ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปรับแผนตรวจโควิดฯ แก้ปม ปชช.ถูก รพ.ปฏิเสธ-มติ ครม.เคาะกู้ 30,000 ล้าน แจกเยียวยา 9 อาชีพ

นายกฯปรับแผนตรวจโควิดฯ แก้ปม ปชช.ถูก รพ.ปฏิเสธ-มติ ครม.เคาะกู้ 30,000 ล้าน แจกเยียวยา 9 อาชีพ

13 กรกฎาคม 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายก ฯแจงแพทย์ติดเชื้อ 707 ราย เสียชีวิต 2 ราย สะท้อนให้เห็นวัคซีนป้องการการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ช่วยลดการเสียชีวิตได้ -ปรับแผนตรวจโควิดฯ แก้ ปชช.ถูก รพ.ปฏิเสธ – สั่งคุมราคา “แอนติเจนเทสต์คิต” -มติ ครม.เคาะเยียวยา 9 อาชีพ 30,000 ล้าน – ลดค่าน้ำ-ไฟ 2 เดือน – ชงลดค่าเทอมสัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งในการตอบคำถามสื่อมวลชนยังคงมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบคำถามแทน

ชี้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ช่วยลดการเสียชีวิต

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิดฯ มีสายพันธุ์เดลตาซึ่งมีความรุนแรงและก็ติดต่อได้ง่ายกว่าที่ผ่านๆ มา ทำให้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นพื้นที่สีแดงแล้ว และได้ออกข้อกำหนดในเรื่องของกิจกรรมและเวลา เพื่อลดการแพร่ระบาด และเพื่อความคล่องตัวของรัฐในการบริหารสถานการณ์

โดยการป้องกันในภาพรวม คือ การจัดหาและการฉีดวัคซีน ที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว และดำเนินการฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมจำกัดการเข้าออกพื้นที่เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้ามาอยู่ในภายใต้การควบคุมได้โดยเร็ว

“ที่ผ่านมานะครับและรัฐบาลก็ได้ฉีดไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดสและ ในปัจจุบันนะครับรัฐบาลก็จะเร่งกระจายแล้วก็เร่งฉีดอีกที่มีอยู่จำนวนตอนนี้กระจายไปอีก 5.4 ล้านโดส โดยเน้นลดการสูญเสียในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงก็จะระดมฉีดให้ได้อย่างน้อยนะครับ 1 ล้านโดสในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ไป”

ทั้งนี้ มีผลการศึกษาในประเทศไทยจากการเก็บสถิติการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางแพทย์กลุ่มตัวอย่างในปัจจุบันทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 70 ที่ได้รับวัคซีนแล้วทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์นะครับติดเชื้อประมาณ 707 คนนะครับ คิดเป็น 0.01 เปอร์เซ็นต์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีผู้ที่มีอาการหนัก 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหากเทียบกับการเสียชีวิตในภาพรวมของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศก็สะท้อนให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนแม้ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่ก็ลดความรุนแรง แล้วก็ลดเรื่องของการเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก

ต่อคำถามถึงแผนการส่งมอบวัคซีนและแผนการกระจายวัคซีน นายอนุชาระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าก็อาจมีข้อติดขัดในเรื่องการส่งมอบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลเองก็ยังมีการเจรจาเพิ่มเติมกับทางด้านผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเข้าให้ได้มากที่สุด เพื่อฉีดให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ส่วนการกระจายวัคซีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อที่จะกระจายตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข โดยยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์

ปรับแผนตรวจโควิดฯ แก้ ปชช.ถูก รพ.ปฏิเสธ – สั่งคุมราคา “แอนติเจนเทสต์คิต”

นายอนุชากล่าวต่อไปว่า เรื่องของการตรวจคัดกรองก็ได้มีการปลดล็อกใน 2 เรื่อง ได้แก่ การปลดล็อกให้โรงพยาบาลเปิดรับการตรวจให้ประชาชนแม้จะไม่มีเตียงรองรับ เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อก็ต้องลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อที่จะแยกกักตัวรักษาต่อไปตามความรุนแรงของอาการทันที โดยสถานพยาบาลนั้นจะต้องทำหน้าที่ประสานเบื้องต้น เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนโดนปฏิเสธการตรวจ

และได้มีการปลดล็อกให้ใช้ชุดตรวจไว “แอนติเจนเทสต์คิต” ตามที่ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) อนุญาตนำเข้า เพื่อให้ผู้ที่คิดว่าอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้รู้ตัวเองเบื้องต้น แล้วจะต้องทำตัวอย่างไรต่อไป ซึ่งในผู้ที่มีการตรวจแล้วมีผลเป็นบวกจะต้องมีการตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน real-time PCR หรือ SWAP test เพื่อยืนยันผล ก่อนที่จะแยกจากตัวรักษาต่อไป

“เบื้องต้นจะเป็นการกระจายให้กับทางโรงพยาบาลก็ดี หรือคลินิกชุมชนก็ดี สามารถใช้ได้ทันที ส่วนการที่จะให้ประชาชนซื้อไปใช้เองในระยะต่อไปนะครับ รัฐบาลกำลังดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อปลดล็อกให้ประชาชนสามารถดำเนินการไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะต้องมีมาตรการรองรับเกี่ยวกับสถานที่ซื้อ รวมทั้งการควบคุมราคา ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้กำชับนะครับว่าราคาจะต้องไม่แพง ประชาชนจะต้องไม่ได้รับผลกระทบทั้งนี้ในเรื่องของราคาวัคซีนทางเลือก และชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิตนี้”

โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีการเก็บภาษีนำเข้าทั้งในส่วนของวัคซีนก็ดีหรือในส่วนของชุดตรวจแต่อย่างใด โดยในปัจจุบัน ศบค. ก็ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองระดับชุมชนโดยมีการจัดทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จหรือหรือว่า primary care team จำนวน 200 ทีม ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายความมั่นคง และบุคลากรของเขตทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยจากคนปกติให้โดยเร็วที่สุดให้เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล

เพิ่มเตียงรับผู้ป่วยเหลือง-แดง เล็งใช้ “Home Isolation” กักตัวสีเขียว

นายอนุชากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมาตรการการรักษาจะยึดหลักเกณฑ์สำคัญ คือ การเข้าถึงง่าย ขยายศักยภาพโดยการเพิ่มจำนวนเตียงให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของอาการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเกณฑ์สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง โดยพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จะมีการเพิ่มจำนวนเตียงให้แก่โรงพยาบาลบุษราคัมอีกประมาณ 1,000–2,500 เตียง ซึ่งจะให้โรงพยาบาลบุษราคัมมีเตียงไม่ต่ำกว่า 3,000–4,000 เตียง

นอกจากนี้ จะดำเนินการเปิดศูนย์พักคอยอีก 17 แห่ง เพื่อผู้ป่วยกว่า 2,560 เตียง และจะดำเนินการเสริมให้ครบ 3,000 ต่อไป เพื่อที่จะคัดแยกนะครับ แรกรับผู้ป่วยแล้วก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ หรือให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านหากมีอาการการดีขึ้น

“ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินมาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) และการกักตัวในชุมชน (community isolation) สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหลายเคสอาจจะหายได้เองโดยไม่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ใกล้หายดีแล้วก็จะกลับไปรักษาที่บ้าน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยจะมีการวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด แพทย์พยาบาลจะติดตามอาการอย่างใกล้ชิดผ่านระบบเทเลเมดิซีน (telemedicine) วันละ 2 ครั้ง”

นายอนุชากล่าวยืนยันว่า รัฐจะสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์อย่างเต็มที่ รวมถึงการบริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งยาเวชภัณฑ์ รวมถึงอาหารทุกมื้อไม่ต่างจากการเข้าการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลทั่วไป นอกจากนี้ จะมีรวมทั้งจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าไปในพื้นที่เพื่อติดตามดูแล และให้อยู่ในสายตาของคนในครอบครัวระหว่างการรักษาที่บ้าน หากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะนำส่งโรงพยาบาลต่อไปอย่างเป็นระบบ

“มาตรการนี้จะช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล และเพิ่มโอกาสให้ที่ผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมกับอาการได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ป่วยหนักและป่วยปานกลางก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันสัดส่วนเตียงผู้ป่วยสีเขียวในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลก็มีคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ป่วยป่วยทั้งหมด ซึ่งหากบริหารได้มีประสิทธิภาพแล้วจะมีเตียงเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 40–50”

ปลื้มผลิต “ฟาวิพิราเวียร์” ได้ — ยันแผนกระจายยาไม่มีสต็อกส่วนกลาง

นายอนุชาระบุว่า ถือเป็นข่าวดีที่ไทยสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เองแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมขึ้นทะเบียนตำรับยา จากนั้นจะนำมาใช้โดยทันที เพื่อลดการนำเข้าเข้า โดยปัจจุบันมีอัตราการผลิตอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านเม็ดต่อเดือน โดยจะเร่งกระจายไปยังสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามต่างๆ ทั่วประเทศอย่างพอเพียง นอกจากนั้น รัฐบาลก็ได้มีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร อย่างจริงจัง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้านควบคู่กับยาหลักตามคำแนะนำของหมออีกด้วย

“จะไม่มีการสต็อกไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ตั้งแต่ช่วงที่มีอาการไม่รุนแรง และจะเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักตั้งแต่ต้น”

นายอนุชากล่าวถึงระบบการกักตัว โดยระบุว่า เป็นระบบที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา ซึ่งสามารถรองรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศแบบถูกกฎหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วนแรงงานต่างด้าวหรือผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็มีระบบรองรับตั้งแต่แนวชายแดน ต้องมีการจ้างงานรองรับ ซึ่งสามารถลงทะเบียนจัดหางานล่วงหน้าได้

มอบนโยบาย รมต.ตั้ง ขรก.ระดับสูง เน้นวิสัยทัศน์เดียวกับ รบ.

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีในกรณีที่ข้าราชการตำแหน่งสูงต่างๆ เกษียณอายุราชการจำนวนมากว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการในกระทรวงแต่ละกระทรวง เจ้ากระทรวง หรือรัฐมนตรีช่วยของแต่ละแห่ง ที่จะพิจารณาแล้วนำเสนอให้ ครม. พิจารณา

“นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเรื่องของการทำงานสำหรับผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งว่า จะต้องสามารถทำงานในเชิงรุกได้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม วิสัยทัศน์ในการทำงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล”

สั่ง “ดีอี” ลุยฟ้อง “เฟคนิวส์” กรณีมีเจตนาทำผิดซ้ำหลายครั้ง

นายอนุชากล่าวต่อไปถึงประเด็นปัญหาข่าวปลอมในปัจจุบันว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจทำให้เกิดความสับสน ทั้งนี้ สำหรับผู้กระทำผิดจะมีการพิจารณาถึงเจตนา โดยหากมีการกระทำซ้ำหลายครั้งก็จะเป็นเรื่องที่มีเจตนา ทางกระทรวงดีอีจะเป็นผู้ดำเนินคดีต่อไป

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

เคาะกู้ 30,000 ล้าน แจกเงินเยียวยา 9 อาชีพ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 27 เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้นสำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โดยเป็นการทดแทนมาตรการช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน กรอบวงเงิน 3,000 บาท

โดยได้ขยายพื้นที่ จากเดิม 6 จังหวัด กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพิ่มเติม 4 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงชลา โดยเป็น 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

และเพิ่มประเภทกิจการรวม 9 สาขา จากเดิม 4 หมวดกิจการ ได้แก่ (1) ก่อสร้าง (2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ (4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพิ่ม 5 หมวดกิจกรรม ได้แก่ (5) ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์ (6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ (9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

ทั้งนี้ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น

  1. ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา33
    • นายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน
    • ลูกจ้าง จ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาท/คน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาท/คน ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย โดยจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน
    • เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบม. 33 อาชีพอิสระ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
  2. นอกระบบประกันสังคม
    • กลุ่มผู้ประกอบการ/นายจ้าง กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกันลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในเดือนกรกฎาคม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน ขยายมาตราการช่วยเหลือเดิมให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาท เท่านั้น
  3. สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ โดยขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) กรณีที่มีลูกจ้าง ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/คน/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คนและลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้สถาบันการเงินนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ครม. ยังมีจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศต่อไปด้วย

  • มติ ครม. กู้ 4.2 หมื่นล้าน แจก 9 สาขาอาชีพ คนละ 2,500-5,000 บาท-ลดค่าน้ำ-ไฟ 2 เดือน
  • ลดค่าน้ำ-ไฟ 2 เดือน – ชงลดค่าเทอมสัปดาห์หน้า

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของประชาชนและธุรกิจทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งกรอบวงเงินสำหรับมาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ให้ กฟน. กฟภ. กปน. และ กปภ. ขอรับสนับสนุนภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 12,000 ล้านบาท

    โดยมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 จะยังคงใช้ฐานเดือนกุมภาพันธ์ คือ

    • บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150หน่วย/เดือน : ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
    • บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150หน่วย/เดือน หากน้อยกว่าหรือเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง กรณีมากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ให้จ่ายเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ระหว่าง 501-1,000 หน่วย/เดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 + 50% ของหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เกิน 1,000 หน่วย/เดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 + 70% ของหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
    • กิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
    • กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะ องค์กรไม่แสวงหากำไรและการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (minimum charge) จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยให้จ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จ่ายจริง

    สำหรับมาตรการลดภาระค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2564

    นายอนุชากล่าวต่อไปว่า ในส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนนั้น ได้มีประกาศให้สถานศึกษาภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ

    “วันนี้ ครม. ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ พร้อมให้ทำข้อเสนอโครงการในลักษณะรัฐร่วมสมบทภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วน เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ และให้ร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแนวทางทางการเงินช่วยเหลือสถานศึกษาภาคเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงินที่เหมาะสมด้วย”

    คืนหัก ณ ที่จ่าย ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลผ่านออนไลน์

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้สามารถขอคืนเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องของการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ รวมถึงเป็นการเพิ่มความรวดเร็วของกรมสรรพากรในการพิจารณาคืนเงินภาษี ร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญดังนี้

    กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย จากการได้ดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก สามารถยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่หักจากดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการเป็นผู้ทรงพันธบัตรออมทรัพย์ของบุคคลนั้น (สำหรับกรณีที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าว ทั้งจำนวนไว้แล้ว) โดยต้องยื่นคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินที่ได้มีความตกลงกับกรมสรรพากรแล้ว ซึ่งปัจจุบัน มีเพียงธนาคารกรุงไทยแห่งเดียว หรือบุคคลที่จะยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินนั้น ต้องแต่งตั้งสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นตัวแทนในการยื่นคำร้องต่อกรมสรรพากร

    เห็นชอบทุน ป.โท-เอก 50 ทุน ปั้นนักวิจัยเกษตร

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการทุนศึกษาต่อในประเทศของบุคลากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียระยะที่ 5 (ปี 2566–2570) จำนวน 50 ทุน วงเงินงบ 59.05 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณผู้รับทุนต่อเนื่องถึงปี 2574 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร การวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร พัฒนาศักยภาพของบุคลากร และทดแทนอัตรากำลังด้านงานวิจัยที่จะเกษียณอายุราชการภายในปี 2574 จำนวน 840 คน โดยสนับสนุนทุนการศึกษาต่อในประเทศ จำนวน 50 ทุน แบ่งเป็นทุนระดับปริญญาโท 25 คน และระดับปริญญาเอก จำนวน 25 คน ซึ่งจะเปิดรับสมัครปีละ 10 คน ระยะเวลาการศึกษาต่อภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570) ในภาควิชาและสาขา ดังนี้

    1. ภาควิชาเกี่ยวกับวิศวกรรมและเทคโนโลยี School of Engineering and Technology (SET) สาขาวิชา เช่น Computer Science, Information Management, Water Engineering Management
    2. ภาควิชาเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการธุรกิจการเกษตร School of Environment, Resources and Development (SERD) สาขาวิชา เช่น Agri-Business Management, Aquaculture and Aquatic Resources Management, Natural Resources Management
    3. ภาควิชาเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ School of Management (SOM) สาขาวิชา เช่น Finance, Human Resources, International Public Management, Marketing

    “เมื่อผู้ได้รับทุนสำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับมาชดใช้ทุนด้วยการปฏิบัติราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน กรณีที่ไม่กลับมาปฏิบัติราชการเพื่อใช้ทุน ผู้ได้รับทุนจะต้องชดใช้เงินตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จ่ายเป็นทุนการศึกษาไปแล้ว และต้องชดใช้เบี้ยปรับเป็นเงินอีก 1 เท่าของเงินทุนดังกล่าวด้วย”

    ไฟเขียวกรอบเจรจา WTO ยันไทยแบนประมงผิดกฎหมาย

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบกรอบเจรจาของไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ซึ่งจะมีการประชุมผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    โดยสาระสำคัญของกรอบเจรจา ประกอบด้วย 1. ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) 2. ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคประมงได้ต่อไปหรือไม่ 3. ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: SDT) แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย

    โดยฝ่ายไทยจะผลักดันให้การเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง หาข้อสรุปในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 ที่จะจัดประชุมระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งร่างความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง มีสาระสำคัญประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก ดังนี้

    1. ห้ามการอุดหนุนประมงที่ให้แก่เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงหลังจาก ถูกตัดสินว่าทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
    2. ห้ามให้การอุดหนุนประมงในพื้นที่ที่ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอและไม่อยู่ในระดับที่ยั่งยืน (overfished stocks)
    3. ห้ามให้การอุดหนุนประเภทที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ (overcapacity) หรือการทำประมงที่เกินขนาด (overfishing) เช่น การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเครื่องมือทำประมง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จนทำให้สามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่าปกติ
    4. ประเด็นอื่น ๆ เช่น การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (SDT) ไปจากข้อ 1-3 โดยยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงไทย) เช่น ยังคงให้การอุดหนุนแก่ประมงที่มีรายได้ต่ำ ขาดแคลนทรัพยากร ต่อไปได้อีก 2 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

    “การจัดทำความตกลงนี้ สอดคล้องกับการดำเนินการและท่าทีของไทยที่มีการปฏิรูปกฎหมายด้านการประมงตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการผลักดันประเด็นสำคัญของไทยในการเจรจาจัดทำความตกลงฯ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม”

    อนุมัติ กฟผ.ร่วมทุน “อินโนสเปซ” ลุย Start up

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมลงทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด วงเงินลงทุน 100 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2563 มีวงเงินดำเนินการ 100 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 25 ล้านบาท ซึ่งทำการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปในอุตสาหกรรมที่หลากหลายตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเทคโนโลยีด้านพลังงาน ระยะเวลาลงทุน 6 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกให้แก่ กฟผ. บริษัทในเครือ และบริษัทนวัตกรรมของ กฟผ.

    สำหรับบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัดนั้น นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และภาคเอกชนอีก 2 ราย ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 100,000 บาท และต่อมาบริษัท อินโนสเปซ ได้มีหนังสือเชิญชวนให้ กฟผ. เข้าร่วมเป็นพันธมิตรร่วมทุนของบริษัท เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ซึ่ง กฟผ. และพันธมิตรฝ่ายไทยจำนวน 28 ราย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัปแล้วเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมของประเทศและเข้าร่วมทุนในบริษัทอินโนสเปซ

    ทั้งนี้ ณ เดือนเมษายน 2564 บริษัทอินโนสเปซ ได้มีการจดทะเบียนเพิ่มทุน 2 ครั้ง มีผู้ถือหุ้นจำนวน 20 ราย ทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 635.01 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 158.75 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25

    เห็นชอบ กฟน.ตั้งบริษัทลูก บริหารพลังงานไฟฟ้าครบวรจร

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จัดตั้ง บริษัท MEA Smart Energy Solution จำกัด โดย กฟน. เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยใช้เงินลงทุนใน 5 ปีแรก 500 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินลงทุนในปี 2564 เป็นจำนวน 150 ล้านบาท และจ่ายในส่วนที่เหลือในปีต่อๆ ไป

    สำหรับบริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด จะเป็นธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่ลูกค้า ให้บริการใน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก บริการด้านการพัฒนาระบบพลังงานอัจฉริยะแบบครบวงจร ให้บริการตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง ลงทุน ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เช่น การบริการเกี่ยวกับเครือข่ายอัจฉริยะ ระบบการจัดการพลังงานในพื้นที่ มิเตอร์อัจฉริยะ ระบบจัดการการจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ ภาครัฐที่จะดำเนินโครงการขนาดใหญ่และการพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ผนวกรวมโครงการที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุดและโครงการเพื่อการพาณิชยกรรมไว้ด้วยกัน (โครงการ Mixed Use)

    กลุ่มที่2 บริการด้านการบริหารจัดการพลังงานทดแทน ให้บริการเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ให้กับอาคาร สถานที่ของลูกค้า ให้บริการให้เช่าระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสดงอาทิตย์บนหลังคา โดยส่วนนี้มีลูกค้าหลัก คือ โครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่มุ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือเมืองอัจฉริยะ กลุ่มที่มีนโยบายเพื่อสังคม เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา อาคารสำนักงาน นิคมอุตสาหกรรม

    ทั้งนี้ กฟน. ได้ประเมินรายได้ในช่วง 5 ปีแรก จาก 2 ส่วน ประกอบด้วย บริการด้านการพัฒนาระบบพลังงานอัจฉริยะแบบครบวงจร 663 ล้านบาท และบริการด้านการบริหารจัดการพลังงานทดแทน 358 ล้านบาทตามลำดับ

    “ครม. ได้มอบหมายให้บริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ได้บูรณาการการดำเนินงานและประกอบธุรกิจเพื่อลดการซ้ำซ้อนในการดำเนินการ เพื่อการบริหารจัดการพลังงานเป็นเอกภาพ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีธุรกิจของบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าแห่งอื่นดำเนินธุรกิจที่คล้ายกันอยู่ เช่น บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และให้ กฟน. จัดทำรายงานข้อมูลบริษัทในเครือ และจัดส่งข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ภายใน 6 เดือน หลังจากจัดตั้งบริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด และให้กำกับบริษัทลูกให้มีการประกอบกิจการที่ดีทัดเทียมกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และที่รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติด้วย”

    เว้นค่าธรรมเนียมประกอบกิจการสปา-นวด 1 ปี – ดูแลคนชรา 2 ปี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีแก่ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการสปาและกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงามออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 18มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 17 มีนาคม2565

    และกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการแก่การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงแก่ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้

    โดยค่าธรรมเนียมกิจการสปาอยู่ที่ปีละ 1,000 บาท กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเสริมความงามปีละ 500 บาท และกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยมีการพักค้างคืนปีละ 1,000 บาท โดยมีสถานประกอบการประเภทกิจการสปาจำนวน 905 แห่ง กิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงาม จำวน 10,934 แห่ง และกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 138 แห่ง ประมาณการว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,640,000 บาท แต่จะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาและลดภาระและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

    กำหนดราคาค่าทางด่วน “บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว”

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว โดยกำหนดให้เป็นทางหลวงที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวง โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้วนี้ มีรูปแบบเป็นการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ มีจุดเริ่มต้นโครงการในพื้นที่เขตบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร และสิ้นสุดในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร รวมระยะทางประมาณ 26.914 กิโลเมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร

    สำหรับค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์มีดังนี้ รถ 4 ล้อ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 10 บาท และค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง 2 บาทต่อกิโลเมตร รถ 6 ล้อ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 16 บาท ค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง 3.20 บาทต่อกิโลเมตร และรถ 6 ล้อขึ้นไป ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 23 บาท ค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง 4.60 บาทต่อกิโลเมตร โดยถ้าคำนวณแล้วมีเศษของค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทให้ปัดเศษออก แต่เกิน 5 บาทไม่ถึง 10 บาท ให้เรียกเก็บเศษนั้นเพียง 5 บาท

    อนึ่ง ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธาวงเงินค่าก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง และให้พิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

    รับทราบรายงานทางทะเล “พบสัตว์หายาก– ขยะ – สัตว์ทะเลเกยตื้น” เพิ่ม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยปี 2563 โดยพบว่ามีกิจกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้แก่ การใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำทิ้ง น้ำเสีย และขยะจนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น ส่วนกิจกรรมที่มีแนวโน้มลดลงได้แก่ การขนส่งและพาณิชย์นาวี เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล และนาเกลือ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)

    สำหรับสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญมีดังนี้ ปะการัง ประเทศไทยมีแนวปะการังทั้งสิ้น 149,025 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง พบปะการังเกิดการฟอกขาวระดับปานกลางในฝั่งอ่าวไทย ส่วนฝั่งทะเลอันดามันเกิดปะการังฟอกขาวในระดับเล็กน้อย หญ้าทะเลมีเนื้อที่รวม 104,778 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ของเนื้อที่หญ้าทะเลในปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 90,397 ไร่

    ส่วนสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์พบว่า มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น เช่น พบการวางไข่ของเต่าตนุ เตากระ และเต่ามะเฟือง เพิ่มขึ้น โดย พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ถึง 16 รัง พบโลมาและวาฬเพิ่มขึ้นเป็น 3,025 ตัว แต่ก็พบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเครื่องมือประมงและการกินขยะทะเล ซึ่งจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความตระหนักในด้านการจัดการขยะทะเล และการทำประมงอย่างรับผิดชอบ

    ขณะที่ป่าชายเลนมีพื้นที่ประมาณ 1.73 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี2557 จำนวน 200,000 ไร่ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยช่วยในการสำรวจและเป็นผลจากนโยบายการทวงคืนผืนป่าและการฟื้นฟูป่าชายเลน ส่วนดัชนีคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่ร้อยละ 71 อยู่ในเกณฑ์ดี แต่บางพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนมีสภาพเสื่อมโทรม เช่น ปากแม่น้ำระยอง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชายฝั่งทะเลบ้านแหลม จ.เพชรบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนและมีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น

    สำหรับขยะทะเลพบว่า บริเวณปากแม่น้ำในหลายพื้นที่ เช่น บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง พบปริมาณขยะลอยน้ำเพิ่มมากกว่าปี 2562 เนื่องจากโควิด-19 ที่ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้จำกัดการเดินทางและเน้นทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย

    ส่วนการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ในปี 2562 ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร มีชายฝั่งที่ประสบปัญหาการถูกกัดเซาะระยะทาง 794.37 กิโลเมตร สาเหตุจากการทำลายแนวป้องกันตามธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน หาดทราย และแนวปะการัง การก่อสร้างที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัดพาของตะกอนหรือการเคลื่อนที่ของคลื่น

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2564เพิ่มเติม