โควิด-19 รอบสัปดาห์: ติดเชื้อต่อวันใกล้หมื่น ล็อกดาวน์ 6 จว.12 ก.ค.

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ไทยรู้สู้โควิด
สถานการณ์รุนแรงขึ้นผู้ติดเชื้อเข้าใกล้หลักหมื่นต่อวัน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-9 ก.ค. 2564) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ไต่ระดับอย่างต่อเนื่องจากวันละ 5 พันกว่ารายมาตั้งแต่กลางอาทิตย์ จนในที่สุด วันที่ 9 ก.ค. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็มาถึง 9,276 ราย และวันที่ 10 ก.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,326 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นก็ขยับใกล้วันละเกือบ 100 ราย ทว่าจำนวนผู้ป่วยที่รักษาจนหายกลับยังวนเวียนอยู่ที่ 3-4 พันกว่าราย เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
มาตรการที่ไม่ได้ผล
ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศยืนยันไม่ล็อกดาวน์ แต่ต่อมาในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. 2564 ก็กลับมีประกาศข้อกำหนดเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่นอกจากจะมีข้อกำหนดเรื่องการปิดแคมป์ก่อสร้างดังที่นายกฯ กล่าวไปก่อนหน้า ยังมาพร้อมกับคำสั่งที่ให้ร้านอาหารต่างๆ งดการรับประทานในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว โดยเริ่มมีผลในวันที่ 28 มิ.ย. 2564
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th“คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าควบคุมกิจการ พื้นที่ คลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ… เป็นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่เป็นกลุ่ม ถ้าพูดว่าล็อกดาวน์มันน่าตกใจไปหมด พูดว่าล็อกดาวน์คือทุกคนอยู่บ้าน มันก็มีปัญหาอีก”
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
กล่าวในการแถลงมาตรการต่างๆ และยืนยันไม่ล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564
แต่แล้ว ตัวเลขข้างต้นคงพอจะทำให้เห็นกันว่า มาตรการที่มาพร้อมอาการ “ศุกร์บอกไม่ล็อก–อาทิตย์ล็อกไม่บอก” ของนายกรัฐมนตรี ไม่อาจบรรลุประสิทธิภาพในการยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ผิดจากเคยคาด ไม่ใช่อีก 3-4 เดือน “หมอยง” เผย เดลตาใน กทม. 70 %แล้ว

ที่มาภาพ: เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
กระแสการล็อกดาวน์คุกรุ่นขึ้นพร้อมการมาถึงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (delta variant) ที่เดิมที ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยระบุไว้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดภายใน 3-4 เดือน แต่ล่าสุด ศ. นพ.ยง ระบุอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. 2564 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของ กทม. นั้น เมื่อศึกษากลุ่มตัวอย่าง 700 ตัวอย่างแล้ว “พบว่าอัตราส่วนในการพบสายพันธุ์เดลตาสูงขึ้นเร็วมาก จนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลตา”
นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มกังวลต่อการอุบัติขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา (lambda variant) ด้วย โดยพบผู้ป่วยด้วยสายพันธุ์นี้ในสหราชอาณาจักรแล้ว 8 ราย แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีความอันตายกว่าสายพันธุ์เดลตาที่มีลักษณะหลักคือ “แพร่กระจายเร็ว ติดเชื้อง่าย หนีภูมิคุ้มกัน” ก็ตาม
ศบค. ชี้ เดลตาระบาดเร็ว สัปดาห์หน้าอาจติดเชื้อถึงวันละหมื่น
วันที่ 7 ก.ค. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้แสดงความกังวลถึงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาระหว่างการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน โดยระบุว่า ทางด้านแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเป็นห่วงเรื่องของการแพร่ระบาด มีการประเมินคร่าวๆ ว่า เริ่มพบสายพันธุ์เดลตาประมาณช่วงเดือนมิถุนายน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริการายงานว่าสายพันธุ์นี้มีความสามารถแพร่กระจายเร็ว คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์ ตอนนี้เราจะเห็นตัวเลข 1,000 ขึ้นเป็น 2,000 เป็น 4,000 ถ้าสมมติเราคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้าอาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 รายต่อวัน
เดือดความเห็นประชุมค้านฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ — สธ. บอกเอกสารจริง กรมควบคุมโรคบอกเอกสารปลอม

วันที่ 4 ก.ค. 2564 โลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่เอกสารผลการประชุมเฉพาะกิจร่วม ระหว่าง คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อ 30 มิ.ย 2564 ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
หนึ่งในความเห็นที่ถูกบันทึกไว้ในผลการประชุม และก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักก็คือ ความเห็นที่มีต่อการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งระบุว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอา[วัคซีนไฟเซอร์]มาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนากยกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็น “ของจริง” แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารภายในจากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เราไม่ควรที่จะไปพิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติ ก็ยังไม่มีผลอะไร
นอกจากนี้ ในส่วนของความคิดเห็นเรื่องคัดค้านการฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ นายอนุทินกล่าวว่า ตรงนั้นต้องสอบถามไปยังอาจารย์เหล่านั้น (ผู้ออกความเห็นดังกล่าว) แต่ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์กันไปโดยที่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติหรือผลบังคับใช้
ขณะเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของปลอม
ครม. เคาะซื้อ ไฟเซอร์ป็นวัคซีนหลักฉีดฟรี โมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือก และซื้อซิโนแวคเพิ่ม
วันที่ 6 ก.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาเป็นวัคซีนหลักในการฉีดฟรีให้ประชาชนจำนวน 20 ล้านโดส รวมทั้งเห็นชอบให้จัดหาวัคซีนโมเดอร์นามาเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนสามารถซื้อจากภาคเอกชนได้ โดยจะให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางในการจัดหา จำนวนประมาณ 5-9 ล้านโดส และนำเข้าภายในไตรมาส 4
นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบให้ซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,111 ล้านบาท ตามข้อเสนอของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ด้วย
ล็อกดาวน์อีกครั้งตามข้อเสนอ สธ.–ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน
วันที่ 8 ก.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวด่วนสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ กทม. เห็นตรงกันที่ สธ. จะเสนอ ศบค. ในการยกระดับมาตรการทางสังคม
และในที่สุด วันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่ประชุม ศบค. ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ก็ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด รวมทั้งยกระดับมาตรการควบคุมโรครวม 10 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 โดยให้มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 และยังมีมติเห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 2 เดือน คือถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564
โดยสรุปมาตรการต่างๆ ได้ดังนี้
มาตรการ 1: จำกัดการเคลื่อนย้ายและดำเนินกิจกรรมของบุคคล
มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ)
- ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการ 21.00-03.00 น.
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามกินอาหารหรือดื่มสุราในร้าน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ปิดสถานที่เสี่ยงติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
- สวนสาธารณะเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ทั้งรัฐและเอกชนทำงานที่บ้านมากที่สุด
- ห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไปหากการรวมกลุ่มนั้นไม่ใช่เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบอาชีพ กิจกรรมศาสนาหรือประเพณี
มาตรการ 2: ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น
มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ) และ 4 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส)
- ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 21.00 น. – 04.00 น. ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น เจ็บป่วย การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณูปโภค
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ให้มีผลตั้งแต่ 10 ก.ค. 2564
- สถานศึกษาให้จัดการเรียนออนไลน์เท่านั้น
มาตรการ 3: ด้านการแพทย์
มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ)
- เร่งรัดการให้บริการตรวจหาเชื้อ ด้วยการเพิ่มจุดตรวจ เพื่อแยกคนป่วยออกจากชุมชน
- สธ. ปรับแผนการกระจายวัคซีน โดยจะเร่งฉีดผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ 1 ล้านโดส ภายใน 2 สัปดาห์
- จัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ ทั้งไฟเซอร์และแอสตราเซนเนก้าให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ชาวต่างชาติที่อายุเกิน 60 ปีและมีโรคประจำตัว และผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต
- ให้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เป็น booster dose ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด
- เพิ่มขีดความสามารถการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยการจัดตั้ง รพ.สนาม ไอซียูสนาม การแยกกักในชุมชน (community isolation) และการแยกกักที่บ้าน (home isolation) รวมถึงการให้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงที่อยู่ระหว่างแยกกัก
นายกฯ–รมต. บางส่วน ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
ท่ามกลางที่ประชุม ศคบ. วันที่ 9 ก.ค. 2563 นายกฯ ได้ประกาศว่าตนจะไม่รับเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้นำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ 75,590 บาท และอัตราเงินประจำตำแหน่ง 50,000 รวมทั้งสิ้น 125,590 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากนำจำนวนเงิน 125,590 บาท มารวมกัน 3 เดือน ก็จะรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 376,770 บาท (อนึ่ง แม้จะนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วย แต่นายกฯ ไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งดังกล่าว)
อนึ่ง นอกจากนายกฯ แล้ว ก็ยังมีรัฐมนตรีบางส่วนแสดงเจตจำนงแบบเดียวกันด้วย คือ
- พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
- อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
- สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
- อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
- ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย — ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 12 ก.ค. นายกฯ ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
เฟซบุ๊กแฟนเพจ WorkpointTODAY — ศบค. ชี้สายพันธุ์เดลตาระบาดเร็ว คาดสัปดาห์หน้ายอดผู้ติดเชื้อในไทยอาจถึง 10,000 รายต่อวัน เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง
เว็บไซต์ KAPOOK — สรุปดราม่าหลุดเอกสาร ค้านฉีดไฟเซอร์หมอด่านหน้า หวั่นทำอีกยี่ห้อดูแย่ – อนุทินตอบแล้ว
เว็บไซต์ workpointTODAY — ‘อนุทิน’ รับ เอกสารหลุดจริง ไม่ฉีดไฟเซอร์ให้แพทย์เปป็นเข็ม 3 ยังไม่ใช่มติ
เว็บไซต์คมชัดลึก — “อธิบดีกรมควบคุมโรค” แจงปม “เอกสารหลุด” ของปลอม ไม่ชัด “ไฟเซอร์” 1.5 ล้านโดส ให้ใคร
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ครม.เห็นชอบจัดหาไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เป็นวัคซีนหลักฉีดให้คนไทยฟรี
เฟซบุ๊กแฟนเพจกรุงเทพธุรกิจ — สธ. ชง ศบค. “ล็อกดาวน์” 14 วัน คุม “โควิด-19” มาตรการเท่า เม.ย. 63
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ — ประยุทธ์-คณะรัฐมนตรี ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
เว็บไซต์ SANOOK — นักข่าวดังเผย “ประยุทธ์” รับเงินเดือนนายกฯ ตำแหน่งเดียว ชาวเน็ตขุดเจอควบ 57 ตำแหน่ง
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — จับตาโควิดสายพันธุ์เดลตา พบมากในแรงงาน คาด 3-4 เดือนระบาดหนักในไทย
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “หมอยง” เผยตรวจพบโควิดสายพันธุ์เดลตาในผู้ป่วย กทม. สูงถึง 70%
เว็บไซต์ PPTVHD36 — รวมข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” จริงหรือ?
เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19