ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > Krungsri Research > วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ ผลกระทบจากโอไมครอนต่อเศรษฐกิจไทย

วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ ผลกระทบจากโอไมครอนต่อเศรษฐกิจไทย

6 มกราคม 2022


สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลับมาสร้างความกังวลต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากสายพันธุ์โอไมครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันพุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่เพิ่มมากนัก ในการศึกษาเบื้องต้นพบว่า แม้โอไมครอนจะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในกลุ่มคนทั่วไป แต่ความสามารถในการระบาดที่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 5 เท่ายังมีแนวโน้มทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และเพิ่มความเสี่ยงต่อไปในอนาคต

จากความไม่แน่นอนที่มาจากทั้งความรุนแรงของอาการและประสิทธิภาพของวัคซีน วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาความเป็นไปได้ของการระบาดสายพันธุ์โอไมครอนเป็น 3 กรณี คือ กรณีฐาน กรณีเลวร้าย และกรณีเลวร้ายที่สุด ในกรณีฐาน อาการที่เกิดจากเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรง แม้ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ดี ในกรณีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงสุดเกือบ 1.1 หมื่นคนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ระดับ 50 คน ทำให้ทางการต้องชะลอการผ่อนคลายมาตรการควบคุมออกไปบ้าง ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด อาการที่เกิดจากเชื้อโอไมครอนรุนแรงใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลต้า ระบาดง่ายกว่า และวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 3.2 หมื่นราย และจำนวนผู้เสียชีวิตกลับมาอยู่ในระดับ 300 รายต่อวัน ทำให้ทางการต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2022

มาตรการที่มีความเข้มงวดและความกังวลต่อการระบาดทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป จากแบบจำลองของวิจัยกรุงศรีพบว่า เมื่อเทียบกับการประมาณการก่อนการระบาดของโอไมครอน ทั้งปี 2022 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศของทั้งสามกรณีมีแนวโน้มลดลง 0.9%, 2.0% และ 3.2% ตามลำดับ ส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยวลดลง 7.1%, 21.7% และ 36.8% ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าโอไมครอนจะกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้าการระบาดของโอไมครอน 0.6%, 1.4% และ 3.0% ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปี 2022 เป็นไตรมาสแรกของปี 2023

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกลับมาสร้างความกังวลอีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกพุ่งสูงสุดทำสถิติใหม่ที่เกือบ 2 ล้านรายต่อวัน หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และแอฟริกา (รูปที่ 1) โดยเฉพาะจากการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron Variant) ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมจากโควิด-19 มากถึงเกือบ 300 ล้านคน (4 มกราคม 2022) อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าโรงพยาบาลและอัตราการตายลดลง โดย The Journal of the American Medical Association ศึกษาการระบาดในแอฟริกาใต้พบว่า ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลงจาก 74% ในการระบาดช่วงกลางปี 2021 เหลือ 17.6% ในการระบาดเดือนธันวาคม 2021 และอัตราการตายลดลงจาก 19.7% เหลือ 2.7% ในช่วงเดียวกัน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน

การติดเชื้อในไทยเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยกลับมาอยู่ที่ระดับเหนือ 5 พันรายต่อวันอีกครั้ง (รูปที่ 2) หลังเริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรวมมากกว่า 2 พันราย โดยมีสัดส่วนผู้ป่วยหนัก 1.4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ลดลงจากช่วงกลางปี 2021 ที่ระดับ 2.3% จึงทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำว่า 30 คน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐต้องชะลอการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด เช่น การระงับมาตรการ Test and Go ชั่วคราว เป็นต้น

สายพันธุ์โอไมครอนถูกคาดว่าจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในระยะต่อไป

การศึกษาเบื้องต้นคาดกันว่าสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron variant; B.1.1.529) จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดของโควิด-19 ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากโอไมครอนมีระยะการฝักตัวสั้นกว่า สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า และสามารถหลบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีกว่า (ทั้งภูมิคุ้มกันที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากวัคซีน) เมื่อประกอบกับอาการของโรคที่รุนแรงน้อยกว่า จึงทำให้อัตราการระบาดของโอไมครอนสูงกว่าอัตราการระบาดของสายพันธุ์เดิม อาทิ เดลต้าหรือเบต้า จากการศึกษาเบื้องต้นของทั้ง WHO, Imperial College, National Health service (UK), Journal of Clinical Medicine และ CDC พบว่า ความสามารถในการกระจายโรค หรือ Reproductive number ของสายพันธุ์โอไมครอนสูงถึง 2.5-5.2 เมื่อเทียบกับ 1.2-2.0 ของสายพันธุ์เดลต้า ส่วนระยะเวลาที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อต่อได้หลังได้รับเชื้อ (Generation time) ลดลงจาก 5-10 วันเป็น 2-5 วัน ขณะที่อัตราการเข้าโรงพยาบาลคาดว่าลดลงประมาณ 25-50% (ตารางที่ 1)

ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แม้ว่าช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ ผลการศึกษาของ Imperial College พบว่า การฉีดวัคซีนสองเข็ม (AstraZeneca 2 เข็ม หรือ Pfizer 2 เข็ม) สามารถป้องกันโอไมครอนได้เพียง 27.0-56.2% (51.7-67.3% เมื่อเทียบกับความสามารถในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า) และหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่สองเกิน 14 สัปดาห์ ความสามารถในการป้องกันโอไมครอนจะเหลือเพียง 6.6-19.0% ขณะที่การฉีดวัคซีนกระตุ้นจะช่วยเพิ่มความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อได้เป็น 70.3-77.1% อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวยังไม่สามารถระบุระยะเวลาในการป้องกันเชื้อโควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่คาดว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นมีแนวโน้มจำเป็นต่อไป

เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนจากโอไมครอน วิจัยกรุงศรีมองว่าการระบาดสามารถพัฒนาไปได้สามกรณีหลัก

ความรุนแรงของอาการและประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญ (Key risk factors) ที่จะบอกว่าสถานการณ์การระบาดในอนาคตมีแนวโน้มพัฒนาไปอย่างไร เนื่องจากการศึกษาลักษณะและการระบาดของโอไมครอนยังอยู่ในขั้นต้นโดยเฉพาะความรุนแรงของการติดเชื้อและประสิทธิภาพของวัคซีน

วิจัยกรุงศรีจึงมองความเป็นไปได้ของการระบาดของโอไมครอนเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

ความรุนแรงของอาการและประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญ (Key risk factors) ที่จะบอกว่าสถานการณ์การระบาดในอนาคตมีแนวโน้มพัฒนาไปอย่างไร เนื่องจากการศึกษาลักษณะและการระบาดของโอไมครอนยังอยู่ในขั้นต้นโดยเฉพาะความรุนแรงของการติดเชื้อและประสิทธิภาพของวัคซีน วิจัยกรุงศรีจึงมองความเป็นไปได้ของการระบาดของโอไมครอนเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

  • กรณีฐาน (Base case): อาการที่เกิดจากเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรง แม้จะระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า
  • โอไมครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในเดือนมกราคมแทนที่เดลต้า อัตราการแพร่เชื้อที่สูง (Reproductive number เท่ากับ 5.2) และอาการที่ไม่รุนแรงทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถหายเองที่บ้านได้ จึงทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลต่ำ (50% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลต้า) และอัตราการเสียชีวิตไม่สูงมาก ขณะที่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ถึง 85%

  • กรณีเลวร้าย (Worse case): อาการที่เกิดจากเชื้อโอไมครอนรุนแรงใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลต้า และระบาดง่าย แต่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันอาการรุนแรงและการติดเชื้อได้
  • โอไมครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด อัตราการแพร่เชื้อที่สูง (Reproductive number เท่ากับ 5.2) ทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง แม้วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ (ประมาณ 85%) แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจจะมีอาการรุนแรง (25% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลต้า) อัตราการเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในกรณีฐาน

  • กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case): อาการที่เกิดจากเชื้อโอไมครอนรุนแรงใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลต้า ระบาดง่าย และวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
  • โอไมครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด อัตราการแพร่เชื้อที่สูง (Reproductive number เท่ากับ 5.2) ทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ (ประสิทธิภาพเพียง 25%) และพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวนมาก (25% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลต้า) ทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้น

    วิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลอง SIR เพื่อคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อพบว่า

    ในกรณีฐาน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 1.1 หมื่นคนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ก่อนลดลงอย่างช้าๆ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 50 คนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยคาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 8.8 แสนราย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 พันคนในช่วงเดียวกัน

    ส่วนในกรณีเลวร้าย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่เกือบ 1.6 หมื่นคนและมีผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 100 คน ใน

    กรณีนี้คาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่วัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดประมาณ 3.2 หมื่นรายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 300 รายต่อวัน โดยในครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3.5 ล้านคนและผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 หมื่นราย

    จำนวนผู้มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตที่จำกัด ทำให้ทางการยังคงสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมได้

    แม้ว่าความกังวลต่อการระบาดของโอไมครอนทำให้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมต้องเลื่อนออกไป แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ทำให้การผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปได้ จากดัชนี Stringency Index ของ University of Oxford และแบบจำลองของวิจัยกรุงศรี พบว่า การผ่อนคลายมาตรการมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดการณ์ก่อนมีการระบาดของโอไมครอนเล็กน้อย โดยในกรณีฐานระดับความเข้มงวดของมาตรการ ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2022 คาดว่าจะอยู่ที่ 20% เทียบกับ 15% ก่อนจะมีการระบาดของโอไมครอน ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด มาตรการควบคุมอาจจะต้องถูกนำกลับมาใช้อีกรอบ โดยความเข้มงวดของมาตรการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ใกล้เคียงระดับความเข้มงวดของมาตรการในปี 2021

    การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้าออกไป 1 ไตรมาสจากการระบาดของโอไมครอน โดยผลส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก

    ความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มและการผ่อนคลายมาตรการที่ช้าลงมีแนวโน้มชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2022 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว วิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลองเพื่อประเมินความสัมพันธ์ของความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดแบบต่างๆ กับปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่ามาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด การปิดสถานประกอบการ การลดการเดินทาง และความกังวลของประชาชนต่อโรคระบาดล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจสูง ส่วนมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศเป็นมาตรการควบคุมการระบาดที่มีผลลบต่อการท่องเที่ยวมากที่สุด1

    ในกรณีฐาน ภาคท่องเที่ยวในปี 2022 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนการระบาดของโอไมครอนถึง 7.1% ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปี 2022 จะลดลงเพียง 0.9% (รูปที่ 6 และ 7) ส่วนในกรณีเลวร้ายและเลวร้ายที่สุด พบว่า ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง 21.7% และ 36.8% ตามลำดับ ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศจะลดลงเพียง 2.0% และ 3.2% ตามลำดับ เมื่อรวมผลของทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ( ซึ่งวิจัยกรุงศรีใช้เป็นตัวแปรเพื่อเทียบเคียงกับ GDP ของเศรษฐกิจไทย) ในทั้งสามกรณีมีแนวโน้มลดลง 0.6%, 1.4% และ 3.0% ตามลำดับ (รูปที่ 8) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปี 2022 อีก 1 ไตรมาสเป็นไตรมาส 1 ปี 2023

    อ้างอิง
    1. จากบทความเรื่อง เปิดประเทศไทยอย่างไรให้พ้นภัยเศรษฐกิจและโควิด-19

    รายงานโดย รชฏ เลียงจันทร์