ThaiPublica > คอลัมน์ > One of Us โลกวิไลซ์

One of Us โลกวิไลซ์

26 กุมภาพันธ์ 2018


1721955

“ชุมชนชาวยิวแฮซิดิคคือผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นทั้งชุมชนจึงถูกสร้างมาจากผู้รอดชีวิต ซึ่งมีบาดแผลทางใจ แล้วพวกเขาก็นำบาดแผลนั้นมาด้วย…แรงผลักดันของพวกเขาคือ วิญญาณทุกดวงเป็นสมบัติของชุมชน และดวงวิญญาณเหล่านี้มาสู่โลกใบนี้ก็เพื่อแก้ไขบางอย่างให้ถูกต้อง” หนึ่งในเจ้าหน้าที่เยียวยาอดีตชาวแฮซิดิคเล่าถึงความเชื่ออันเข้มแข็งของชุมชนนี้ เพราะประเด็นของ One of Us (2017) เกี่ยวข้องกับศาสนายิวเคร่งครัดสุดโต่งที่เรียกว่า แฮซิดิม (Hasidim) อันเป็นกลุ่มชาวยิวอัลตราออร์ทอด็อกซ์ ที่ถือกำเนิดขึ้นในยุโรปตะวันออกช่วงศตรวรรษที่18 ซึ่งพวกเขาเผชิญความสูญเสียใหญ่หลวงในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว (ค.ศ.1939-1945)

จำนวนหนึ่งหลังจากหลบหนีไปยังบรูคลิน, นิวยอร์ก และรอดชีวิตมาได้ พวกเขาจึงจัดการแยกกลุ่มตัวเองออกจากสังคมภายนอก เพื่อความเข้มแข็งสมานสามัคคีของชุมชน จึงมีกฎเหล็กเคร่งครัดมากมาย เช่น ต้องแต่งกายเฉพาะตัวตามแบบบรรพบุรุษ ผู้ชายใส่หมวก ไว้หนวดเครา ไว้ปอยผมสองข้าง ส่วนใหญ่พูดแต่ภาษายิดดิช ต้องเรียนแต่ในโรงเรียนสอนศาสนา ห้ามอ่านหนังสือทางโลก ห้ามใช้อินเตอร์เนต หรือแม้แต่รูปเด็กผู้หญิงในตำราเรียนก็ต้องถูกเซ็นเซอร์เอาสีดำทาทับ เพื่อไม่ให้รูปนั้นยั่วยุกามารมณ์ ฯลฯ

One of Us เล่าผ่านอดีตชาวแฮซิดิม 3 คน คือ

เอ็ตตี: “ฉันถูกฝึกมาให้เป็นแม่เท่านั้น ส่วนความเป็นมนุษย์ถูกพรากไปหมดแล้ว”
คืนหนึ่ง ตำรวจพาสามีของเอ็ตตีออกไปจากบ้าน ด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายภรรยา แต่หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง ชาวแฮซิดิคกลุ่มหนึ่งก็ถือค้อนมาล้อมทุบประตูบ้านของเอ็ตตี จนเธอต้องพาลูกๆทั้งเจ็ดคนเข้าไปซ่อนตัวในห้องน้ำ

เอ็ตตี: “มีกฎทางศาสนาว่าไม่ยินยอมให้ชาวยิวใด ส่งตัวชาวยิวให้ทางการไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉันละเมิดข้อห้ามทางศาสนา เพราะฉันโทรแจ้งจับสามีตัวเอง…มันเป็นการแต่งงานที่ฉันไม่ได้เลือกเอง เราเจอกันสองครั้งราวครึ่งชั่วโมงได้ ตอนนั้นเขาอายุ18 ส่วนฉัน19 เราไม่เคยเจอกันมาก่อน ตอนเจอกันเขาก็เอาแต่นั่งกอดอก พอผ่านไปครึ่งชั่วโมงเขาก็โพล่งขึ้นมาว่า เราจะแต่งงานกัน แค่นั้นเลย หลังจากนั้นเจ็ดเดือนฉันก็ถูกจับแต่งกับเขา”

เอ็ตตี: “ฉันไม่มีตัวตน ตามหลักศาสนาพอแต่งงานแล้วฉันต้องโกนผมออกหมด และคลุมหัวเอาไว้ตลอด…ผ่านไปหลายปี ฉันมีลูกมากขึ้น และยิ่งถูกทำร้ายมากขึ้นด้วย…ฉันใช้ชีวิต12 ปีกับสามีที่ทำร้ายฉัน ตะโกนใส่หน้าฉันตลอดเวลา ทำให้ฉันอับอาย ทำลายฉันในทุกด้าน โดยที่ฉันไม่สามารถโต้ตอบอะไรเขาได้เลย”

อาริ: “ผมไม่อยากใช้ชีวิตเสแสร้ง ผมเสแสร้งมาตลอด เสแสร้งเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ผม”

ครั้งหนึ่งในค่ายสอนศาสนาอันเคร่งครัดในช่วงซัมเมอร์…ที่มีแต่เพศชาย เด็กชายอาริถูกครูสอนศาสนาข่มขืน แล้วพอเขาโวย พวกครูผู้เคร่งขรึมก็แก้ตัวว่า “ครูเขาก็แค่ลื่นล้มทับตัวเธอเท่านั้นล่ะ” ปมนี้ทำให้อาริหันเข้าหายาเสพติด

อาริ: “ผมรู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวตนของผม ผมมองกระจกแล้วผมก็เห็นในสิ่งที่ผมไม่อยากเป็น ดังนั้นผมจึงเลือกทางที่ต่างออกไป แต่ทางที่ผมเลือกทำให้แม้แต่เพื่อนๆที่โตมาพร้อมๆกับผม ก็กลับไม่ทักทายผมอีกเลย พวกเขาไม่อยากคบผม ไม่ยุ่งเกี่ยวใดใดกับผมเลย เมินใส่ผม ผมโดนตะโกนถามต่างๆนานา มันกวนใจผมเสมอ”

ลูเซอร์: “ความเข้าใจของผมในทางโลกมาจากหนัง แล้วเมื่อคุณรู้จักโลกมากขึ้น คุณก็จะพบว่าสิ่งที่คุณเคยเข้าใจเกี่ยวกับโลกนั้นมันผิดหมดเลย”

ลูเซอร์: “ครั้งหนึ่งผมแอบดูหนังในรถดึกๆดื่นๆ มีตำรวจลงมาตรวจว่าผมกำลังทำอะไร ผมบอกเขาไปว่าดูหนัง เขาถามว่าทำไมถึงไม่กลับไปดูที่บ้านล่ะ ผมตอบไปว่าเพราะผมดูหนังที่บ้านไม่ได้ไง พวกเราถูกห้ามไม่ให้ใช้อินเตอร์เนต ไม่เคยเข้าเรียนมัธยมปลายหรือมหาลัย

เรียนแต่ในโรงเรียนยิวมาตั้งแต่เกิด…ผมเลยต้องมาเริ่มต้นเรียนอะไรใหม่ๆ เริ่มด้วยภาษาอังกฤษที่ผมพอเข้าใจบ้าง เรียนรู้ว่าจริงๆแล้วผู้คนอื่นๆเขาใช้ชีวิตกันยังไงในโลกนี้ เหมือนกับว่าเรียนรู้ใหม่แต่แรกว่าสิ่งๆต่างๆในโลกมันทำงานยังไง…พอผมรู้สึกเหมือนคนทั่วไปมากขึ้น ความเป็นแฮซิดิคของผมก็ลดน้อยลง ทำอะไรแบบที่คนอื่นๆเขาทำกัน ไปคัดตัวนักแสดง หันมาขับอูเบอร์ พยายามมีชีวิตรอด”

ลูเซอร์: “เราไม่เคยถูกฝึกให้มีทักษะอะไรเลย เราเคยแต่ต้องพึ่งชุมชน จะหางานอะไรทำได้ล่ะ…พวกเขาออกแบบสังคม สังคมแบบที่คุณไม่สามารถจะเอาตัวรอดได้ในโลกภายนอก ทุกคนที่หนีออกไปในที่สุดก็ต้องซมซานกลับสู่ชุมชน หรือไม่ก็ลงเอยในคุกหรือสถานบำบัดจิต…แต่เอาตัวรอดในสังคมไม่ได้เลยสักคน”

One of Us กำกับโดยคู่หูผู้กำกับหญิง ไฮดิ เอวิง กับ เรเชล กราดี ที่เคยร่วมกันกำกับสารคดีมาหลายเรื่อง อาทิ The Boys of Baraka (2005), Detropia (2012) แต่ผลงานเลื่องชื่อของพวกเธอคือ Jesus Camp (2006) ที่ติดโผเข้าชิงรางวัลออสการ์ ส่วน One of Us เปิดตัวในเทศกาลหนังโตรอนโต และหนังเรื่องนี้ทำให้ เอ็ตตี หนึ่งในผู้เล่าเรื่องคว้ารางวัล Most Compelling Living Subject of a Documentary จาก Critics’ Choice Documentary Awards ปี2017 มาได้

แม้ว่าที่ผ่านมาเอวิง และกราดี จะเคยจับสารคดีเกี่ยวกับศาสนามาหลายครั้ง แต่พวกเธอบอกว่า “เรื่องนี้ต่างจากสารคดีเรื่องอื่นๆที่เราเคยทำ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ให้สัมภาษณ์ของพวกเรายังคงอาศัยอยู่ในชุมชนนั้น และตอนนี้พวกเราก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพวกเขาไปแล้ว มันเลยเป็นเหมือนหนังตอนต่อ ที่แม้ว่าจะถ่ายทำจบแล้ว แต่จริงๆพวกเรากลับรู้สึกว่ายังคงอยู่ระหว่างกลางของเรื่องพวกนี้ เดาไม่ถูกเลยว่าพวกเขาจะประสบชะตากรรมอย่างไรหลังจากหนังเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสังคม”

พวกเธอเล่าว่า “แต่เราไม่ได้ทำหนังเกี่ยวกับชุมชนแห่งนี้ เพราะเรามีสองสิ่งต้องห้าม คือ หนึ่งเราเป็นฆราวาสเพศหญิง และสอง…เรามีกล้อง ตอนแรกเราเลยไม่รู้จะเริ่มต้นกับประเด็นนี้ยังไง กระทั่งสองปีก่อนหลังจากได้อ่านบทความเกี่ยวกับหน่วยงานชื่อ ฟุตสเต็ปส์ เราจึงเพิ่งพบหนทางที่เราควรจะเดิน แต่มันยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะการถ่ายทำหนังคราวนี้ ฉันรู้สึกแปลกแยกเหมือนเป็นมนุษย์ต่างดาวในประเทศตัวเอง”

ด้วยข้อห้ามทางศาสนามากมาย และชุมชนนี้กีดกันตัวเองออกจากสังคมภายนอก ฟุตสเต็ปส์จึงเป็นเหมือนข้อต่อเดียวที่พวกเธอจะสามารถลักลอบเข้าไปทำความรู้จักกับคนกลุ่มนี้ได้ ฟุตสเต็ปส์เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่คิดจะหนีออกจากชุมชนแฮซิดิม ซึ่งแม้ว่าจะมีชาวแฮซิดิคมากถึงสามแสนคนในนิวยอร์ก แต่มีเพียงไม่ถึงสองเปอร์เซ็นต์ที่สามารถแยกตัวออกจากชุมชนได้

ผู้กำกับเล่าต่อไปว่า “เป็นงานที่เราต้องทุ่มเวลาไปมาก เพราะหลังจากเข้าไปขลุกกับหน่วยงานนี้นานอยู่เกือบครึ่งปี พวกเราถึงเพิ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปร่วมกลุ่มบำบัดของพวกเขา โดยห้ามถือกล้องเข้าไปด้วย แต่เราไม่พยายามโน้มน้าวให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในหนัง เพราะเรารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้มันสุ่มเสี่ยงเกินไป สิ่งที่เราทำคือเข้าไปคุยกับผู้คน ทำความรู้จักพวกเขา แล้วอธิบายว่าเราต้องการจะทำอะไร แล้วทำไมเราถึงอยากจะเล่าประเด็นนี้ออกมา เราได้แต่หวังว่าจะได้เจอใครสักคนที่กล้าจะแชร์เรื่องราวของพวกเขา และเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาเคยเจอมามันมีคุณค่าต่อคนอื่นๆ แน่นอนว่ามีอีกหลายคนที่อยากจะเข้ามาอยู่ในสารคดีเรื่องนี้ด้วย แต่หลังจากเราประเมินความเสี่ยงแล้ว เราพบว่าพวกเขาไม่พร้อมหรอกที่จะเผชิญปัญหายุ่งยากอื่นๆที่จะตามมา”

เพราะชุมชนแห่งนี้มีชีวิตรอดมาด้วยความเชื่อว่าพวกเขาคือกลุ่มคนศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกพระเจ้าช่วยเหลือให้รอด เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์อันบริสุทธิ์ดีงาม พวกเขาจึงมีสารพัดวิธีที่จะกีดกันความชั่วร้ายต่างๆที่จะเข้าไปแปดเปื้อนได้ โดยไม่เคยหันกลับไปตรวจสอบตัวเองเลยว่าสิ่งที่พวกเขากระทำนั้นถูกต้องจริงหรือไม่ กำลังละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของผู้อื่นอยู่หรือไม่ และเลือกกระทำสิ่งที่สวนกระแสสังคมโลกสมัยใหม่

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ฟุตสเต็ป์ให้ความเห็นอันน่าสะพรึงว่า “ไม่มีใครออกไปจากชุมชนแห่งนี้ได้ นอกจากจะยอมแลกกับบางอย่าง และราคาของอิสรภาพนั้นสูงลิ่ว”