ThaiPublica > เกาะกระแส > KKP ประเมิน ‘เศรษฐกิจไทย’ ฟื้นช้ากว่าเศรษฐกิจโลก ยังพึ่ง ‘จีน’ และ ‘ท่องเที่ยว’

KKP ประเมิน ‘เศรษฐกิจไทย’ ฟื้นช้ากว่าเศรษฐกิจโลก ยังพึ่ง ‘จีน’ และ ‘ท่องเที่ยว’

1 กุมภาพันธ์ 2022


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร

31 มกราคม 2565 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประเมินเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บล.เกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับร้อยละ 3.9 ภายใต้สมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน

ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึง 3 แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ดังนี้

เปลี่ยนผ่านไวรัสโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น

แนวโน้มแรก สถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจ น่าจะค่อยๆ เปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น สัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรค และผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น

ความเสี่ยงคือ การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจจะทำให้การระบาดใหญ่ยังคงมีอยู่ต่อไป กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

อัตราเงินเฟ้อโลกปรับตัว

แนวโน้มที่สอง คือ สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

“เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รวมถึงประเทศฝั่งยุโรป เริ่มกลับมาดีขึ้น และทำให้เกิดความต้องการซื้อต่างๆ นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ประกอบกับปัจจัยเรื่องอัตราการว่างงาน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน หากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ปรับตัวลดลงตามคาด อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้น มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้

เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิง จีน-ภาคท่องเที่ยว

แนวโน้มสุดท้ายคือ เศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่ทั่วถึง

แต่มีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการควบคุมวิกฤตโควิด อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัวลง

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาสหนึ่ง จากต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพโดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย  ในฝั่งนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายนอกและภายในประเทศ จะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด