ThaiPublica > เกาะกระแส > ระบบสุขภาพถ้วนหน้า “NHS “ ของอังกฤษ จากความภาคภูมิใจ สู่ความล้มเหลว

ระบบสุขภาพถ้วนหน้า “NHS “ ของอังกฤษ จากความภาคภูมิใจ สู่ความล้มเหลว

3 มิถุนายน 2020


นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และคู่หมั้น ปรบมือขอบคุณและยกย่องบุคคลากรทางการแพทย์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ที่มาภาพ: https://www.itv.com/news/2020-05-21/weekly-tribute-to-coronavirus-key-workers-as-uk-gathers-again-to-clap-for-our-carers/

ทุกวันพฤหัสบดีเวลา 20.00 น. ประชาชนชาวอังกฤษจะออกมาหน้าบ้านเพื่อปรบมือยกย่องเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะบุคคลากรของ National Health Service (NHS) หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ที่มีจำนวนราว 1.3 ล้านคนที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางการระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ

แคมเปญ Clap For Our Carers การปรบมือเพื่อขอบคุณและยกย่องบุคลากรด้านสาธารณสุข เริ่มขึ้นครั้งแรกวันที่ 26 มีนาคม 2020 วันแรกของการเริ่มแคมเปญนี้

การสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในการให้บริการของ NHS โดยการสำรวจครั้งล่าสุดมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะระบาดพบว่า NHS ได้รับความชื่นชมจากประชาชนมากขึ้นในปี 2019

การสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการประจำปี 2019 ซึ่งเผยแพร่โดย เดอะ นัฟฟิลด์ทรัสต์ (The Nuffield Trust) และ เดอะ คิงส์ ฟันด์ (The King’s Fund) ระบุว่า ประชาชนมีความพึงพอใจในการใช้บริการระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษเพิ่มขึ้นถึง 60% จากปีก่อน

เหตุผลหลักคือ คุณภาพในการให้บริการ 68% ใช้ได้ฟรีในจุดให้บริการ 60% และมีบริการที่หลากหลาย 49%

คะแนนความพึงพอใจในการใช้บริการ NHS เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2017 และ ปี 2018 ที่ลดลงไประดับ 53% ต่ำสุดในรอบสิบปี แม้ด้านการรอรับบริการแย่ลงตลอดทั้งปี แต่คะแนนโดยรวมดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการประกาศว่า NHS จะได้รับเงินทุนเพิ่มก่อนและระหว่างการทำการสำรวจ

แบบสอบถามที่จัดทำโดยเดอะนัฟฟิลด์ทรัสต์และเดอะคิงส์ฟันด์ ได้ส่งไปถึงประชาชนโดยศูนย์วิจัยสังคมแห่งชาติ (National Centre for Social Research: NatCen) เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความคิดเห็นของสังคม (British Social Attitudes Survey) การสำรวจประจำปี 2019 มีขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 หลายเดือน ที่ส่งผลให้บริการสุขภาพต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างที่คาดไม่ถึงมาก่อน

ด้านที่ประชาชนไม่พึงพอใจต่อบริการสุขภาพของ NHS โดยรวม ได้แก่ จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ คะแนนความไม่พึงพอใจด้านนี้อยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2018 ซึ่งสะท้อนความกังวลต่อการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ใน NHS ด้านต่อมาคือ ระยะเวลาที่รอคอยการนัดแพทย์ GP (แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป) และการรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้ 57% รวมทั้งมุมมองที่ว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอแก่ NHS ซึ่งได้ 49%

ในหลายปีก่อนๆ หน้านั้น ประชาชนเชื่ออย่างเต็มอกว่า NHS มีปัญหาการเงินหรือขาดเงินทุนรุนแรง อย่างไรก็ตาม ใน 2 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนความคิดแบบนี้ลดลงจาก 86% เป็น 80% แต่ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้เตือนว่า ความพึงพอใจที่สูงขึ้นนี้อาจจะไม่ยืนนาน หากว่าระยะเวลารอคอยการใช้บริการกับการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ยังระบุว่า ความพึงพอใจในการใช้บริการมาจากผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่หลายส่วน รวมทั้งผู้ที่ออกนอกระบบ ผู้ที่ยังอยู่ในระบบ และจากกลุ่มอายุที่หลากหลาย แม้ว่าในปีก่อนๆ ผู้สูงวัยและกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคคอนเซอร์เวทีฟเป็นกลุ่มที่พอใจกับการใช้บริการมากที่สุด

แต่ประชาชนยังมีมุมทางลบต่อการใช้บริการสุขภาพในอนาคต โดย 42% มองว่ามาตรฐานการดูแลจะแย่ลง มีเพียง 29% เท่านั้นที่มองว่าจะดีขึ้น แต่ก็นับว่ามีมุมมองที่ดีขึ้นจากการสำรวจในปีก่อนที่ 51% ประเมินว่ามาตรฐานการดูแลจะแย่ลง ส่วนผลสำรวจในอนาคตขึ้นอยู่กับการให้บริการที่ตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

สำหรับผลการประเมินในด้านอื่นๆ ที่เดอะนัฟฟิลด์ทรัสต์และเดอะคิงส์ฟันด์ตั้งคำถาม ได้แก่

  • ความพึงพอใจต่อแพทย์ GP หรือแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปอยู่ที่ 68% เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน
  • ประชาชนส่วนใหญ่ 54% ในแบบสอบถามให้คำตอบว่า หาก NHS ต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น ก็อยากจะให้เงินที่ใส่เข้ามานั้นมาจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั่วไป หรือภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะมากกว่าเก็บจากคนไข้
  • BSA ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อเงินทุนของ NHS มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งในช่วงปี 2014-2017 สัดส่วนคนที่มองว่า NHS มีปัญหาการเงินรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 72% เป็น 86% แต่ในปี 2018 ลดลงมาที่ 83% และการสำรวจล่าสุดลดลงมาที่ 80%

    แม้ความกังวลต่อสถานะการเงินของ NHS ยังอยู่ในระดับสูง แต่การที่ลดลงในช่วง 2 ปีจาก 2017 ก็มีความสำคัญ และสอดคล้องกับการประกาศจะเพิ่มทุนให้ NHS ของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ในปี 2018

    ความพึงพอใจต่อการให้บริการสังคมยังคงไม่ดีขึ้นโดยไม่พอใจถึง 37% ส่วนที่พอใจมี 29% และยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยะสำคัญ

    จอห์น แอพเพิลบี หัวหน้าเศรษฐกรเดอะนัฟฟิลด์ทรัสต์ ผู้เขียนรายงานผลสำรวจนี้ ให้ความเห็นว่า การสำรวจมีขึ้นในปี 2019 ขณะที่ NHS กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่และพลาดเป้าหมายการรักษาระยะเวลารอคอยในการใช้บริการต่อเนื่อง

    ดังนั้นหากดูข้อมูลแบบเร็วๆ ก็น่าประหลาดใจที่เห็นคะแนนความพึงพอใจในการใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่นับตั้งแต่ช่วงหน้าร้อน 2018 และในช่วงเดือนแรกที่นายบอริส จอห์นสัน เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรายงานข่าวต่อเนื่องว่า มีแผนงานจะมีการจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้กับ NHS จึงทำให้คนมีมุมมองทางบวก แต่คำถามคือจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะได้เห็นว่ามีการดำเนินการตามที่สัญญา

    แดน เวลลิงส์ ผู้เขียนรายงานจากเดอะคิงส์ฟันด์ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 จะทำให้บริการสาธารณสุขและสุขภาพอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในอีกหลายเดือน และแน่นอนว่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อความเชื่อมั่นและมุมมองของประชาชนที่มีต่อ NHS

    การที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่ให้การดูแลต่างทุ่มกำลังอย่างเต็มขีดความสามารถและขีดจำกัดในภาวะวิกฤติปัจจุบัน อาจจะเป็นแรงหนุนให้ประชาชนมีมุมมอง ให้การสนับสนุน ให้ความไว้ใจ และชื่นชม NHS ในระยะยาว และเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อรับการบริการ และมีความเป็นไปได้ว่าความกังวลและการชื่นชมอาจจะเริ่มขยายไปสู่การดูแลสังคมเช่นกัน

    NatCen ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ที่มีต่อ NHS และการให้บริการสุขภาพและดูแลรักษาทั่วไปมาตั้งแต่ปี 1983 การสำรวจครั้งล่าสุดมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2019 ในการสำรวจมีตัวแทนทั่วประเทศ 3,224 รายที่พึงพอใจต่อ NHS โดยรวม มี 1,075 รายพอใจต่อการบริการของ NHS และการดูแลสังคมเป็นรายด้าน เดอะคิงส์ฟันด์และเดอะนัฟฟิลด์ทรัสต์เป็นผู้จัดทำชุดแบบสอบถามและสรุปผล

    ผลสำรวจเผยแพร่ในช่วงที่บริการสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ประสบกับวิกฤติที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนจากการระบาดของโควิด-19 และเป็นผลสำรวจที่สะท้อนความคิดเห็นก่อนการระบาดของไวรัส แต่ผลของการระบาดของไวรัสจะเห็นชัดขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้า และแนวทางที่ NHS และหน่วยงานที่ให้การดูแลตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสจะมีผลต่อการสำรวจในครั้งต่อไป

    ที่มาภาพ: https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/new-coronavirus-test-takes-only-21896397

    NHS ล้มเหลวจัดการไวรัส

    NHS ที่กลายเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตของอังกฤษ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิดทั่วประเทศ ได้รับการชื่นชม ยกย่อง การเคารพ ความรัก และมุมมองที่ดีแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะที่ผ่านมาการสำรวจความเห็นประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า NHS เป็นสถาบันแห่งความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ และในปี 2012 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พิธีเปิดการแข่งขันได้มีการแสดงที่ยกย่องเชิดชู NHS

    รัฐบาลเองก็ตระหนักดีถึงความรู้สึกที่ดีที่ชาวอังกฤษมีต่อ NHS จึงได้ใช้คำขวัญหรือสโลแกนในการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพว่า Stay at Home, Protect the NHS, Save Lives

    แต่การยกย่องสรรเสริญที่หลั่งไหลเข้ามาซึ่งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆ ที่ต่อสู้กับการระบาดใหญ่สมควรจะได้รับ ก็ไม่ควรที่จะทำให้มองข้ามความจริงที่ว่า NHS ไม่พร้อมที่จะรับมือกับความท้าทาย และตกอยู่ในภาวะกดดันมากขึ้น เพราะในสถานการณ์ปกติ NHS มีเงินงบประมาณน้อยและให้บริการแบบตึงมืออยู่แล้ว

    หลักการของการให้บริการด้านสุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากรัฐนั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ทศวรรษแห่งความเข้มงวดที่รัฐบาลนำมาใช้หลังวิกฤติการเงินทั่วโลกในปี 2008 ทำให้ NHS ตกอยู่ใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดก่อนที่ไวรัสจะระบาด

    เมื่อเปรียบกับมาตรฐานของประเทศในยุโรป NHS ขาดแคลนในทุกด้าน มีงบประมาณน้อยมาก แพทย์และพยาบาล เตียงในโรงพยาบาลมีจำนวนน้อยมาก และมีเครื่องช่วยหายใจไม่กี่เครื่อง

    งบประมาณประจำปีของ NHS ถูกแช่แข็ง เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ต่อปีที่จำเป็นเพื่อรองรับประชากรสูงอายุและการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น

    หากการขาดแคลนเงินทุนนี้สะท้อนถึงการตั้งคำถามถึง “บทเรียน” ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว การจัดการวิกฤติระยะสั้นโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน

    ในช่วงที่อังกฤษเข้าใกล้จุดสูงสุดของการติดเชื้อในกลางเดือนเมษายน ก็ดูเหมือนชัดเจนแล้วว่า NHS ล้มเหลวอย่างรุนแรงจากการตอบสนองเบื้องต้นของรัฐบาล

    โรงพยาบาลยังขาดการทดสอบอย่างจริงจังที่จะคัดกรองเจ้าหน้าที่ในแนวหน้า ผู้ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อเอาชนะการระบาดของไวรัส การทดสอบในวงกว้างและขนาดใหญ่นั้นมีความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลและการกักกันบุคลากรที่สำคัญโดยไม่จำเป็น

    ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศูนย์การแพทย์ของ NHS ที่ เคาน์ตีโอ๊ก ในไบรตัน ต้องปิดทำการ เนื่องเจ้าหน้าที่รายหนึ่งติดโควิด-19

    จากการประมาณการขององค์กรวิชาชีพ แพทย์ และพยาบาลของ NHS ราว 20-25% อยู่ระหว่างการลาป่วยหรือกักกันตัว ทำให้สูญเสียทรัพยากรสำคัญ แม้จะมีสัญญาณของความเร่งด่วนมากขึ้นในส่วนของรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

    วิกฤติดังกล่าวยังได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของโครงสร้างการสาธารณสุขอังกฤษ ซึ่งติดอยู่กับกฎมาตรฐาน ด้านอุปกรณ์มาตรฐาน อีกทั้งงบประมาณที่จำกัดมานานเป็นทศวรรษ ทำให้ NHS ขาดความพร้อม

    NHS ไม่มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤติ ในกรณีที่การระบาดเข้าสู่ระดับสูงสุด รัฐบาลเองไม่ได้เข้าร่วมการดำเนินการของสหภาพยุโรปในการจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพิ่มเติม หลังพลาดเส้นตายการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจที่ยุโรปกำหนดในเดือนมีนาคม เนื่องจากรัฐมนตรีไม่ได้เช็คอีเมล

    NHS ระบุว่าต้องการเครื่องช่วยหายใจ 30,000 เครื่อง แต่นายแมตต์ แฮนคอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลดจำนวนลงเหลือ 18,000 เครื่อง

    ดร.อลิสัน พิตทาร์ด คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์สาขาบำบัดวิกฤติ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพดูแลเวชปฏิบัติในหอผู้ป่วยวิกฤติ ระบุว่า คุณสมบัติขั้นต่ำของเครื่องช่วยหายใจที่ผลิตภายใต้โครงการรัฐบาลนั้นใช้งานได้ไม่กี่ชั่วโมง

    นอกจากนี้ ได้เตือนมาตลอดหลายปีว่าหอผู้ป่วยวิกฤติและพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในหอวิกฤติตามโรงพยาบาลไม่เพียงพอ โดยปกติแล้วหอผู้ป่วยวิกฤติ 1 ห้องจะใช้พยาบาลหนึ่งคนตลอดเวลา แต่ตอนนี้พยาบาล 1 คนต้องดูแลผู้ป่วย 6 คน แม้จะได้จัดเจ้าหน้าที่ด้านอื่นมาช่วยในหอผู้ป่วยวิกฤติ และเป็นวิธีที่ได้ผล แต่เป็นเพราะทุกคนต้องการช่วยผู้ป่วย

    ดร.พิตทาร์ดยังชี้ให้เห็นว่า เยอรมนีมีหอผู้ป่วยวิกฤติ 29 เตียงต่อประชากร 100,000 คน แต่อังกฤษมีเพียง 6 เตียงต่อประชากร 100,000 คน

    เวมบลีย์สเตเดียมฉายแสงเลเซอร์ขอบคุณ และยกย่อง NHS ที่มาภาพ: https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-8132925/Coronavirus-UK-Wembley-pays-tribute-NHS-lighting-arch-blue-night.html

    การเมืองถ่วงทำ NHS พัง

    ในการจัดทำรายงานถึงการตอบสนองของอังกฤษต่อการระบาดของไวรัส ผู้เชี่ยวชาญยอมรับในวงกว้างว่า ขาดการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว รวมทั้งควรมีการให้มุมมองความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแก่รัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขึ้นกว่านี้

    การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษเกิดขึ้นตามหลังประเทศอื่นๆ ยุโรป แม้จะมีบทเรียนมาจากอิตาลีและที่อื่นๆ แต่ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา อันเนื่องจากความล้มเหลวของฝ่ายบริหารผสมกับความผิดพลาดของรัฐบาล ในการจัดหาและแจกจ่ายอุปกรณ์ที่สำคัญ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ชุดทดสอบ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

    เจ้าหน้าที่ระบุว่า พวกเขาได้บันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับคำแนะนำที่เสนอต่อนายจอห์นสันและรัฐมนตรี โดยระบุว่าไวรัสโควิด-19 เป็นโรคใหม่ นักระบาดวิทยาเองยังมีความเห็นที่ต่างกัน แต่อังกฤษไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เผชิญกับปัญหา และอังกฤษก็กำลังประสบกับปัญหาการจัดหาอุปกรณ์จากทั่วโลกเพื่อการรักษาผู้ป่วย

    รัฐมนตรีและผู้ช่วยทางการเมืองได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบไปยังสถาบันต่างๆ เช่น สาธารณสุขอังกฤษและหน่วยงานราชการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาตอบสนองช้าต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

    นายแดน เพาล์เตอร์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการไม่ขอคำแนะนำที่มากพอจากผู้เชี่ยวชาญของ NHS ที่สามารถเตือนถึงปัญหาการขาดแคลนชุดป้องกันส่วนบุคคล (personal protection equipment: PPE) ได้ตั้งแต่แรกๆ รวมทั้งการขาดเครื่องช่วยหายใจ และสามารถขอให้รัฐมนตรีเร่งทำการทดสอบเจ้าหน้าที่ NHS

    “การพึ่งพาแบบจำลองทางวิชาการในช่วงแรกเป็นหลัก จึงไม่ยอมรับแพทย์ที่มีประสบการณ์ของ NHS ซึ่งก็คือผู้ที่เข้าใจการท้าทายในแต่ละวันของโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพของเรา ในการให้ข้อมูลทำแผนควบคุมโควิด-19 ในช่วงแรก แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความล่าช้าของการจัดหา PPE ที่เพียงพอสำหรับเจ้าหน้าที่ NHS ในแนวหน้า และการขาดการทดสอบไวรัสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงแรกของการระบาด”

    นอกเหนือจากนี้คือ การประเมินผิดของนายจอห์นสันและทีมงานตั้งแต่เริ่มต้น จนล่วงมาถึงเดือนมีนาคมที่คณะรัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญกับภัยคุกคาม เพราะนายจอห์นสันไม่ต้องการใช้มาตรการที่เด็ดขาด

    ความล้มเหลวนี้เห็นได้ชัดในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อนายจอห์นสันเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมฉุกเฉิน ซึ่งกลายเป็นความหลอกหลอนของอังกฤษนับแต่นั้น ทั้งไวรัสที่ได้แพร่ระบาดไปในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งภาวะที่แพทย์และเจ้าหน้าที่ดิ้นรนหาชุดป้องกันเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

    ผลที่ตามมาอีกด้าน คือ ความล้มเหลวในการยกระดับขีดความสามารถในการทดสอบ การแข่งขันกับประเทศอื่นในการจัดหาเครื่องช่วยหายใจ และชุดป้องกัน

    ขณะที่ประเทศอื่นๆ ปิดเมืองตามอิตาลี แต่ในอังกฤษการทดสอบทั่วไปหยุดชะงัก เพื่อสนองนโยบายการกักกันตนเองและความพยายามในการป้องกันผู้เปราะบางที่สุด เพราะมีเป้าหมายที่สร้าง herd immunity คือปล่อยให้มีการระบาดเพื่อร่างกายคนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง

    นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ แย้งว่ากลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่โควิด-19 จะมีผลต่อชีวิตคนหลายแสนคน และสร้างภาระหนักให้กับ NHS แต่กว่าจะตระหนักถึงผลอันนี้ นายจอห์นสันก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ

    นอกจากนี้ นายจอห์นสันยังให้ความสำคัญกับการดำเนินการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มาตั้งแต่ต้นปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคมที่กำหนดไว้ จึงไม่ได้ทุ่มความสนใจไปที่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่หลายประเทศกำลังเผชิญ รวมทั้งเตรียมที่จะปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่หลังจาก Brexit จบลง โดยได้ปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แต่งตั้งนายแมตต์แฮนคอก ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

    นายแฮนคอกเองก็ยังไม่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัส กลับพูดถึงการปฏิรูปบริการสังคมและส่งเสริมด้านชีววิทยาศาสตร์ และกล่าวถึงการระบาดของไวรัสว่าจะทำให้ทุกคนปลอดภัย

    นายแมตต์ แฮนคอก รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ กล่าวเปิดโรงพยาบาลไนติงเกลของ NHS ที่เบอร์มิงแฮมอย่างเป็นทางการผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/world/2020/apr/18/how-did-britain-get-its-response-to-coronavirus-so-wrong

    แม้มีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เป็นระยะๆ นับจากการอุบัติของโรคในจีน จนวันที่ 20 มกราคมมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าโควิด-19 นี้สามารถติดเชื้อจากคนสู่คน และวันที่ 29 มกราคม อังกฤษพบผู้ป่วยติดเชื้อ 2 ราย ขณะนั้นอังกฤษยังไม่รู้ว่า การล็อกดาวน์แบบจีนกับการปล่อยให้คนเสียชีวิตโดยที่ควบคุมไม่ได้นั้น จะกลายเป็นฝันร้ายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

    เดือนกุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศห้ามคนที่เดินทางจากจีนในช่วง 14 วันก่อนหน้าเข้าประเทศ ขณะที่ยุโรปเริ่มทดสอบผู้ที่แสดงอาการ และมีประวัติเดินทางไปจีน แต่นายจอห์นสันยังคงสนใจกับ Brexit และการค้าเสรี การใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อการควบคุมการระบาดของไวรัสเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะนึกถึง

    ในการแถลงเกี่ยวกับ Brexit วันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายจอห์นสันให้ความเห็นชัดเจนต่อการล็อกดาวน์แบบที่จีนใช้ว่า “การตั้งกำแพง เมื่อมีความเสี่ยงจากโรคใหม่ เช่น ไวรัสโคโรนา จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกและความต้องการแยกตลาด นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์ ไปถึงจุดที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่แท้จริงโดยไม่จำเป็น”

    ในช่วงต้นเดือนมีนาคม มีความชัดเจนว่าอังกฤษมีมาตรการที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ

    เทวี สิทธาร์ หัวหน้าฝ่าย global public health จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ใน The Observer ว่า แทนที่จะเรียนรู้จากประเทศอื่น หรือทำตามคำแนะนำของ WHO ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จัดการกับการระบาดทั่วโลกมาหลายทศวรรษ อังกฤษตัดสินใจที่จะทำตามแนวทางของตัวเอง

    เมื่อมีการระบาดรุนแรงในอิตาลี และประเทศอื่นๆ วันที่ 14 มีนาคม WHO ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโลก หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ แต่อังกฤษยังรีรอไม่กล้าตัดสินใจล็อกดาวน์ หรือห้ามการรวมกลุ่ม การปิดบาร์และร้านอาหาร และยังอนุญาตให้มีการจัดงานเทศกาลแข่งม้าเชลต์นัมที่มีคนเข้าร่วม 250,000 คน

    แต่ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษได้หันมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ด้วยการประกาศปิดโรงเรียนในวันที่ 18 มีนาคม และประกาศปิดบาร์ ร้านอาหาร ในวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งเป็นการกลับลำแบบกะทันหัน

    แต่รัฐบาลหนีไม่พ้นต่อผลลัพธ์ที่ตามมา จากความล้มเหลวที่ไม่เตรียมการรับมือในวงกว้าง โรงพยาบาลประสบปัญหาผู้ป่วยล้นก่อนที่จะมีคำสั่งให้ขยายอย่างมาก ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐมนตรีต่อปัญหาการขาดแคลนชุด PPE ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า รวมทั้งการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ และความล้มเหลวในการทดสอบโควิด-19 ในวงกว้าง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ของ NHS

    วันที่ 20 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แถลงว่า มีบุคลากรของ NHS เสียชีวิต 181 ราย และเจ้าหน้าที่ด้านบริการสังคมเสียชีวิต 131 ราย จากการทำงานให้บริการสาธารณสุขเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

    ต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากเงินภาษี

    ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษเริ่มขึ้นในปี 1948 เป็นผลจากกฎหมาย National Health Service Act ที่บัญญัติขึ้นในปี 1946 ถือว่าเป็นการปฏิรูปด้านสังคมครั้งใหญ่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับเงินทุนจากเงินภาษี และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

    NHS นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษชนิดที่ไม่มีอื่นใดมาเทียบเท่า ผลการสำรวจในปี 2018 ซึ่งเป็นการครบรอบ 70 ปี แห่งการก่อตั้ง ชาวอังกฤษ 2 ใน 3 ระบุว่าการจัดตั้ง NHS เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ

    แดน เวลลิงส์ จากเดอะคิงส์ฟันด์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ NHS เป็นความภูมิใจของชาวอังกฤษคือ มีคุณค่าแห่งความเป็นอังกฤษ ได้แก่ เป็นธรรม ให้บริการทุกคน และเท่าเทียม เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากเงินภาษีและฟรีเมื่อมีความจำเป็นด้านสุขภาพ

    NHS มีหลักการสำคัญ คือ การจัดระบบสุขภาพโดยให้บริการฟรีให้กับประชาชนทั้งประเทศเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นทางสุขภาพโดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    ในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่ให้บริการคนไข้รายแรกวันที่ 5 กรกฎาคม 1948 ขณะนั้นรัฐบาลมีงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 14 พันล้านปอนด์ คิดจากค่าเงินปี 2016-2017 แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 144.3 พันล้านปอนด์ในปี 2016-2017 และมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 260 ปอนด์ในปี 1950 เป็น 2,273 ปอนด์

    NHS เป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้เงินภาษีให้กับหลายประเทศ

    ด้านจำนวนบุคลากรก็เพิ่มขึ้น โดยช่วงก่อตั้งมีแพทย์และทันตแพทย์ประจำทั่วอังกฤษและเวลส์ 12,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 110,000 คน ส่วนพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 88,579 คนในปี 1962 เป็น 285,093 ในปี 2017 แต่จำนวนเตียงในโรงพยาบาลลดลงมากตลอดทศวรรษเพราะรูปแบบให้บริการเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระยะเวลาฟื้นตัวจากการผ่าตัดที่สั้นลง

    ในระยะเดียวกันนี้ประชากรอังกฤษเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านคนเป็น 66 ล้านคน และมีประชากรสูงวัยมากขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับ NHS เพราะอายุขัยของคนยาวขึ้น

    ในวันที่ 1 เมษายน 1991 ได้มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ NHS นำระบบตลาดมาใช้ โดยรัฐยุติการบริการโรงพยาบาลแต่หันมาซื้อบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลหรือจากโรงพยาบาลอื่นในพื้นที่เพื่อให้การดูแลคนไข้ ส่งผลให้แบ่ง NHS ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นผู้ซื้อบริการ (purchaser) และ ผู้ให้บริการ (provider) ซึ่งมีผลให้ส่วนของผู้ให้บริการมีสถานะเป็นทรัสต์แห่งแรกของ NHS และเป็นกลไกที่ยังใช้มาทุกวันนี้

    หลังวิกฤติการเงินโลกปี 2008 รัฐบาลที่ประสบปัญหาการจัดเก็บรายได้จากภาษี NHS ก็ประสบปัญหาเดียวกัน และเปราะบางมากขึ้น ในยุครัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยม เงินทุน NHS ไม่เพียงพอกับความต้องการด้านสุขภาพที่มากขึ้น นำไปสู่ปัญหาการต้องรอคอยรับการให้บริการที่นานขึ้น มีการขาดแคลนเจ้าหน้าที่และบุคคลากร

    เดือนพฤษภาคม 2017 มีการประกาศแผนงบประมาณประจำปีที่คิดจากมูลค่าจริงของเงิน (real-terms) ซึ่งเงินทุนของ NHS จะเพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้น 20.5 พันล้านปอนด์ในแต่ละปีไปจนถึงปี 2023-2024

    ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/society/2018/jul/02/is-the-nhs-the-worlds-best-healthcare-system

    ชาวอังกฤษจำนวนมากตระหนักถึงแรงกดดันที่ NHS ได้รับ จึงพากันมาร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยงานร่วม 1 ล้านคนในขณะที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้พ้นภาวะวิกฤติ และยังมีการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุน NHS และบุคลากร

    ขณะที่การระบาดของไวรัสยังคร่าชีวิตขาวอังกฤษต่อเนื่อง ชาวอังกฤษหวังว่าวิกฤติครั้งนี้จะทำให้การดูแล NHS และบุคคลากรจะเปลี่ยนแปลงไป

    NHS มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในปี 2012 ด้วยกฎหมาย Health and Social Care Act ที่มีผลบังคับใช้ในปีเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ NHS ถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายองค์กร ที่ดำเนินการทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ และได้ยกเลิกโครงสร้างที่ชื่อว่า Strategic Health Authority และโครงสร้างทรัสต์ Primary Care Trust แต่ให้ GP แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป มีส่วนในการบริหารจัดการงบประมาณของ NHS ในชุมชนผ่านคณะกรรมการ (commissioning groups) รวมทั้งได้จัดตั้ง NHS Foundation Trusts

    โครงสร้าง NHS ปัจจุบันมีกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบเต็มด้านการดูแลสุขภาพและเงินทุน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้วางนโยบาย เช่น กำหนดระยะเวลารอใช้บริการ เงินทุน และเป้าหมายด้านบุคคลากรให้กับ NHS

    คณะกรรมการ NHS ซึ่งมีตัวแทนจากสำนักงานระดับภูมิภาคและชุมชนทั่วประเทศจะดูแลด้านงบประมาณการใช้จ่ายในระดับท้องถิ่น Clinical Commissioning Groups (CCGs) ทั้ง 207 ชุดได้ใช้ไปในการว่าจ้างบริการด้านสุขภาพในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง และดำเนินการโดย GP ที่ปรึกษา และพยาบาลที่ให้บริการสำหรับการประเมินความจำเป็นในพื้นที่ ซึ่งมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของงบประมาณ NHS ทั้งหมด

    จากนั้น NHS Foundation Trusts จะให้บริการการดูและตามที่ CCGs เห็นชอบ ซึ่งรวมถึงบริการปฐมภูมิ (primary care services) บริการด้านสุขภาพจิต (mental health) รถพยาบาล บริการสังคม และบริการโรงพยาบาล

    โครงสร้างของ NHS ยังประกอบไปด้วย

    Acute Trusts มีทั้งหมด 135 ทรัสต์ ทำหน้าที่บริหารโรงพยาบาลเพื่อให้การบริการสุขภาพมีคุณภาพสูงและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

    Hospital Trusts และ Foundation Trusts
    Hospital Trusts จะดูแลโรงพยาบาลในเครือข่าย NHS และศูนย์โรคเฉพาะทาง นอกจากนี้ยังมี Foundation Trusts ที่บริหารโดยผู้จัดการในพื้นที่ เจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคประชาชน ให้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่

    Ambulance Trusts เป็นการเข้าถึงการดูแลสุขภาพภายใต้ภาวะฉุกเฉิน ปัจจุบันมี 10 Ambulance Trusts ในอังกฤษ ขณะที่ในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ มีบริการรถพยาบาลที่แยกออกไป

    ห้องฉุกเฉินจะมีสิทธิตัดสินใจในการเรียกรถพยาบาลและตัดสินใจเคสไหนควรจะจัดการอย่างไร

    Mental Health Trusts
    ปัจจุบันมี 54 Mental Health Trusts ให้บริการด้านสุขภาพจิตและบริการสังคมสำหรับประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต

    เรียบเรียงจาก

    Britain’s NHS needs more than plaudits to beat Covid-19
    Clap For Our Carers: what time is the NHS applause tonight?
    How politics thwarted the UK’s Covid-19 response
    Public satisfaction with the NHS and social care in 2019
    What is the NHS? An introduction to the National Health Service
    How did Britain get its coronavirus response so wrong?
    More than 300 NHS and care workers have died because of coronavirus
    Is the NHS the world’s best healthcare system?
    Britain’s health service is part of its national psyche. It’s also on life support
    More than 300 NHS and care workers have died because of coronavirus