประเทศที่ดำเนินมาตรการนี้มีเป้าหมายไปที่ประชาชนทุกคน แรงงานทุกคน ส่วนรูปแบบของมาตรการมี 2 รูปแบบ แต่เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบครั้งเดียว

แนวทางมาตรการให้เงินช่วยเหลือในการกักตัวของไทย
ปัจจุบันไทยยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการด้านนี้

การดำเนินการของมาตรการนี้สามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน หรือผู้ป่วยสีเขียว และผู้ที่ต้องกักตัวทุกคนเพราะมีความเสี่ยงสูง รูปแบบของมาตรการคือ ให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว

จากการประเมินตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสิ้นปี พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องกักตัวที่บ้านมีประมาณ 1-1.5 ล้านคน วงเงินของโครงการมีประมาณ 4 พันล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ต้องกักตัวที่บ้านมีจำนวนประมาณ 3-4 ล้านคน วงเงินของโครงการที่ประมาณ 11.5 พันล้านบาท ส่งผลให้วงเงินรวมของโครงการมีประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทจนถึงสิ้นปี 2564

2) มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ
มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงมีสภาพคล่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด และเพื่อป้องกันการเลิกกิจการของภาคธุรกิจ ที่ต่างประเทศนำมาใช้ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการใช้มาตรการนี้

จากการศึกษามาตรการของ 3 ประเทศและเขตปกครอง คือ อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง พบว่าเน้นการให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ด้วยการให้เงินอุดหนุนแบบครั้งเดียว

แนวมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจของไทย
วิจัยกรุงศรีพบว่าธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีทั้งหมด 437,803 ราย คิดเป็น 54.5% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด

แนวมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทย
สามารถแบ่งการดำเนินมาตรการออกตามกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ 1) ธุรกิจในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจขนาดเล็กและกลางใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง และในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด 2) ธุรกิจอื่นๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจขนาดเล็กและกลางอื่นๆ ในพื้นที ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด และ 3) ธุรกิจนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ ธุรกิจขนาดเล็กและกลางอื่นๆ นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด ที่สูญเสียรายได้ เกิน 50% ของรายได้ปี 2562

แนวนโยบายช่วยเหลือทั้งสามกลุ่ม คือเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ธุรกิจในพื้นที่ควบคุมสูงสุดในกลุ่มแรกมีจำนวนธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ 259,905 รายจากทั้งหมด 437,803 ราย และต้องใช้เงินรวมทั้งโครงการ 13.7 พันล้านบาท ส่วนกลุ่มที่สองธุรกิจอื่นๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวนธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ 113,299 ราย จากทั้งหมด 178,010 ราย คิดเป็นวงเงินรวมทั้งโครงการ 3.1 พันล้านบาท และกลุ่มที่สาม ธุรกิจนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวนธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ 110,521 รายจากทั้งหมด 187,981ราย คิดเป็นวงเงินรวมทั้งโครงการ 3.0 พันล้านบาท

วงเงินรวมทั้งโครงการจะมีจำนวน 2.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในระยะเวลา 6 เดือน

3) มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน
กุศลินกล่าวว่า มาตรการนี้ในต่างประเทศมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของพนักงานที่อาจถูกเลิกจ้าง และรักษาระดับการว่างงานไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ลูกจ้างยังมีรายได้ในระหว่างที่โดนลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน และยังคงมีงานทำหลังจากการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง และเพื่อลดภาระของบริษัทในการรักษาการจ้างงานโดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม

ในต่างประเทศมีการดำเนินมาตรการนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในโซนยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ ในเอเชีย ก็มีญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการใช้มาตรการนี้

แนวมาตรการรักษาระดับการจ้างงานในประเทศไทย
สามารถดำเนินการได้สองเป้าหมายคือ 1) รักษาระดับการจ้างงานของแรงงานทั่วไป 2) ให้ความช่วยเหลือการจ้างงานของกลุ่มเด็กจบใหม่

โดยแนวนโยบายในกลุ่มแรก คือ 1) จ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงานผ่านนายจ้าง ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไว้และไม่มีการเลิกจ้าง 2) จ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างให้กับแรงงานที่มีรายได้ ต่ำกว่า 13,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน

วิจัยกรุงศรีประเมินวงเงินที่ใช้ในโครงการสำหรับกลุ่มแรงงานในระบบที่มีรายได้ต่ำกว่า 13,000 บาทต่อเดือน จำนวน 9.5 ล้านราย รายละ 5,000 บาท คิดเป็นวงเงิน 2.85 แสนล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือน ส่วนการช่วยเหลือประชากรอายุ 15-24 ปีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน จำนวน 188,000 ราย รายละ1,000 บาทต่อสัปดาห์ คิดเป็น วงเงิน 4.5 พันล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือน รวมวงเงินทั้งโครงการ 2.895 แสนล้านบาท

4) มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน
ในต่างประเทศถือเป็นมาตรการสำคัญ แต่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินมาตรการนี้ เป้าหมายของมาตรการนี้ เพื่อให้ครัวเรือนยังคงมีสภาพคล่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดและเพื่อรักษาระดับกำลังซื้อและการบริโภค

ในต่างประเทศที่เน้นหนักการใช้มาตรการนี้ คือสหรัฐฯ ทั้งในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้เงินพลเมืองทุกคน ยกเว้นกลุ่มคนรวย (กลุ่มควินไทล์ที่ 5 มีรายได้มากกว่า 19,001 บาทต่อเดือน (รายได้เฉลี่ย 30,500 บาทต่อเดือน) หรือกลุ่ม 20% บนตามโครงสร้างรายได้ ซึ่งทำให้ 80% ของพลเมืองอเมริกันได้รับความช่วยเหลือโดยตรงและได้รับการช่วยเหลือถึง 3 รอบคิดเป็นสัดส่วนราว 15-35% ของรายได้ต่อเดือน

การให้ความช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาครัวเรือนในต่างประเทศมีทั้งการให้ความช่วยเหลือครั้งเดียวหรือให้เงินอุดหนุนก้อนเดียวแต่จ่ายหลายครั้งตามสถานการณ์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเท่าเทียมกันหรือแตกต่างกันตามระดับรายได้

การจ่ายเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯใช้ข้อมูลฐานภาษีตรวจสอบผู้ที่ได้รับสิทธิ แล้วโอนเงินเข้าบัญชีตรง ส่วนรายที่ไม่มีบัญชีก็จ่ายเป็นเช็คเงินสดตามที่อยู่ ทำให้การช่วยเหลือเร็ว

แนวมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือนในประเทศไทย
การดำเนินมาตรการนี้ครอบคลุมสองกลุ่มเป้าหมาย คือ 1) กลุ่มเปราะบาง จำนวนทั้งสิ้น 6.7 ล้านคน ประกอบด้วยผู้สูงอายุ 4.0 ล้านคน ผู้พิการ 1.3 ล้านคน เด็ก 1.4 ล้านคน 2) แรงงานนอกระบบที่อยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัดและ 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง ซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรการ 40

วิจัยกรุงศรีระบุว่ารัฐได้มีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว แต่จำนวนเงินยังน้อย จึงสามารถให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วยการเพิ่มวงเงินขึ้น เพราะช่วยลดภาระให้กับผู้ที่ทำงานหารายได้ของครัวเรือนซึ่งมีภาระเลี้ยงดูกลุ่มเปราะบาง และอาจจะได้รับผลกระทบจากการระบาด

วิจัยกรุงศรีประเมินวงเงินโครงการในกลุ่มแรกที่มีจำนวน 6.7 ล้านคน ว่าจะมีประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือน ส่วนวงเงินโครงการแรงงานนอกระบบจำนวน 4.2 ล้านคนประมาณ 1 แสนล้านบาท

5) มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน
รชฏกล่าวว่า ในต่างประเทศถือเป็นมาตรการสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อครัวเรือนและช่วยป้องกันการแพร่ระบาด ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการนี้แต่ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม โดยมีการให้ความช่วยเหลือใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ภาษี อุปกรณ์การแพทย์ ค่าที่อยู่อาศัยและอื่นๆ

แนวมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือนในประเทศไทย
ไทยสามารถดำเนินนโยบายลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน ใน 4 ด้านเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยในด้านภาษีอาจจะลดอัตราการเก็บภาษีรายได้ ช่วง 150,000-300,000 บาทต่อปีจาก 5% เป็น 2.5% ซึ่งจะช่วยกลุ่มผู้มีรายได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี ประชากรในกลุ่มนี้ทั้งหมด 3.5 ล้านคน ได้รับการลดภาษีคนละประมาณ 3,750 บาท

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือนใช้วงเงินรวมทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้านบาท

6) มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ
ในต่างประเทศถือเป็นมาตรการสำคัญ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการนี้แต่ไม่เพียงพอ

มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ แบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ ต้นทุนด้านแรงงาน ต้นทุนค่าเช่า ต้นทุนค่าธรรมเนียมและภาษี และอื่นๆ ซึ่งหลายประเทศให้ความช่วยเหลือในด้านการลดต้นทุนด้านแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน และเน้นไปที่การให้ความช่วย
เหลือธุรกิจ

แนวมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทย
มีด้วยกัน 2 ด้านคือ ต้นทุนด้านค่าเช่า และต้นทุนค่าธรรมเนียมและภาษี

ในด้านต้นทุนค่าเช่า เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ มาตรการนี้จึงเน้นไปที่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้น้อยกว่า 300,000 บาทต่อปี โดย ให้เครดิตภาษีกับผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดค่าเช่ากับ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (มีรายได้ก่อนการระบาดน้อยกว่า 1.6 ล้านบาท) โดยผู้ให้เช่าสามารถนำส่วนลดค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์มาเป็นส่วนลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า (ลดหย่อนได้ไม่เกิน 50% ของค่าเช่าเดิม) เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ส่วนการช่วยเหลือด้านต้นทุนค่าธรรมเนียมและภาษีควรให้กับธุรกิจทั้งหมดด้วยการ ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งเลื่อนการส่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาคธุรกิจ แต่ให้เครดิตภาษี สำหรับธุรกิจที่ส่งคืนภาษีมูลค่าพิ่มตามปกติเป็นระยะเวลา 6 เดือน

มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจใช้วงเงินรวมทั้งหมดประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท

ผลได้จากมาตรการเยียวยา

การระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลต่อรายได้ของอุตสาหรกรมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของภาคธุรกิจ โดยจากการประเมินสภาพคล่องรายบริษัทพบว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้ธรกิจจำนวน 221,658 รายเผชิญปัญหาสภาพคล่อง (คิดเป็น 27.6% ของทั้งหมด) โดยในจำนวนนี้เป็นธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงมากถึง 147,610 ราย หรือคิดเป็น 33.7% ของธุรกิจประเภทนี้ และมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 3.2 ล้านคน ธุรกิจอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดแต่ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง 44,930 ราย มีจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 2.5 ล้านคน ธุรกิจนอกพื้นที่ควบคุม 29 จังหวัด มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ 29,188 รายและจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 3.6 ล้านคน

ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความเสี่ยงของการเลิกกิจการ ทำให้แรงงาน 9.3 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน

วิจัยกรุงศรีมองว่ามาตรการเยียวยาภาคธธุรกิจที่สำคัญมี 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงภาคธุรกิจ มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน และมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ

ทั้ง 3 มาตรการที่เสนอคาดว่าจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจที่จะออกจากกิจการใน 6 เดือนข้างหน้าได้มากถึง 169,175 ราย และช่วยรักษาการจ้างงานได้ถึง 7.4 ล้านตำแหน่ง

ผลกระทบจากภาคธุรกิจทำให้แรงงานประมาณ 9.3 ล้านคน เผชิญความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง วิจัยกรุงศรีคาดว่าค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มลดลง 10-50% ในภาคบริการและ 0-15% ในภาคการผลิต ทำให้รายได้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 การวิเคราะห์สภาพคล่องของครัวเรือนพบว่า 3.89 ล้านครัวเรือนของไทยมีรายได้ไม่พอรายจ่าย (18.3% ของครัวเรือนทั้งหมด) การลดลงของรายได้ครัวเรือนทำให้การใช้จ่ายลดลงตามไปด้วย

วิจัยกรุงศรีคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 4.7% ซึ่งจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลง 2.3%

วิจัยกรุงศรีมองว่า มาตรการเยียวยาครัวเรือนสามารถทำได้ทั้งผ่านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ (เพื่อป้องกันการเลิกจ้างงานและลดเงินเดือน) และมาตรการเยียวยาภาคครัวเรือนโดยตรง เช่น มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงต่อภาคครัวเรือน มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน และมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือนเป็นต้น ซึ่งช่วยลดจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาสภาพคล่องได้ถึง 2.75 ล้านครัวเรือน และยังช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยจะติดลบเพียง 1.0% จาก 2.3% ในกรณีไม่มีมาตรการ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว

วิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาวนาน 2 ปีส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภาคธุรกิจประสบปัญหารายได้ลดลงและมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องซึ่งนำไปสู่การลดเงินเดือน การเลิกจ้าง และการเลิกกิจการของธุรกิจ ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวแน้มลดลง 2.1% ในระยะสั้น การออกจากกิจการของธุรกิจสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลงทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงจาก 3.50% ก่อนการระบาดของโควิด-19 เหลือ 3.0% อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ การเยียวยาภาคครัวเรือน และมาตรการควบคุมโรคที่ศึกษาจะช่วยให้ภาคธุรกิจและภาครัวเรือนจะยังคงามารถอยู่ในระบบเศรษบกิจต่อไปได้หลังการระบาด ซึ่งช่วยให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% (เทียบกับ 3.0% หากไม่มีมาตรการ)

โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นและสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2568)

“รัฐควรดำเนิน 6 มาตรการนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การลงทะเบียนไลน์ควรจัดให้มีหลายช่องทาง ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือช่องทางเดียว รวมทั้งการจ่ายเงินเยียวยาก็ไม่ควรจำกัดไว้ที่ช่องทางกระเป๋าตังอย่างเดียว ปัจจุบันไทยมีระบบ NDID แล้ว รัฐต้องออกแบบกลไกโดยยึดผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นหลักและมีหลายช่องทาง” ดร.สมประวิณกล่าว

กุศลินกล่าวเสริมว่า มาตรการที่เสนอบางมาตรการสามารถขยายต่อจากมาตรการที่มีอยู่แล้ว เช่น การเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพียง 2.8 ล้านคน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่านี้ โดยรัฐอาจจะขยายระยะเวลาการลงทะเบียนความช่วยเหลือออกไป ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือได้แล้วยังใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการดำเนินมาตรการในระยะต่อไปหากมีเกิดวิกฤติขึ้นอีก

รัฐต้องเตรียมขยายเพดานเงินกู้

การดำเนินการมาตรการของต่างประเทศใช้เงินจำนวนมากทั้งมาตรการการคลังและมาตรการการเงิน เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติหรือ GDP โดยวงเงินช่วยเหลือและเยียวยาของสหรัฐเพิ่มเป็น 40-50% ของ GDP ในยูโรโซนมีตั้งแต่ 20-50% ของ GDP อิตาลี 50% ของ GDP แต่สำหรับการใช้มาตรการคลังขนาดใหญ่เห็นได้ชัดที่ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยญี่ปุ่นใช้วงเงิน 20% ของ GDP สิงคโปร์ 16% ของ GDP

“ดังนั้น รัฐบาลควรเตรียมขยายเพดานหนี้สาธารณะจากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 60% ของ GDP รวมทั้งเตรียมการกู้เงินรอบใหม่” ดร.สมประวิณกล่าว

“วงเงินของ 6 มาตรการที่มีจำนวน 7 แสนล้านบาทคิดเป็น 5% ของ GDP” รชฏกล่าว

สำหรับการใช้เงินเพื่อดำเนินมาตรการของไทยมีจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับสินเชื่อผ่านออมสินและประกันสังคมอีก 3.4 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.84 ล้านล้านบาท คิดเป็น10.9% ของ GDP