ThaiPublica > เกาะกระแส > “อนุทิน” แจงปมจัดงบฯ สธ.เป็นเรื่องเข้าใจผิด – มติ ครม.กู้ 1.6 แสนล้าน จัด‘เยียวยา-สกัดโควิด’ 12 โครงการ

“อนุทิน” แจงปมจัดงบฯ สธ.เป็นเรื่องเข้าใจผิด – มติ ครม.กู้ 1.6 แสนล้าน จัด‘เยียวยา-สกัดโควิด’ 12 โครงการ

1 มิถุนายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน การประชุม ครม. ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

“อนุทิน” แจงปมจัดสรรงบฯ สธ. ชี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด -วอนสภาฯไฟเขียว พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ยันมีแผนงานชัดเจน – มติ ครม.กู้ 163,064 ล้าน จัดแพ็กเกจเยียวยา-สกัดโควิดฯ 12 โครงการ-จัดงบกลาง 568 ล้าน เวนคืนที่ดิน สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันนี้ในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีติดภาระกิจการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จึงมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

‘อนุทิน’แจงปมจัดสรรงบฯ สธ. ชี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด

นายอนุชา ตอบคำถามกรณีปมปัญหาการจัดสรรงบประมาณให้แก่พรรคร่วมรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าเรื่องนี้ในส่วนของหัวหน้าพรรคจะมีการพูดคุยกับสมาชิกพรรคในรายละเอียดเพิ่มเติม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ได้มีการชี้แจงในส่วนของการจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ในที่ประชุม ครม. ว่า อาจเป็นเรื่องการเข้าใจผิด เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเกี่ยวกับโควิด-19 นั้นมีมากไปกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ให้กระทรวงสาธารณสุข ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ 153,940.50 ล้านบาท เช่น งบประมาณที่ตั้งไว้ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของกองทุนศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ ที่มีวงเงินตั้งไว้สำหรับกรณีดังกล่าวประมาณ 2.93 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการจัดทำสเตตควอแรนทีน และการจัดหาวัคซีนโดยไม่ผ่านกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ใช้ในการตรวจคัดกรองต่างๆ

“ล่าสุดที่ได้อนุมัติไป 311 ล้านบาทให้แก่เรือนจำและเรือนจําและทัณฑสถานทั่วไประเทศ มาจากงบกลางรายการบรรเทาความเสียหายจากผู้ได้รับผลกระทบโควิดฯ ซึ่งมีอีกหลายส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น หากดูตัวเลขงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวโดยไม่ดูงบประมาณจากงบกลางฯ งบของหน่วยงาน หรืองบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ถึงพูดถึง ยังไม่สามารถที่บ่งบอกถึงงบประมาณที่ใช้จ่ายไปในสถานการณ์โควิดฯ ทั้งหมด จึงอาจถูกเข้าใจผิดได้”

วอนสภาฯไฟเขียว พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ยันมีแผนชัดเจน

นายอนุชาตอบคำถามถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และมาตรการเยียวยาต่างๆ ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการอธิปรายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท) ซึ่งนายกรัฐมนตรีคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยยืนยันว่างบประมาณตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท นั้นมีแผนงานชัดเจนแล้วทั้งหมด

แจง ศบค.ชะลอคำสั่งคลายล็อก กทม.

นายอนุชาตอบคำถามกรณีเหตุผลคำสั่งชะลอการผ่อนปรนมาตรการของกรุงเทพมหานคร ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้มีการประชุมแล้วมีความเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ในภาพรวมของ กทม. ยังมีอยู่ แต่ผลการประชุมดังกล่าวยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ฉะนั้นผลการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ที่มีมติไปดังกล่าวยังไม่ได้มีผล

“เป็นการแถลงข่าวในฐานะผลการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ซึ่งจะต้องนำเข้าประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกครั้งหนึ่งก่อน จึงต้องชะลอคำสั่งผ่อนปรนดังกล่าวไว้ก่อนเท่านั้น จึงยังไม่มีผลแต่อย่างใด จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้”

โต้เกาเหลาพรรคร่วม–ยันสัมพันธ์ยังดี

นายอนุชา ตอบคำถามข้อสังเกตว่าเกิดความระหองระแหงในพรรคร่วมรัฐบาล โดยยืนยันว่าทุกอย่างยังปกติ ในการประชุม ครม. วันนี้ทุกคนยังพูดคุยกันปกติ ส่วนในการประชุมสภาฯ วันนี้ ภายหลังจากมีการอธิปรายบางส่วนแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ชี้แจงเพิ่มเติมในส่วนงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับอย่างเหมาะสม และเงินที่จัดสรรเพิ่มเติมทั้งในส่วนของงบกลาง และเงินกู้

“การทำงานของรัฐบาลยังไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ยังคงทำงานด้วยความพยายาม เพื่อความชัดเจนให้ประชาชนในทุกๆ เรื่อง เพื่อให้สถานการณ์โควิดฯ ทุเลาโดยเร็วที่สุด”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

กู้ 163,064 ล้าน จัดแพ็กเกจเยียวยา-สกัดโควิดฯ 12 โครงการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ อนุมัติกรอบวงเงินรวม 163,064 ล้านบาท สำหรับ 12 แผนงาน/โครงการ ซึ่งจะทำให้กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) คงเหลือทั้งสิ้นรวม 19,172 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • โครงการจัดหาวัคซีนโควิด 6,378 ล้านบาท
  • โครงการค่าบริการสาธารณสุข 10,569 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
    • ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อ 6,353.1980 ล้านบาท สำหรับค่าบริการตรวจคัดกรอง ทั้งในรูปแบบ RT-PCR, Pooled RT-PCR, Pooled saliva, Antibody, Antigen ในการคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ รวมทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุก การตรวจก่อนทำหัตถการ การตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การตรวจใน Hospitel และการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรค ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพการตรวจสูงสุดที่ 50,000 รายต่อวัน
    • ค่าบริการรักษาผู้ป่วย 3,417.30 ล้านบาท สำหรับผู้ป่วยคนไทยและผู้ป่วยใน State Quarantine รวมทั้งปรับเพิ่มสัดส่วนการเข้ารับการรักษาใน Hospitel และสัดส่วนการรับส่งต่อโรงพยาบาลกับ Hospitel และระหว่างบ้าน ด่านตรวจคนเข้าเมือง และสนามบินมาโรงพยาบาล
    • ค่าบริการฉีดวัคซีน จำนวน 760 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็น 40 บาทต่อครั้ง จากเดิม 20 บาทต่อครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าวัคซีนทั่วไป รวมทั้งต้องใช้บุคลากรมากกว่าการฉีดวัคซีนอื่น
    • ค่าบริการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ จำนวน 30.0133 ล้านบาท และค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะ VITT จำนวน 9.2800 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดบริการรักษาพยาบาลสำหรับประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 โดยอ้างอิงอัตรารักษาตามมาตรฐานในระบบของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • โครงการค้นหาเชิงรุกสำหรับกลุ่มเสี่ยง 129 ล้านบาท สำหรับจัดหารถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยแบบ 2 จุดบริการ (Biosafety Mobile Unit) จำนวน 11 คัน และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (Express Analysis Mobile Unit) จำนวน 11 คัน เพื่อดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อในระดับพื้นที่และเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการตรวจวิเคราะห์ผลโรคโควิด-19 รวมจำนวน 22 คัน โดยมีแผนที่จะใช้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยและรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2564 เพื่อช่วยสนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโดยเฉพาะในชุมชนแออัด ตลาด แคมป์คนงาน รวมถึงคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งในปัจจุบันไทยมีการใช้งานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน ควบคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย จำนวน 21 คัน
  • โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัย สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 วงเงิน 1,575 ล้านบาท รวมแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 – มิถุนายน 2564 รัฐบาลอนุมัติเงินให้ อสม.แล้ว 16 เดือน กรอบวงเงินรวม 8,348.6965 ล้านบาทแล้ว
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ลดค่าน้ำ ค่าไฟ) 4,512 ล้านบาท
  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน วงเงิน 16,380 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็นวงเงินไม่เกิน 1,200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ กรกฎาคม–ธันวาคม 2564
  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.5 ล้านคน วงเงิน 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็นวงเงินไม่เกิน 1,200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ กรกฎาคม–ธันวาคม 2564
  • โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 31 ล้านคน วงเงิน 93,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 31 ล้านคน เป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าและบริการทั่วไป โดยรัฐสนับสนุนร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่าย หรือไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยประชาชนจะได้รับการเติมเงินใน แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แบ่งเป็น 2 รอบๆ ละ 3 เดือน (ก.ค.–ก.ย. 2564) และ (ต.ค.–ธ.ค. 2564) ซึ่งจะได้รับสิทธิรอบละ 1,500 บาท รวมได้รับสิทธิ 3,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการรับสิทธิได้ตั้งแต่มิถุนายน–ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าสิทธิจะเต็ม โดยสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่กรกฎาคม–ธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 186,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.55นายอนุชากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีผู้ได้รับสิทธิแล้วจำนวน 15 ล้านสิทธิ์ เมื่อกดยืนยันรับสิทธิ จะได้รับสิทธิอัตโนมัติ และจะเปิดให้มีการลงทะเบียนสำหรับผู้ต้องการรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 16 ล้านคนในเร็วๆ นี้ โดยคุณสมบัติ คือ สัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชนไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิโครงการ “ยิ่งใช้ยิงได้” สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของประชาชนจะเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป (2) ผู้ประกอบการบริการ (3) ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะ และ (4) ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งมวลชนสาธารณะ
  • โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จำนวน 4 ล้านคน วงเงิน 28,000 ล้านบาท
    • เป็นการสนับสนุนวงเงินสิทธิในรูปแบบบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-voucher) เมื่อซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ไม่รวมสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ รวมทั้งบริการนวด/สปา/ทำผมทำเล็บ และบริการอื่นตามที่กำหนด โดยจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ์ e-voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ e-voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนเพื่อนำไปใช้ต่อ ซึ่งในรายละเอียดนั้นทางกระทรวงการคลังจะชี้แจงเพิ่มเติมต่อไป

    สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะเป็นประชาชนไม่เกิน 4 ล้านคน โดยมีคุณสมบัติคือ เป็นประชาชนสัญชาติไทยมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีบัตรประจำตัวประชาชน และไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิโครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 3 เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท ช่วย GDP ขยายตัวร้อยละ 0.80 ด้วย

  • โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ของกรมปศุสัตว์ 75 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและประชาชนในการสร้างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชั้นเยี่ยม (เช่น วากิว บราห์มัน แองกัส) เพิ่มศักยภาพในการกระจายพ่อแม่พันธุ์ชั้นเยี่ยมด้วยวิธีย้ายฝากตัวอ่อนของกรมปศุสัตว์ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ คาดว่าจะมีลูกโคเนื้อพันธุ์แท้ที่เกิดจากการย้ายฝากตัวอ่อน จำนวน 690 ตัว มีมูลค่ารวม 103.50 ล้านบาท โดยจะแบ่งลูกโคเนื้อพันธุ์แท้ที่เกิดมาให้กรมปศุสัตว์และเกษตรกรคิดเป็นร้อยละ 50 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เห็นควรให้ชะลอค่าตอบแทน อสม.ในงวดนี้ออกไปก่อน และหากกระทรวงสาธารณสุขเห็นเหตุการณ์ไม่ปกติในอนาคตก็สามารถเสนอขอรับได้ อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ทักท้วงประเด็นนี้ขึ้นมาว่า ต้องอนุมัติเงินค่าตอบแทนให้ อสม. และจนกว่าการระบาดจะสิ้นสุด ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้กล่าวขอบคุณนายกฯ ในที่ประชุม ครม. ด้วย

ยกระดับ กศน. เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้”

นายอนุชากล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ทั้งสติปัญญา ความรู้และคุณธรรม

  • ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญที่เน้นการปรับระบบการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นความสำคัญด้านสถานศึกษาและครู ให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัวของสถาบันการศึกษา เอื้อให้สามารถสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาและจัดการการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนเป็นการศึกษาเชิงรุก (active learning) เน้นให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามช่วงวัย ใช้เทคโนโลยีสาระสนเทศเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการจัดการการศึกษา สร้างระบบนิเวศทางการศึกษาเป็นต้น
  • ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. เป็นร่างกฏหมายขยายหลักการของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ในประเด็นของการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิตโดยมีสาระ ส่งเสริมการเรียนรู้ 3 ด้าน ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามลำดับ โดยกำหนดให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ได้ยกสถานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้

“ครม. ได้เคยมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับหลักการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย”

ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ซื้อ-ขาย ต้องขออนุญาต

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. โดยเป็นการปรับปรุงจากร่างเดิมที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอ ครม. ไปแล้ว เมื่อ 12 ตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงร่างฉบับนี้ยังคงยึดหลักการเดิมตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการกำกับดูแลการปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด โดยมีสาระสำคัญอาทิ

มาตรการควบคุมและกำกับดูแล 1) กำหนดให้การปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต 2) กำหนดอายุใบอนุญาต โดยใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม ใบอนุญาตขายใบกระท่อม มีอายุ 5 ปี ส่วนใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม มีอายุ 1 ปี 3) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต เช่น เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต

สำหรับ หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต 1) ผู้รับใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม มีหน้าที่ต้องเพาะหรือปลูกในที่ดินหรือสถานที่และพิกัดตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต 2) ผู้รับใบอนุญาตขายใบกระท่อม นำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม มีหน้าที่ต้องจัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ขาย นำเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับใบกระท่อม โดยอย่างน้อยต้องระบุแหล่งที่มาของใบกระท่อม คำเตือน หรือข้อควรระวัง

การคุ้มครองบุคคลและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด 1) ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท กรณีมีการขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือสวนสนุก หรือขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 2) ห้ามผู้ใดบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท 3) กำหนดให้ผู้ปลูกพืชกระท่อม ขายใบกระท่อม เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดย ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติให้คณะกรรมการประสานสภาผู้แทนราษฎรพิจาณา ก่อนเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

จัดงบกลาง 568 ล้าน เวนคืนที่ดิน สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 568 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ (สกพอ.)

ทั้งนี้ เนื่องจาก มติ ครม. เมื่อ 30 มีนาคม 2564 ได้รับทราบการขยายกรอบวงเงินค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฯ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นไม่เกิน 5,740 ล้านบาท จากเดิม 3,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,170 ล้านบาท ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ รฟท. ขอจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) จำนวน 580 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปีงบประมาณ 2564 ส่วนที่เหลือให้ สกพอ. โอนจากงบบูรณาการภายใต้แผนงานบูรณาการ EEC และ 2) จำนวน 1,562 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณ ปี 2565

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนี้ เป็นการพัฒนาพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์เดิม ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงพญาไท จำนวน 10 สถานี และโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จำนวน 5 สถานี รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินกิจการ และบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้รับความเสี่ยงเกี่ยวกับรายได้ค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการทั้งหมด คาดว่าในปีที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 1.47 แสนคนต่อวัน

“โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1) สร้างงานระหว่างการก่อสร้าง 1.6 หมื่นอัตรา เกิดการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 1แสนอัตราในช่วง 5 ปี 2) เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ เช่น เหล็กจำนวน 1 ล้านตัน ปูนจำนวน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 3) เพิ่มมูลค่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ในรัศมี 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางรถไฟกว่า 2.14 แสนล้านบาท ส่วนความคืบหน้าของโครงการ รฟท. จะส่งมอบพื้นที่โครงการช่วงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เอกชนคู่สัญญาภายในวันที่ 24 ตุลาคมนี้”

สั่ง สตช.เร่งดำเนินคดีอาญา-ทุจริตเงินเยียวยาโควิดฯ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการทุจริตในการดำเนินโครงการตามตาม พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อแก้ไขเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด-19 อาทิ โครงการคนละครึ่ง รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตในการดำเนินงานแต่ละโครงการโดยเร็ว และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีโดยไม่ชักช้า และต้องรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 3 เดือน

อนุมัติงบอุดหนุนกรมท่าอากาศยาน 168 ล้าน เยียวยาสายการบิน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติอุดหนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กรมท่าอากาศยาน วงเงิน 168 ล้านบาท ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระยะที่ 3 โดยให้เบิกจ่ายตามส่วนลดค่าบริการในการขึ้น-ลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยานที่เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การขยายเวลาการปรับลดค่าบริการในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (landing charge) ในอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้กรมท่าอากาศยานสูญเสียรายได้จำนวน 166 ล้านบาท และการยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ให้แก่อากาศยานของสายการบิน ทำให้สูญเสียรายได้จำนวน 1.49 ล้านบาท รวมสูญเสียรายได้ 168 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของรายได้

กำหนด 26 เม.ย.ของทุกปี เป็น “วันจัดประชุม-นิทรรศการแห่งชาติ”

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 26 เมษายนของทุกปี เป็นวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยและสุขอนามัย และมีความพร้อมในการรองรับการจัดงานสำคัญระดับนานาชาติและการเปิดประเทศในปลายปี 2564 สำหรับการกำหนดให้วันที่ 26 เมษายนเป็นวันจัดประชุมและนิททรรศการแห่งชาติ เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2425 เป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานแสดงสินค้าของประเทศไทย ที่ท้องสนามหลวง ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ระบุว่า การกำหนดวันสำคัญของชาติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันไมซ์ไปสู่วาระแห่งชาติ สร้างความภาคภูมิใจในอุตสาหกรรมไมซ์ในภาคส่วนต่างๆทั้งผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไมซ์และการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุมและนิทรรศการของโลกตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ โดยในปัจจุบันธุรกิจและอุตสาหกรรมไมซ์มีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปี 2562 อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจ โดยเกิดการใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์รวมมูลค่าทั้งสิ้น 544,000 ล้านบาท เป็นไมซ์ในประเทศ 275,000 ล้านบาท และไมซ์ต่างประเทศ 269,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจไมซ์ได้ปีละ 35,900 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานมากกว่า 340,000 อัตรา

ขณะเดียวกันธุรกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้อีก เป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยต่อเนื่องไปถึงอนาคต ซึ่งจากรายงานของสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลก (ICCA) ที่เผยแพร่ในปี 2561 ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยครองอันดับ 1ด้านการจัดประชุมนานาชาติของอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีการจัดประชุมนานาชาติจำนวน 193 ครั้ง และเป็นการจัดงานประชุมนานาชาติมากที่สุดอันดับ 4 ของเอเชีย รองจาก ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ ความแข็งแกร่ง และทิศทางการเติบโตของธุรกิจไมซ์ของไทยในภูมิภาค และการยกระดับก้าวไปสู่การเป็นผู้นำไมซ์ของโลกได้ในอนาคต

ผ่านร่าง กม.จำกัดความเร็วรถใน กทม.ไม่เกิน 60 กม./ชม.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงการกำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางโดยกำหนดเกณฑ์ตามเขตพื้นที่ ลักษณะทางเดินรถ และประเภทของยานพาหนะให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงครั้งนี้ได้แก่ การกำหนดความเร็วขั้นสูงมีดังนี้ ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตชุมชน 1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตัวรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รถใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน รถโรงเรียน และรถจักรยานยนต์ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร 2. รถในขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 45 กิโลเมตร ต่างจากเดิมที่กำหนดไว้ว่า รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ 60 กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร

ส่วนนอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา และเขตชุมชน แก้ไขเป็น 1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตัวรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รถใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร 2. รถโรงเรียน และรถจักรยานยนต์ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 70 กิโลเมตร 3. รถในขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 55 กิโลเมตร

ส่วนทางเดินรถที่จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้อย่างน้อย 2 ช่องทางและมีเกาะกลางถนน 1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตัวรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รถใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คนให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร 2. รถโรงเรียน และรถจักรยานยนต์ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร 3. รถในขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 65 กิโลเมตร

ขณะที่ทางเดินรถที่เป็นทางพิเศษ 1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักตัวรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รถใช้บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน รถโรงเรียน ในกรณีเป็นทางที่จัดสร้างขึ้นในระดับเหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 800 กิโลเมตร ในกรณีเป็นทางที่จัดสร้างขึ้นในระดับพื้นดินให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 90 กิโลเมตร 2. รถในขณะที่ลากจูงรถอื่นให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 65 กิโลเมตร

ทั้งนี้ให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลทางเดินรถนั้นๆ ดำเนินการจัดทำเครื่องหมายจราจร และมีหน้าที่ควบคุมกำหนดความเร็วในเครื่องหมายจราจรประเภทที่สามารถปรับเปลี่ยน รูปภาพ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ได้

เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ใช้คลื่นความถี่ หนุนเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้นำบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่3) พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ…..

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 30 ได้บัญญัติว่า ระยะแรกมิให้นำส่วนที่ 3 ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในมาตรา 41-มาตรา44/5 และส่วนที่ 4 ว่าด้วยการกำกับการประกอบกิจการ ในมาตรา 45-46 มาตรา 65 (1) ตลอดจนมาตรา 78 มาตรา 83 วรรคสอง และมาตรา 84 วรรค2 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ฉบับที่3) พ.ศ.2562 และมาตรา 16 มาตรา 27-มาตรา29 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม ก่อนเสนอยกร่างพระราชกฤษฏีกาเพื่อนำบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่3) พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ กสทช. ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วนำข้อมูลและข้อคิดเห็นมาประกอบการยกร่าง พร้อมจัดทำแผนดำเนินการซึ่งได้พิจารณาความพร้อมทั้งด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค ด้านเศรษฐกิจแล้ว

นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า กสทช. ได้ดำเนินการด้านต่างๆ จนมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อที่ประชุม ครม. ในครั้งนี้

“หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับแล้ว จะมีผลต่อการอนุญาต การประกอบกิจการ และการกำกับดูแลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ เพื่อให้การใช้ความถี่เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยใช้คลื่นความถี่ที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์จากการหลอมรวมคลื่นความถี่ ผู้ประกอบการก็สามารถพัฒนาหรือผลิตการให้บริการใหม่ๆ ที่หลากหลาย ตอบสนองความตอ้งการของประชาชน เป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวยิ่งขึ้น”

ตั้ง “นายวิลาศ เฉลยสัตย์” นั่งผู้ว่า กฟน.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง โดยได้รับค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกอัตราเดือนละ 450,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2564

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2564เพิ่มเติม