ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > นายกฯ พอใจเจรจานำเข้าวัคซีน Sputnik V คืบ รัสเซียตอบรับแล้ว

นายกฯ พอใจเจรจานำเข้าวัคซีน Sputnik V คืบ รัสเซียตอบรับแล้ว

22 เมษายน 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศของไทย เจรจาหารือกับรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียโดยตรง เรื่องการจัดหาวัคซีน สปุ๊ตนิค วี (Sputnik V) เพิ่มมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมาในรูปแบบรัฐต่อรัฐนั้น

นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้รับคำตอบจากสหพันธรัฐรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ยินดีให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยในเรื่องดังกล่าว เนื่องด้วยไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลไทยในปัจจุบัน

ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการต่อไปให้เป็นรูปธรรม และได้รับทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีทันที โดยได้นัดบริษัทตัวแทนวัคซีน สปุ๊ตนิค วี (Sputnik V) ในประเทศไทย มาหารืออย่างเร่งด่วนแล้ว

ที่มาภาพ: https://sputnikvaccine.com/newsroom/press-kit/photo/

วัคซีน 2.16 ล้านโดสส่ง 77 จังหวัดตามแผน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งยืนยันการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 “Sinovac” จำนวน 2,070,279โดสและ “AstraZeneca” จำนวน 89,040 โดส รวมการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 2,159,319 โดส โดยมีการจัดส่งและกระจายวัคซีนทั้งหมดที่ได้นำเข้ามา ส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว เพื่อเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบทุกวัน พร้อมทั้งจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อคนไทยอย่างน้อย 100 ล้านโดส ภายในปลายปี 2564 นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนในแต่ละวันให้กับประชาชนในจุดต่างๆทั่วประเทศด้วย ซึ่งทราบว่าหากไทยได้รับวัคซีนมากขึ้น หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่จะประสานกับภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมมือฉีดวัคซีนให้ประชาชนก็จะสามารถดำเนินการฉีดได้มากขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน จึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้ จะมีวัคซีนเข้ามากว่า 100 ล้านโดส สำหรับฉีดให้กับประชาชนกว่า 50 ล้านคนอย่างแน่นอน

นายอนุชา ยังได้ชี้แจงไทม์ไลน์การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทยอยเข้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้วจาก Sinovac จำนวน 200,000 โดส และ AstraZeneca จำนวน 117,000 โดส เดือนมีนาคมนำเข้าวัคซีนจาก Sinovac จำนวน 800,000 โดส และเดือนเมษายนนำเข้าวัคซีนจาก Sinovac จำนวน 1,000,000 โดส และในเสาร์ที่ 24 เมษายน 64 นี้จะมีวัคซีนเข้ามาจาก Sinovac จำนวน 500,000 โดส และมีแผนนำเข้า Sinovac เพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมอีก 1,000,000 โดส ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับรัฐบาลจีน

ขณะที่ วัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย จะเริ่มทยอยส่งได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เบื้องต้น 6,000,000 โดส และจะเพิ่มจำนวนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปถึงสิ้นปี 2564 จนครบ 61,000,000 โดส นอกจากนี้ยังมีบริษัทผลิตวัคซีนยี่ห้อต่างๆ เสนอขายวัคซีนแก่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือราคาและเงื่อนไข นอกจากนี้รัฐบาลเดินหน้าเตรียมพร้อมทั้งการจัดหาวัคซีนทางเลือกภาคเอกชนเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้มีไวรัสป้องกันโควิด-19 เพื่อคนไทย 100 ล้านโดส ภายในปลายปี 2564 นี้

ทั้งนี้ ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึง 21 เม.ย. 64 มีการฉีดไปแล้วทั้งสิ้นรวม 864,840 โดส เป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 746,617 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ คือ ครบ 2 เข็ม จำนวน 118,223 ราย ทั้งนี้แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดแล้ว 405,291 โดส เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 117,071 โดส ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 26,669 โดส บุคคลที่มีโรคประจำตัว 37,137 โดส และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 278,672 โดส

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ที่นำเข้ามาแล้ว ได้ถูกกระจายส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆทั่วประเทศอย่างทันท่วงทีด้วยความเร่งด่วน เพื่อฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดและรัฐบาลขอขอบคุณ และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล และอาสาสมัครทุกๆท่าน ที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักมาตลอด เพื่อรักษาและดูแลผู้ติดเชื้อ รวมถึงบุคลากรที่บริหารจัดการฉีดวัคซีนเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

สั่งแก้ปัญหาระบบรับ-ส่ง ผู้ป่วยโควิดเร่งบูรณาการฐานข้อมูล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับทราบถึงปัญหาการรับส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อทำการรักษาในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และรวมถึงเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เป็นโรงแรม (Hospitel) ทั้งจากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข การได้รับเรื่องร้องเรียนโดยตรง รวมถึงจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เร่งประสานบูรณาการส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์โดยเร็ว ในกรณีที่อยู่ในระว่างรอรับตัว ต้องแจ้งแนวทางปฏิบัติของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ทราบอย่างชัดแจน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานบูรณาการข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาลที่ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งของภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel พร้อมกำชับให้แก้ไขปัญหาสายด่วนในการจัดหาเตียง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทราบว่าบุคลากรไม่เพียงพอ จึงได้แก้ไขปัญหาเป็นการด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับกระบวนการขนส่งผู้ป่วย โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม อำนวยความสะดวกในส่วนนี้ ด้วยการนำยานพานะในกองทัพ ในช่วยในการขนส่งผู้ป่วยด้วย ซึ่งจะช่วยให้การข่นส่งผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า ประชาชนจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยรัฐบาลระดมทุกสรรพกําลังในการแก้ไขสถานการณ์การระบาดในครั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันระมัดระวังตนเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยไม่จำเป็น เว้นระยะห่างทางสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัย ตรวจสอบตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าประเทศไทยจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้โดยเร็ว เมื่อทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน