ThaiPublica > คนในข่าว > “สแตนลีย์ กัง” ประธาน JFCCT มองไทยจากก่อนถึงหลังโควิด เสียงสะท้อน…ต้องฟังแบบได้ยิน

“สแตนลีย์ กัง” ประธาน JFCCT มองไทยจากก่อนถึงหลังโควิด เสียงสะท้อน…ต้องฟังแบบได้ยิน

8 พฤษภาคม 2021


นายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย

การท่องเที่ยวเป็นตัวจักรสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นแหล่งจ้างงานจำนวนมหาศาลและทำรายได้หลักเข้าประเทศ โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 12% ของ GDP แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยรุนแรงตั้งแต่การระบาดระลอกแรก อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดีรวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

การระบาดของไวรัสในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจนรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง และได้อนุญาตให้บุคคลบางกลุ่มเดินทางเข้าได้ เช่น ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า ผู้มีรายได้สูงและนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (special tourist visa)

ในเดือนมีนาคมรัฐบาลได้เตรียมแนวทางความเป็นไปได้ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยให้ภูเก็ตซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นพื้นที่นำร่อง

รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ตที่เคยสูงถึง 471,606 ล้านบาท ในปี 2562 กลับติดลบ จึงมีคำถามว่า ภูเก็ต ควรวางอนาคตอย่างไร จะพึ่งพาการท่องเที่ยวเหมือนเดิมได้อีกหรือไม่ หรือควรปรับตัวอย่างไร และแนวทางของรัฐบาลในการสนับสนุนภูเก็ตควรเป็นอย่างไร

ก่อนการระบาดระลอกใหม่ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับ นายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ซึ่งพำนักและทำธุรกิจในประเทศไทยมาร่วม 40 ปีแล้ว ให้มุมมองเกี่ยวกับประเทศไทยและแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาภูเก็ตในรูปแบบใหม่ๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว และชี้ว่าภูเก็ตยังมีโอกาสอีกมากในหลายด้าน

ไทยพับลิก้า: มองเมืองไทยกว่า 40 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยพัฒนามาตลอด แต่โลกเปลี่ยนหมุนไป ก็ต้องปรับตัวตาม ไม่ใช่อยู่ของเราเอง เราต้องรู้ว่าการท่องเที่ยว การส่งออก และการพัฒนาประเทศเข้าสู่โลกได้ ก็ต้องเปิดให้มากขึ้น ผมคิดว่า openness เป็น key of success ผมเชื่อใน open society ส่วนเรื่องโควิด คิดว่าประเทศไทยโดนหนัก เพราะมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ว่าในรอบแรก บริหารดีมากแล้วก็ชนะโควิดได้ แต่ผมคิดว่าหลังจากเฟสแรก แล้วเฟสที่สอง ต้องรู้ว่าจะปรับเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งไทยพิเศษตรงที่อาศัยการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ต้องปรับตัวอย่างไร จะเปิดประเทศภายใต้ความปลอดภัยที่เราบริหารได้อย่างไร

“ในปีนี้ ผมคิดว่าการท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อม แล้วเตรียมพร้อมหรือยัง จะเตรียมพร้อมก่อนคนอื่นไหม ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำที่เปิดประเทศภายใต้การบริหารความเสี่ยงได้ ทำให้เศรษฐกิจเราขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 เหมือนกับเราป้องกันโควิดในเฟสแรก นั่นคือสิ่งที่ผมหวังว่าจะทำให้ได้”

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้ผมก็มั่นใจว่าเขาทำได้ เราต้องพยายามร่วมมือด้วยกัน และการต่อสู้โควิด ไม่ใช่แค่รัฐบาล… สื่อมวลชน ทุกคน ก็ต้องร่วมมือด้วยกัน ต้องระดมความคิดด้วยกัน เพื่อความปลอดภัยทุกคน ต้องร่วมมือด้วยกัน ทั้งสายการบิน สนามบิน ขนส่ง ที่พัก ต้องพยายามหาวิธีหลักการออกมา ทำอย่างไรให้เขาไปได้ ผมคิดว่าอีกระยะหนึ่งจะมีเทคโนโลยีออกมาใหม่เป็น medical technology ที่ทำให้การตรวจเช็คทำได้เร็ว รวมทั้งวิธีบริหารที่ให้มีโอกาสให้เข้ามาได้ smart quarantine 14 วัน แล้วใช้เทคโนโลยีที่ตรวจเช็คได้ บริหารได้ ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่บริการดีมาก ใครมีปัญหาเข้ามาประเทศไทยก็รักษาให้ได้ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ต้องมาคิดในทางนี้ อย่านั่งบ่น ต้องหาทางออก จับมือด้วยกัน หาทางออกได้ เราก็ชนะคนอื่นได้

นายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย

ไทยพับลิก้า: ในแง่ของธุรกิจท่องเที่ยว ต้องปรับแบบไหนอย่างไร

ผมคิดว่า ทุกประเทศจะปล่อยคนออกไปก็ยาก อันแรกต้องช่วยตัวเอง ผมคิดว่า ไม่ใช่แค่คนไทยเที่ยวไทย มีคนต่างชาติอยู่ในไทยจำนวนมาก ที่มีความรู้สึกดีแม้ยังไปไหนไม่ได้ ประเทศไทยปลอดภัย ต้องขอบคุณประเทศไทย รัฐบาลไทยดูแลประเทศไทยให้ปลอดภัย ทำให้เดินทางในประเทศได้ ประเทศที่โควิดระบาดรุนแรงการเดินทางในประเทศทำไม่ได้ ต่างชาติในประเทศไทยเมื่อก่อนช่วงปีใหม่ คริสมาส ก็กลับประเทศเขา แต่ตอนนี้ก็น่าใช้โอกาสนี้ให้ต่างชาติเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น ค่าเครื่องบินก็ถูกกว่า ที่พัก โรงแรม ก็ถูกกว่า

อีกทั้งทุกวันนี้ ทุกคนเป็น self-media เข้ามาแล้วมีการถ่ายเซลฟี่ลงเฟซบุ๊ก เราต้องให้เขาเที่ยวในประเทศไทยให้มาก ไม่ใช่แค่อยู่ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ทุกจังหวัดในประเทศไทย และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเหล่านี้เป็น mass media ไม่ต้องใช้เงิน แค่โปรโมทให้เขาไปเที่ยว ส่งเสริมให้ไปเที่ยว หลังโควิดผ่านไปทุกคนก็ต้องกลับมา ประเทศยังมีที่เที่ยวอีกมาก ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน

นอกจากนี้ โอกาสยังมีในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในระดับไฮเอนด์ที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ และมีเพื่อนในต่างประเทศ หากเพื่อนเขาเห็นว่าเขาเที่ยวในประเทศไทยอย่างไรแล้ว อีกสักครึ่งปีหรืออีกปีหนึ่ง โอกาสที่จะเดินระหว่างประเทศมีมากขึ้น เขาอยากจะมา

และอาจจะมองว่าเมืองไทยนอกจากกรุงเทพฯ แล้วยังมีไลฟ์สไตล์อีกหลายที่ ทำไมเขาไม่ work from ภูเก็ต ในเมื่อมีบ้านอยู่แล้ว ลองคิดว่าว่า ภูเก็ตจะเป็นศูนย์กลางอันดามันได้ไหม

อีกด้านหนึ่งที่มีโอกาส คือสถานศึกษา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมมาเรียนที่เมืองไทย ไม่ค่อยมีโรงเรียนให้เรียนได้สำหรับต่างชาติ แม้ว่าไทยมีโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น แต่ว่าผมก็ยังเห็นเรื่องหนึ่งแล้วเสียใจ เห็นว่าหลังจากเรียนจบไฮสคูลแล้วต้องส่งลูกไปเรียนในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย

ทำไมเราไม่สร้างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้แข็งแรง เปิดให้กว้าง ให้มหาวิทยาลัยดีๆ ของต่างประเทศเข้ามา join ด้วยกัน แต่ละปีคนไทยส่งลูกไปเรียนต่างประเทศต้องเสียค่าเรียน เสียค่าตั๋วเครื่องบิน ทุกปีพ่อแม่ไปเยี่ยม ต้องเสียเงินเท่าไร

“ทำไมเราไม่ทำภูเก็ตเป็น education hub ประเทศไทยเราจะเป็นสังคมสูงวัยแล้ว เด็กที่จะเรียนน้อยลง ทำไมประเทศไทยไม่เปลี่ยนเป็น education hub ของอาเซียน ให้ทุกคนส่งลูกมาเรียนที่นี่ เมื่อมาเรียนเยอะ จะได้มีโอกาสที่สร้างคนขึ้นมา คนของไทยก็ได้เรียนรู้ culture ของต่างประเทศด้วย ถ้ามหาวิทยาลัยเกิดขึ้น จะเป็น profit center นำรายได้เข้ามามาก นอกจาก MICE (การจัดประชุมและนิทรรศการ) แล้ว education ทำเงินเข้ามาให้ได้มาก เมื่อเขาเรียนจบกลับไปประเทศ ก็ยังเป็นเพื่อนกับประเทศไทย”

“Education is the best tool for international relationship ลงทุนไว้ มีรายได้ด้วย มีความผูกพันยาวด้วย ส่วนมากคนไทยเรียนอเมริกา ก็โปรอเมริกา เรียนเมืองจีนก็โปรจีน เรียนยุโรปก็โปรยุโรป ให้ต่างประเทศเข้ามาเรียนประเทศไทย กลับบ้านแล้วก็ต้องโปรไทย ง่ายที่สุดในสิ่งนี้ ให้เขาเข้ามาช่วยสร้างทุกอย่าง”

นายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย

ไทยพับลิก้า: เมืองไทยมีศักยภาพที่จะทำได้หรือไม่

มี ทุกคนถามผมว่า ต่างชาติชอบมาลงทุนในประเทศไทยไหม ต้องบอกว่าชอบ ภูเก็ตสวยไหม น่าอยู่ไหม ใช่ไหม หน้าการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาแล้วก็ไป ทำไมไม่หาที่ long stay มากกว่านั้น เมื่อก่อนคิดว่า long stay เหมาะสมสำหรับกลุ่มเกษียณอายุ แต่วันนี้ทุกกลุ่มอายุก็มา long stay ได้ แต่ไทย มี product ให้หรือไม่ เมื่อก่อนผมมาเรียน มากับพ่อแม่ พ่อแม่หาที่ให้เรียนโรงเรียนนานาชาติ แต่สมัยนี้ลูกผม ผมพาไปดูโรงเรียน ผมตกใจ ผมเห็นคนจีนพาลูกมาเรียนที่นี่ พ่อแม่ได้วีซ่าอาศัย เมืองไทยเป็นประเทศที่ดี เพียงแต่ว่าเรามี product ให้หรือไม่

มหาวิทยาลัยเราก็มีโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ในยุคที่เข้าสู่สังคมสูงวัย facility และ hardware เรามีอยู่แล้ว ทำไมไม่เอา software ตรงนี้เข้ามา เพื่อที่จะเหมือนกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เอา professor ดีๆ เข้ามา เพื่อดึงดูดให้เข้ามาเรียนที่นี่ เราสร้างคนด้วย มีรายได้ด้วย มาแล้วก็ท่องเที่ยวด้วย

“ดังนั้นต้องเปิดมุมมองใหม่เรื่อง long stay และต้องมีหลาย product มารองรับ ไม่ใช่เพียงแค่โปรดักต์กลุ่มคนแก่ที่เกษียณอายุ ต้องมีหลายอย่าง”

โดยเฉพาะในด้าน work from home ประเทศไทยน่าอยู่กว่า สำหรับ startup กลุ่มที่ทำงานด้านเทคโนโลยี ที่ทำงานในบ้านได้ ถ้ามา long stay ที่ภูเก็ต แล้วทำงานไปด้วยจากบ้าน เปิดประตู เปิดกระจกไปแล้ว เห็นสิ่งแวดล้อมสวย แทนที่จะอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยคอนกรีต อยู่ในกรุงเทพฯ

“สิ่งล้อมพวกนี้ มีอยู่แล้ว เราต้องดึงดูดคนต่างชาติเข้ามา มาสร้างมูลค่าให้มากขึ้น ใครเพิ่มมูลค่าได้ เราก็อยากให้เขามา แค่นั้นเอง จุดสำคัญ อย่าไปมองที่ตัวเลข จำนวนคน แต่มองที่มูลค่าเพิ่มที่เขาเอาเข้ามาได้มากขึ้นเท่าไหร่ นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากจะบอกรัฐบาล

ไทยพับลิก้า: แนวทางนี้ดีกว่าการที่จะไปดึง FDI ไหม เพราะการแข่งขันดึง FDI ตอนนี้เข้มข้นมาก

ไม่ แนวทางก็เหมือน FDI ส่วนมากพวกนี้เขามี community เขามาแล้วก็ลงทุน นอกจากนี้ FDI มีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่มาลงทุนอย่างเดียว เรื่องลงทุนอย่าไปคิดแค่ FDI โรงงานอย่างเดียว มีหลายอย่างที่สร้างมูลค่าในไทยได้ การมีมูลค่ามาก value ไม่ใช่ราคาถูก แต่หมายถึงมีมูลค่าสูง ต้องเพิ่มมูลค่า ต้องเอา turnover ให้คนไทยให้ได้ อย่าไปเน้นจำนวน ต้องเน้นในมูลค่า เราสร้างขึ้นมาได้

ไทยพับลิก้า: ได้เคยเสนอแนวคิด ให้กับรัฐบาลบ้างไหม

ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้ง แต่ก็ต้องปรับตัวคุยกับเขาเรื่อยๆ ประเทศไทยต้องปรับกฎหมายหลายอย่าง กฎหมายบางตัว ออกมานานมากแล้ว ไม่เหมาะสมกับการแข่งขัน ส่วนรัฐบาลเองก็ต้องปรับตัว มีหลายด้านที่ผมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศกำลังผลักดัน เช่น Guillotine Project

เราบอกว่ารัฐบาลต้องเป็น e-government กระทรวงต่างๆ ต้องมี one-window service พวกนี้ต้องทำให้ออกมา ทำให้ต่างชาติเข้ามา เพราะแค่กฎหมายไทย เขาก็งงแล้ว ต้องไปติดต่อหลายกระทรวง ไม่มี one-stop service รวมทั้งเอกสารที่ต้องใช้มีจำนวนมา ยุคนี้เป็น e-commerce แล้ว ทำไมยังใช้วิธีโบราณ ไม่มีพัฒนาการ

“ผมว่ารัฐบาลต้องปรับตัวให้ง่ายขึ้น เก็บข้อมูล (data) ให้ดี เช่น เรื่องขอวีซ่าปีนี้ ในปีหน้าขอใหม่ก็ต้องเตรียมเอกสารเท่ากัน ในเมื่อข้อมูลก็มีอยู่แล้ว ก็ลดการใช้เอกสารลง”

ไทยพับลิก้า: นอกจากกฎหมายและการปรับเป็น e-government มีเรื่องอื่นที่ต้องแก้ไขหรือไม่

ผมคิดว่า เราต้องเปิดใจให้ดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาหมด บ้านเรามีแรงงานต่างด้าว ประมาณ 4-5 ล้านคน

ผมเคยบอกรัฐบาลว่า เราต้องดึงดูดต่างชาติที่มีคุณภาพ (attract good foreigner) ในระดับบนเพียงแค่ 5 แสนคนก็ช่วยได้มากแล้ว แรงงานต่างด้าวเข้ามา คนที่มีทักษะสูง (high skill) ต้องดึงเข้ามา

กฎหมายของไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประเทศ ทำให้เป็นอุปสรรคกั้นไว้ โดยเน้นป้องกันแรงงานระดับล่าง แต่ขณะเดียวกันเป็นการห้ามระดับบนเข้ามาเหมือนกัน ก็ต้องหาทางออก

ไทยมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ผมเข้าใจความมั่นคงของประเทศก็ต้องมีกฎหมายมากมาย แต่ทำให้แรงงานระดับบนก็ไม่อยากจะเข้ามา แต่ผมคิดว่ารัฐบาลต้องอำนวยความสะดวก และทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ แต่ไทยต้องอย่าไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยต้องพัฒนาตัวเอง ให้ตัวเองเข้าสู่ที่ที่เก่งกว่าเขา”

ไทยพับลิก้า: มองอย่างไรที่ทุกคนกำลังมองว่าไทยกำลังถอยหลัง แข่งขันกับเวียดนามไม่ได้ในอาเซียน

ผมไม่มองอย่างนั้นหรอก ผมเห็นว่าเวียดนามมาทีหลัง ส่วนมากไทยทำเหมือนกับเก่าใช่ไหม ไทยก็สู้เขาไม่ได้ ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่มี FDI มากที่สุด เแน่นอน เริ่มต้นที่เวียดนาม เพราะต้นทุนทุกอย่างถูกกว่าไทย ช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นักลงทุนไปลงที่เวียดนามเยอะ

แต่ผมต้องบอกประเทศไทยว่าเราต้องสร้างมูลค่าของตัวเอง ให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำ ผมถามทุกครั้งว่า What’s the different between Thailand and Vietnam คนที่จะไปหาเขาก็ต้องลงไปหาเขา คนที่จะต้องมาหาเรา ก็ต้องมาหาเรา

“แต่ไทยต้องตั้ง vision กับ strategy ของไทยเองนะ มัวแต่นั่งบ่นไม่ได้ เพราะไทยมีคู่แข่ง ไทยต้องมี innovation ไทยต้องหา strategy อันแรกต้องมี vision ต้องหา strategy ต้องหาทางออก เมื่อก่อนเขาเห็นประเทศไทยดึงดูดการลงทุนเข้ามามาก เขาก็ต้องใช้วิธีเดียวกันเข้ามาแข่งกับไทย ไทยก็ต้องพัฒนาตัวเองไป innovation ต้องเปลี่ยนใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ไทยต้องสร้างมูลค่าไปต่อเนื่อง ไม่ว่ารัฐบาลหรือภาคเอกชน ก็ต้องทำ”

ไทยพับลิก้า: นวัตกรรมถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยไหม สู้คนอื่นไม่ได้

ไม่ “Innovation, you have to build it yourself. so I believe, personally, in open society” (คุณต้องสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อในสังคมที่เปิดกว้าง)

ดูอเมริกาเป็นตัวอย่าง นวัตกรรมเก่ง แต่ไม่ได้พัฒนาจากคนอเมริกาอย่างเดียว เพราะมีการดึงดูดคนเก่งๆ ทั้งหมดไปแล้วสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้น ประเทศไทยก็เหมือนกัน ไม่เก่งก็หาผู้เชี่ยวชาญมา แล้วเราต้องใช้เทคโนโลยี เราสร้างไม่ได้ เราก็ต้องเอามาใช้ให้ได้”

จุดสำคัญของพวกนี้ต้องมาจากผู้นำจากวิสัยทัศน์ จากกลยุทธ์ ทุกอย่างต้องชัดเจนแล้ว รัฐบาลต้องสร้าง ภาคเอกชนต้องสร้าง ระดมความคิด อะไรที่เป็นอนาคตของบริษัท ของประเทศ ต้องร่วมมือกันสร้าง

ไทยพับลิก้า: มองเศรษฐกิจอย่างไร ฟื้นตัวปี 2565 ไหม

ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยลงมาหนัก ทุกคนต้องปรับตัว ใครจะอยู่รอดได้ อยู่ที่การปรับตัวได้ นั่งบ่นก็รอตายอย่างเดียว ต้องปรับ ทำให้ตัวเองปรับตัวกับเหตุการณ์ใหม่ให้ได้ ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีอนาคต

“Never give up, the winners never quit and quitters never win” (อย่ายอมแพ้ คนชนะไม่เคยล้มเลิก คนล้มเลิกไม่เคยชนะ) ยอมแพ้ไม่ได้ก็ต้องสู้ หาทางออก โควิดมาแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัวในช่วงที่ไม่มีการท่องเที่ยวเข้ามา สักพักหนึ่งเราจะเตรียมตัวเปิดประเทศได้เร็วกว่า”

สแตนลีย์ กัง

ไทยพับลิก้า: การท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไหม บริษัททัวร์ต้องเปลี่ยนไปไหม

รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนอยู่ตลอดอยู่แล้ว อย่างแรกตามการปฏิวัติเทคโนโลยี อย่าคิดว่าการเปลี่ยนยาก การไม่เปลี่ยนแปลงตายเร็ว สินค้ามีกี่อย่างที่ทำมาหลายสิบปียังขายได้ นอกจากโคคา-โคลา กระทิงแดง แต่ไม่ใช่ว่าเขาหยุดนิ่ง มีการปรับตัวตลอด เรื่องธรรมดา ไอโฟนยังมีหลายรุ่น มือถือใหม่ออกมาปีเดียวเปลี่ยนรุ่น อย่าไปคิดมาก เรื่องเปลี่ยน เปลี่ยนไป เป็นเรื่องธรรมดา

“วิธีที่คุณการทำการท่องเที่ยว 30 ปีที่แล้ว วันนี้คุณไม่ปรับตัว คุณอยู่ได้ยังไง connectivity ง่ายกว่าเดิมเยอะ เมื่อก่อนนั่งเครื่องบินยาก ทุกวันนี้นั่งเครื่องบินง่ายมาก ก่อนโควิดผมนั่งเครื่องบินเหมือนกับนั่งรถเมล์เลย ทุกอาทิตย์”

“โอกาสอยู่ในมือของทุกคน เราต้องสามัคคีด้วยกัน แม้ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายจุดอยู่เหมือนกัน ทุกคนก็มีจุดอ่อนอยู่แล้ว แต่จุดสำคัญ รู้หรือไหมว่าอะไรเป็นจุดอ่อน และต้องการพัฒนาจุดนั้นอย่างไร เราต้องวิเคราะห์ว่า อะไรที่เป็นความเก่ง อะไรเป็นที่จุดอ่อนของคุณ อะไรเป็นแนวคิด อะไรเป็นข้อได้เปรียบ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่พอ ก็ต้องเสริม อะไรที่ดีแล้วจะพัฒนาไปอย่างไร มีคู่แข่งไหม มีแน่นอน โลกนี้ไม่ได้มีคนคนเดียว”

“So I believe in open society, everybody works together, brainstorming (ผมเลยเชื่อในสังคมที่เปิดกว้าง ทุกคนร่วมมือกัน ระดมความคิด) คนหนึ่งคิด คนจีนบอกว่า 3 คนคิด ดีกว่า 1 คนคิด”

เราต้องการระดมความคิดเสมอ แล้วเราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ต้องมองกว้าง อย่าไปมองแคบๆ ต้องสามัคคีด้วยกัน โดยเฉพาะในวิกฤติอย่างนี้ ต้องสามัคคีด้วยกัน ไม่ใช่บ่น ต่างคนสามารถระดมความคิด แก้ปัญหาตัวเองให้ได้ ปัญหาใหญ่ก็เป็นปัญหาเล็ก ปัญหาเล็กก็เป็นไม่มีปัญหา บางทีในทุกปัญหาในวิกฤติ มีโอกาสเยอะแยะ ทำไมไม่ไปพุ่งหาโอกาส

ไทยพับลิก้า: ทุกวิกฤติมีโอกาส

ใช่ ผมนึกอย่างนั้น digitalisation มาแน่นอน แต่ โควิดทำให้เกิดเร็วขึ้น ทำให้ไม่เสียเวลาไปอยู่กับของเก่า ต้องไปอยู่กับของใหม่ทันที แต่ว่าใครคิดไม่ออก ยังรอคนอื่นไปแก้ ก็ต้องตาย วิกฤติทำให้คนที่อ่อนแอตายไป เหลือแต่คนที่แข่งขันแล้ว จำได้ไหม ปี 1997 หลังจากวิกฤติแล้ว ประเทศไทยแข็งแรงขึ้น

คนเราป่วยแล้วหาย จะแข็งแรงมีภูมิต้านทานขึ้นมา อย่าไปกลัววิกฤติ ต้องมีหาวิธีทางออก หนีวิกฤติ ผมเชื่อว่าทุกวิกฤติเป็นความท้าทาย สวรรค์ให้มา ทำให้มาเราเติบโต เราแข็งแรงขึ้นมา

“ประเทศไทยต้องต่อสู้ ต้องคิด คิดให้ประเทศ คิดส่วนรวมมากกว่าไปคิดส่วนตัว ทุกคนต้องคิดส่วนรวม ถ้าไม่ได้คุณจะได้ ได้อย่างไร เหมือนกับการลงทุน คุณไม่ลงทุน คุณจะมีได้กำไรได้ยังไง คิดส่วนรวมอย่าไปคิดส่วนตัว”

สแตนลีย์ กัง


เกี่ยวกับ สแตนลีย์ กัง

สแตนลีย์ กัง เป็นคนไต้หวัน เดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกในยุค 80’s พร้อมพ่อกับแม่เพื่อเข้ามาศึกษาในระดับไฮสคูล หลังจากเรียนจบได้กลับไปไต้หวัน เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยได้กลับมาทำงานในไทยอีกครั้งด้วยการดูแลกิจการสิ่งทอของครอบครัว และนับเป็นเส้นทางอาชีพในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งบริษัทของสแตนลีย์ผลิตตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป

สแตนลีย์ เคยให้สัมภาษณ์ EMPIRICS ASIA ว่า เขามีความเชื่อมโยงกับเอเชียอย่างมาก โดยนอกเหนือจากการเป็นคนไต้หวันโดยกำเนิด รวมทั้งได้พำนักและทำธุรกิจในประเทศไทยร่วม 40 ปี โดยธุรกิจครอบคลุมทั่วโลก ด้วยการดำเนินงานในเอเชีย ทำให้เดินทางไปมาระหว่างไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์ และมีฐานการผลิตในหลายทวีปแล้ว ยังเป็นผลจากการที่ทำหน้าที่เป็นประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ทำให้มีความเชื่อมโยงกับไทยและภูมิภาค

ในปี 2013 สแตนลีย์ กัง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนของต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในประเทศไทย

ปัจจุบันJFCCT นับว่าเป็นหอการค้าร่วมที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย มีสมาชิกเป็นหอการค้า 34 ประเทศ และใน 34 หอการค้า มีบริษัทเป็นสมาชิกกว่า 9000 ราย

สแตนลีย์ กัง บอกกับ EMPIRICS ASIA ว่า กรุงเทพเป็นเมืองที่เขาชอบมาก เพราะมีทุกอย่างครบถ้วน ในแง่ธุรกิจ เมื่อมองให้รอบด้าน มีทั้งไลฟ์สไตล์ ทั้งคน เพราะว่าสุดท้ายทั้งสองอย่างนี้มีผลต่อธุรกิจอย่างมากและการดำเนินงาน

กรุงเทพยังมีความหลากหลาย มีที่ตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดคือกำลังขยายตัว อีกทั้งแนวทางการดำเนินธุรกิจและวิถีการใช้ชีวิตจัดว่าดี มีสิ่งที่เอื้อและอำนวยความสะดวกมากมายต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสันทนาการ ทั้งการประชุมนานาชาติและมีโรงแรมรองรับ ส่วนธุรกิจในภาคการผลิตก็มีสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม