ThaiPublica > Native Ad > แกะสูตรการลงทุนฉบับเดอะวิสดอมกสิกรไทย พร้อมเจาะโอกาสบนโลกการเงินยุคดิสรัปชัน

แกะสูตรการลงทุนฉบับเดอะวิสดอมกสิกรไทย พร้อมเจาะโอกาสบนโลกการเงินยุคดิสรัปชัน

25 ตุลาคม 2021


ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คนหันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้ามาของเทคโนโลยีพร้อมๆ กับการเกิดวิกฤติโควิด-19 ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างรายได้และผลตอบแทนที่มั่นคงผ่านการลงทุนรูปแบบต่างๆ

ปัจจุบันการลงทุนเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างจากอดีต โดยเฉพาะคริปโทเคอเรนซีและ DeFi ซึ่งได้สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำจนเกิดเศรษฐีหน้าใหม่จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนหน้าใหม่และนักลงทุนหน้าเดิมกระโดดเข้าวงการการลงทุนใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้นักลงทุนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับแพลตฟอร์ม เทรนด์ และอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต หากใครมองเห็นอนาคตก่อน ย่อมสร้างความได้เปรียบในการลงทุน

ธนาคารกสิกรไทย จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน หัวข้อ “THE WISDOM The Symbol Of Your Vision: The Future of Digital Disruption and Investment” ให้กับกลุ่มลูกค้าเดอะวิสดอม เพื่อทำความเข้าใจโลกและการลงทุนในอนาคต เป็นการเปิดมุมมองพร้อมรับมือและคว้าโอกาสในการลงทุนที่ดีกว่าเดิม

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกแบบยกกำลัง

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG)

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) กล่าวเปิดการสัมมนาในหัวข้อ “Turning Digital Disruption into Opportunities” โดยเริ่มจากฉายภาพโลกในปี 2030 ว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล และยิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งช่วงปี 2040-2041 ซึ่งจะกลายเป็นโลกที่คนยุคปัจจุบันจินตนาการไม่ออก จากยุค The Age of Digital Disruption ปี 2016 สู่ยุค Disruption Domino ในปี 2018-2019 ต่อมาเป็นวิกฤติโควิด-19 ที่เร่งการเปลี่ยนแปลงให้เข้าสู่ยุค Continuous Disruption จากนั้นโลกจะเกิดจุดหักศอกหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2024-2025

“โลกเปลี่ยนจาก lazy economy เป็น at home economy ก่อนโควิดเราขี้เกียจถึงสั่งของแบบ on demand delivery ต่อมากลายเป็น work play stay learn ที่บ้าน ตอนโควิดเข้ามาระลอกแรก สิ่งที่เราบอกว่าไม่เคยทำ-ทำไม่ได้ สองอาทิตย์ถัดมาเราทำได้หมด เช่น work from home หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจึงต้อง agile from anywhere แต่ว่าการทำงานทำให้เราโหยหามนุษย์ ดังนั้นมันต้องเป็น hybrid model”

นายเรืองโรจน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกหลังจากนี้อย่างมหาศาลมี 3 อย่าง คือ (1) Holy Technology (2) AI และ Blockchain (3) Quantum Computing

“ต่อไปสัตว์เลี้ยงอาจจะเป็นหุ่นยนต์ cyberdog ที่ราคาถูกกว่านาฬิกาข้อมือ หรือเลี้ยงแมวออนไลน์ 10 ตัวในราคาที่ถูกกว่าเราซื้อแอปเปิลวอตช์”

ที่สำคัญคือเทรนด์การใช้ AI ในระดับองค์กรให้ทำงานในลักษณะงานที่ทำเป็นกิจวัตรแทนมนุษย์ เนื่องจาก AI จะฉลาดกว่าเดิม เข้าใจภาษาพูด สีหน้า เข้าใจข้อมูลแล้วสื่อสารกับมนุษย์ รวมถึง AI จะให้เหตุผลและตัดสินใจเองได้ โดยทั้งหมดจะต้องมีข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน

นอกจากนี้เทคโนโลยี Blockchain และ DEfi จะเปิดโอกาสใหม่โดยไม่พึ่งตัวกลาง เพราะจะสร้างระบบการเงินทั้งหมดได้ใหม่ทั้งหมด รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้เกินกว่าจะจินตนาการ

อนาคตที่มาพร้อมโอกาสอุตสาหกรรมในยุคดิสรัปชัน

นายเรืองโรจน์กล่าวต่อว่า ก่อนการระบาดของโควิดคาดว่าจะมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสื่อที่จะถูกดิสรัปอย่างมหาศาล ส่วนอุตสาหกรรมอื่นได้รับผลกระทบรองลงมา แต่โควิด-19 ได้เร่งให้ ‘ทุกอุตสาหกรรม’ เผชิญกับการดิสรัปพร้อมกันหมด และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมแต่ก็มาพร้อมโอกาส

ตัวอย่างเช่น ค้าปลีกหรือ retail ซึ่งกลายเป็น new normal ของยุคปัจจุบัน อย่างอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโต 58% ในช่วงโควิด-19 นับว่าเกือบสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสิงคโปร์เติบโต 47% และอินโดนีเซีย 15%

นายเรืองโรจน์เล่าว่า อุตสาหกรรมที่จะถูกดิสรัปและเปลี่ยนแปลงมหาศาลคือ mobility ครอบคลุมถึงการเคลื่อนคน สินค้า และเงิน ตั้งแต่การผลิตรถยนต์ ส่งของ และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย

นายเรืองโรจน์เล่าต่อว่า บริษัทเทคโนโลยีเริ่มมีอำนาจในอุตสาหกรรม เช่น กรณีบริษัทเทสลาที่มีอำนาจเหนือตลาดผลิตไม่พอกับความต้องการ สะท้อนถึงการเข้ามาของ non-automative player ในอุตสาหกรรมนี้ และคาดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตมีมูลค่าถึง 2.5 พันล้านเหรียญในปี 2027 และสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 60 ล้านคันต่อปีในปี 2041

นอกจากนี้ยังเกิดการต่อยอด mobility ด้วยการพัฒนาจาก 5G และ smart city ทำให้รถยนต์ไร้คนขับจะเป็นยานพาหนะสำคัญของยุค และนำไปสู่เศรษฐกิจภายในรถหรือ in car economy ซึ่งคนจะสามารถทำกิจกรรมภายในรถได้ ตั้งแต่ให้รถยนต์เป็นโรงแรม ที่ประชุม จุดดูวิวเหมือน รับประทานอาหาร เอนเตอร์เทน ชอปปิง ฟิตเนส ฯลฯ

ส่วนอุตสาหกรรมอาหารในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมุ่งไปที่อาหารที่ทำจากพืช (plant-based) และไม่ใช่แค่รูปแบบการกินที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมนี้จะใช้ข้อมูลเป็นตัวกำหนดให้เข้ากับแต่ละคน (personalize) ตลอดจนฟาร์มจะถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาลในกระบวนการผลิต

“ผมไปซิลิคอนวัลเลย์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีบริษัทชื่อ Impossible Burger เขาทำเบอร์เกอร์จากพืช ผ่านไปสองปีครึ่งบริษัทเขาเริ่มใหญ่ระดับหนึ่ง เขาเลือกไปแตะตลาดอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่มีมูลค่าตลาด 1.7 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งตลาดนี้ถูกดิสรัป เพราะอาหารที่ทำจากสัตว์ใช้น้ำถึง 30% แต่ถ้าเป็นอาหารจากพืชใช้น้ำน้อยกว่าถึง 74% แล้วอาหารเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น 15% แต่ถ้าบริโภคอาหารจากพืชจะลดก๊าซได้ 87%”

ด้านอุตสาหกรรมค้าปลีกจะเน้นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า มีการผสมผสานระหว่างการขายของบนของโลกออนไลน์และออฟไลน์ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล และวัดกันที่ความรวดเร็ว ความคล่องตัวในการบริการสินค้าถึงมือลูกค้า ตลอดจนการสร้างชุมชน-สังคม จะเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมค้าปลีก ตัวอย่างเช่น ร้านโยคะเปลี่ยนตัวเองเป็นชุมชนสอนโยคะ นั่งสมาธิ และปรับจุดยืนเป็น wellness center

“สิ่งที่ผมอยากบอกคือไม่ใช่ทุกห้างสรรพสินค้าจะตาย ผมตอบได้ว่ายังอยู่ได้ แต่ต้องใกล้ลูกค้ามาก จะยิ่งมีคุณค่ามาก ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมโฆษณา พอโฆษณาใกล้ลูกค้าก็จะมีโอกาสขายได้มากขึ้น และห้างสรรพสินค้าจะขนาดเล็กลง เป็น omni-channel มากขึ้น”

“ในยุคดิสรัปชันมีทางเลือก 3 อย่าง หนึ่ง คือ เป็นจับกังให้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เอาสินค้าไปขายแล้วเก็บค่าธรรมเนียม 20-30% สอง เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอง และสาม direct to customer relationship คือใกล้ชิดลูกค้า ทำให้ลูกค้าคิดถึงแบรนด์ก่อนแพลตฟอร์ม”

ส่วนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ นายเรืองโรจน์ยกตัวอย่างที่ซีอีโอวัคซีนโมเดอร์นาบอกว่าในอนาคตจะสามารถทำต้นแบบวัคซีนได้ในเวลาเพียง 42 วัน และอุตสาหกรรมการแพทย์จะพัฒนาไปถึงขั้นรักษามะเร็ง ผลิตดีเอ็นเอหรือโมเลกุลสิ่งมีชีวิตต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี life printer และสังคมสูงวัยจะทำให้คนยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อเข้าสู่การแพทย์ในอนาคต

นายเรืองโรจน์เล่าต่อว่า อุตสาหกรรมการศึกษาถูกดิสรัปให้เทคโนโลยีทางการศึกษา(Edtech)เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันโลกอนาคตจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นจำนวนมาก และแรงงานมนุษย์ถูกแทนที่ด้วย AI ดังนั้นต้อง reskill เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยจะเห็นได้ว่ามีการเกิดขึ้นของธุรกิจที่ทำเรื่องการ reskill, online degree เรียนคอร์สเล็กๆ โดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีเพื่อรอใบปริญญา

สุดท้ายอุตสาหกรรมการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องปรับตัวให้เร็ว หลายธนาคารปรับตัวเป็น tech company เพื่อเข้าไปลงทุนในฟินเทค-สตาร์ทอัป แล้วนำเทคโนโลยีจากฟินเทค-สตาร์ทอัปเหล่านั้นมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร

นายเรืองโรจน์ทิ้งท้ายว่า skill ที่สำคัญที่สุดคือการ ‘ไม่ยึดติด’ และ ‘เรียนรู้เร็ว’ มีความกล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน ส่วนผู้ประกอบการต้องใช้นวัตกรรมให้เข้ากับธุรกิจ สร้าง mindset ด้าน empathy กับลูกค้าและพนักงาน ที่สำคัญคือฟังและเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่

ยุคแห่งการลงทุนได้หลากหลาย


ในวงเสวนาหัวข้อ “Unlock a New Era of Investment” ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงในลงทุนยุคใหม่ โดยนายชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และนายกานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand

นายชลเดช เขมะรัตนา กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนหลังโควิด-19 จะอยู่ในรูป K-Shape โดยการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีและที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ได้กลายเป็นขาบนของ ตัว K หรือยุคทองการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้

ในเดือนมกราคมปี 2020 นักลงทุนในหุ้นไทยมีจำนวนประมาณ. 1.2 ล้านคน แต่หลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนนักลงทุนเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในเดือนสิงหาคม 2021 และยังเห็นว่านักลงทุนรายย่อยที่อายุน้อยลงหันมาลงทุนมากขึ้น เพราะมองว่าการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับเงินในกระเป๋ามนุษย์เงินเดือนมีมากขึ้น และปัจจุบันข้อมูลข่าวสารที่รายย่อยได้รับเท่าเทียมกับนักลงทุนรายใหญ่

“สมัยก่อนเวลาพูดถึงการลงทุนแบบ VI (value investment) คือหุ้นดีราคาถูก แต่เมื่อโควิดระบาดทำให้หมดยุคของ VI แต่ต้องมองการเติบโตระยะยาว ให้เลิกคิดว่าหุ้นถูกหรือแพง แต่ดูว่าธุรกิจจะเติบโตอนาคตระยะยาวได้อย่างไร”

นายชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย

“ปัจจุบันเป็นยุคการลงทุนที่หลากหลายทั้งรูปแบบการลงทุนและวิธีการลงทุน ตั้งแต่ประเภทสินทรัพย์ การลงทุนระดับประเทศ การลงทุนในธีมต่างๆ และการลงทุนในแพลตฟอร์ม”

ที่สำคัญคือการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนยุคใหม่

เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือ wealth tech ซึ่งเป็นการโคจรมาเจอกันระหว่างการลงทุนรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ อย่างหุ้นผสมกับ
คริปโทเคอเรนซี ทำให้เห็นความร่วมมือพร้อมๆ กับการแข่งขันของผู้ประกอบการฟินเทค-สตาร์ทอัป และสถาบันการเงิน

สินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าในอนาคต

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ให้ข้อมูลว่า แพลตฟอร์ม Bitkub มีลูกค้า 2.4 ล้านราย เป็นลูกค้าที่ซื้อขายต่อเนื่องประมาณ 1 ล้าน คิดเป็น 50% ของนักลงทุนทั้งหมด และมียอดเทรดตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน

นายจิรายุสกล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนหลายรายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สนใจการลงทุนในดิจิทัลมากขึ้น มีบริษัทมาเปิดบัญชีประเภท corporate account เพื่อจะซื้อ Bitcoin เป็นทรัพย์สิน รวมถึงมีสถาบันการเงินเข้ามาในวงการนี้มากขึ้น แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังออกสกุลเงินดิจิทัลบาท (CBDC) ซึ่งจะเปิดตัวในไตรมาส 1/2565 นอกจากนี้ประเทศจีนได้มีการออกดิจิทัลหยวนมาใช้แล้วในบางพื้นที่ อเมริกาก็กำลังคุยถึงเรื่องการออกดิจิทัลดอลลาร์ ทำให้เห็นว่าการลงทุนในดิจิทัลเป็นที่นิยมอย่างมาก

นายจิรายุสอธิบายว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเช่น คริปโทเคอเรนซี เป็นรูปแบบ internet protocol คือตัวกลางบนคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้

“20 ปีแรกเราลงทุนในหุ้นที่ทำแอปพลิเคชั่น Facebook, Google แต่สิ่งที่ผมจะบอกคือ สิ่งที่จะมีมูลค่าในอนาคตคือโปรโตคอล ไม่ใช่แอปพลิเคชัน โปรโตคอลคือภาษากลางในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้คนไม่รู้จักมาร่วมกันได้ อย่าง Bitcoin เป็นโปรโตคอลหนึ่งให้คนสามารถโอนเงินได้ หรือเหรียญ Ethereum ก็เป็นโปรโตคอล แต่เราอยู่ในยุคที่โปรโตคอลมีจำกัด ลองคิดดูว่าอะไรจะมีมูลค่ามากกว่ากันระหว่างแอปพลิเคชั่นหรือโปรโตคอล เป็นเหตุผลที่ทำให้วงการคริปโทเคอเรนซีโตเร็วมากๆ”

“ผมคิดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ในวงการธนาคารและการลงทุน ยุคที่แล้วเราลงทุนได้แค่ทองคำ หุ้น ตราสารหนี้ แต่อีก 5-10 ปีข้างหน้าเราจะลงทุนทุกอย่างได้เลย เป็นดิจิทัลเพชร ทอง คอนโด ทุกคนจะเป็นเจ้าของร่วมกัน เหมือนคอนโดหนึ่งห้อง 5 ล้านบาท ถ้าผมมีเงิน 500,000 บาทก็เป็นเจ้าของ 1 ส่วน 10”

นอกจากบริษัทที่ต้องการระดมทุนจะมีทางเลือก ด้วย Financial Engineering ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบใหม่ คือการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) เสนอขายดิจิทัลโทเคน (digital token) แทนการใช้วิธี IPO หุ้นกู้และตราสารหนี้

“โซเชียลมีเดีย, DeFi, Internet Protocal และคริปโทเคอเรนซี ผมคอนเฟิร์มได้ว่ามาแน่นอน เพราะเป็นสภาพแวดล้อมระบบเปิด คนสามารถย้ายแพลตฟอร์มได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเน็ตเวิร์ก ยิ่งใหญ่ยิ่งมีมูลค่า ถ้ามี Bitcoin แค่ 21 ล้านแต่คนใช้มากขึ้นทุกปี คนโอนเงินข้ามประเทศมากขึ้น ก็คือดีมานด์ที่ใหญ่ขึ้น”

นายจิรายุสแนะนำว่า “ไม่ควรมองสิ่งใหม่ในมุมมองสิ่งเก่า ควรมีการเรียนรู้ตลอดเวลา โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นก่อนเข้าวงการคริปโทเคอเรนซีจะต้องมีความเข้าใจก่อน ไม่ต้องรีบเปิดบัญชี ที่สำคัญคือเข้าใจว่า ราคาลง 20% เป็นเรื่องปกติสำหรับวงการนี้”

DeFi นวัตกรรมลดพึ่งพาตัวกลาง

นายกานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand

นายกานต์นิธิ ทองธนากุล กล่าวถึง ระบบการเงินรูปแบบใหม่คือ DeFi (Decentralized Finance) หรือระบบการเงินไร้ศูนย์กลางเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาแก้ปัญหาความเชื่อใจไว้วางใจกันในมนุษย์ เพราะ DeFi เป็นระบบการเงินที่มนุษยชาติทั้งโลกมีส่วนร่วมในระบบนี้ สามารถสร้างความเชื่อใจกันได้โดยไม่จำเป็นเช็คข้อมูลส่วนบุคคล เพียงใช้แค่เทคโนโลยี blockchain เป็นตัวขับเคลื่อน แพลตฟอร์มทางการเงิน

ระบบการเงินเดิมคนจะคุ้นเคยกับการฝากเงินในธนาคาร หรือเอาของไปให้โรงรับจำนำ แต่ DeFi เป็นระบบที่ใช้บล็อกเชนแทนตัวกลางเดิม และเปิดให้คนบนโลกเข้ามามีส่วนร่วมโดยมีกระเป๋าคริปโตเคอเรนซี

นายกานต์นิธิมองว่า “ในอีก 5-10 ปี แพลตฟอร์ม DeFi จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน” โดยข้อมูลเดือนกันยายน 2563 มีผู้ใช้งาน DeFi ประมาณ 500,000 คน แต่ในเดือนกันยายน 2564 ผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน เติบโต 20 เท่าภายในเวลาเพียง 1 ปี และเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบ DeFi ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ เติบโตกว่า 3,000 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งอยู่ที่ราว 50 ล้านดอลลาร์

พัฒนาการของระบบ decentralized รวมไปถึงระบบแลกเปลี่ยนที่เปิดให้คนทั้งโลกมาฝากสินทรัพย์เข้าไปในระบบ แล้วได้ส่วนแบ่งเป็นค่าธรรมเนียม ช่วยดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก รวมถึง Decentralized Insurance ที่จะจับคู่คนซื้อและคนขายประกันภัยให้มาเจอกัน แม้แต่แพลตฟอร์ม NFT (Non-Fungible Token) ซึ่งเปรียบเสมือนมาร์เก็ตเพลสซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และให้คนแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้น

นายกานต์นิธิกล่าวอีกว่า การลงทุนแบบ Yield Farming คือการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากในระบบเพื่อให้ระบบเกิดสภาพคล่องหรือปล่อยกู้ คล้ายกับแนวคิดการกินดอกเบี้ยธนาคาร แต่ข้อแตกต่างคือการใช้คริปโทเคอเรนซีททนเงินสด

จากประสบการณ์การลงทุน นายกานต์นิธิแนะนำว่าการลงทุนใน DeFi ต้องพิจารณา 5 เรื่อง คือ
1. แพลตฟอร์ม DeFi ทำงานบนบล็อกเชนซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ใครก็ตามสามารถเข้าไปอ่านและเช็คจำนวนเงินหมุนเวียนในแพลตฟอร์ม ทำให้พิจารณาได้ว่ายิ่งมีเงินฝากหมุนเวียนมากเท่าไร แสดงว่าผู้ใช้งานจะต้องมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้น
2. ระยะเวลาเปิดให้บริการบนแพลตฟอร์ม บางแพลตฟอร์มเขียนโค้ดวันเดียวก็ทำได้ แต่จะไม่เป็นแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพ ดังนั้นควรลงทุนในแพลตฟอร์มที่เปิดมาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป
3. การออดิตบนแพลตฟอร์ม (audit) เป็นตัวชี้วัดความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม เนื่องจากคนทั่วไปอ่านโค้ดไม่เป็น ทำให้เราต้องเข้าไปเช็คในเว็บไซต์ของบริษัทรับตรวจสอบจากรายงานว่ามีแพลตฟอร์มนั้นๆ มีช่องโหว่หรือไม่
4. เครดิตจากเจ้าของแพลตฟอร์ม ชื่อเสียงของคนสร้างแพลตฟอร์มนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าธนาคารประกาศสร้างแพลตฟอร์มก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่ารายอื่นๆ
5. เหรียญโทเคนประจำแพลตฟอร์ม เปรียบเสมือนหุ้นในบริษัทที่มีหน้าที่กำกับดูแลแพลตฟอร์ม และเหรียญเหล่านั้นจะถูกส่งไปแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นักลงทุนสามารถประเมินได้ว่าแพลตฟอร์มใดที่มีเหรียญโทเคนของแพลตฟอร์มอื่นๆ แสดงว่าต้องผ่านการตรวจสอบมาระดับหนึ่ง

ท้ายที่สุด นายกานต์นิธิบอกว่า DeFi เป็นแพลตฟอร์มที่ยังไม่มีหน่วยงานมากำกับดูแล อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อนักลงทุนแม้ว่าจะมีนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ

“ดังนั้นนักลงทุนต้องรู้ว่าไม่มีอะไรปลอดภัย 100% DeFi ยังต้องการเวลาพิสูจน์ตัวเองเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกับ Bitcoin ที่กว่าจะได้ความเชื่อมั่นจากคนทั้งโลก ต้องผ่านระยะเวลามาเกินกว่าสิบปี คนจึงจะเชื่อมั่นว่าคริปโทเคอเรนซีมีคุณค่าจริง”