ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ปัญหาการสื่อสารเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนต่อสภาวะโลกร้อน

ปัญหาการสื่อสารเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนต่อสภาวะโลกร้อน

15 สิงหาคม 2021


กฤษฎา บุญชัย

ที่มาภาพ: https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg1/

IPCC หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนประชาคมโลกครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงรายงานล่าสุดฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าโลกกำลังวิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรากำลังเข้าสู่จุดที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นเกือบไม่ได้แล้ว เพราะหมุดหมายที่เคยตั้งไว้คือ ควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศา นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมในทศวรรษ 18 (1850) ถ้าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึงระดับนั้น สภาพภูมิอากาศโลกจะร้อนและผันผวนอย่างรุนแรง จนไม่สามารถกลับสู่ปรกติได้

และถึงบัดนี้ อุณหภูมิโลกได้พุ่งสูงถึง 1.09 องศาเซลเซียสเทียบจากปี 1850 IPCC เตือนด้วยรหัสแดงว่า โลกแทบจะหมดหวังที่จะห้ามไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาแล้ว

ในด้านแนวทางที่จะรอดพ้นจากวิกฤติได้ IPCC ได้สรุปไว้แล้วว่า ถ้าโลกลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และปล่อยสุทธิให้เป็นศูนย์ (หักลบการปล่อยและดูดกลับ) ภายในปี 2050 ปัญหาโลกร้อนก็จะหยุดลงได้ แต่ดูเหมือนโลกเรายังพยายามไม่พอ และกำลังจะสายเกินไปแล้วว่าเราจะลดการปล่อยได้ครึ่งหนึ่งภายในเวลาอีก 9 ปี

นอกเหนือจากเนื้อหาสาระในเชิงสาเหตุ ผลกระทบ เป้าหมาย แนวทาง ปัญหาสำคัญที่ผู้เขียนเห็นก็คือ ภาษา สัญลักษณ์ และการสื่อสารต่อวิกฤติโลกร้อนจาก IPCC และภาคส่วนต่างๆ เป็นปัญหาในตัวเอง เรามาลองวิเคราะห์กันดู

สื่อสารวิกฤตินิเวศที่ไม่เชื่อมโยงความเดือดร้อนของผู้คน

ทุกครั้งที่ IPCC และสื่อเตือนต่อสาธารณะ จะเริ่มต้นด้วยอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนจัดสุดขั้ว ฝนตกหนักจนน้ำท่วมและความแห้งแล้งรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เกิดไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หมีขาวกำลังไปไม่รอด ทะเลสูงขึ้น และจะเป็นกรด ภาพความล่มสลายเหล่านี้ โยงได้กับสภาวะสิ้นโลก หรือสภาพ “นรก” ตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ที่สื่อถึงความร้อนวิบัติ

แม้มั่นใจได้ว่าทั้งหมดที่ IPCC และสื่อต่างๆ นำเสนอเป็นจริง แต่สิ่งที่หายไปในการสื่อสารเพื่อความตระหนกนี้ คือ ใครที่กำลังเดือดร้อน และใครคือคนที่เสี่ยง และคนที่เปราะบาง คนชายขอบในสังคมกลุ่มไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นภาวะร้อนแล้ง ฝนตกผิดฤดูกาลกระทบต่อการทำมาหากินของชุมชนพื้นเมืองอย่างไร ความมั่นคงอาหาร และผลผลิตเกษตรกรจะรุนแรงขึ้นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่น ความยากจนจากนิเวศล่มสลายอย่างไร จะกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจากโรคระบาดเช่น โควิด และโรคไม่ติดต่อจากความเครียด ฯลฯ อย่างไร

นอกเหนือจากกลุ่มคน ชนชั้นไหนที่จะได้รับผลกระทบทางตรงแล้ว วิกฤติโลกร้อนได้โยงไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างไร จะกระตุ้นให้ปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจต้องรุนแรงขึ้นหรือไม่อย่างไร

หรือแม้แต่วิถีสังคม เศรษฐกิจ ที่เคยปรกติสุขจะเกิดปัญหาขึ้นอย่างไร เช่น คนในเมืองจะต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นควันมากยิ่งขึ้นแค่ไหน แม้กระทั่งฤดูหนาวที่หายไปจะทำให้การท่องเที่ยวทางทะเลที่ต้องการภูมิอากาศปลอดโปร่ง และการท่องเที่ยวภูเขาที่ต้องการอากาศเย็นหายไปหมดสิ้น

เพราะภาพน้ำแข็งละลาย ไฟป่าลุกโชน สร้างความตระหนกแต่ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คน ยิ่งทำให้คนในเมืองที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรุนแรงโดยตรง ห่างไกลจากน้ำแข็งขั้วโลก ไม่เคยไปเจอไฟป่า ขาดแคลนน้ำ ฯลฯ มองข่าวร้ายโลกร้อนที่โหมกระพือครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ต่างจากข่าวร้ายของ “ที่อื่น” หรือเป็นเรื่องในภาพยนตร์ นิยาย ที่ไม่กระทบต่อตนเอง ต่อให้ IPCC ออกมาเตือนซักกี่รอบ ผลก็ไม่ต่างไปจากเดิม

คือใคร “มนุษย์” ที่มีบทบาทรับผิดชอบหลัก

“มันเป็นเรื่องชัดเจนและโต้แย้งไม่ได้ว่า มนุษย์กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น”

IPCC กล่าวไม่ผิด เพราะปัญหาก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ปัญหาธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่วลีที่ถ่ายทอดวลีดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า กำลังทำให้ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหา “โลกแตก” ที่ทุกคนล้วนมีส่วน ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบ

ทั้งๆ ที่ข้อมูลของ IPCC เองก็บ่งบอกว่า ภาคส่วนที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน (ฟอสซิล) ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งล้วนมีกลุ่มทุนข้ามชาติผูกขาดผลประโยชน์และผลักปัญหาสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนให้ประชาชนต้องรับผลกระทบ หากนับเป็นประเทศก็จะพบว่า ประเทศอุตสาหกรรรมยักษ์ใหญ่ เช่น จีน สหรัฐฯ ยุโรป ฯลฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยกลุ่มประเทศตะวันตกปล่อยก๊าซมาเกือบ 200 ปี ขณะที่ประเทศจีน และเอเชียตะวันออกมีส่วนปล่อยก๊าซมาในช่วงหลายสิบปี และเมื่อเฉลี่ยตัวหัวแล้ว ประชาชนในเมืองขนาดใหญ่ในประเทศทุนนิยมสูงสุดอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีอัตรา “รอยเท้าคาร์บอน” หรือการสร้างก๊าซคาร์บอนจากการใช้ชีวิตต่อหัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประชาชนในประเทศซีกโลกใต้

ในทางกลับกันเมื่อพิจารณาว่ามนุษย์กลุ่มไหนที่เสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด พบว่า 10 ประเทศที่เสี่ยงที่สุดในโลกคือ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ลาตินอเมริกา ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้ มีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมน้อยมาก (ยกเว้นอินโดนีเซีย) อย่างเช่นประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซในสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของก๊าซเรือนกระจกโลก

และเมื่อเจาะลึกเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็พบความเชื่อมโยงกับการลงทุนข้ามชาติ โดยกลุ่มทุนจากประเทศอุตสาหกรรมเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้เพื่อผลิตสินค้าส่งกลับไปขายประเทศศูนย์กลางทุนนิยม กลายเป็นว่าประเทศเหล่านี้มีบทบาทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาก โดยมองไม่เห็นผู้กระทำการสำคัญคือกลุ่มทุนข้ามชาติ

และเมื่อนานาประเทศพยายามสร้างกลไกทางเศรษฐศาสตร์มาจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจกด้วยข้อเสนอ “ตลาดคาร์บอน” ประเทศผู้มั่งคั่งหลายประเทศ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ไม่อยากปฏิรูปการจัดการพลังงานและทรัพยากรของตนเพราะมีต้นทุนที่สูง พากันหาทางลัดด้วยการมุ่งกว้านซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนา ลงทุนปลูกป่าเพื่อรับเครดิตล่วงหน้า เพื่อเอาหักลบให้ได้เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ป่ายิ่งต้องเผชิญอำนาจภายนอกมาควบคุมพื้นที่ป่าและที่ทำกินของพวกเขา โดยที่ไม่ได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมต่อการค้าขายคาร์บอนเครดิต

ด้วยการกล่าวถึง “มนุษย์” ผู้รับผิดชอบต่อโลกร้อนแบบรวมๆ ทำให้เด็ก ผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อย แรงงานชั้นล่าง คนยากจนในเมืองที่ใช้ทรัพยากรน้อย สร้าง “รอยเท้าคาร์บอน” ต่ำที่สุด กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมที่กุมเศรษฐกิจโลกและประเทศ จึงถูกนับว่าเป็นมนุษย์ที่สร้างปัญหาต่อโลกร้อนอย่างไม่แยกแยะสัดส่วนความรับผิดชอบ เพราะการไม่กล่าวถึงปัญหาความเป็นธรรมต่อสภาวะโลกร้อน สังคมทั่วโลกจึงไม่เห็นทิศทางว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และมีสัดส่วนความรับผิดชอบอย่างไร

ความหวัง ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถูกสื่อสาร

IPCC เสนอว่า ถ้าก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ปัญหาโลกร้อนก็จะยุติลงได้

แต่โลกมีหวังแค่ไหน และจะทำอย่างไรในเวลาอันจำกัด ไม่ปรากฏการสื่อสารความหวัง และแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงออกมาเลย

ดังนั้น ต่อให้มีภาพน้ำแข็งขั้วโลกเหนือหายไปหมดสิ้น ไฟป่าในประเทศต่างๆ ภาพความแห้งแล้งสุดขั้วอย่างไร ก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปได้มากกว่านี้ เพราะสังคมไม่เห็นความหวังการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้

หากดูจากการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลก หลายประเทศกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากฐานพลังงานฟอสซิลที่ผูกขาดโดยกลุ่มทุน กระจายไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตและจัดการโดยชุมชนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ระบบเกษตรพาณิชย์ขนาดใหญ่ กำลังถูกท้าทายโดยระบบเกษตรนิเวศ เกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยที่เติบโตอย่างกว้างขวาง ผลิตอาหารที่เกื้อกูลนิเวศ หรือการปลูกป่าขนาดใหญ่ไม่สามารถตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติเท่ากับขบวนการชุมชนท้องถิ่นที่พื้นฟูปกป้องป่า แม่น้ำ ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการจัดการน้ำขนาดใหญ่ ไม่ตอบสนองการปรับตัวเท่ากับระบบการจัดการน้ำขนาดเล็กของชุมชนที่เกื้อกูลไปกับระบบนิเวศธรรมชาติ การจัดการเมืองกำลังเปลี่ยนไปสู่การสร้างเมืองสีเขียวที่มีสาธารณูปโภค มีระบบคมนาคมที่ใช้พลังงานต่ำ มีพื้นที่ความมั่นคงอาหาร กำลังเป็นที่ต้องการและปฏิบัติการโดยชุมชนเมืองอย่างแพร่หลาย

การขับเคลื่อนจุดเล็กๆ จากประชาชนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้กำลังขยายตัวไปอัตราที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด วิถีชีวิตคาร์บอนต่ำไม่ได้ต้องการทุน เทคโนโลยีอันซับซ้อน แต่เป็นการกลับไปจัดสัมพันธ์กับธรรมชาติให้เกื้อกูลในวิถีชีวิตทั้งที่เคยมีมาตามวิถีประเพณี และสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ด้วยเป้าหมายการฟื้นฟูโลก

มีความเป็นไปได้อย่างมากที่พลังการขับเคลื่อนของประชาชนเหล่านี้จะเติบโตจนสามารถทำให้โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิได้ภายในปี 2050 โดยรัฐและภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องระดมพลังสนับสนุนวิถีคาร์บอนต่ำของประชาชนให้เข้มแข็ง พร้อมกับปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ทั้งด้านพลังงาน เกษตร ทรัพยากร อุตสาหกรรม เมือง สลายการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และความยั่งยืนแก่สังคมวิถีนิเวศที่เป็นประชาธิปไตยในทุกด้านๆ
เมื่อเราสื่อสารให้เห็นทั้งรากปัญหา ผลกระทบ ความหวัง และความเป็นไปได้เช่นนี้ เราจะเกิดพลังพลเมืองทั่วโลกลุกขึ้นมากอบกู้วิกฤติโลกร้อน จน IPCC ไม่ต้องประกาศรหัสแดงอีกต่อไป