ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 มี.ค. 2563
“ธรรมนัส” แจง ไม่เกี่ยวกักตุนหน้ากากอนามัย ด้านคนต้นเรื่องเผย รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ท่ามกลางสถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดแคลน เรื่องร้อนสัปดาห์นี้เริ่มต้นที่การกลับมาของเพจนักสืบโลกออนไลน์อย่าง “แหม่มโพธิ์ดำ” ที่ออกมาเปิดเผยภาพจากเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานรายหนึ่ง คือ นายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี ซึ่งระบุว่าตนนั้นมีหน้ากากอนามัยแบบสำหรับใช้ทางการแพทย์อยู่ถึง 5 ล้านชิ้น ราคาชิ้นละ 14 บาท โดยจะแบ่งขายทีละ 1 ล้านชิ้น
นอกจากนี้ ในเฟซบุ๊กของนายศรสุวีร์กลับระบุว่าตนเองนั้นมีหน้ากากอนามัยอยู่ถึง 200 ล้านชิ้น และแบ่งขายส่งออกล็อตละ 1 ล้านชิ้นมาโดยตลอด
ทั้งหมดจึงกลายเป็นเรื่องให้สังคมต้องกังขา ว่าท่ามกลางการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และภายใต้ประกาศควบคุมราคาและการส่งออกหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2563 ที่ห้ามไม่ให้ขายหน้ากากอนามัยออกนอกประเทศเกิน 500 ชิ้น เหตุใดนายศรสุวีร์จึงมีหน้ากากอนามัยในครอบครองมากมายขนาดนั้น ทั้งยังส่งออกเกินจำนวนที่กรมการค้าภายในกำหนดอีกด้วย
เป้าแห่งการสงสัยนี้มุ่งไปยังโพสต์หนึ่งของนายศรสุวีร์ ซึ่งเป็นภาพตนเองกับชายอีกสองคน โดยหนึ่งในนั้นคือนายพิตตินันท์ รักเอียด ตำแหน่งผู้ติดตามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือก็คือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาด้วยการบอกว่าสิ่งที่ตนเคยขนไปยังออสเตรเลียจนกลายเป็นคดีและเป็นเรื่องให้ขุดคุ้ยกันจนทุกวันนี้ไม่ใช่เฮโรอีนแต่อย่างใด ทว่าคือแป้งต่างหาก
ต่อมา ร.อ. ธรรมนัส ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยสรุปได้ดังนี้
- ร.อ. ธรรมนัส ไม่รู้นักกับนายศรสุวีร์ ไม่เคยติดต่อ และไม่เคยข้องเกี่ยกับธุรกิจของนายศรสุวีร์
- ไม่ได้ติดต่อกับนายพิตตินันท์โดยตรงเพราะไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของนายพิตตินันท์ และนายพิตตินันท์เป็นคณะทำงาน แต่ไม่ได้เป็นผู้ติดตาม ร.อ. ธรรมนัส
- สอบถามคณะทำงานได้ความว่า การไปพบกับนายศรสุวีร์ก็เพื่อติดต่อเรื่องจะเอาหน้ากากอนามัยไปแจกให้ประชาชน
- บอกให้คณะทำงานแจ้งความเอาผิดนายศรสุวีร์ ซึ่งทราบว่านายพิตตินันท์ได้เดินทางไปแจ้งความแล้ว
- หากมีการกักตุนหน้ากากอนามัยจริงจะเข้าไปจัดการ และหากมีการสืบสวนแล้วพบว่านายพิตตินันท์ผิดจริงก็จะไม่เอาไว้
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนายศรสุวีร์มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. สอบปากคำ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้
- นายศรสุวีร์บอกว่าตัวเองเป็นแค่นายหน้าหหน้ากากอนามัยให้ผู้สั่งซื้อ
- นายศรสุวีร์ยืนยันว่าไม่รู้จักและไม่เคยพับกับ ร.อ. ธรรมนัส ส่วนนายพิจินันท์นั้นเพียงเจอกันระหวา่งนายศรสุวรีฺไปหาเพื่อน
- นายศรสุวีร์ยืนยันว่าไม่มีการเจรจาซื้อขายหน้ากากอนามันกับนายพิตตินันท์
- นายศรสุวีร์ยืนยันว่าตนไม่มีและไม่เคยเห็นสินค้า ที่ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊กนั้นเป็นของคนอื่น และถ้ามีคนสั่งซื้อเข้ามาจริงๆ ก็จะบอกว่าไม่มีสินค้า
- นายศรสุวีร์ชี้แจง โพสต์ต่างๆ ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นไปเืพ่อสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า โดยตนเองนั้นไม่เคยติดต่อกับประเทศจีน และทั้งหมดที่ทำไปนั้นเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าวว่า จากที่มีข่าวในโลกโซเชียลและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อต้องการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ได้ข้อเท็จจริง ถูกต้อง และต้องรวดเร็วที่สุด แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นทางนายศรสุวีร์ ได้ประสานผ่านมาทาง พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ภ.2 เพื่อขอเข้าพบทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำของนายศรสุวีร์ จะผิดจะถูกอย่างไร จากนี้จะมีการดำเนินไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ในชั้นต้นอยากให้พี่น้องประชาชนได้ฟังจากปากนายศรสุวีร์ ว่ามีข้อชี้แจงอย่างไร
ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่หลังจากนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการสอบสวนใดๆ เป็นเรื่องที่นายศรสุวีร์ สมัครใจให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน
ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่มีการขออนุมัติหมายค้นไป 6 จุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยังบอกไม่ได้ว่าพบอะไรบ้าง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหานายศรสุวีร์ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ป.ป.ช. ตีตกคำร้อง “กู้ 2 ล้านล้าน” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ผิด
วันที่ 13 มี.ค. 2563 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้ตีตกข้อกล่าวหาคณะรัฐมนตรีในชุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) และส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายใช้บังคับ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดดังกล่าวเป็นรายบุคคล
โดยเนื้่อหาระบุถึง การแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยอ้างถึงหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลงวันที่ 3 มิ.ย.2559 ในฐานะองค์คณะ ป.ป.ช. ได้แจ้งคำสั่งปรับเปลี่ยนให้คณะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการช่วยในการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ท่าน (รัฐมนตรี) ทราบ กรณีท่านกับพวกร่วมกันมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของท่านกับพวก ยังไม่มีมูลความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ ลงนามโดย นายจักรกฤช ตันเลิศ ผอ.สำนักไต่สวนการทุจริต ภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
6 ผบ.เหล่าทัพไม่ขอรับเงินเดือน ส.ว.
วันที่ 13 มี.ค. 2563 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), และ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่า ยอมรับว่าทุกคนได้ทำเรื่องถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อของดการรับเงินเดือน และเงินต่างๆ ในฐานะวุฒิสมาชิก และผู้ช่วยผู้ดำเนินงาน ส.ว. นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ไปจนถึงเกษียณราชการวันที่ 30 ก.ย. 2563 ที่จะเป็นการสิ้นสุดการทำหน้าที่ ส.ว. โดยตำแหน่ง โดยได้หารือร่วมกันในที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รายงานข่าวว่า ส.ว. ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 113,560 บาท และสาเหตุที่คืนเนื่องจากไม่อยากให้สังคมมองว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพรับเงินเดือนสองทาง อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสังคมในสภาวะที่ประเทศประสบปัญหาแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทุกอย่างก็แล้วแต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใด ซึ่งหากคิดย้อนหลังแล้วผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้ง 6 คน ตั้งแต่รับตำแหน่ง ส.ว. เมื่อเดือน พ.ค. 2562 จนถึงเดือน ม.ค. 2563 รวมแล้วต้องคืนเงินเดือนคนละประมาณ 1 ล้านกว่าบาท
รฟม. ลงทุน PPP 7 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้า “ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก”
วันที่ 13 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองภูมิภาค ใน 4 จังหวัด เพื่อแก้ปัญหาการจราจร และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเป็นการลงทุนรูปแบบ PPP รัฐจะลงทุนงานโยธาคิดเป็นสัดส่วน 80% และเอกชนลงทุนระบบและรับสัมปทานเดินรถ คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 20% ซึ่งจะให้เอกชนหาเงินลงทุนให้ก่อนเหมือนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง โดยรัฐจะชำระคืนไม่เกินค่างานโยธาเป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากเปิดบริการ
ทั้ง 4 โครงการ คาดว่าใช้เงินลงทุนรวม 72,085 ล้านบาท ซึ่งพร้อมดำเนินการที่สุด คือ รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 41.7 กม. จำนวน 21 สถานี จากท่าอากาศยาน-ห้าแยกฉลอง วงเงินลงทุน 35,294 ล้านบาท รูปแบบโครงสร้างมีทั้งใต้ดิน-ระดับพื้นดิน จะเป็นรถไฟฟ้าระบบแทรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. อนุมัติรูปแบบ PPP ก่อนเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะเริ่มการคัดเลือกเอกชนในเดือน พ.ย. 2563 ก่อสร้างเดือน ธ.ค.2564 เปิดเดือน มี.ค. 2568
จากนั้นเป็นรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง จากโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. จำนวน 16 สถานี เงินลงทุน 27,211 ล้านบาท ตลอดเส้นทางมีทั้งโครงสร้างใต้ดินและระดับพื้นดิน เป็นรถไฟฟ้าระบบไรต์เรล ขณะนี้กำลังออกแบบรายละเอียดและทำรายงาน PPP ตามแผน จะคัดเลือกเอกชนในเดือน ก.พ. 2564 เริ่มสร้างปี 2565 เปิดเดือน ธ.ค. 2570
ต่อมาเป็นรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวจากตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดี ระยะทาง 11.7 กม. จำนวน 20 สถานี เงินลงทุน 7,914 ล้านบาท รูปแบบเป็นโครงสร้างระดับพื้นดินและเป็นรถไฟฟ้าระบบไรต์เรล อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน PPP ตามแผนจะเริ่มคัดเลือกเอกชนในเดือน มี.ค. 2564 ก่อสร้างเดือน เม.ย. 2565 เปิดบริการเดือน ก.ค.2568
สุดท้ายเป็นรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดงจากมหาวิทยาลัยนเรศวร-เซ็นทรัลพิษณุโลก ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติให้ รฟม.เริ่มดำเนินโครงการทั้งศึกษา ออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน PPP มีระยะทาง 12.6 กม. จำนวน 15 สถานี เงินลงทุน 1,666.78 ล้านบาท รูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดิน ส่วนรถไฟฟ้าจะเป็นระบบออโต้แทรม ตามแผนจะเสนอขออนุมัติรูปแบบลงทุนในเดือน พ.ค. 2564 คัดเลือกเอกชนในเดือน ก.ย. 2565 ก่อสร้างเดือน ต.ค. 2566 เปิดบริการเดือน ธ.ค. 2569
องค์การอนามัยโลกประกาศโควิด-19 เป็น “การระบาดใหญ่”
วันที่ 12 มี.ค. 2563 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “การระบาดใหญ่” หรือ pandemic (การที่โรคติดเชื้อแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย โดยเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก) หลังจากเชื้อลุกลามไปใน 118 ประเทศและดินแดนทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อกว่า 121,000 คน ทั้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,300 คน
ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แถลงเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นอกประเทศจีนนั้นพุ่งพรวดขึ้น 13 เท่าตัวภายในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เขากล่าวว่ารู้สึก “เป็นกังวลอย่างยิ่ง” กับ “ความนิ่งเฉยในระดับที่น่าตกใจ” ที่มีต่อวิกฤตในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ผอ. WHO ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงระดับเตือนภัยโรคระบาดครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า WHO จะเปลี่ยนแปลงคำแนะนำที่ประเทศต่าง ๆ ควรทำเพื่อรับมือวิกฤตนี้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการ “เร่งด่วนและแข็งกร้าว” เพื่อจัดการการแพร่ระบาดของโรค