ThaiPublica > เกาะกระแส > หลังจากเอกราช 50 ปี สิงคโปร์สร้างอาชีวศึกษาและสถาบันฝึกวิชาชีพ สู่คุณภาพระดับโลก

หลังจากเอกราช 50 ปี สิงคโปร์สร้างอาชีวศึกษาและสถาบันฝึกวิชาชีพ สู่คุณภาพระดับโลก

8 เมษายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Singapore#/media/File:SingaporeRiver-bumboats-196009.jpg

เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว สิงคโปร์ถูกเรียกว่าเป็น “หมู่บ้านประมง” ที่เงียบสงบ เนื่องจากไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ สิงคโปร์จึงเผชิญความตึงเครียดทางเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง ในปี 1965 เมื่อประกาศเอกราชและแยกตัวจากมาเลเซีย ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้นไปอีก แต่ในช่วงเพียงแค่ 40 ปี รัฐบาลสิงคโปร์ก็สามารถขจัดความยากจน การว่างงาน อาชญากรรม และเพิ่มรายได้ต่อคนจาก 530 ดอลลาร์สหรัฐในปี 1965 เป็น 24,560 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2004

แต่ทรัพยากรอย่างเดียวที่สิงคโปร์มีอยู่คือ แรงงานมนุษย์ ในช่วงปี 1960 ประชากรสิงคโปร์เองก็มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม อัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ 57% ในปี 1970 เยาวชนเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับสูงแค่ 5% แต่ในทศวรรษ 1990 เพิ่มเป็น 40% ในปี 1965 แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีอยู่ 50,000 คน ในปี 1975 เพิ่มเป็นกว่า 2 แสนคน และนับจากปี 1995 เป็นต้นมา การศึกษาของสิงคโปร์เริ่มต้นเข้าสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ

ความสำเร็จด้านการศึกษาของสิงคโปร์ เกิดคู่ขึ้นขนานกับความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสำเร็จทั้งสองด้านนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบบังเอิญ แต่มาจากการอาศัยการวางแผนทางยุทธศาสตร์ ความมุ่งมั่นของผู้นำการเมือง และการมีเสถียรภาพของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่กำหนดความสำเร็จของสิงคโปร์

รายงานของธนาคารโลกชื่อ Toward a Better Future (2008) กล่าวว่า การวางแผนเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษา และการฝึกอบรมแรงงานของสิงคโปร์ นับจากต้นทศวรรษ 1960 สิงคโปร์ได้ผ่านการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมมาแล้วหลายขั้นตอน

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ขั้นตอนแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมคือ การผลิตที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอและผลิตภัณฑ์ไม้ นับจากต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การพัฒนาที่สูงขึ้นของสิงคโปร์คือการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้สินค้าทุนเข้มข้น คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board – EDB) ยังกำหนดเป้าหมายให้สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางธุรกิจทั้งหมด (total business center) เพื่อดึงบริษัทต่างชาติในธุรกิจบริการทางการเงิน ซอฟต์แวร์ การแพทย์ ฯลฯ

ในทศวรรษ 1990 สิงคโปร์เข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นตอนที่ 3 โดยเศรษฐกิจเข้าสู่การอาศัยความรู้ นวัตกรรม กับการสร้างสรรค์ และนับจากปี 1997 เป็นต้นมา การพัฒนาอุตสาหกรรมได้เข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 คือทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยภาคการผลิตและธุรกิจบริการจะเป็นเครื่องยนต์ 2 เครื่อง ที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มาภาพ: amazon.com

ยุทธศาสตร์อาชีวะและเทคนิคศึกษา

เมื่อสิงคโปร์ได้รับเอกราชใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ธุรกิจค้าขายแบบดั้งเดิมและธุรกิจบริการไม่สามารถรองรับการจ้างงานแรงงานใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสิงคโปร์คือ การกระจายเศรษฐกิจไปสู่ภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรม

ในช่วงระยะ 50 ปีที่ผ่านมา (1965-2015) เศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้มีการยกระดับการผลิตด้านอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นมา 3 ช่วงด้วยกัน จากอุตสาหกรรมการผลิตที่อาศัยแรงงานเข้มข้น สู่การผลิตที่อาศัยสินค้าทุน และสู่เศรษฐกิจที่อาศัยนวัตกรรมกับองค์ความรู้ การยกระดับการพัฒนาดังกล่าว ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโลก และมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย

หนังสือ 50 Years of Technical Education in Singapore (2016) กล่าวว่า อาชีวศึกษาและการฝึกวิชาชีพ (Technical and Vocational Education and Training – TVET) มีพัฒนาการที่คู่ขนานไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ช่วงปี 1960-1975 ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจคือ การมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ระดับต่ำสุด เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก นโยบายการศึกษาของสิงคโปร์คือ การขยายการศึกษาระดับมัธยมและด้านเทคนิคพื้นฐาน เพื่อสนองความต้องการของภาคการผลิต

ช่วงปี 1975 ถึงทศวรรษ 1990 การว่างงานไม่ใช่ปัญหาของประเทศอีกต่อไป สิงคโปร์หันมาใช้ยุทธศาสตร์การผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ใช้สินค้าทุนเข้มข้น ทำให้ภาคการผลิตต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น รัฐบาลให้แรงจูงใจแก่บริษัทข้ามชาติในการตั้งสถาบันฝึกแรงงานของตัวเอง ต่อมา สิ่งนี้กลายเป็นโมเดลอาชีวศึกษาและการฝึกวิชาชีพของสิงคโปร์ ที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เช่น วิศวกรรมอุปกรณ์ความแม่นยำ ซอฟต์แวร์ และหุ่นยนต์

นับจากกลางทศวรรษ 1990 สิงคโปร์เข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจขั้นตอนที่ 3 คือ การมุ่งสู่การวิจัยและพัฒนา (R&D) นวัตกรรม การสร้างสรรค์ และภาคบริการ เป้าหมายคือทำให้สิงคโปร์อยู่ในขั้นตอนระดับสูงของห่วงโซ่คุณค่า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ และภาคบริการมูลค่าสูง ในช่วงนี้ TVET ถูกยกระดับไปสู่ “สถาบันเทคนิคศึกษา”

ที่มาภาพ: ite.edu.sg

สถาบันเทคนิคศึกษา

หลังจากก้าวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในปี 1991 สิงคโปร์เปิดเผยแผนเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับความก้าวหน้าในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยมุ่งที่จะให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไฮเทค และศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมนักธุรกิจให้ไปลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น

เป้าหมายการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ในปี 1992 TVET ถูกเปลี่ยนมาเป็น “สถาบันเทคนิคศึกษา” (Institute of Technical Education – ITE) มีการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ “อาชีวศึกษา” ที่เปลี่ยนมาเป็น “เทคนิคศึกษา” แทน เพราะคำว่า “เทคนิคศึกษา” จะสะท้อนความหมายของการศึกษาด้านทักษะในระดับสูง นอกจากนี้ ที่ผ่านมาคำว่า “อาชีวศึกษา” ถูกมองว่าเป็นทางเลือกของนักเรียนที่ล้มเหลวในระบบการศึกษาของโรงเรียน

ITE ของสิงคโปร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย แต่เป็นหน่วยงานด้านอาชีวศึกษาของรัฐ ที่ให้การฝึกอบรมก่อนการจ้างงานสำหรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษา นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งศึกษาต่อเนื่องและเพิ่มเติม สำหรับพนักงานและแรงงาน สถาบัน ITE ให้บริการเรื่องการฝึกแรงงานในวิชาชีพต่างๆ มากมาย และการศึกษาในระดับประกาศนียบัตร สาขาวิศวกรรม การบริหาร พยาบาล สถาปัตยกรรม ฯลฯ

ปี 2005 สิงคโปร์ปรับโครงสร้างเทคนิคศึกษา ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า “หนึ่งระบบ ITE สามวิทยาลัย” (One ITE System, Three Colleges) โดยรวมสถาบัน ITE 10 แห่ง ที่กระจัดกระจายมารวมเป็นวิทยาลัย 3 แห่ง โดยแต่ละแห่งยังพัฒนาความเป็นเลิศเฉพาะของตัวเองในด้านเทคนิคศึกษา การปรับโครงสร้างดังกล่าวยังทำให้คนทั่วไปเปลี่ยนความคิดและมีทัศนะเชิงบวกต่อสถาบันเทคนิคศึกษา

ในปีเดียวกันนี้ ITE กลายเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของสิงคโปร์ ที่ได้รับรางวัล Singapore Quality Award ที่มีชื่อเสียง ปี 2007 ITE ได้รับรางวัล Ash Institute for Democratic Governance and Innovation ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เนื่องจากหลักสูตรการอบรมมีผลอย่างมากต่อชีวิตของพลเมืองสิงคโปร์

การสร้างแบรนด์ของสถาบันเทคนิคศึกษาของสิงคโปร์
ที่มาภาพ : ite.edu.sg

บทเรียนจากสิงคโปร์

ปัจจุบันนี้ สถาบันเทคนิคศึกษาของสิงคโปร์ กลายเป็นโมเดลการศึกษาทางเทคนิคระดับโลกไปแล้ว แต่ที่ผ่านมา การพัฒนาด้านอาชีวศึกษาของสิงคโปร์ก็เผชิญปัญหาท้าทายหลายอย่าง เมื่อได้รับเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์ประสบปัญหาความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ หรือว่าไม่ได้อยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่ ที่จะอาศัยประโยชน์ เหมือนกับฮ่องกง แต่ความมุ่งมั่นของประชาชน การทำงานหนัก และรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สิงคโปร์สามารถเปลี่ยนฐานะจาก “ประเทศโลกที่ 3” เป็น “ประเทศโลกที่ 1”

รายงานธนาคารโลก Toward a Better Future บอกว่า บทเรียนจากสิงคโปร์อยู่ที่ว่า อาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษามีลักษณะพลวัต คือไม่หยุดนิ่ง นับจากปี 1965 เศรษฐกิจสิงคโปร์ก็ยกระดับจากการผลิตจากใช้แรงงานเข้มข้น สู่การผลิตใช้สินค้าทุนเข้มข้น และสู่การผลิตที่ใช้ความรู้เข้มข้น ระบบอาชีวศึกษาจะปรับตัวตาม เพื่อให้แรงงานมีทักษะ และความรู้ตรงตามความต้องการของแต่ละระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ

รายงานธนาคารโลกกล่าวสรุปว่า “สถาบัน ITE สามารถบรรลุความสำเร็จสำคัญในการสถาปนาตัวเอง ให้เป็นสถาบันการเรียนรู้หลังมัธยมศึกษา สามารถเปลี่ยนจากสถาบันอาชีวศึกษา มาเป็นวิทยาลัยการศึกษาระดับชั้นนำ ทำให้อาชีพที่อาศัยทักษะ มีความหมายสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างวิชาชีพที่ตัวเองมีความสามารถ ให้กับคนที่จบการศึกษาจากสถาบันนี้”

เอกสารประกอบ

Toward a Better Future: Education and Training for Economic Development in Singapore since 1965, The World Bank, 2008.
50 Years of Technical Education in Singapore, N. Varaprasad, World Scientific, 2016.