ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อวัคซีนคือวีซ่านำเศรษฐกิจออกจากวิกฤติ

เมื่อวัคซีนคือวีซ่านำเศรษฐกิจออกจากวิกฤติ

30 เมษายน 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่กระทรวงสาธารณสุขเรียกว่าการระบาดเดือนเมษายน 2564 มีผับย่านทองหล่อเป็นคลัสเตอร์หลัก แพร่เชื้อไปทั่วประเทศ ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ หรือนิวไฮ ทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต โดยยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นสูงสุด 2,839 ราย (ณ 24 เมษายน 2564) และมีผู้เสียชีวิตทุกวัน สูงสุด 15 ราย (วันที่ 28 เมษายน และ 30 เมษายน 2564) โดยการระบาดระลอกที่ 3 ผ่านไปไม่ถึงเดือน มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมถึง 65,153 ราย และเสียชีวิตสะสม 203 ราย (ณ 30 เมษายน 2564) จนระบบสาธารณสุขอัมพาตไปชั่วขณะ ดังที่ปรากกฏเป็นข่าวผู้ป่วยรอเตียงจนหมดลมที่บ้านหลายราย

จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาด 2 ครั้งก่อนหน้า มีสาเหตุหลักจากการผ่อนปรนให้ผับ บาร์ คาราโอเกะ กลับมาเปิดบริการอีกครั้งหลังถูกสั่งปิดจากการระบาดระลอกสอง โดยไม่มีมาตรการควบคุมรัดกุม จนเกิดกรณีคลัสเตอร์คริสตัลกับดิเอมเมอรัลด์ และโควิด-19 รอบนี้เป็นโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ B.1.1.7 กำเนิดในอังกฤษ ที่นักท่องราตรีไฮโซนำเข้าจากกัมพูชา มีคุณสมบัติโดดเด่น คือ ระบาดง่าย และเสียชีวิตเร็วกว่าโควิดสายพันธุ์ที่เคยระบาดในไทยช่วงก่อนหน้านี้

ความรุนแรงจากการระบาดใหม่สร้างความโกลาหลให้สังคม พร้อมกับภาคส่วนต่างๆ ออกร้องหาวัคซีน เช่น การออกมาเรียกร้องของภาคเอกชนผ่านเวทีหอการค้า ที่ประชุมร่วมกับซีอีโอ 40 บริษัท เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้า สรุปความเห็นจากที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การฉีดวัคซีนของไทยถือว่าช้ามากสำหรับการเปิดประเทศ คือมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเพียง 0.4 % ของจำนวนประชากรรวม (ข้อมูลจำนวนผู้ฉีดวัคซีน ณ 19 เม.ย. 2564) รวมทั้งสถาบันและสื่อต่างชาติผูกโยงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศ คล้ายกับวีซ่าที่จะพาประเทศนั้นๆ ออกจากวิกฤติ

สถานการณ์ดังกล่าว ก่อเป็นกระแสสังคมกดดันให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รื้อแผนจัดหาและฉีดวัคซีนใหม่ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกร่วมกับภาคเอกชน มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ

การสนองตอบเรื่องวัคซีนของ พล.อ. ประยุทธ์ ลดความขุ่นเคืองสังคมลงได้บ้าง พร้อมอธิบายเหตุผลที่ไม่เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแต่แรกว่า “ที่เรารับวัคซีนมาในช่วงแรกนั้น เราจัดซื้อสั่งมาในฐานะที่เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีมากในระยะที่ 1 เราก็จัดหาวัคซีนมาตามความจำเป็น เราก็ไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยงในกรณีที่วัคซีนเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบ วันนี้เมื่อพิสูจน์ทราบมาแล้วผมก็เปิดโอกาสช่องทางให้หลายๆ ยี่ห้อเข้ามาเสนอความต้องการจะขายวัคซีนให้กับเรา …”

ฟังคำอธิบายข้างต้นแล้วมีคำถาม เพราะการระบาดรอบ 2 จากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่จำนวนผู้ป่วยทำนิวไฮ ณ เวลานั้น และรัฐบาลเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของการเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น การจัดหาวัคซีนเร่งด่วนจากซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้าอีก 117,000 โดสในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เตรียมไว้ 61 ล้านโดส สะท้อนว่ารัฐบาลเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่แผนการจัดหาวัคซีนเร่งด่วนหยุดอยู่แค่นั้น ทั้งที่รัฐบาลมีแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้และเปิดประเทศต้นปีหน้า กระทั่งเกิดการระบาดระลอกสามปะทุลามไปทั่วประเทศ และถูกกดดันจากภาคส่วนต่างๆ รัฐบาลจึงขยับตัวและผลักดันแนวคิดวัคซีนทางเลือกออกมา

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล ออกมาแถลงหลังการประชุมร่วมระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับสภาหอการค้าไทย (28 เม.ย. 2564) เพื่อสนับสนุนการกระจายและจัดหาวัคซีน โดยที่ประชุมสรุปตั้งคณะทำงานร่วมรัฐกับเอกชน แยกทีมทำงานออกเป็น 4 ทีม คือ หนึ่ง ด้านการกระจายและฉีดวัคซีน สอง ด้านสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ สาม ด้านสนับสนุนและอำนวยความสะดวก และสี่ ด้านจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายจัดหาวัคซีนทางเลือกอีก 37 ล้านโดส รวมที่รัฐบาลจัดหาเตรียมไว้แล้ว 63 ล้านโดสรวมประมาณ100 ล้านโดส โดยตั้งเป้าฉีดให้จบภายในปีนี้

สำหรับวัคซีนทางเลือกที่ระบุโดย พล.อ. ประยุทธ์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนจนรว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้อง คือ วัคซีนสปุตนิกของรัสเซียประมาณ 10 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค อีกประมาณ 5-10 ล้านโดส ฯลฯ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า การเกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศนั้น ต้องฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากรรวม หรือประมาณ 50 ล้านคน คนละ 2 โดส และยังกล่าวถึงแผนการฉีดด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยบริการฉีดวัคซีน 1,373 แห่ง 1 แห่งมีหน่วยบริการมากกว่า 1 สถานที่ และ 1 สถานที่หากสามารถฉีดได้วันละ 300 รายก็สามารถฉีดได้วันละ 3 แสนคนหรือเดือนละ 10 ล้านโดส ได้ตามเป้าหมายพอดี (มติชน 29 เมษายน 2564)

สรุปแล้ว แผนการจัดหาวัคซีนให้เร่งด่วน (ขึ้นอีก) มีแล้ว แผนการฉีดให้ครอบคลุมมีแล้ว เป้าหมาย ฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในปีนี้มีแล้ว และขั้นตอนฉีดวัคซีนภาคประชาชน ก็เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ส่วนการปฏิบัติการวัคซีน ภายใต้การสั่งการแต่เพียงผู้เดียวของ พล.อ. ประยุทธ์ จะบรรลุเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระดับประเทศ ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมถึง 1 ปี ได้หรือไม่ และสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสาม ซึ่งผูกโยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออกได้หรือไม่ โปรดติดตาม