ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ชี้พักหนี้ 2 เดือน เป็นมาตรการเฉพาะหน้า – ระยะยาวแนะ “ปรับโครงสร้างหนี้-เร่งฉีดวัคซีน-เพิ่มรายได้ลูกหนี้”

ธปท.ชี้พักหนี้ 2 เดือน เป็นมาตรการเฉพาะหน้า – ระยะยาวแนะ “ปรับโครงสร้างหนี้-เร่งฉีดวัคซีน-เพิ่มรายได้ลูกหนี้”

16 กรกฎาคม 2021


ธปท.แจงพักหนี้ 2 เดือน เริ่ม 19 ก.ค.นี้ ชี้เป็นแค่มาตรการเฉพาะหน้า ระยะยาวแนะ “ปรับโครงสร้างหนี้-เร่งฉีดวัคซีน-เพิ่มรายได้ลูกหนี้” แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เผย 3 เดือน แบงก์ปล่อยซอฟท์โลนช่วย SMEs แล้ว 23,687 ราย วงเงิน 72,391 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวา 10.00 น. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายละเอียดของมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการตามนโยบายของรัฐบาล ผ่าน MS Teams

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมนอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นเวลา 2 เดือน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเร่งด่วน โดยลูกหนี้กลุ่มนี้หมายถึงลูกจ้างและผู้ประกอบกิจการทั้งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ 10 จังหวัด ที่ถูกสั่งปิดกิจการ หรือ ถูกเลิกจ้าง (ตกงาน) จะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เป็นเวลา 2 เดือน และหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว ธปท.ได้ขอความร่วมมือไม่ให้สถาบันการเงินเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยกับลูกค้าในทันที เพื่อไม่ให้ลูกหนี้มีภาระหนี้มากจนเกินไปในช่วงนี้ โดยให้สถาบันการเงินไปเรียกเก็บหนี้ส่วนนี้ได้ในช่วงท้ายของสัญญาเงินกู้ หรือ ยกยอดหนี้นำมาเฉลี่ยหรือกระจายอยู่ในยอดผ่อนชำระหนี้ในแต่ละงวด

สำหรับลูกหนี้ (นายจ้างและลูกจ้าง) ที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ , แอปพลิเคชัน , Call Center และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213 ได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2564

  • ธปท. จับมือส.ธนาคารไทย-ส.ธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน
  • นายรณดล กล่าวต่อว่า ลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายได้รับการพักหนี้ 2 เดือนนั้น จะต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าตนเองได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของทางการตามที่กล่าวข้างต้น กล่าวคือ เป็นลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้าง หรือ ลูกจ้างซึ่งมีสถานประกอบการอยู่ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด และถูกสั่งปิดกิจการ หรือ ตกงาน ถึงจะได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ลูกหนี้ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลง ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ ธปท.ให้สถาบันการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มตามความจำเป็น และสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้เป็นรายกรณีไป

    “การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะสั้น โดยเลื่อนการชำระหนี้ออกไป หากลูกหนี้รายไหน ยังมีศักยภาพที่จะชำระหนี้ได้ ก็ควรชำระหนี้ต่อเนื่องต่อไป เพื่อจะได้ไม่มีภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น รวมทั้งลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ธปท.อยากเห็นการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างตรงจุด และยั่งยืนกว่า นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งหามาตรการเพิ่มรายได้ให้ลูกหนี้ และเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น” นายรณดล กล่าว

    ด้านนางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวเสริมว่า มาตรการพักหนี้ครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการระยะยาว การช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาว ซึ่ง ธปท.ยังคงเน้นย้ำในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ แต่ปัญหาสำคัญของลูกหนี้ในขณะนี้ คือ ลูกหนี้มีปัญหาในเรื่องการหารายได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่ไปกับมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล ดังนั้น ลูกหนี้ที่อยู่ในระหว่างการเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ขอให้เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป

    “อย่างไรด็ดีในสถานการณ์โควิดฯ ก็มีบางธุรกิจฟื้นตัว อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ธุรกืจการแพทย์ ดังนั้น กลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ก็ขอให้ชำระหนี้ต่อไป เพราะมาตรการนี้เป็นเพียงการเลื่อนการชำระหนี้ออกไปเท่านั้น สถาบันการเงินยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่ แต่ยังไม่ต้องมาชำระหนี้ในช่วง 2 เดือนนี้เท่านั้นการปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลให้ลูกหนี้มีรายได้และมีสภาพคล่องเพียงพอ ตรงนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน”

    ถามว่าการพักชำระหนี้ 2 เดือน ลูกหนี้จะถูกรายงานสถานะในเครดิตบูโรว่าเป็นหนี้ค้างชำระหรือไม่ น.ส.สุวรรณี ตอบว่า “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. ที่ผ่านมา ธปท.ถือว่าไม่ใช่เป็นการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นสถานะของลูกหนี้ในเครดิตบูโรจะไม่มีการรายงานว่าเป็นหนี้ค้างชำระ อีกทั้งในฝั่งของสถาบันการเงินก็ไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าปรับ หรือ ดอกเบี้ยผิดนัดกับลูกค้าได้ เพราะลูกค้าที่เข้าโครงการนี้ ยังถือเป็นลูกหนี้ที่ดีอยู่”

    ถามว่าลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า มาตรการนี้ ธปท.แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการควบคุมของรัฐบาล ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด และกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัดด้วย ซึ่งในบางธุรกิจที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยงในต่างจังหวัด ก็ถูกสั่งปิดกิจการรวมอยู่ด้วย เช่น กิจการสปา หรือ ร้านค้ารายย่อยที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของทางการ ขาดรายได้ทันทีที่มีคำสั่งปิดกิจการ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และขอให้ลดขั้นตอนการพิจารณาด้านเอกสาร

    กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่ 10 จังหวัด แต่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่มีธุรกิจบางประเภท ถูกสั่งปิดกิจการไป ทำให้ยอดขายลดลง เช่น ร้านอาหารที่ไม่สามารถนั่งในร้านได้ ต้องเปลี่ยนไปส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ แม้จะไม่ถูกสั่งปิดกิจการ แต่ยอดขายลดลง จำเป็นต้องไปลดเงินเดือนพนักงาน กลุ่มนี้ก็อยู่ในข่ายที่จะเข้ามาขอรับความช่วยเหลือจากโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือนได้เช่นกัน

    ส่วนความคืบหน้าในการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจสำหรับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ วงเงิน 250,000 ล้านบาท นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า “ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทางสถาบันการเงินได้อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 23,687 ราย คิดเป็นวงเงิน 72,391 ล้านบาท เฉลี่ยได้รับสินเชื่อ โดยเฉลี่ยได้รับวงเงินสินเชื่อ 3.1 ล้านบาทต่อราย หากพิจารณาที่การกระจายเม็ดเงินสินเชื่อพบว่า 44.5% ของจำนวนลูกหนี้ 23,687 ราย เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในกลุ่ม Micro SMEs หรือ SMEs ขนาดเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับสถาบันการเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และถ้าพิจารณาในด้านที่ตั้งของสถานประกอบการพบว่า 68.5%เป็นลูกหนี้อยู่ในต่างจังหวัด หากจำแนกตามประเภทธุรกิจ พบ 67.6% เป็นธุรกิจพาณิชย์ ประเภทค้าส่ง-ค้าปลีก และบริการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯรอบนี้”