ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2564
อินโดนีเซียออกเงื่อนไขใหม่ปรับทุนชำระแล้วบริษัทต่างชาติให้สูงขึ้น

บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซีย( (perusahaan milik asing) หรือ PT PMA ต้องมีทุนชำระแล้วจำนวน 10 พันล้านรูเปียะห์ (696,565 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 2.5 พันล้านรูเปียะห์ (174,135 ดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากรัฐบาลตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงเข้าในประเทศให้มากขึ้น
มูลค่าการลงทุนนี้ไม่รวมเงินลงทุนในที่ดิน หรืออาคาร การจัดตั้งบริษัทของต่างชาติเพื่อการลงทุนในอินโดนีเซีย เป็นโครงสร้างที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกเมื่อต้องการจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายในอินโดนีเซีย
คำสั่ง BKPM Reg 4/2021 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2021
อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นเรื่องการเพิ่มมูลค่าทุนชำระ หากบริษัทมีส่วนร่วมในกิจกรรมธุรกิจที่กำหนดดังนี้
PT PMA ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และมีมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 10 พันล้านรูเปียะห์ (696,565 ดอลลาร์สหรัฐ) (ไม่รวมที่ดินและอาคาร) ไม่ต้องเพิ่มทุนชำระแล้วอีก 10 พันล้านรูเปียะห์ หากว่าอยู่ในภาคธุรกิจอื่นที่อยู่ในตัวเลขสองหลักแรกของพิกัดการจัดประเภทธุรกิจตาม Standard Classification of Indonesia Business Fields (KBLI)
KBLI กำหนดกลุ่มเฉพาะ (และพิกัด) ซึ่งระบุประเภทธุรกิจ บริษัทต้องพิจารณาว่า อยู่ในพิกัด KBLI ไหนและธุรกิจนั้นเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือไม่
ตัวอย่างเช่น PTM ที่ค้าขายผลไม้อยู่ภายใต้พิกัด KBLI 46312 บริษัทต้องการขยายสายธุรกิจไปยังการซื้อขายผักภายใต้พิกัด KBLI 46313 เนื่องจากรหัส KBLI สองหลักแรกเหมือนกัน บริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนเพียง 10 พันล้านรูเปียะห์ (696,565 ดอลลาร์สหรัฐ) เท่านั้น (ไม่รวมที่ดิน) ดังนั้นจึงไม่ต้องเพิ่มทุนชำระแล้วเป็น 2 เท่าถึง 2 หมื่นล้านรูเปียะห์ (1.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่กรณีที่ตัวเลขสองตัวแรกของ KBLI ต่างกันจะต้องเพิ่มทุนชำระแล้ว
สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ หลักเกณฑ์ของ KBLI จะใช้กับ 4 หลักแรกของพิกัด ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีตัวเลข KBLI ที่ตรงกัน 5 หมายเลขเพื่อไม่ให้เพิ่มทุนชำระแล้วอีก 10 พันล้านรูเปียะห์ (696,565 ดอลลาร์สหรัฐ)
การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขภายใต้ BKPM Reg 4/2021 เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซียเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน
ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติต้องเจอกับเกณฑ์ใหม่ในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศ นอกเหนือจากการมีทุนชำระแล้วที่สูงขึ้น ใบอนุญาตธุรกิจจะออกตามการประเมิน “ระดับความเสี่ยงทางธุรกิจ” ที่กำหนดโดยขนาดของอันตรายที่ธุรกิจอาจสร้างขึ้นได้ ซึ่งจะประกอบด้วย การระบุกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง, การประเมินระดับอันตราย, การประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้น, การกำหนดระดับความเสี่ยงและอันดับขนาดของธุรกิจ และการกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการ
จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทที่ยื่นขอจะถูกจัดระดับความเสี่ยงเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งดังนี้ คือ ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ, ธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลาง-ต่ำ, ธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลาง-สูง และ ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
ยิ่งธุรกิจใดมีความเสี่ยงต่ำลดลง กระบวนการที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น กิจกรรมทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงอาจต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางหรือภูมิภาค ขณะที่กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงขอรับหมายเลขทะเบียนธุรกิจเท่านั้น
ฟิลิปปินส์เล็งดึงนักลงทุนสหรัฐฯย้ายฐานจากจีน

ฟิลิปปินส์หาทางชักชวนบริษัทในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมย้ายฐานจากความตึงเครียดทางการค้ากับจีน
ทูตพิเศษของฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯกำลังวางแผนความริเริ่มระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเชิญชวน บริษัทต่างๆของสหรัฐฯให้ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังฟิลิปปินส์ โดยมีเป้าหมายไปที่ บริษัทด้านการผลิตและการประกอบ ด้านโลจิสติกส์และพลังงานสีเขียว
“นอกเหนือจากการยกระดับการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนสำหรับประเทศของเราแล้ว เราจะพยายามจัดทำโรดแมปสำหรับบริษัทสหรัฐฯที่ต้องการทำธุรกิจในฟิลปปินส์ตามแนวทางของ กฎหมายเอื้อความสะดวกในการทำธุรกิจ( Ease of Doing Business Act)” นายโฮเซ อันโตนิโอ ทูตพิเศษ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร
โครงการนี้จะเริ่มต้นด้วยการประชุมออนไลน์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความสะดวกในการทำธุรกิจในฟิลิปปินส์รวมถึงการปฏิรูปการกระบวนการออกใบอนุญาตธุรกิจ การทำธุรกรรมอัตโนมัติ และนโยบายต่อต้านการทุจริต
“เรามีประชากรที่อายุน้อยและกำลังขยาย มีคนทุ่มเทกับการทำงานและพูดภาษาอังกฤษได้ ค่าแรงและค่าครองชีพที่ค่อนข้างต่ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายอันโตนิโอกล่าว
“เราจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากท่่จะบอกกับนักลงทุนและบริษัทสหรัฐที่กำลังเตรียมย้ายฐาน หากเราทำให้มั่นใจว่า กระบวนการเข้ามาทำธุรกิจและดำเนินงานของพวกเขาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ”
ฟิลิปปินส์ถูกคาดว่า จะได้ประโยชน์จากการย้ายบริษัทออกจากจีนเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน แต่นักลงทุนยังคงเลือกเวียดนาม และไทยมากกว่า
องค์กรที่สนับสนุนโครงการนี้ ได้แก่ สมาคมสหรัฐ – ฟิลิปปินส์, หอการค้าอเมริกันแห่งฟิลิปปินส์, อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์, สมาคมการจัดการแห่งฟิลิปปินส์และ สโมสร Harvard Business School Club ในฟิลิปปินส์ และมีกรมการค้าและพลังงานกับสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งฟิลิปปินส์เป็นตัวแทนภาครัฐ
ฟิลิปปินส์เตรียมหาทางความร่วมมือกับอินเดียด้านประมง

ฟิลิปปินส์และอินเดียกำลังมองหาโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือทางการค้า ในด้านการประมงทางทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเริ่มจากการลงทุนที่มีอนาคตของฟิลิปปินส์ด้วยการตั้งโรงงานแปรรูปปลาทูน่าในอินเดีย หรือนำเข้าทูน่า วัตถุดิบที่สำคัญจากอินเดีย
ในระหว่างการประชุมออนไลน์เกี่ยวกับการประมงทางทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของอินเดียซึ่งมีตัวแทนของอุตสาหกรรมการประมงของอินเดียและหอการค้าการประมงฟิลิปปินส์และสัตว์น้ำของฟิลิปปินส์ นายชามภู กุมาราน เอกอัครราชทูตอินเดียประจำฟิลิปปินส์เน้นย้ำว่า อินเดียกำลังมองหาการลงทุนและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการประมง กับฟิลิปปินส์
“มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเชื่อมโยงที่ยาวนานเพื่อเพิ่มผลผลิต เราขอเชิญชวนให้คุณมองหาโอกาสทางธุรกิจในอินเดีย” Kumaran กล่าว
นายกุมารานกล่าวว่า อินเดียและฟิลิปปินส์มีโอกาสมากมายในการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสร้างขีดความสามารถ และกำหนดนโยบายที่สามารถสนับสนุนภาคการประมงของทั้งสองประเทศ
ในโลกหลังโควิดความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความมั่นคงด้านอาหาร เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำให้อาหารปรับตัวกับสภาพอากาศได้และมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งมากขึ้น
นายเชเรียน คูเรียน กรรมการผู้จัดการของ M / S HIC ABF Special Foods ของอินเดีย กล่าวว่า มีโอกาสมากเพราะอินเดียเป็นแหล่งใหญ่ผลิตทูนาเพื่อบรรจุกระป๋อง ซึ่งฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในการแปรรูปปลาทูน่าและการบรรจุกระป๋อง สามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้
ปลาทูน่าเป็นหนึ่งในการส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ โดยมีมูลค่าปีละ 350- 400 ล้านดอลลาร์
นายฟรานซิสโก บุนคามิโน กรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ให้ความเห็นว่า การนำเข้าปลาทูน่าดิบของอินเดียและแปรรูปในประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากฟิลิปปินส์มีสิทธิพิเศษทางภาษีกับสหภาพยุโรปในการส่งออกปลาทูน่า
นายคูเรียนให้ข้อมูลว่า ทรัพยากรปลาทูน่าในมหาสมุทรของอินเดียภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีถึง 2.13 ล้านเมตริกตัน (MT) โดยมีปลาทูน่าครีบเหลืองในสัดส่วน 54%และปลาทูน่าพันธุ์ท้องแถบ 40% และว่าอินเดียสามารถเริ่มส่งออกปลาทูน่าไปยังฟิลิปปินส์ได้ในปริมาณมาก ด้วยเหตุนี้ฟิลิปปินส์จึงสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแปรรูปกระป๋อง
ความร่วมมืออีกด้านหนึ่งคือ กุ้ง โดยอินเดียอาจขยายเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา (R&D) ไปยังฟิลิปปินส์ที่ประสบปัญหาในการจัดการกับโรคกุ้ง
อินเดียเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะพันธุ์กุ้งขาว โดยส่งออกผลผลิตกุ้ง 90% ของที่ผลิตได้และเกือบ 50%ไปสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่กุ้งที่มีศักยภาพ 9.7 ล้านเฮกตาร์ในอินเดีย โดยที่ 8.5 ล้านเฮกตาร์เป็นพื้นที่น้ำเกลือท่วมขังและ 1.2 ล้านเฮกตาร์เป็นน้ำกร่อย
นายมิเกล เรเน่ โดมิงเกซ รองประธาน Alsons Agribusiness Unit กล่าวว่า มีโอกาสเพิ่มผลผลิตในการผลิตกุ้งและปูป่าชายเลนในฟิลิปปินส์ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของอินเดียในเทคโนโลยีด้านนี้อาจช่วยเพิ่มการผลิตกุ้งและปูป่าชายเลนของฟิลิปปินส์ สำหรับฟิลิปปินส์มีโอกาสอย่างมากใน ปลา กุ้งและปู เพราะมีแหล่งทรัพยากรมากมายทั้งทางกายภาพและความรู้ในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
เมียนมาไม่มีการลงทุนใหม่ของต่างชาติในเดือนเม.ย.

https://newsviews.thuraswiss.com/power-production-hits-5600-megawatts/
ในภาคการลงทุนของเมียนมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2560 ถึงเดือนมีนาคม 2564 การลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการอนุมัติมีมูลค่า 26.535 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน 2564 ไม่มีการลงทุนใหม่
ในเดือนมีนาคม 2564 มีการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐในภาคการผลิต ภาคไฟฟ้าและภาคบริการ
ข้อมูลจากเขตอุตสาหกรรมพิเศษ ในเดือนมีนาคม 2564มีการลงทุนมากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คณะกรรมการการลงทุน(MIC) ได้อนุญาตการลงทุนใหม่ 15 โครงการมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการประชุมครั้งที่ 3/2561 ของ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ โดยเป็น โครงการการผลิตไฟฟ้า การปศุสัตว์ การผลิตและภาคบริการอื่น ๆ
การลงทุนจากต่างประเทศอยู่ใน 11 ภาคเศรษฐกิจของเมียนมา เช่น การผลิต การขนส่ง การสื่อสารอสังหาริมทรัพย์ การไฟฟ้า การโรงแรมและการท่องเที่ยว ปศุสัตว์และประมง ภาคอุตสาหกรรม ภาคน้ำมันและก๊าซ ภาคเกษตรเหมืองแร่ และภาคบริการ และมีการลงทุนจากต่างประเทศในอีก 6 ภาคเศรษฐกิจ ในเขตอุตสาหกรรมพิเศษติลาวา
ตั้งแต่ปี 2531-2532 ถึงเดือนเมษายน 2564 ภายในระยะเวลา 33 ปีมูลค่าการลงทุนต่างชาติรวม 88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เวียดนามระงับนำเข้าหมูไทยชั่วคราว

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทได้ส่งเอกสารถึงสถานทูตไทยในเมืองฮานอยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมเพื่อแจ้ง การระงับการนำเข้าสุกรที่ยังเป็นๆเพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์จากประเทศไทยเข้าเวียดนามชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนนี้
การระงับการนำเข้าครั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เข้าสู่เวียดนามและแพร่กระจายโรคไปยังฝูงสุกรในประเทศ
สำหรับสุกรเป็นๆจำนวนหนึ่งที่ผ่านการลงนามขององค์กรของทั้งสองประเทศแล้ว จะถูกขนส่งไปเวียดนามภายในวันที่ 29 มิถุนายน จากการอนุญาตของกระทรวงฯให้นำเข้าได้ แต่สั่งให้หน่วยงานสัตวแพทย์ควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทมอบหมายให้กรมสุขภาพสัตว์ประสานงานกับทางการของประเทศไทยเพื่อประเมินสถานการณ์โรคในสุกรไทยที่เลี้ยงเพื่อส่งโรงฆ่าสัตว์ และพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าได้เมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขการปลอดโรค
หน่วยงานกักกันของกรมสุขภาพสัตว์ตรวจพบสุกร 980 ตัวที่นำเข้าจากประเทศไทยไปยังเวียดนามติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
เนื่องจากเวียดนามประสบการขาดแคลนอุปทานภายในประเทศอย่างรุนแรงทำให้ราคาหมูสูงขึ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ฟุง ดุ๊ก เทียน ได้ลงนามในเอกสารอนุญาตให้นำสุกรเป็นๆ จากไทยเข้าเวียดนามเพื่อชำแหละเป็นอาหาร หรือเพื่อการเกษตรในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
เวียดนามนำเข้าเนื้อหมูทุกชนิดเกือบ 226,000 ตันในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 260% เมื่อเทียบกับปี 2562 แหล่งนำเข้าหลักมาจากรัสเซีย โปแลนด์ บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา เยอรมนีและสเปน
สำหรับการนำเข้าสุกรเป็นจากไทย สถิติจากกรมสุขภาพสัตว์พบว่า มีการนำเข้ามากกว่า 503,000 ตัวมาในเวียดนามตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้วถึงวันที่ 13 มกราคมปีนี้
ในไตรมาสแรกของปี 2564 เวียดนามนำเข้าเนื้อหมู 34,600 ตัน มูลค่า 80.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 101.4% ในแง่ปริมาณและ 102.3%ในแง่มูลค่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กฎหมายโฆษณาใหม่เวียดนามให้ผู้ใช้กด skip เร็วขึ้น

กฎหมายใหม่ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน จำกัดระยะเวลาสูงสุดซึ่งผู้ใช้ต้องรอก่อนที่จะกดข้าม(skip)โฆษณาไว้ที่ 1.5 วินาที นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้แทรกโฆษณาลงกลางบทความ หรือ รายงานข่าวอีกด้วย
สมาคมโฆษณาเวียดนาม ได้ร้องเรียนไปยังกระทรวงข้อมูลและการสื่อสารว่ากฎระเบียบใหม่นี้ปฏิบัติจริงไม่ได้
สมาคมกล่าวซึ่งเป็นตัวแทนของสื่อและสำนักข่าวเกือบ 450 แห่ง ระบุว่าระยะเวลา 1.5 วินาทีสั้นเกินไปที่จะสื่อสารได้ โดยแพลตฟอร์มทั่วโลกส่วนใหญ่ให้ผู้ใช้ดูโฆษณาเป็นเวลา 5 วินาทีก่อนที่จะให้เลือกที่จะกดข้ามส่วนที่เหลือได้
สมาคมฯแย้งว่า หนังสือพิมพ์ทั่วโลกได้เปิดให้โฆษณาปรากฏในช่วงกลางของบทความสำหรับผู้ใช้ฟรี และเวียดนามก็ควรใช้แนวทางนี้ด้วย เนื่องจากผู้ใช้มีทางเลือกที่จะคลิกโฆษณาหรือไม่สนใจและอ่านต่อ
กฎระเบียบใหม่นี้จะสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่าง บริษัทในเวียดนามกับ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโฆษณาระดับโลกเช่น Facebook และ Google ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% ของรายได้โฆษณาทั้งหมดในเวียดนาม
สมาคมชี้ให้เห็นว่า Facebook และ Google ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของเวียดนาม ดังนั้นจึงจะไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบโฆษณาของตน
สมาคมฯยังระบุว่า การแพร่ระบาดทำให้ความต้องการของบริษัทต่างๆที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการทางออนไลน์สูงขึ้น และกฎเกณฑ์ใหม่จะสร้างความยุ่งยากให้กับธุรกิจท้องถิ่นและเอเจนซี่โฆษณามากขึ้น
สมาคมฯระบุอีกว่า กฎหมายการโฆษณาได้ประกาศใช้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วและตามไม่ทันกับเทคโนโลยีและการพัฒนาสื่อล่าสุด แต่กฎระเบียบล่าสุดกลับสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคธุรกิจนี้มากขึ้น
บริษัทโฆษณา Adsota คาดรายได้จากโฆษณาออนไลน์ในเวียดนามคาดว่าจะแตะ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีหน้า เพิ่มขึ้น 345% จากปี 2562