ThaiPublica > Sustainability > Contributor > “ยูโร 2020” กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ยูโร 2020” กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

11 มิถุนายน 2021


พรพรหม วิกิตเศรษฐ์

ที่มาภาพ : https://www.uefa.com/insideuefa/about-uefa/news/

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 คือวันแรกฟุตบอลการชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือที่เรียกกันว่า “ยูโร 2020” ซึ่งนับว่าเป็นรายการฟุตบอลที่คนติดตามมากที่สุดรองลงมาจากฟุตบอลโลก เป็นรายการที่รอคอยมานานเนื่องจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ถูกเลื่อนมาจากปีที่แล้ว (สังเกตว่าชื่อรายการคือ “ยูโร 2020” ไม่ใช่ “2021”)

การแข่งขันยูโรจัดขึ้นทุก 4 ปี จัดมาแล้วทั้งหมด 15 ครั้ง ซึ่งประเทศต่างๆในยุโรปจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ (ล่าสุดจัดที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2016) ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าภาพเดี่ยว โดยมีสามครั้งที่เป็นเจ้าภาพร่วม จัดโดยสองประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ออสเตรียกับสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2008 หรือ โปแลนด์กับยูเครนเมื่อปี 2012

เนื่องจากเป็นการฉลองครบรอบ 60 ปีของการแข่งขัน “ยูโร 2020” มีรูปแบบการจัดงานที่ไม่เหมือนครั้งก่อนๆโดยจะจัดขึ้นใน 11 เมืองใน 11 ประเทศ ทั่วทวีปยุโรป เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งรูปแบบนี้มีความหน้าตื่นเต้นอย่างมาก แต่ก็มีความกังวลและคําวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 (แม้กระทั่งสถานการณ์จะดีขึ้นในยุโรป)

นอกเหนือจากความกังวลด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับโรคระบาดแล้ว อีกประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากคือเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางไปมาของทั้งทีมและแฟนบอลของแต่ละประเทศ ซึ่งความห่างไกลของ 11 เมืองเจ้าภาพต่างๆนั้น แปลว่าการเดินทางส่วนใหญ่จะต้องเป็นทางอากาศ

อุตสาหกรรมการบินถูกมองว่าเป็นศัตรูสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม แม้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนจะน้อยมากถ้าเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน หรือภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการเดินทางทางอากาศถือว่าเป็นสิทธิพิเศษของคนส่วนน้อยที่เดินทางบ่อย แต่สิทธิพิเศษกลับสร้างผลกระทบให้ส่วนมากที่แทบไม่เคยบินเลยด้วยซ้ำ

ในปัจจุบันที่มีการรณรงค์ให้ลดการเดินทางทางอากาศแบบที่ไม่จำเป็น (ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วรัฐบาลฝรั่งเศสได้มีการช่วยฟื้นฟูสายการบิน Air France จากผลกระทบของโควิด-19 แต่ได้ให้ข้อแม้ว่าจะต้องตัดเที่ยวบินระยะสั้น โดยเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถไฟ) รูปแบบการจัดงานยูโรครั้งนี้ที่ชักชวนให้การเดินทางทั่วยุโรปนั้นถือว่ามีความขัดแย้งกับหลักการนี้อย่างยิ่ง

ต้องเดินทางมากขนาดไหน?

ขั้นตอนของข้อกังวลต่อรูปแบบของรายการนี้คือการที่แต่ละสนามห่างไกลกัน ทำให้ต้องมีการเดินทางเยอะขึ้น ทำให้เที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น (จากที่มีมากอยู่แล้ว) ทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนสูงขึ้น (จากที่สูงอยู่แล้ว) และสุดท้ายทำให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแย่ขึ้น (จากที่แย่อยู่แล้ว)

ใน 11 เมืองเจ้าภาพของ “ยูโร 2020” เมืองเซวิลล์ ทางตอนใต้ของสเปน และกรุงบากู เมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน (แทบจะนับว่าเป็นเอเชียแล้ว อยู่ติดกับประเทศอิหร่าน) เป็นสองเมืองที่ห่างไกลกันที่สุด มากถึง 4,766 กม.

แน่นอนว่าครั้งก่อนๆก็มีการเดินทางเช่นกันแม้จะเป็นเจ้าภาพเดี่ยว ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะสั้นระหว่างเมืองต่างๆภายในประเทศนั้น (หรือระหว่างเพื่อนบ้านในกรณีที่มีสองเจ้าภาพ) แต่ก็นับว่าคนละเรื่องกับครั้งนี้ แต่ส่วนใหญ่รูปแบบการเดินทางภายในประเทศมักจะเป็นทางบก (ถนนหรือราง) ที่มีปริมาณคาร์บอนต่อหัวต่ำกว่าทางอากาศอย่างมาก

ทางสื่อบีบีซีของสหราชอาณาจักรได้มีการทำการคำนวนมลพิษที่จะเกิดขึ้นจาก “ยูโร 2020” โดยเริ่มจากการคำนวนระยะทางต่างๆที่แต่ละทีมจะต้องเดินทางตามตารางที่ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้จัดไว้

เคสที่น่าสนใจอย่างมากคือตารางของทีมสวิสเซอร์แลนด์ที่ทางบีบีซีคำนวนว่าจะต้องเดินทางมากที่สุด

ที่มาภาพ : https://www.uefa.com/uefaeuro-2020/news/0256-0db422ecc788-fc419fd78f92-1000–euro-2020-meet-the-teams/

ถ้าสวิสเซอร์แลนด์เข้ารอบชิงชนะเลิศ ทางทีมจะต้องเดินทางมากถึง 21,656 กม. เพราะต้องไปแข่งที่กรุงบากุถึงสามรอบ โดยระหว่างทางต้องไปแข่งที่กรุงโรมและกรุงอัมสเตอร์ดัม ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะต้องไปที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน

ในกรณีที่สวิสเซอร์แลนด์แพ้ทุกนัดและตกรอบแบ่งกลุ่ม (แข่งแค่ 3 นัด) ระยะการเดินทางก็ยังสูงถึง 13,155 กม. ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบ ระยะทางจากกรุงเทพไปลอนดอนนั้นเท่ากับ 9,526 กม.

มากไปกว่านั้นทางบีบีซีได้แปลระยะทางเป็นปริมาณคาร์บอนที่จะเกิดขึ้น โดยได้คำนวนว่าถ้าสวิสเซอร์แลนด์ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย (ลงแข่งทั้งหมด 5 นัด) แฟนบอลหนึ่งคนที่ตามไปดูทุกนัดจะมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากถึง 3,973 กก. เท่ากับค่าเฉลี่ยของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งปีของประชากรหนึ่งคน (4,000 กก.)

มุมมองที่แตกต่างของผู้จัด

พออ่านเรื่องนี้แล้วก็คงสงสัยว่าทำไมยูฟ่าถึงยอมให้รูปแบบการแข่งขันออกมาเป็นแบบนี้ทั้งๆที่แนวทางของสหภาพยุโรป (EU) และประเทศต่างๆในทวีปนั้นเน้นการส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเด็นวิกฤติสภาพอากาศ (climate crisis) แถมได้ออกแผนนโยบาย Green Deal ที่มีความรอบคอบและก้าวหน้าอย่างยิ่ง

แนวทางของ “ยูโร 2020” นั้นแทบจะตรงกันข้ามกับทุกอย่างที่ผู้นำในทวีปกำลังส่งเสริมและผลักดันอยู่

ทางยูฟ่ามีการชี้แจงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นถึงแนวทางการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆภายใต้ “Gold Standard projects” ที่ร่วมกับ South Pole องค์กรนานาชาติด้านการจัดการสภาวะภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะการส่งเสริมหม้อหุงข้าวสมัยใหม่ให้กับสังคมชนบทในประเทศรวันดาเพื่อที่จะลดการเผาไหม้ไม้และถ่านสำหรับการทำอาหาร

แต่มีอีกข้อโต้ตอบของยูฟ่าที่น่าสนใจและเห็นภาพได้ชัดกว่าการชดเชยคาร์บอน คือการเสนอว่าการจัดในหลายประเทศมีข้อดีเพราะแต่ละประเทศนั้นมีสนามของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้แทบไม่ต้องมีความจำเป็นในการสร้างสนามใหม่เพื่อการรองรับการชิงแชมป์นี้เลย การแข่งขันครั้งนี้มีการสร้างสนามแค่สนามเดียวที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี แตกต่างจาก “ยูโร 2016” ที่ฝรั่งเศส ซึ่งจากสิบสนามที่ใช้ในการแข่งขัน มากถึงสี่สนามนั้นสร้างขึ้นมาใหม่

ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วมลพิษที่จะเกิดจากการเดินทางทางอากาศช่วงการแข่งขัน (1 เดือน) นั้นน้อยกว่ามลพิษที่จะเกิดจากการสร้างสนามใหม่ โดยต้องคำนึงถึงการใช้วัสดุต่างๆ เช่นปูนซีเมนต์ เหล็ก การใช้พลังงานอย่างมาก และการใช้ที่ดินมหาศาล ซึ่งมีต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) จากการใช้ที่ดินนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างแรกที่บทความนี้ต้องการจะสื่อผ่านตัวอย่าง “ยูโร 2020” ที่จะเริ่มในวันที่ 10 นี้คือการที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้นมีความซับซ้อนและมีหลากหลายมิติ เช่นสำหรับ “ยูโร 2020” คือการถกเถียงระหว่างผลกระทบจากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นกับการสร้างสนามใหม่

อย่างที่สองคือการที่ความตื่นตัวของสังคมในยุโรปทำให้ทุกๆอย่าง (ในกรณีนี้คือการแข่งขันฟุตบอล) ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยทุกงานหรืออีเว้นท์จะต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้ซึ่งเป็นความคืบหน้าที่น่าชื่นชม ความตื่นตัวคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน