ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > GCNT ชูโปรแกรม Climate Ambition Accelerator มิติใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจัง

GCNT ชูโปรแกรม Climate Ambition Accelerator มิติใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจัง

7 กรกฎาคม 2021


GCNT ชูโปรแกรม Climate Ambition Accelerator ดึงความรู้ UN ชวนเอกชนไทยสร้างมิติใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจัง ร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืน

กรกฎาคม 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) จัดโปรแกรม Climate Ambition Accelerator ดึงความรู้จาก UN Global Compact เครือข่ายความยั่งยืน ชวนภาคเอกชนไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์” ที่มีนัยสำคัญและวัดผลได้ หวังสร้างมิติใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจัง (New Era of Action) ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs)

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า UN Global Compact เครือข่ายความยั่งยืน กำลังรวมพลังภาคเอกชนทั่วโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส และรักษาโลกไม่ให้อยู่ในจุดที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้แล้ว (Point of No Return)

โดยให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อยู่บนพื้นฐานวิทยา ศาสตร์ (Science-based) และวัดผลได้ ซึ่ง UN Global Compact มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าบริษัทที่ตั้งเป้าหมายอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และมีแผนปฎิบัติงานอย่างชัดเจน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปี 2015-2019 ที่ผ่านมา มีบริษัท 338 แห่งที่ตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 25% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2050 ยังต้องการพลังขององค์กรธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากที่จะร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จึงได้นำโปรแกรม Climate Ambition Accelerator ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Business Ambition 1.5°C ของ UN Global Compact ที่มีบริษัททั่วโลกกว่า 500 องค์กรเข้าร่วม มาเชิญชวนให้องค์กรธุรกิจไทยได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้

โดย Climate Ambition Accelerator เป็นโปรแกรมการเรียนรู้ 6 เดือน ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายกับบริษัทและ SMEs ในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 25 ประเทศทั่วโลก ในการรวมพลังรับมือมหันตภัยโลกร้อน ด้วยการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ที่มีนัยยะสำคัญและวัดผลได้ บริษัทที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้จะได้รับความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative) และแนวคิด net-zero รวมถึงวิธีการ ข้อกำหนด กระบวนการ ผลประโยชน์ และการนำไปใช้ ตลอดจนการกระตุ้นนักลงทุน ผู้นำ พนักงาน และผู้ถือหุ้น ด้วยแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะทำให้องค์กรโดดเด่นแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ รวมทั้งมีโอกาสเรียนรู้แบบ peer-to-peer และเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการสร้างเครือข่ายความยั่งยืนในระดับสากลต่อไป

“สมาคมฯ ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UN Agencies) ทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อแนะนำการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ โดยนำองค์ความรู้จากที่ปรึกษาระดับโลกมาเผยแพร่ให้กับองค์กรธุรกิจและบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทย เราเชื่อว่าโปรแกรม Climate Ambition Accelerator จะเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ช่วยตอบโจทย์การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจไทย พร้อมร่วมสร้างมิติใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจังในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเด็นความยั่งยืนเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้สำคัญ” ธันยพรกล่าว

ทั้งนี้ มีภาคเอกชนไทยชั้นนำตอบรับเข้าร่วมโปรแกรม Climate Ambition Accelerator แล้วเป็นจำนวนมาก อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโปรแกรม Climate Ambition Accelerator สามารถ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.globalcompact-th.com รับสมัครถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิก 69 องค์กร โดยโกลบอลคอมแพ็ก ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)