-
-ยืนยันฉีดผสม เข็มหนึ่งซิโนแวค เข็มสองแอสตร้าฯ–บูสเตอร์โดสของบุคลากรด่านหน้าเป็นแอสตร้าฯ-ด้าน WHO ชี้ค่อนข้างอันตราย-“หมอยง” เผย ไทยฉีดผสมไปแล้ว 1,200 คน
– “หมอบุญ” ยัน เตรียมเซ็นสัญญานำเข้าไฟเซอร์จากเยอรมัน 20 ล้านโดสผ่านองค์กรรัฐ
– กาชาดเตรียมเจรจา นำเข้าโมเดอร์นาล้านโดสให้ ปชช. ฉีดฟรี
– แอสตร้าฯ 61 ล้านโดสอาจมาครบ พ.ค. หน้า เหตุสัญญาไม่ระบุต้องส่งมอบภายในปีนี้
– อียูปลด “ไทย-รวันดา” พ้นประเทศปลอดภัยจากโควิด
โควิด-19: ปรับสูตรฉีดในประเทศ ซิโนแวค+แอสตร้าฯ-“หมอบุญ” จับมือองค์กรรัฐเตรียมนำเข้าไฟเซอร์ 20 ล้านโดส-ติดเชื้อต่อวันล่าสุดทะลุหมื่น ตายทะลุร้อย
ยืนยันฉีดผสม เข็มหนึ่งซิโนแวค เข็มสองแอสตร้าฯ-บูสเตอร์โดสของบุคลากรด่านหน้าเป็นแอสตร้าฯ -ด้าน WHO ชี้ค่อนข้างอันตราย-“หมอยง” เผย ไทยฉีดผสมไปแล้ว 1,200 คน
ศ. นพ.ยง ภู่วรรณ
ที่มาภาพ: เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์“ผมยกตัวอย่างวัคซีนในเด็ก เกือบทุกชนิดไม่ว่าตั้งแต่ ไข้สมองอักเสบ ป้องกันท้องเสีย เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆ แต่ละบริษัทบอกว่า การใช้จะต้องไม่ข้ามกัน เข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่อมาแม้กระทั่งวัคซีนท้องเสียโรตา หรือแม้กระทั่งวัคซีนคอตีบ ไอ กรน บาดทะยัก เวลาใครไปฉีดในเด็ก เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไร ปีนี้ประมูลได้ยี่ห้ออะไร ปีหน้าประมูลได้ยี่ห้ออะไร ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ มันคงไม่รู้หรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไร”
ศ. นพ.ยง ภู่วรรณ
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวถึงการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564
วันที่ 16 ก.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อ 12 ก.ค. 2564 และมติที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อ 15 ก.ค. 2564 โดยให้ประชาชนรับวัคซีนแบบผสมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา กล่าวคือ จากเดิมที่ให้ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ต่อจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป หากรับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวคไปแล้ว เข็มที่สองจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่หากเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่สองจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าตามเดิม ส่วนบุคลากรด่านหน้าที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็มไปแล้ว เข็มต่อไปที่เป็นการกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ให้ใช้แอสตร้าเซนเนก้า
ด้าน ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) เตือนว่าการนำวัคซีนจากหลายผู้ผลิตมาฉีดผสมกันที่หลายประเทศเริ่มดำเนินการนั้นเป็นแนวโน้มที่อันตราย
“การจับคู่ผสมวัคซีนต่างชนิดเข้าด้วยกัน เป็นกระแสความนิยมที่ค่อนข้างเสี่ยง เรายังอยู่ในขั้นที่ปราศจากข้อมูลหลักฐานใดๆ ที่จะมาสนับสนุนเรื่องนี้” ดร.ซุมยากล่าว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 ก.ค. 2564 ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการฉีดวัคซีนผสมกันดังกล่าว โดยระบุว่าการปรับการฉีด เกิดขึ้นจากการที่ไทยต้องจัดการบริหารวัคซีนเท่าที่มีอยู่ เนื่องจากไทยมีแค่วัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวค) และไวรัสเวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า)
ศ. นพ.ยง กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อนจะเหมือนทำให้ร่างกายติดเชื้อ และหลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ให้ทำการฉีดวัคซีนเวกเตอร์เข้าไปกระตุ้น จะทำให้มีการกระตุ้นภูมิต้านทานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะไม่สูงเท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ในระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ (เดลตา) ได้ แต่การฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สูงใกล้เคียงกับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม จะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าเพียงแค่ 6 สัปดาห์
ศ. นพ.ยง ระบุด้วยว่า จากการศึกษาเบื้องต้นในไทยที่ออกมาแล้ว มีการฉีดวัคซีนสลับแบบนี้ไปมากกว่า 1,200 คน พบว่าไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ในผู้รับวัคซีนสลับสูตรดังกล่าวทุกคน ข้อมูลเหล่านี้ระบุได้ว่า การฉีดสลับชนิดนั้นปลอดภัย ส่วนผลการศึกษาโดยละเอียดจะออกมาภายในสิ้นเดือนนี้
นอกจากนี้ ศ. นพ.ยง ยังยอมรับด้วยว่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ระบาดในไทยตอนนี้คือสายพันธุ์เดลตาแล้ว และมีแนวโน้มจะระบาดทั่วประเทศเป็นส่วนใหญ่แน่นอน และยกตัวอย่างเรื่องการฉีดวัคซีนข้ามบริษัทเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่นๆ ว่า “ผมยกตัวอย่างวัคซีนในเด็ก เกือบทุกชนิดไม่ว่าตั้งแต่ ไข้สมองอักเสบ ป้องกันท้องเสีย เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆ แต่ละบริษัทบอกว่า การใช้จะต้องไม่ข้ามกัน เข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่อมาแม้กระทั่งวัคซีนท้องเสียโรตา หรือแม้กระทั่งวัคซีนคอตีบ ไอ กรน บาดทะยัก เวลาใครไปฉีดในเด็ก เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไร ปีนี้ประมูลได้ยี่ห้ออะไร ปีหน้าประมูลได้ยี่ห้ออะไร ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ มันคงไม่รู้หรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไร”
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย- โควิด-19 : มติ ศบค. ให้ฉีดวัคซีนสูตรผสม ส่วนสภากาชาดไทยแจ้ง อบจ. ส่งจองยอดโมเดอร์นาล้านโดส
เว็บไซต์บีบีซีไทย- วัคซีนโควิด: WHO เตือนฉีดวัคซีนสลับชนิดเสี่ยงอันตราย แต่หมอไทยมั่นใจมาถูกทาง มีการผลศึกษารองรับ
เว็บไซต์ workpointTODAY – ปรับสูตรฉีดวัคซีน ยกเลิกซิโนแวค 2 เข็มให้ฉีดสลับซิโนแวค–แอสตร้าฯ
เว็บไซต์ The MATTER –ไทยได้ปรับสูตรการฉีดวัคซีน COVID-19 สลับชนิด โดยฉีดวัคซีน Sinovac ในเข็มแรก ตามด้วยวัคซีน AstraZeneca ในเข็มที่ 2
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ – สธ.ส่งหนังสือด่วนที่สุด ฉีดวัคซีนโควิด19สลับชนิด-บูสเตอร์โดส
เว็บไซต์บีบีซีไทย – นายกฯ ให้เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดสูตรผสม แต่ รพ. บางแห่งประกาศงดฉีด กันความสับสน
“หมอบุญ” ยัน เตรียมเซ็นสัญญานำเข้าไฟเซอร์จากเยอรมัน 20 ล้านโดสผ่านองค์กรรัฐ
วันที่ 14 ก.ค. 2564 นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจะมีการลงนามสัญญาเพื่อนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส กับบริษัทไบโอเอ็นเทค ที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไฟเซอร์ในเยอรมนี โดยจะมีหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนร่วมลงนามด้วย และวัคซีนจะมาถึงไทยภายในเดือน ก.ค. นี้จำนวน 5 ล้านโดส รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วจะมีราคารวมโดยประมาณที่ 900 บาทต่อโดส
ทั้งนี้ ส่วนหน่วยงานรัฐที่เป็นตัวกลางในการดำเนินการหรือหน่วยงานใดนั้น จะเปิดเผยชื่อให้ทราบในภายหลัง และ นพ.บุญยังยืนยันว่าหน่วยงานรัฐดังกล่าวไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรในการนี้
“ไม่มี เขาช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตอนนี้ต้องร่วมกันช่วยประเทศเป็นหลัก” นพ. บุญกล่าว
ต่อมา วันที่ 15 ก.ค. 2564 ทั้งบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค ผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ ต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการเจรจาซื้อขายวัคซีนกับ “บริษัทที่กล่าวถึง” และระบุว่า “เราอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมควบคุมโรคของไทย”
ทำให้ นพ.บุญต้องออกมาชี้แจงโดยระบุว่า เรื่องนี้นั้นเป็นไปตามที่อธิบายแต่ต้นว่าว่าการตกลงครั้งนี้มีหน่วยงานที่ยังไม่เปิดเผยชื่อจากรัฐบาลเข้าร่วมด้วย จึงเป็นเรื่องปกติที่ทางบริษัทผู้ผลิตจะปฏิเสธว่าไม่เคยเจรจากับเครือธนบุรีฯ เพราะเครือธนบุรีไม่ใช่คู่เจรจาตั้งแต่แรก
“เอกชนติดต่อไม่ได้ เขาก็ต้องปฏิเสธมา เรามีองค์กรรัฐเป็นคนติดต่อโดยตรง เพราะวัคซีนมันต้องจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล) แล้วมีสัญญา non-disclosure เป็นความลับ เปิดเผยก่อนไม่ได้ THG ไปติดต่อเองไม่ได้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เขาก็ให้รัฐบาลติดต่อทั้งนั้น” นพ.บุญกล่าว
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย –วัคซีนโควิด-19 : หมอบุญเตรียมเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เปิดชื่อหน่วยงานรัฐผู้นำเข้าวันนี้
เว็บไซต์บีบีซีไทย- วัคซีนโควิด : ไฟเซอร์-บิออนเทคปัดข่าวเจรจากับหมอบุญ ไทยบริจาคเงินให้โคแวกซ์
เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ – หมอบุญ แจงแล้ว! เคลียร์ชัดๆ ปม ‘บิออนเทค’ ปฏิเสธดีลไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
กาชาดเตรียมเจรจา นำเข้าโมเดอร์นาล้านโดสให้ ปชช. ฉีดฟรี
วันที่ 15 ก.ค. 2564 ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แถลงผลการประชุม กมธ. ว่า เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ระบุว่า สภากาชาดไทยได้เจรจาการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นากับบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยแล้วจำนวน 1 ล้านโดส เพื่อนำเข้ามาฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งขั้นตอนการเจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ขั้นตอนการนำเข้าจะอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ จึงขึ้นอยู่กับองค์การเภสัชกรรมจะนำเข้ามาได้เมื่อไร
ต่อมา วันที่ 16 ก.ค. 2564 สภากาชาดไทยส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง ขอความร่วมในการแจ้งจองวัคซีนสำหรับฉีดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มอื่นๆ โดยสาระสำคัญของหนังสือดังกล่าวคือ
- สภากาชาดไทยได้สั่งจองวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” จำนวนหนึ่งจากผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- มีโควตาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องฉีดฟรี
- อบจ. ที่แจ้งความประสงค์จะรับวัคซีนต้องได้รับความเห็นชอบจากทางผู้ว่าราชการจังหวัด และจะต้องชำระค่าวัคซีนในราคา 1,300 บาทต่อโดส
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์มติชนออนไลน์ –สภากาชาด เจรจา ‘โมเดอร์นา’ ซื้อวัคซีน 1 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนฟรี
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ – สภากาชาดแจ้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด ส่งยอดจองวัคซีนโมเดอร์นา ย้ำต้องฉีดฟรี
แอสตร้าฯ 61 ล้านโดสอาจมาครบ พ.ค. หน้า เหตุสัญญาไม่ระบุต้องส่งมอบภายในปีนี้
วันที่ 15 ก.ค. 2564 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงเรื่องการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า มีตัวเลขที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับเรื่องการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส คือ ในปี 2564 แอสต้ราเซนเนก้ามีกำหนดส่งให้เราภายในเดือน ธ.ค. นี้ แต่ขณะนี้มีการขยายไป เดือน พ.ค.ปีหน้า ซึ่งหากว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนสามารถผลิตได้จำนวนมากก็อาจจะจัดส่งได้เร็วขึ้นก่อน พ.ค. ปีหน้า
สาธิตยอมรับว่า ในสัญญาซื้อขายไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลาไว้ว่าจะจัดส่งเมื่อไหร่ มีเพียงการระบุจำนวนวัคซีนเท่านั้น ส่วนเรื่องเงื่อนเวลาเป็นเพียงการเจรจาเสนอแผนและพูดคุยกัน
อ่านเพิ่มเติม
เฟซบุ๊กแฟนเพจ WorkpointTODAY – แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสอาจขยายการส่งมอบให้ไทยจนครบ คือ เดือน พ.ค. ปีหน้า รมช.สาธารณสุข ยอมรับ ในสัญญาจัดซื้อไม่ได้ระบุว่าต้องส่งมอบภายในปีนี้
อียูปลด “ไทย-รวันดา” พ้นประเทศปลอดภัยจากโควิด
วันที่ 16 ก.ค. 2564 คณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทั้ง 27 ประเทศ ออกแถลงการณ์ถอดรายชื่อประเทศไทยและรวันดาออกจากรายชื่อประเทศปลอดภัย ที่ชาติสมาชิกสามารถพิจารณาให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็มีมติเพิ่มยูเครนเข้าไว้ในรายชื่อกลุ่มประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ ทางอียูเพิ่งจัดให่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศปลอดภัยเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
อนึ่ง การเป็นประเทศกลุ่มปลอดภัยหรือไม่จะพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต้องน้อยกว่า 75 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 ราย ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา, ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน, อัตราการตรวจหาเชื้อเชิงรุก และความน่าเชื่อถือของข้อมูลประเทศนั้นๆ ตามดุลยพินิจของอียู
อ่านเพิ่มเติม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไทยหลุด EU White List “กลุ่มประเทศปลอดภัย” เหตุผู้ติดเชื้อเกินมาตรฐาน