ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > จีนเปิดรายงานผลข้างเคียงวัคซีนโควิดครั้งแรก อาการไม่พึงประสงค์ “เกิดขึ้นยากมาก”

จีนเปิดรายงานผลข้างเคียงวัคซีนโควิดครั้งแรก อาการไม่พึงประสงค์ “เกิดขึ้นยากมาก”

30 พฤษภาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202105/1224769.shtml

รายงานวัคซีนโควิด-19 ที่เผยแพร่อย่างเป็นทางครั้งแรกของจีน แสดงให้เห็นว่าอาการไม่พึงประสงค์ “เกิดขึ้นยากมาก” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยกย่องความปลอดภัยที่ “โดดเด่น”

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 จีนเปิดเผยข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด -19จำนวนมาก โดยอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงอยู่ในระดับปกติและผลข้างเคียงรุนแรงที่ต่ำกว่าวัคซีนทั่วไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นการ พิสูจน์ให้เห็นถึงความปลอดภัยของวัคซีนและจะช่วยเพิ่มความเต็มใจในการฉีดวัคซีนทั่วโลก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน(Chinese Center for Disease Control and Prevention )ประกาศเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมว่า จากการฉีดวัคซีน 265 ล้านโดสระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2020 ถึง 30 เมษายน 2021 มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทั้งหมด 31,434 ครั้ง หรือ 11.86 ในทุกๆ 100,000 โดส

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ขณะที่จีนเร่งการฉีดวัคซีน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนรายงานของเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การฉีดวัคซีนทั้งหมด 584 ล้านโดสทั่วประเทศ หลังจากรายงานว่ามีการฉีดสูงสุด 20 ล้านครั้งภายในวันเดียวคือวันที่ 27 พฤษภาคม

ในบรรดาอาการไม่พึงประสงค์ ปฏิกิริยาที่พบโดยทั่วไปเช่น ไข้และแขนบวมคิดเป็น 82.96% ในขณะที่ผลข้างเคียงรุนแรง เช่น การแพ้เฉียบพลันคิดเป็น 17.04% ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของอาการไม่พึงประสงค์ที่รายงานจากวัคซีนทั่วไปที่ใช้ในปี 2562

ในกรณีที่มีอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงรุนแรง มีจำนวน 188 รายที่ถือว่า “ร้ายแรง” คิดเป็นอัตราส่วน 0.07 รายในทุกๆ 100,000 ราย นับว่าอยู่ในระดับที่ “เกิดขึ้นได้ยากมาก”

นายเฟิ่ง ตั้วเจีย ประธานสมาคมอุตสาหกรรมวัคซีนแห่งประเทศจีนกล่าวกับสำนักข่าว Global Times เมื่อวัน28 พฤษภาคมว่า เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานด้านสุขภาพของจีนเผยแพร่ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด -19 ทั่วประเทศและผลลัพธ์ก็ “ดีเยี่ยม”

นายเฟิ่ง กล่าวว่า โดยปกติแล้วอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์โดยหน่วยงานด้านสุขภาพ แต่เนื่องจากมีการใช้วัคซีนโควิด -19 ทั่วประเทศให้กับประชากรส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความกังวลของประชาชน

นายจ้วง ซื่อลี่เหอ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากกวางโจวกล่าวกับสำนักข่าว Global Times ว่า ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงนั้นต่ำกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่และต่ำกว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตด้วยวิธี mRNA อย่างมีนัยสำคัญ

หน่วยงานด้านสุขภาพของเม็กซิโกรายงานอาการไม่พึงประสงค์ 13,958 ครั้งในวัคซีน BioNTech-Pfizer 8.65 ล้านโดส (mRNA) และ 1,571 รายในวัคซีน Sinovac จากจีน(1,368) และ CanSino (203) จาก 7.7 ล้านโดสรวมกัน แต่ไม่ได้เปิดเผยอัตราส่วนของวัคซีนจีนทั้งสองชนิดต่อ 7.7 ล้านโดส

นายจ้วงยังตั้งข้อสังเกตว่า การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจะส่งผลต่อความแม่นยำของตัวเลขหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่ตรงเวลาและไม่สมบูรณ์ เมื่อมีฉีดวัคซีนจำนวนมากในช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากความเร่งด่วนของภัยคุกคามจากการแพร่ระบาด

ผู้คนอาจมีความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก แม้ว่าปฏิกิริยาทางกายภาพของพวกเขาจะคล้ายกันก็ตาม

ชาวปักกิ่งคนหนึ่งชื่อ ไป๋ ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Global Times ว่า เธอมีไข้ 39.5 องศาเซลเซียส หลังจากได้รับวัคซีนในเดือนกุมภา พันธ์ แต่ไม่ได้รายงานสถานการณ์ ไป๋บอกว่า เธอไม่รู้ว่าสามารถรายงานไปที่ศูนย์ฉีดวัคซีนหรือหน่วยงานด้านสุขภาพได้ อีกทั้งอาการที่เกิดขึ้น(ไข้) ไม่ใช่อาการที่พบยากในการฉีดวัคซีนและไม่จำเป็นต้องกังวล

ทั่วโลกเริ่มการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่โดยหวังว่าจะยับยั้งการแพร่ระบาดและกลับมาเชื่อมต่ออีกครั้ง แต่ยังคงมีความกังวลด้านความปลอดภัย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมญี่ปุ่นรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 57 รายคิดเป็น 85 รายจากการฉีดวัคซีน Pfizer จำนวน 8.6 ล้านโดส สาเหตุหลักมาจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง แต่ทางการญี่ปุ่นแจงว่า พวกเขาไม่สามารถระบุความเชื่อมโยงระหว่างการฉีดวัคซีนและการเสียชีวิตได้

นอกจากนี้การใช้ AstraZeneca ได้ชะลอออกไป และเกิดความลังเลที่จะใช้ หลังมีรายงานการอุดตันของลิ่มเลือดในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน หลายประเทศระงับการใช้งานชั่วคราว แต่กลับมาใช้ในภายหลังท่ามกลางสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดที่เร่งด่วนยิ่งขึ้น

นายเฟิ่ง ชี้ว่า การเผยแพร่ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ไม่เพียงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของชาวจีนในวัคซีนจีน แต่ยังช่วยเพิ่มความไว้วางใจของประเทศอื่น ๆ ในวัคซีนและเต็มใจมากขึ้นที่จะฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ประเทศไทยได้อนุญาตให้ใช้วัคซีน Sinopharm ของจีนในกรณีฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้ไทยได้อนุมัติวัคซีน Sinovac ของจีน เช่นเดียวกับ วัคซีน BioNTech-Pfizer, Moderna, AstraZeneca และ Johnson & Johnson

จีนมีความโปร่งใสและเปิดกว้างเกี่ยวกับวัคซีน นายเฟิ่ง กล่าวและเชื่อว่า นักพัฒนาวัคซีนจะยังคงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และหน่วยงานด้านสุขภาพของจีนจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนเป็นประจำ