ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > KKP Research > KKP Research ชี้ฉีดวัคซีนช้า เปิดเมืองช้า เสี่ยงกระทบการผลิต ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

KKP Research ชี้ฉีดวัคซีนช้า เปิดเมืองช้า เสี่ยงกระทบการผลิต ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

29 กรกฎาคม 2021


เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP บรรยายสรุปทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 2564 ในหัวข้อ “โค้งต่อไปของเศรษฐกิจและโควิด-19” ในรูปแบบออนไลน์

แนวโน้มสถานการณ์การระบาด

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ KKP Research ประเมินว่า
1) รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ การระบาดจะแพร่กระจายไปอีกระยะหนึ่ง และต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อยอีก 3 เดือน

2) สัญญานที่มองเห็นว่ารัฐบาลยังคุมสถานการณ์ไม่ได้ คือ การไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริงปัจจุบัน มีการรายงานผู้ติดเชื้อต่อวัน 15,000-16,000 ราย แต่การทดสอบหาเชื้อมีประมาณ 70,000-80,000 รายต่อวัน อัตราการติดเชื้อที่เป็นบวกเกิน 20% ของทั้งประเทศแล้ว ในบางพื้นที่เช่นกรุงเทพมหานครเกิน 25% ไปแล้ว

“องค์การอนามัยโลกบอกว่า ถ้าจะดูสถานการณ์จริงว่าเป็นอย่างไร อัตราการติดเชื้อที่เป็นบวกต้องต่ำกว่า 5% ให้ได้ และหลายฝ่ายมองว่าตัวเลขที่รายงานนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงเท่าตัว”

3) จำนวนผู้ป่วยหนักมีมากเกินกว่าระบบสาธารณสุขรับได้

“ความสามารถในการรับมืองของระบบสาธารณสุขถูกทำลายไปแล้ว เมื่อประเมินโดยไม่รวมเตียงสนาม แต่จากห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ บุคคลการทางแพทย์ที่ไ้ดรับผลกระทบ และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

4) การระบาดรอบนี้เป็นสายพันธ์ุเดลต้า ไม่ใช่สายพันธ์ุอู่ฮั่น ไม่ใช่สายพันธ์ุอังกฤษ สายพันธ์ุเดลต้ามีความสามารถในการแพร่ระบาดได้มากถึง 60% และหลบหลีกวัคซีนได้ค่อนข้างดี ทำให้สถานการณ์ที่เรากำลังเจอถือว่าหนักมาก

ฉีดวัคซีนช้าเสี่ยงมากขึ้น

ประเทศไทยเจอการระบาดมา 3 ระลอกใหญ่ แต่การระบาดรอบแรกและมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดห้ามการเดินทางข้ามจังหวัดมีผู้ป่วยรายวันเพียง 188 ราย มาตรการที่ใช้กินเวลา 6 สัปดาห์เท่านั้นและหลังจากไม่พบการระบาดในประเทศอีกจนมาถึงการระบาดรอบที่สอง

“แต่การระบาดรอบนี้ยาวนานมาราว 4 เดือนแล้วและมาตรการก็เริ่มเข้มข้นขึ้น และเข้มงวดกว่าครั้งที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศถือไม่ได้เข้มข้นที่สุด”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า บล. เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ด้วยการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้าและปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียง ประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ทำให้การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีกสามเดือน

“การที่ประเมินว่าจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์นาน 3 เดือน เนื่องจากประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสมีจำนวนเพียงกว่า 3 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรเท่านั้น อีกทั้งส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า การป้องกันโรคของซิโนแวคจากสายพันธ์ุเดลต้าค่อนข้างต่ำและภูมิคุ้มกันจะลดลงเรื่อยๆ”

การที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันต่ำมาจากปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้ค่อนข้างช้า โดยวัคซีนแอสตราเซเนก้าเดิมคาดหวังว่าจะได้รับเดือนละ 10 ล้านโดสแต่ได้รับเพียง 5 ล้านโดส ประกอบกับระยะเวลาการฉีดเข็มที่หนึ่งกับเข็มที่สองห่างกัน 12 สัปดาห์ ดังนั้นประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนเข็มเดียว ซึ่งจากงานวิจัยเข็มแรกโดยเฉลี่ยแล้วมีประสิทธิผลราว 30% ต้องได้เข็มที่สองภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70% เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธ์ุเดลต้า

“ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่เราทะยอยฉีดเข็มที่สองที่ช้าอยู่แล้ว ทำให้การมีภูมิคุ้มกันด้วยซัคซีนของประชากรจะขึ้นในอัตราที่ช้ามาก สัดส่วนของคนที่ได้รับวัคซีนครบจะไม่เกิน 20% ในไตรมาสที่ 3 ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆขึ้นเมื่อเราได้รับวัคซีนมากขึ้น”

“ในระยะ 3 เดือนข้างหน้าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง แม้การปิดเมือง การเร่งฉีดวัคซีนอาจจะช่วยทำให้การติดเชื้อในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ลดการติดเชื้อใหม่ได้บ้าง แต่สัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และยังเปิดเมืองไม่ได้ และทันทีที่เปิด มีโอกาสสัมผัสกันมากขึ้น การติดเชื้อก็จะกลับมาอีก”

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากปัญหาการฉีดวัคซีนไม่ได้อยู่ที่กำลังหรือความสามารถในการฉีด แต่อยู่ที่ปริมาณและประสิทธิภาพของวัคซีน

แนวทางที่รัฐบาลใช้อยู่ เรียกว่า delay and vaccinate คือ ใช้การปิดเมืองลดการสัมผัส ลดการแพร่กระจายให้ได้มากที่สุด และระหว่างนี้ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด แต่การที่ปริมาณวัคซีนมีไม่มาก และได้มาช้ากว่าที่คาดทำให้ระยะเวลาการสร้างภูมิคุ้มกันและการเปิดเมืองช้าออกไปอีก และส่งผลกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น

GDP อาจติดลบ

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลยังเน้นไปที่การขอความความร่วมมือเป็นหลัก เช่น การทำงานจากที่บ้าน ยังไม่มีข้อจำกัดห้ามออกจากบ้าน ยกเว้นในช่วงกลางคืน ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก

อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นความเสี่ยงการติดเชื้ออาจจะลามไปสู่ภาคการผลิต จากการรายงานพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ในโรงงานอุอุตสาหกรรม โรงงานอาหาร โรงงานรถยนต์ ที่ต้องปิดชั่วคราว

“ดังนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจจะไม่ใช้กิจกรรม ฝั่งดีมานด์ ความต้องการอีกต่อไป แต่มาจากการปริมาณการผลิตที่ส่งผลกระทบจีดีพีโดยตรง และที่น่ากังวลคือหากกระทบต่อซับพลายเชน โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เมื่อไรที่ความมั่นคงด้านอาหารได้รับผลกระทบ ก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย”

สำหรับความเสี่ยงที่สอง คือ หากมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในสถานที่ทำงาน อาจจะมีความจำเป็นที่รัฐอาจจะออกมาตรการเข้มข้นขึ้น ปิดสถานที่ทำงาน ปิดโรงงานอุตสาหกรรม นับเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบเศรษฐกิจและจีดีพีมากกว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน

“ถ้าจะถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องใช้มาตรการเข้มข้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูระบบสาธารณสุขของเราว่ารับไหวหรือไม่”

การคาดการณ์เศรษฐกิจในกรณีฐาน ได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือ 0.5% ส่วนในกรณีที่การระบาดรุนแรงกว่า การล็อคดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์ จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้

เศรษฐกิจในปีนี้มีปัจจัยบวกที่เป็นแรงหนุนคือ การส่งออก ที่ช่วยให้ GDP ไม่ติดลบในปีนี้ แต่เริ่มเห็นความเสี่ยง หากการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและกระทบการส่งออก จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญของประเทศ

“ในกรณีเลวร้ายกว่า จากสมมติฐานที่ว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลจนต้องมีการล็อกดาวน์เข้มข้นมากขึ้น มีการปิดโรงงานอุตสาหกรรม 20% ของกำลังการผลิตในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และล็อกดาวน์นาน 3-4 เดือน มีการใช้เคอร์ฟิว ทำให้ GDP ที่คาดไว้ 0.5% อาจจะติดลบได้”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า การล็อกดาวน์ในรอบนี้ยาวนาน จะะสร้างการหยุดชะงักรุนแรงมากกว่าการล็อกดาวน์สองรอบที่แล้ว มีการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การปิดเมืองมีผลต่อกระแสเงินสด โดยธุรกิจและครัวเรือนหลายแห่งเริ่มมีกระแสเงินสดติดลบ บางแห่งอาจจะอยู่ระหว่างการพิจารณาปิดกิจการ ซึ่งหากปิดกิจการก็จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน ค่าเช่า ห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงต้นทุนทางการเงิน ภาระหนี้ รายได้ของครัวเรือน

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า การปิดเมืองที่จะมีผลกระทบรุนแรง และสถานการณ์ที่จะกินเวลานานกว่าที่คาด รัฐมีบทบาทที่จะช่วยลดความไม่แน่นอน เพิ่มศักยภาพในการรับมือ ทำให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กสามารถวางแผนรับมือได้ดีขึ้น ในแนวทางดังต่อไปนี้

รัฐบาลควรต้อง
(1) มีการวางแผนการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส

“เราไม่เห็นแผนการตอบสนอของรัฐที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ในจุดที่ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหวแล้ว มีความเป็นที่รัฐบาลต้องออกแผนมาสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนว่า ถ้ามาตรการไม่ได้ผล การดำเนินการขั้นต่อไปจะทำอะไร อย่างไร และขึ้นอยู่กับอะไร เช่น ถ้าศักยภาพของระบบสาธารณสุขยังมีปัญหา จะเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้นอย่างไร รวมทั้งการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนธุรกิจ”

(2) การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน

“เรามองว่าต้องเพิ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขอย่างรวดเร็ว และปรับมาตรการต่างๆที่ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้ดีขึ้น ั้งการตรวจโรค การสอบสวนโรค ปัจจุบันมีการใช้การตรวจแบบ rapid test เข้ามาช่วยลดข้อจำกัดการทดสอบแบบในห้องปฏิบัติการ แต่ยังไม่มีระบบส่งผลเข้ามา ที่ทำให้รู้สถานการณ์จริงของผลการตรวจเป็นบวก การไม่รู้สถานการณ์จริงทำให้รับมือได้ลำบา นอกจากนี้ต้องกระจายวัคซีนและจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงให้เร็วที่สุด”

(3) ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ

“ระหว่างที่มีการปิดเมืองมีการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น ก็อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณามาตรการเยียวยา นอกเหนือจากการลดผลกระทบของครัวเรือนและธุรกิจแล้ว เป็นการทำให้มาตรการปิดเมืองทำได้ด้วย ไม่ใช่ปิดอย่างเดียวและเยียวยาไม่เพียงพอ ก็อาจจะไม่ได้ความร่วมมือ มาตรการอาจจะไม่ได้ผล”

(4) เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด

“เราคิดว่าต้องช่วยธุรกิจและครัวเรือนเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้ สภาพคล่อง รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณามากขึ้นในการหาแนวทางเพื่อไม่ให้ธุรกิจปิดตัว เพราะบางธุรกิจหากปิดตัวคนจะออกนอกระบบ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมาแต่ขาดแคลนแรงงาน จะส่งผลให้ระดับเศรษฐกิจหลังวิกฤติมีปัญหา”

(5) รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน

“รัฐต้องดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินด้วย เพราะเมื่อมีการหยุดชะงักของกระแสเงินสด ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ หากลุกลามไปถึงระบบการเงิน ก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น และควบคุมได้ค่อนข้างยาก นอกจากนี้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องประสานงานกันมากขึ้ภายใต้การต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก

ประเด็นความยั่งยืนทางการคลังจะไม่เป็นปัญหามากนัก หากต้องกู้เงินเพิ่ม และรัฐยังมีศักยภาพกู้ได้ แม้ภาระหนี้ของรัฐบาลภายในสิ้นปีงบประมาณนี้จะปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับใกล้ 60% ของ GDP เพราะดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การใช้จ่ายต้องสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน