ASEAN Roundup ประจำวันที่ 27 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2564
เวียดนามคงเป้าเศรษฐกิจปี’64 โต 6-6.5%

เวียดนามยังเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้ไว้ที่ 6-6.5% นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ยืนยันในการประชุมรัฐบาลรอบปกติที่จัดขึ้นที่กรุงฮานอยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม
ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้และหารือเกี่ยวกับภาระงานต่างๆ ในช่วงที่เหลือของปี พร้อมทบทวนกฎระเบียบทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อปรับเปลี่ยนในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ในการประชุมได้มีการนำเสนอรายงานว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงมีเสถียรภาพและมีผลในเชิงบวก จากการดำเนินการตาม “สองเป้าหมาย”
การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 5.64% สูงกว่า 1.82% ในช่วงระยะเดียวกันของปีที่แล้วอย่างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.47% เมื่อเทียบเป็นรายปี รายได้นำเข้า-ส่งออกรวมแตะ 316 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม รายงานคาดการณ์ว่าเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดใหญ่ยังต่อเนื่องและยุ่งยากมากขึ้น
รัฐบาลมองว่าการระบาดของโควิด -19 อาจยังคงยืดเยื้อและส่งผลเสียต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยการขนส่งและการท่องเที่ยวหยุดชะงัก และกระทบต่อสวัสดิการสังคม จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการผนึกกำลังและรัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนต้องร่วมกันในการนำ “แนวนโยบายสองเป้าหมาย” ไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการสรุปการประชุมนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์กล่าวว่า การระบาดของโควิด -19 ยังสามารถควบคุมได้และการใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินงานของธุรกิจจะค่อยๆกลับสู่สภาวะปกติ โดยเห็นสัญญาณที่ดีในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ซึ่งได้รับการประเมินในเชิงบวกจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเสริมว่าเศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพและดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี และประชาชนยังมีความเป็นอยู่ที่ดี สถานการณ์ด้านการป้องกันและความมั่นคงได้รับการปกป้องอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก โดยเฉพาะการทูตด้านวัคซีนได้ถูกนำมาใช้อย่างแข็งขัน
นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาและจุดอ่อนตลอดจนปัจจัย โดยมองว่าในระยะต่อไป เวียดนามจะประสบทั้งข้อได้เปรียบ และความท้าทายด้วยความยากลำบากมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เน้นถึงความจำเป็นในการดำเนินการตามนโยบายการเงินการคลังให้สอดคล้องกันและเหมาะสม รวมทั้งด้านอื่น ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสำเร็จของกลยุทธ์การฉีดวัคซีน พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพจาก ข้อตกลงการค้าเสรี การกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ การพัฒนาอีคอมเมิร์ซ และความมั่นคงด้านพลังงาน
ผู้นำรัฐบาลขอให้กระทรวงและภาคส่วนต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกัน ความมั่นคง และส่งเสริมการทูตด้านวัคซีน
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ประชาชน วิสาหกิจ และภาคเศรษฐกิจ ติดตามและสนับสนุนพรรค รัฐ และรัฐบาลในการเอาชนะความยากลำบากและความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามเป้าหมายสองประการ ทั้งในการควบคุมโควิด -19 และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังคงเติบโตในเชิงบวกแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การเติบโตในช่วง 6เดือนแรกอยู่ที่ 5.64% เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
รายรับของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 15.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 28.4% สู่ระดับ 157.6 พันล้านดอลลาร์
อินโดนีเซียตั้งเป้าผู้นำผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มแปรรูประดับโลก

อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขั้นปลายของโลกภายในปี 2045 จากการประกาศของกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจ
รองรัฐมนตรีประสานงานกระทรวงธุรกิจอาหารและการเกษตร นายมุสดาลิฟะห์ มาช์มูด กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพยายามเปลี่ยนสถานะของอินโดนีเซียจากการเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้เป็น ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปลายน้ำภายในปี 2045 โดยรัฐบาลได้เร่งการผลักดันด้วยการออกนโยบายมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“หนึ่งในนั้นได้แก่ สิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแบบบูรณาการที่มีท่าเรือสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มขั้นปลาย ภาษีส่งออกและการจัดเก็บ ตลอดจนโครงการบังคับให้ใช้ไบโอดีเซลเพื่อทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงดีเซล” นายมุสดาลิฟะห์กล่าว
การส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มปรับตัวดีขึ้น ตรงกันข้ามกับเมื่อ 15 ปีก่อนที่น้ำมันปาล์มดิบมีสัดส่วน 60-70% ของการส่งออก
“การส่งออกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำขณะนี้อยู่ที่ 60-70% ขณะที่ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำคิดเป็น 30-40%”
อินโดนีเซียกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำสามด้านที่ใช้ชื่อว่า Complexes ซึ่งในส่วนแรก คือ อุตสาหกรรมโอลิโออาหาร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันปาล์มปรุงอาหารและวิตามินเอ ส่วนที่สองอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีที่มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผงซักฟอก สารหล่อลื่นชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ ส่วนที่สามคือ เชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งรวมถึงไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ และไบโอพรีเมียม ซึ่งเป็นสารที่ใช้ผสมกับไบโอดีเซลและน้ำมันเบนซิน
ในปี 2020 อินโดนีเซียมีผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ 170 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารและสารเคมี นับเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากผลิตภัณฑ์ปลายน้ำเพียง 70 รายการในปี 2011
สมาคมโรงกลั่นน้ำมันพืชแห่งชาวอินโดนีเซีย (Gimni) มองว่า ภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มมีประโยชน์สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ
นายเบอร์นาร์ด ริเอโด ประธาน Gimni กล่าวว่า “แผนภาษีน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและภาษีที่ต่ำลงสำหรับผลิตภัณฑ์ปลายน้ำสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกปลายน้ำของอินโดนีเซียในตลาดโลก ทั้งอุตสาหกรรมโอลิโออาหาร และอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี”
“นอกจากนี้ยังช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลิตภัณฑ์ปาล์มสำหรับอาหารในตลาดภายในประเทศอีกด้วย”
นายเบอร์นาร์ดกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมปลายน้ำจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการจ้างงาน ภาษี และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากขึ้น
สมาคมเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันของชาวอินโดนีเซีย (Apkasindo) ระบุว่า เกษตรกรใน 22 จังหวัดที่ปลูกปาล์มได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นของผลปาล์มสด เนื่องจากภาษีส่งออก ประธาน Apkasindo กล่าวว่าผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ กำลังพิจารณาที่จะหันไปเน้นการผลิตแบบปลายน้ำในประเทศเนื่องจากการจัดเก็บภาษีส่งออกที่ลดลง จะช่วยให้ภาคปลายน้ำเติบโตและกระตุ้นการจ้างงานในที่สุด
ภายใต้ระเบียบกระทรวงการคลังปี 2020 ภาษีส่งออกแบบก้าวหน้าของน้ำมันปาล์มดิบอยู่ในช่วงตั้งแต่ 55 ดอลลาร์ต่อตันถึง 255 ดอลลาร์ต่อตัน ขึ้นอยู่กับราคาอ้างอิง
อินโดนีเซีย-จีนจับมือลดใช้เงินดอลลาร์

อินโดนีเซียและจีนใกล้ที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากวางแผนที่จะเริ่มใช้สกุลเงินของตนเองเพื่อการค้าและการลงทุนแบบทวิภาคีภายในไม่กี่สัปดาห์
การเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Settlement:LCS) คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่สามของปีนี้
นายดอนนี่ ฮุตาบารัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาตลาดการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซีย( Bank Indonesia :BI) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียในการกระจายสกุลเงินที่ใช้ในการค้าและการลงทุนกับคู่ค้าทวิภาคี ปัจจุบัน อินโดนีเซียได้มีข้อตกลง LCS กับมาเลเซีย ไทย และญี่ปุ่นแล้ว
“ดังนั้น เราจะไม่พึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แบบ 100% อีกต่อไป” ดอนนี่ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการบรรยายสรุปทางสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน LCS กับจีน จะเริ่มใช้ประมาณเดือนกรกฎาคมหรือหลังจากนั้นในไตรมาสที่สาม”
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย โดยจีนมีสัดส่วนมากกว่า 32% ของการนำเข้าของอินโดนีเซียและมากกว่า 22% ของการส่งออก
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และธนาคารกลางจีน (PBoC) เริ่มหารือเกี่ยวกับแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 กันยายน เมื่อนายเพอร์รี่ วาร์จิโย ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และ นายอี้ กัง ผู้ว่าการ ธนาคารกลางจีนได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวLCS สำหรับการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคี
เงินดอลลาร์สหรัฐถูกใช้เป็นสื่อหลักในการค้าระหว่างประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งระบบ Bretton Woods ในปี 1944 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการค้าต่างประเทศและป้องกันการลดค่าเงินเพื่อการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้เริ่มใช้สกุลเงินของตนเองมากขึ้นแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยแนวโน้มนี้รับรู้กันมากขึ้นว่า เป็นการที่ลดการพึ่งพอเงินดอลลาร์
จีน รัสเซีย และสหภาพยุโรป เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีผลให้ประเทศต่างๆ ค่อยๆ ลดการใช้สกุลเงินสหรัฐฯซึ่งเป็นเงินที่มีอิทธิพลสูงสุดระดับโลก
นายยูซุฟ เรนดี้ มานิเล็ท นักวิจัยจาก Center of Reform on Economics กล่าวว่า LCS จะช่วยรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปียะห์ เงินดอลลาร์สหรัฐมีการใช้อย่างกว้างขวางในฐานะมาตรฐานสากล แต่มีข้อเสียเปรียบที่สำคัญประการหนึ่งคือมีความผันผวนมาก
“ผมคิดว่าด้วย LCS รัฐบาลจะทำให้กับอัตราแลกเปลี่ยนรูเปียหะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากช่องทางการค้า”
นอกจากนี้ การยกเลิกเงินดอลลาร์ในการค้าทวิภาคีจะทำให้การชำระบัญชีง่ายขึ้น แต่ข้อเสียของ LCS คืออุตสาหกรรมบางประเภท เช่น แร่และเหมืองถ่านหิน ที่มักได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินรูเปียะห์ ซึ่งทำให้รายได้เพิ่มขึ้น แต่ LCS โอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเงินที่อ่อนค่าจะลดลงมาก เนื่องจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนในการค้าระหว่างอินโดนีเซียและจีนมีไม่มากนัก
อินโดนีเซียได้หันไปใช้ข้อตกลง LCS เพื่อการค้าทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว เช่น มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์
รัฐบาลและสภาอินโดนีเซียปรับเป้าหมายเงินรูเปียะห์ปี 2022

รัฐบาล ธนาคารกลาง และสภาผู้แทนราษฎร ได้ตกลงที่จะปรับ เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนรูเปียะห์ต่อดอลลาร์สหรัฐสำหรับปี 2022จาก 13,900-15,000 รูเปียะห์เป็น 13,900- 14,800 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและหลักการนโยบายการคลัง (KEM PPKP)
“อัตราแลกเปลี่ยนของรูเปียะห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 คาดว่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 13,900 รูเปียะห์ถึง 14,800 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ” นายฮัมกา บาโก คาดี สมาชิกของคณะกรรมการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎณ กล่าวในการประชุมคณะทำงาน
โดยชี้มีหลายปัจจัย เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้า จะยังคงส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของรูเปียะห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปัจจัยอื่นๆระดับโลก คือ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตลาดการเงินโลก นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความต้องการของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินในประเทศ
ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในประเทศที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของรูเปียะห์ ก็คือ การผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการปฏิรูปโครงสร้างที่คาดว่าจะเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพื่อให้กระแสการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศยังคงสามารถควบคุมได้
ทั้งนี้ต้องมีการปฏิรูปภาคการเงินเพื่อเร่งการเติบโตของภาคการเงินด้วย และรัฐบาลควรแก้ไขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อไป โดยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งออกของประเทศ
นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานด้านการเงินใช้ประโยชน์จากแรงส่งในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนรูเปียะห์และการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนต่างประเทศ
“ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสามารถรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนรูเปียะห์ได้อย่างยั่งยืนตามมูลค่าพื้นฐาน”
รัฐบาลได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของรูเปียะห์จะยังคงอยู่ในช่วง 13,900-15,000 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์สหรัฐภายใต้ KEM PPKP ในปีงบประมาณ 2022
กัมพูชาผ่านแผนพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัดมณฑลคีรี

การอนุมัติร่างการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดใหญ่ โดยผ่านความเห็นชอบในการประชุมวันที่ 28 มิถุนายน ที่มี นายนายอัน พรมณีโรท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และประธานคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ เป็นประธาน และมีนายทอง คูน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ที่ประชุมได้ทบทวนร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดมณฑลคีรี ปี 2021-2035.
ภายใต้แผนดังกล่าว จังหวัดมณฑลคีรีถูกกำหนดให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในระดับมาตรฐานสากล และเป็นจังหวัดที่จำหน่ายผักและผลไม้เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศและเพื่อการส่งออก
จังหวัดมณฑลคีรีคาดว่าจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 900,000 คนและนักท่องเที่ยวในประเทศ 2 ล้านคนภายในปี 2035 ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะสร้างรายได้โดยตรงให้กับจังหวัด 500 ล้านดอลลาร์และ รายได้ทางอ้อม 1.0 พันล้านดอลลาร์
แผนดังกล่าวจะยกระดับจังหวัดมณฑลคีรีให้เป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่สี่ของประเทศ รองจากพนมเปญ พื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดเสียมราฐ และเน้นย้ำการพัฒนาในจังหวัดต้องให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
“ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดมณฑลคีรีปี 2021-20352564-2578” แถลงการณ์ระบุ “ข้อมูลจากการประชุมจะถูกเพิ่มเข้าไปในร่างสุดท้ายก่อนที่จะส่งให้รัฐบาลพิจารณาและอนุมัติ”
นางเชย์ สีวลิน ประธานสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวกัมพูชา กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศจะฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ซึ่งมีผลกระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ลดลง
“เราเรียกร้องให้มีการพัฒนามากขึ้นและการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยว”
การก่อสร้างสนามบินภายในประเทศในจังหวัดมณฑลคีรี ได้รับการศึกษาโดยบริษัทจีน ท่าอากาศยานจะช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คนรวมทั้งนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัด
กัมพูชามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าจำนวน 70,901 คนในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2021 ลดลง 94% จาก 1.15 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 85% ครึ่งปีแรก

กัมพูชา ส่งออกสินค้าเกษตร 4,454,505.33 ตันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 84.64% เมื่อเทียบปีต่อปี จากการเปิดเผยของนายเวง สาคอน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 2,041,982.72 ตัน จาก 2,412,522.61 ตันในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2020 โดยมีการส่งออกไปยัง 62 ประเทศและเขตปกครอง รวมมูลค่ามากกว่า 2.571 พันล้านดอลลาร์
การส่งออกสินค้าเกษตรหลักของราชอาณาจักรแบ่งออกเป็นข้าวสาร มันสำปะหลัง มะม่วง กล้วยสด พริกไทยเม็ด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว น้ำมันปาล์ม ยาสูบ พริก และผักนานาชนิด
รัฐมนตรีระบุว่า การส่งออกสินค้าเกษตรยังคงเติบโตแข็งแกร่ง โดยกระทรวงกำลังดำเนินการเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของกัมพูชา (Cambodia Good Agricultural Practices :CamGAP) และการใช้รหัส QR เพื่อระบุผลิตผลของผู้ปลูกที่ผ่านการรับรอง
“CamGAP จะกระตุ้นการปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตผลกัมพูชาเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ และยังหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศด้วย”
นายฮุน ลัก ผู้อำนวยการฝ่ายผู้ปลูกและผู้ส่งออก จาก Longmate Agriculture Co Ltd ซึ่งรับผิดชอบกล้วยในพื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ในจังหวัดกำปอต กล่าวว่า ภาคการเกษตรของกัมพูชามีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเห็นชัดมากขึ้นในช่วงโควิด- 19
ในบรรดาปัจจัยที่ขับเคลื่อนแนวโน้มนี้ ได้แก่ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยของประเทศบนคาบสมุทรอินโดจีน สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสำหรับการเกษตร และสิทธิพิเศษจูงใจจากรัฐบาลที่ให้กับภาคส่วนนี้ และคาดว่ารูปแบบการลงทุนนี้จะต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลัง ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรสูงขึ้นไปอีก
เพื่อรักษาการเติบโตของการส่งออก นายลักเน้นว่า นักลงทุนและเกษตรกรต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดและจัดการกับพืชผลอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงเลือกวิธีการปลูก เก็บเกี่ยว และบรรจุหีบห่อที่ถูกสุขลักษณะที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อที่มีศักยภาพ
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา มาจากการทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ เช่น จีนและเกาหลีใต้ เพื่อการนำเข้าสินค้าเกษตร ปีที่แล้ว กัมพูชามีรายได้ 3.433 พันล้านดอลลาร์จากการขายสินค้าเกษตรในต่างประเทศ
สิงคโปร์ลงทุนธนาคารดิจิทัลเพิ่มขึ้นสูงสุด

จำนวน เงินที่ไหลเข้าสู่การลงทุนด้านธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์ได้พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และความพยายามของธนาคารในการเพิ่มการให้บริการออนไลน์ จากผลการศึกษาทั่วโลกครั้งล่าสุด
การศึกษาโดยบริษัทซอฟต์แวร์ Finastra พบว่า 90% ของผู้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงิน 785 รายที่สำรวจทั่วโลกให้คำตอบว่า การระบาดใหญ่ได้เร่งการบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
ในสิงคโปร์ การบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ได้แปลงเป็นการลงทุนธนาคารดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในทุกตลาด (25%) ในขณะที่ 84% ระบุว่า ธนาคารของพวกเขาได้เพิ่มการลงทุน/งบประมาณโดยรวม ซึ่งสูงที่สุดในโลกเช่นกัน
การปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากโควิด-19 เป็นตัวขับเคลื่อนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของการใช้เทคโนโลยี (47%) รองจากต้นทุนและประสิทธิภาพ (54%) และการเติบโตของธุรกิจ (48%)
เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจในสิงคโปร์ ปรับใช้หรือปรับปรุงความสามารถด้านการธนาคารของตนในปีที่แล้ว โดย 45% ที่ต้องการจะดำเนินการในอีก 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าตลาดอื่นๆ ที่สำรวจ
แต่ยังคงมีอุปสรรคสำคัญบางด้านในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
เกือบ 60%ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจ “ติดอยู่กับวิธีคิดแบบเก่า” ขณะที่มากกว่าครึ่งอ้างถึงต้นทุนในการพัฒนาและกฎระเบียบของอุตสาหกรรมที่เข้มงวด
การออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลและการเปิดตัว SGFinDex เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระบบ Open Banking จึงมีความสำคัญต่อธุรกิจ 97% ในสิงคโปร์ โดยมากกว่าครึ่งระบุว่าเป็น “สิ่งที่ต้องมี”
นาย ลุค โฮฟฮานเนสเสียน ผู้บริหาร Finastra ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “ด้วยความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น การธนาคารในรูปแบบบริการและ open banking สถาบันการเงินในสิงคโปร์กำลังวางรากฐานสำหรับการเงินที่เปิดกว้างอย่างแท้จริง ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการที่เป็นนวัตกรรมและแข่งขันได้มากขึ้น
การสำรวจได้มีขึ้นในเดือนมีนาคมในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของธนาคารและสถาบันการเงินทั่วสิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์