ThaiPublica > Native Ad > ธุรกิจผนึกกำลังมหาวิทยาลัย ออกแบบการศึกษา สร้างคนทำงานแห่งอนาคต

ธุรกิจผนึกกำลังมหาวิทยาลัย ออกแบบการศึกษา สร้างคนทำงานแห่งอนาคต

7 มิถุนายน 2021


ในช่วงที่ผ่านมา โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทักษะและคุณสมบัติของบุคลากรเปลี่ยนตาม งานที่เคยมีในสิบปีก่อนได้หายไป งานใหม่ที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่เคยมีมาก่อนในสิบปีก่อนหน้า เช่น data scientist, social media specialist และอื่นๆ อีกมากมาย การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อลดช่องว่างระหว่างความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยและทักษะที่จำเป็นบนเส้นทางอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสมากขึ้นในการวางอนาคต และยังตอบสนองภาคธุรกิจที่ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถและทักษะสอดรับกับโลกปัจจุบันที่กำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ความร่วมมือระหว่างธุรกิจและสถาบันการศึกษาจึงมีความจำเป็น และถือเป็นการวางอนาคตให้กับการศึกษายุคใหม่ เพราะเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ทักษะสำคัญและจำเป็น รวมทั้งปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับรูปแบบของงานในปัจจุบัน ตลอดจนช่วยให้ธุรกิจพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการและกลยุทธ์ธุรกิจได้

ที่สำคัญต้องสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้สิ่งใหม่ (learn) ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เรียนมา (unlearn) และเรียนรู้สิ่งที่เคยเรียนด้วยมุมมองใหม่ (relearn) เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงานในอนาคต

Stanford Thailand Research Consortium (STRC) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development: SCPD) ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Future Thailand – Innovation in Education and Workforce Development” เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา “ช่องว่างทักษะ” พัฒนาทักษะแรงงานและอนาคตประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมทางการศึกษาและการพัฒนากำลังคน

โดยมีคณาจารย์ นักวิจัยจาก STRC และผู้บริหารระดับแนวหน้าของประเทศไทย เข้าร่วม ประกอบด้วย ศาสตราจารย์แชรี แชพเพิร์ด
ริชาร์ด วีลแลนด์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, ดร.ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ศาสตราจารย์พิเศษ สถาบันการออกแบบ แฮซโซ แพลตเนอร์, นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG, นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และนายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

การเสวนาชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผลการศึกษาและมุมมองของภาคอุตสาหกรรมถึงความจำเป็นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านการเรียนรู้และความสามารถทางด้านนวัตกรรม อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทยในอนาคต โดยผู้เข้าร่วมเสวนาได้แบ่งปันมุมมองจากภาคธุรกิจในเรื่องทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพในอนาคต และการพัฒนากำลังคนในด้านความสามารถทางการเรียนรู้และความสามารถเชิงนวัตกรรมในประเทศไทย ที่กำลังเป็นที่ต้องการในวงกว้าง

ดร.ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ศาสตราจารย์พิเศษ สถาบันการออกแบบ แฮซโซ แพลตเนอร์ กล่าวว่า “เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของช่องว่างหรือความทับซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างวิธีการวางแนวคิดของผู้สอนถึงสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนในการเรียนรู้ และทักษะที่บริษัทไทยเห็นความสำคัญว่าพนักงานในอนาคตควรมี จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ในวันนี้เราต้องการพันธมิตรจากภาคองค์กรธุรกิจเข้ามามีส่วนในการร่วมหารือด้วยกัน”

เอไอเอสชี้องค์กรเติบโตได้ต้องร่วมมือภาครัฐ-ภาคการศึกษา

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม จากเอไอเอส ให้ความเห็นว่า ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลกระทบในทุกมิติอย่างรวดเร็วและรุนแรง สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาศักยภาพใหม่ๆให้กับคนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ในเวทีดิจิทัลระดับโลก และนี่คือ “พันธสัญญาที่สำคัญยิ่ง (vital obligation)” ในการร่วมกันสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของคนไทย ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรภาคการศึกษาตลอดจนภาคเอกชน คือ สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

“องค์กรจะเติบโตไม่ได้ หากสังคมหรือความพร้อมของทรัพยากรบุคคลในประเทศมีไม่เพียงพอ การเตรียมความพร้อมบุคลากรหลังจากจบการศึกษาใช้เวลานานและอาจจะมีความเสี่ยง ขณะเดียวกัน การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ธุรกิจไม่สามารถปล่อยให้ภาครัฐ หรือภาคการศึกษา ทำงานเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากภาคเอกชนเห็นภาพที่ชัดเจนในแง่ความต้องการบุคลากร หรือทิศทางการพัฒนาบุคลากร จึงเป็นความร่วมมือที่ภาคเอกชนจะต้องทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสังคม โดยเฉพาะองค์กรที่มีความแข็งแรงประสบความสำเร็จแล้ว และได้รับการตอบรับจากสังคม เป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่องค์กรจะต้องช่วยกัน เพราะจะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน”

สถาบันการศึกษาที่ผ่านมาเตรียมความพร้อมนักศึกษาในทฤษฎีวิชาการต่างๆ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต้องการให้สถาบันการศึกษาเตรียมความพร้อมของคนต่อตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับความสามารถและความแข็งแกร่งของภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อส่งคุณภาพที่ดีไปยังนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษา ภาคการศึกษากับภาคเอกชนต้องหารือกันให้มากขึ้น แทนการออกแบบจากมุมมองแต่ละฝ่าย ซึ่งจะทำให้ภาคการศึกษาเข้าใจความต้องการภาคเอกชนมากขึ้น และเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนแบ่งปันประสบการณ์และถ่ายทอดเกี่ยวกับชีวิตการทำงานที่แท้จริงในโลกของการทำงานให้กับนักศึกษาด้วย

“เราอยากให้มหาวิทยาลัยออกแบบการประเมินใหม่ที่มากกว่าความท่องจำ ส่วนเรื่องความเข้าใจ อาจจะไม่เพียงพอ เรียนรู้แล้วเข้าใจแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ ก็อยากจะให้สถาบันการศึกษา คณาจารย์ ช่วยหล่อหลอมองค์ความรู้ต่างๆ ที่ทำให้นักศึกษาสามารถวัดผลได้ว่า เมื่อเขาได้เรียนรู้แล้วเขาเอาไปใช้จริงได้ ในอนาคตต่อจากนี้ การจ้างงานกับคนที่ไม่จบจากมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีมากขึ้น และกลายเป็นเรื่องปกติ”

สำหรับความร่วมมือของเอไอเอสกับสถาบันการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน คือ โครงการแรกสำหรับผู้สอน คือ โครงการ The Educators Thailand ที่เริ่มในปีนี้ โดยมีครูผู้สอนเข้าร่วมกว่า 100 ราย เพื่อส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการสอนให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศ อีกโครงการหนึ่งคือ The Tutor Thailand การพัฒนาบุคลากรกลุ่มติวเตอร์

กสิกรไทยวางเส้นทางอาชีพด้วย Tech Kampus

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป

นายเรืองโรจน์ พูนผล จาก KBTG มีความเห็นที่ไม่ต่างกัน โดยให้ข้อมูลของ KBTG ว่า KBTG ใช้เวลา 6 เดือนในการเตรียมความพร้อมของเด็กจบใหม่มาร่วมงาน เนื่องจากระดับคะแนนเมื่อสำเร็จการศึกษาไม่ได้สะท้อนผลงานของพนักงาน เพราะในโลกการทำงานใช้ความสามารถมากกว่าความรู้ทางทฤษฎีรายวิชา เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการเป็นผู้นำ การริเริ่ม บางครั้งเด็กที่จบด้วยคะแนนสูงไม่ผ่านการทดสอบทักษะหรือการทดสอบด้านวิชาชีพ

KBTG ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีของไทย จึง มีโครงการ Tech Kampus พัฒนาคุณภาพการศึกษาและบุคลากรด้านไอทีในการเรียนรู้ และส่งเสริมงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ร่วมกับ 10 สถาบันการศึกษาและองค์กรภาครัฐเพื่อสร้างบุคลากรด้านไอทีสู่วงการไอทีไทยและระดับโลก

“เราร่วมออกแบบหลักสูตรและส่งทีมงานไปทำงานร่วมกับอาจารย์และนักศึกษา ทั้งในการทำการวิจัยและทำโครงการร่วมกัน รวมไปถึงการสอน การวัดผล โดยมีนักศึกษาปีที่ 3 เข้าร่วม ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีแนวคิดเกี่ยวกับเส้นทางการทำงาน เส้นทางอาชีพ เช่น การเป็น data scientist, software engineer เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะไม่ต้อง reskill เด็กอีกเมื่อเริ่มการทำงาน”

ปีนี้ KBTG รับพนักงานใหม่ 400 คนซึ่งแต่ละคนต้องใช้เวลาปรับทักษะ reskill เป็นเวลา 6 เดือน KBTG จึงปรับแผนการเทรนนิงทั้งหมด การเสริมสร้างประสบการณ์ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้พนักงานเรียนรู้เพิ่มทักษะได้เร็วขึ้น

จากการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับสถาบันศึกษาและองค์กรวิจัยชั้นนำระดับประเทศ KBTG สามารถช่วยสนับสนุนด้านการสร้างนวัตกรรมแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยจนถึงการผลิต ตลอดจนการรวบรวมองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยียุคใหม่ให้มีทักษะที่สำคัญในงานด้าน data science, AI, OCR, และ blockchain

การสนับสนุนแรงงานรุ่นใหม่นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างพลังและส่งเสริมนวัตกรรมให้กับผู้สอน ซึ่งเป็นผู้สร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงสำหรับนักเรียนและผู้เรียนรู้ เช่น การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ ITS ที่ The Stanford Thailand Research Consortium มุ่งหวังจะสร้างให้เกิดขึ้นผ่านงานวิจัยเชิงวิชาการ

เอพีไทยแลนด์ย้ำบุคลากรที่ดีคือรากฐานองค์กรช่วยพัฒนาประเทศ

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

นายวิทการ จันทวิมล จาก เอพี ไทยแลนด์ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน โดยกล่าวว่า องค์กรจะเติบโตได้ด้วยทรัพยากรขององค์กร และเชื่อว่าเวลา 4-5 ปีในมหาวิทยาลัยเป็นเวลาที่ดีที่สุด ในการที่จะพัฒนาคนที่มีความพร้อมที่จะออกมาสู่โลกของความเป็นจริงและให้เข้ามาเป็นทรัพยากรที่ดีขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว ในระดับประเทศ ระบบการศึกษาสามารถทำให้สามารถรับมือกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในระดับโลกได้ รวมทั้งองค์กรไทยสามารถที่จะสนับสนุนการพัฒนาอนาคตของประเทศ

นายวิทการกล่าวว่า การเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงานในยุคปัจจุบันนั้น นอกจากนักศึกษาเองจะต้องเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตนเองแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยสามารถหาข้อมูลที่ดีได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาประสบความสำเร็จได้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่เราคาดหวังนอกจากการทำข้อสอบและโจทย์ข้อสอบความรู้ด้านทฤษฎีต่างๆ แล้วคือ การประยุกต์ใช้ทฤษฎี”

ความร่วมมือระหว่างธุรกิจและสถาบันการศึกษามีความสำคัญอย่างมาก โดยเอพีไทยแลนด์มีโครงการ AP Open House ช่วยเสริมสร้างแนวทางที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาทักษะดังกล่าว เป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มาเรียนรู้การทำงานจริง เป็นการฝึกกระบวนการคิดเชิงออกแบบ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น

“งานในอนาคตจะอยู่ในรูป project-based หรือการทำงานโดยมีโครงการเป็นฐานมากขึ้น การประเมินจะอยู่ที่ผลงาน ดังนั้น การที่เด็กมีส่วนร่วมในโครงการที่มีการนำความรู้ทางทฤษฎีมาใช้จริงขณะที่ยังศึกษาอยู่ จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการออกทำงานจริง”

Soft Skill ทักษะแห่งโลกอนาคต

การเสวนายังประเมินทักษะที่พนักงานต้องมีและเป็นเรื่องสำคัญกับองค์กรธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดย นายเรืองโรจน์ให้ความเห็นว่า โดยพื้นฐานแล้ว การมีปฏิสัมพันธ์หรือ interaction มีความสำคัญ เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะมีความสำคัญมาก ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ AI อีกทั้ง KBTG เป็นบริษัทเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีในทุกแง่มุม เช่น face recognition หรือซอฟต์แวร์ ดังนั้นต้องเรียนรู้ที่จะต้องทำงานกับแมชชีน ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งหรือรับคำสั่งจากแมชชีน แต่การจะทำงานอย่างนั้นได้พนักงานต้องมี technology quotient หรือ การพัฒนาให้เข้าใจและรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการ เพราะทุกแง่มุมของชีวิตคนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ที่สำคัญต้องไม่สูญเสีย human touch หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคน ทั้งในด้าน empathy ความเข้าใจความรู้สึก agility ความคล่องตัว และความสามารถในการเรียนรู้ การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เรียนรู้ และการเรียนรู้ในมุมมองใหม่ ตลอดจนความสามารถในการปรับตัว เพราะคาดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือ disruption จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสิบปีนี้

“สำหรับทักษะทั้งหมดที่พูดถึงมีความสำคัญไม่แพ้ความรู้ นอกจากนี้ที่ KBTG ยังมีโปรแกรมการเรียนรู้หลายด้าน เช่น หลักสูตรสำหรับวิศวกร เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ธุรกิจได้”

ในด้านการวัดผล เนื่องจาก KBTG เป็นบริษัทเทคโนโลยีจึงใช้การวัดผลเชิงคุณภาพ นอกเหนือจากการวัดความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโค้ด การเขียนโปรแกรม โดยมีการสัมภาษณ์เพื่อประเมินความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความร่วมมือ ในอนาคตเชื่อว่าความสามารถด้านเทคโนโลยีจะนำมาใช้การประเมินทักษะมากขึ้น รวมทั้งการประเมินทัศนคติ รวมไปถึง social validation หรือจำนวนคนที่ให้การตอบรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เพราะทักษะในอนาคตจะลงลึกเป็นจุดๆ มากขึ้น เช่น จำนวนคนที่ใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้น ในลักษณะเดียวกับบทวิจัยที่ถูกนำไปอ้างอิงอย่างมากในวงกว้าง

“การประเมินจะมีหลายแง่มุมมากขึ้น มีความครอบคลุม อิงกับเทคโนโลยีมากขึ้น และอิงกับสังคมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นความท้าทายของฝ่ายบุคคลในอนาคต”

นางสาวกานติมากล่าวว่า นอกเหนือจากความรู้พื้นฐานและความสามารถทางเทคโนโลยีแล้ว soft skill ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสาร ที่มีความสำคัญเด่นชัดมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิดส่งผลให้สภาพการทำงานเปลี่ยนแปลง การสื่อสารยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ทักษะที่สองคือ active learning เพราะมีส่วนสำคัญต่อเส้นทางการเติบโตในอาชีพ เดิมทีองค์กรเป็นฝ่ายจัดหาองค์ความรู้ต่างๆ มาให้พนักงาน แต่ปัจจุบันองค์กรและพนักงานร่วมกันสรรหาองค์ความรู้มาพัฒนา การเรียนรู้ องค์กรจัดเตรียมช่องทาง การเข้าถึงหรืออุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ไว้ให้ได้ ขณะเดียวกัน พนักงานก็พึงตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้และลงมือเรียนรู้

ทักษะที่สาม คือ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี วัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนของผู้นำ

“เนื่องจาก skill set ต่างๆ เกิดการเคลื่อนตัว และเปลี่ยนไปในระดับที่ใช้ความเร็วและความแรงมากขึ้น การสร้างทักษะของคน ที่ใช้เวลา 4-5 ปีในสถาบันการศึกษาอาจจะไม่ตอบสนอง ความต้องการของตลาดและเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงไป เราเชื่อว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถ ที่จะเตรียมความพร้อมของคน แต่บทบาทในการให้การศึกษาความรู้อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่จะทำให้คนเกิด skill set และคาดว่าสถาบันเทคโนโลยี หรืออาชีวะเข้ามามีบทบาทในการสร้าง skill set ต่างๆ มากขึ้น”

นายวิทการมองว่า ทักษะแห่งอนาคต ข้อแรก คือ ความสามารถในคิดและการเรียนรู้ เพราะความเร็วของภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องปรับให้สามารถรับการตัดสินใจการปฏิบัติในโลกธุรกิจที่ซับซ้อนกว่าเดิมและเร็วขึ้น ซึ่งทักษะนี้จะช่วยให้พนักงานมีความมั่นใจเชื่อมั่นมากขึ้น ตัวอย่างของความสามารถในการคิดและการเรียนรู้ ได้แก่ คนที่ยอมรับการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ ยอมรับการทำงานใหม่ที่ต้องออกนอก comfort zone

ข้อสองทักษะด้านสังคม social skill และ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ emotional intelligence ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การสื่อสาร และทำให้คนต่างจากหุ่นยนต์ในวันข้างหน้าเมื่อหุ่นยนต์มาแทนที่คนในการทำงานมากขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงาน เข้าใจความรู้สึกเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยให้บริหารความคาดหวังได้ รวมทั้งมีความสามารถในการร่วมมือกับเพื่อนร่มงาน การมีวินัยซึ่งมีความสำคัญในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น

“มีชุดทักษะหลายอย่างที่จะทำให้เราสามารถที่จะเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องกระบวนการทำงาน ทุกคนจะต้องสามารถที่จะเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ทั้งในแง่ของมุมมองความคิด และในภาคของการปฏิบัติ การลงมือทำ รวมไปถึง soft skill เช่น emotional intelligence ที่จะต้องทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ทั้งที่เป็นคนที่อยู่ในสายงานเดียวกันและคนที่อยู่นอกสายงาน มีความสามารถที่จะบริหารความแตกต่างได้อย่างดี”

ฝึกอาจารย์มหาวิทยาลัยทดลองสอนแนวใหม่

ในการเสวนา The Stanford Thailand Research Consortium นำเสนอผลการศึกษาขั้นต้นของโครงการ Innovative Teaching Scholars (ITS) และความมุ่งมั่นในการทำวิจัยด้านการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นในด้านการยกระดับความสามารถและเสริมสร้างชุมชนสำหรับบุคลากรทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ดร.ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร
ศาสตราจารย์พิเศษ สถาบันการออกแบบ แฮซโซ แพลตเนอร์

ดร.ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความไม่สอดคล้องระหว่างการเตรียมความพร้อมของนักศึกษากับทักษะและวิธีคิด ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต โครงการ ITS จึงมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษาไทยที่สนใจปรับมุมมองสู่การศึกษายุคใหม่ และผู้นำเชิงนวัตกรรมจากภาคองค์กรระดับประเทศ ซึ่งกำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างความก้าวหน้าในองค์กรไทยในอนาคต

ขณะนี้โครงการวิจัยของ ITS กำลังติดอาวุธให้แก่คณาอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยจำนวน 50 รายจาก 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ผ่านโครงการอบรมในเดือนกันยายน 2563 ด้วยการทดลองการนำแนวทางการสอนแบบใหม่ด้วยการใช้โจทย์และความคาดหวังจากภาคธุรกิจในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาและสร้างเสริมทักษะใหม่ เพื่อมุ่งสร้างความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้อาจารย์เหล่านั้นให้เป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานและสถาบันของพวกเขาได้ทำในสิ่งเดียวกัน

ศาตราจารย์แชรี แชพเพิร์ด ริชาร์ด วีลแลนด์
คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ศาสตราจารย์ แชรี แชพเพิร์ด เป็นผู้นำในการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการที่มีต่อผู้สอนและวิธีการสอนของอาจารย์ผู้ร่วมโครงการ รายงานว่า ข้อมูลทั้งจากการสำรวจและการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าอาจารย์กลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการ ITS ประสบความสำเร็จในการทดลองในการนำกลยุทธ์แนวทางการสอนในรูปแบบใหม่ไปใช้ เช่น เปิดโอกาสให้นักศึกษามีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้นในห้องเรียน ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับอาจารย์บางส่วน แต่แนวทางนี้กลับเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับงานวิจัย ITS ในอนาคตจะมุ่งสำรวจต่อไปว่า อาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการจะยังคงช่วยสนับสนุนกันและกันในการยกระดับชั้นเรียนของพวกเขาสู่มิติใหม่หรือไม่ ตลอดจนสำรวจไปถึงระดับที่เขาเหล่านั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ในสถาบันการศึกษาของตน เพื่อลองนำแนวทางการสอนแบบใหม่นี้ไปใช้สอนในวิชาของตนเอง

นอกจากนี้ นักวิจัยในโครงการ ITS กำลังทำงานร่วมกับบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ บุคลากรสายอาชีพเฉพาะทาง (early-career professional) และตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยระบุทักษะเฉพาะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต ตลอดจนมุ่งหาแนวทางเพิ่มเติมว่าโครงการ ITS นี้จะสามารถช่วยเหลือเหล่าอาจารย์ในการบูรณาการทักษะเฉพาะเหล่านั้นให้เข้ากับหลักสูตรของตนเองได้ดียิ่งขึ้นอย่างไร

รศ. ดร. ณัฐสุดา สุมณศิริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หนึ่งในคณะอาจารย์ที่เข้ารับการอบรมกับ ITS ตามหลักสูตร 9 เดือน ปัจจุบันสอนในภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปี 1 กล่าวว่า มีประสบการณ์ในการสอนมากกว่า 9 ปี โดยเป็นการสอนแบบทั่วไปคือ การบรรยายในชั้นเรียน ให้การบ้าน ประเมินผลให้คะแนน แต่จากการเข้าร่วมโครงการทำให้ออกนอกกรอบแนวคิดเดิม สามารถนำแนวทางการสอนแบบใหม่มาใช้ และยังมีเครื่องมือ เทคนิคการสอนแบบใหม่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ใหม่ เช่น การจำลองสถานการณ์ มีการแลกเปลี่ยนกับเด็ก เกิดการเรียนรู้ทั้งผู้สอนและผู้เรียน ผู้เรียนก็สนุกกับการเรียนมากขึ้น

The Stanford Thailand Research Consortium (STRC) บริหารโดยศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development) โดยได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center: SEAC) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก เอไอเอส เอพี (ไทยแลนด์) และธนาคารกสิกรไทย