ThaiPublica > สู่อาเซียน > หากอีก 1 ปี เมียนมาจะเลือกตั้งใหม่…

หากอีก 1 ปี เมียนมาจะเลือกตั้งใหม่…

3 มีนาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

อู จ่อ โม ทูน เอกอัคราชทูต ผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำสหประชาชาติ ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว หลังจบการแถลงสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมาต่อที่ประชุม UN เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/thai/international-56218754

สถานการณ์ในเมียนมาขยายวงสู่ระดับสากลแล้วอย่างเป็นทางการ หลังจาก อู จ่อ โม ทูน เอกอัคราชทูต ผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้แถลงต่อที่ประชุม UN เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ต่อหน้าตัวแทนสมาชิก 193 ประเทศ เรียกร้องประชาคมโลกให้ร่วมประณามการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์โปร่งใสของการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นข้ออ้างที่กองทัพพม่านำมาใช้เพื่อยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ถ้อยแถลงซึ่งใช้เวลาประมาณ 12 นาที อู จ่อ โม ทูน ได้ส่งต่อเนื้อหาในแถลงการณ์ของคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา” (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw: CRPH) ซึ่งต้องการให้ประชาคมโลกรับรององค์กรแห่งนี้อย่างเป็นทางการ

CRPH เป็นองค์กรที่เหล่าผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (UEC) ชุดที่แล้ว รวมตัวกันสถาปนาขึ้น เพื่อให้เป็นตัวแทนของรัฐสภาเมียนมาในฐานะ 1 ในเสาหลักของการบริหารประเทศ ในการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก

สมาชิก CRPH มี 380 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรค NLD ดูรายละเอียดที่นี่ หรือ https://crphmyanmar.org/

ช่วง 1 นาทีก่อนจบการแถลง อู จ่อ โม ทูน ขออนุญาตประธานในที่ประชุมกล่าวเป็นภาษาพม่า เนื้อหาที่เขากล่าว ปลุกเร้าประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารอยู่ในประเทศ และขอบคุณในความสามัคคีของพวกเขาในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่คำพูดสุดท้าย อู จ่อ โม ทุน ได้กล่าววลี “อะเยต่อโป่ง อ่องยะแหม่” พร้อมชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มต่อต้านรัฐประหารใช้ในการเคลื่อนไหว

“อะเยต่อโป่ง อ่องยะแหม่” มีความหมายว่า “ภารกิจอันยิ่งใหญ่ ต้องได้ชัยชนะ” เป็นวลีที่กลุ่มต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมากล่าวตะโกนออกมาแทบทุกครั้ง ที่มีการเดินขบวนประท้วงไปตามท้องถนน

แน่นอน…วันรุ่งขึ้น (27 ก.พ. 2564) อู จ่อ โม ทูน ถูกกองทัพพม่าสั่งปลดในข้อหาทรยศต่อประเทศ!!!


คำแถลงของ CRPH ที่ส่งผ่านจาก อู จ่อ โม ทูน ไปยังที่ประชุม UN เพื่อให้ประชาคมโลกรับรององค์กรนี้เป็นตัวแทนรัฐสภาเมียนมาอย่างเป็นทางการ

เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า ทำรัฐประหารรับถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศมาไว้ในมือในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาได้ประกาศพันธะเอาไว้ว่า หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านไปแล้ว 1 ปี จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม

นอกจากการแต่งตั้งประธานาธิบดีชั่วคราว แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาแล้ว คณะรัฐประหารยังปลดคณะกรรมการเลือกตั้งชุดเก่า และแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ ซึ่งมีประมาณ 15 คน

ภารกิจของคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ นอกจากเตรียมการเลือกตั้งในอีก 1 ปีข้างหน้าตามพันธะที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายได้ประกาศไว้แล้ว ยังมีอีก 1 ภารกิจสำคัญ คือการตรวจสอบหาหลักฐาน ความผิดพลาดของการเลือกตั้งครั้งก่อน

กระบวนการตรวจสอบหาข้อผิดพลาดของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเริ่มในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่มีประกาศว่า ระหว่างที่มีการตรวจสอบบัญชีรายชื่ออยู่นั้น หนังสือรับรองผลการเลือกตั้งที่คณะกรรมการเลือกตั้งชุดเดิมส่งไปถึงผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน “ไม่มีผล”

ความหมายของประกาศนี้ บ่งบอกว่าเมียนมาได้เข้าสู่ช่วงสุญญากาศรัฐสภาแล้ว เพราะรัฐสภาชุดเดิมได้หมดอายุลง และยังไม่มีสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่เกิดขึ้น

ในวันเดียวกัน (5 ก.พ. 2564) บรรดาว่าที่สมาชิกรัฐสภาที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 และเพิ่งถูกยกเลิกหนังสือรับรองผลโดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กร CRPH และเริ่มเคลื่อนไหวสร้างสายสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศ ในฐานะตัวแทนรัฐสภาเมียนมา

22 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ส่งหนังสือไปถึงพรรคการเมือง 91 พรรค ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการเลือกตั้งชุดก่อน เพื่อให้ส่งหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรค หรือตัวแทน มาร่วมประชุมกับคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ ในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ในกรุงเนปยีดอ

ทันทีที่ได้รับหนังสือเชิญประชุม พรรคการเมืองต่างๆ ในเมียนมาเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฟาก พรรคการเมืองส่วนหนึ่งยืนยันเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม เพราะไม่ยอมรับการรัฐประหาร ขณะที่พรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งต้องการเข้าประชุม…

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีพรรคการเมือง 19 พรรคที่ชนะเลือกตั้ง ได้ผู้ชนะที่เตรียมเข้าสภาทั้งสิ้น 1,117 คน ในนี้ 4 คนเป็นผู้สมัครอิสระ ในจำนวนว่าที่ ส.ส. ที่เกือบจะได้เดินเข้าสภา แบ่งเป็น

    – ส.ส. สภาประชาชน (Pyithu Hluttaw) 315 คน
    – ส.ส. สภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) 161 คน
    – ส.ส. สภารัฐ/ภาค (State/Regional Hluttaw) 612 คน
    – รัฐมนตรีกิจการชาติพันธุ์ (Ethnic Affairs Minister) 29 คน

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ได้ ส.ส. ถึง 920 คน และจะมีเสียงใน Pyithu Hluttaw และ Amyotha Hluttaw รวมกันถึง 396 เสียง เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวอีกรอบหนึ่ง และจะได้ครองตำแหน่งประธานรัฐสภา

ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่ก่อตั้งโดยทหาร และเป็นคู่แข่งสำคัญของ NLD ได้เสียงรวมเพียง 71 เสียง แบ่งเป็น Pyithu Hluttaw 26 เสียง Amyotha Hluttaw 7 เสียง และ State/Regional Hluttaw อีก 38 เสียง…

25 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการเลือกตั้งได้ออกประกาศเรื่องการใช้กฎหมายจัดการอย่างเด็ดขาดกับคณะบุคคล ที่ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐสภาเมียนมา

เนื้อหาในประกาศ อ้างอำนาจตามมาตราที่ 417 ของรัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 (2551) ที่ให้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและรับถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และตุลาการมาไว้ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยนับจากวันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผลให้รัฐสภาของเมียนมาและคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ต้องถูกระงับไป รวมถึงสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาก็ได้ถูกถอนไปด้วยโดยอัตโนมัติ

ขณะนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีผลให้การรับรองผลการเลือกตั้งที่ประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนต้องถูกระงับไปด้วย

ดังนั้น การจัดตั้งคณะกรรมาธิการที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐสภา หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งและประกาศต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และจะต้องถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาดตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การประชุมระหว่างคณะกรรมการเลือกตั้ง กับตัวแทน 53 พรรคการเมืองเมียนมา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่มาภาพ :เว็บไซต์กระทรวงสารสนเทศเมียนมา

26 กุมภาพันธ์ 2564 วันที่คณะกรรมการเลือกตั้งนัด 91 พรรคมาประชุม มี 53 พรรค ส่งตัวแทนเข้าร่วม อีก 38 พรรค ไม่ส่งตัวแทนมาประชุม พรรค NLD อยู่ในกลุ่มหลัง

53 พรรคที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม เป็นพรรคของชาติพันธุ์พม่า 32 พรรค เป็นพรรคของชาติพันธุ์อื่น 21 พรรค และเป็นพรรคที่มีผู้สมัครชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 10 พรรค ได้ผู้ชนะเลือกตั้งรวม 122 คน แบ่งเป็น

  • พรรคชาติพันธุ์พม่า 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 71 คน
  • พรรคชาติพันธุ์อาระกัน 2 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 18 คน
  • พรรคชาติพันธุ์มอญ 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 12 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ปะโอ 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 11 คน
  • พรรคชาติพันธุ์คะฉิ่น 2 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 6 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ลีซู 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 2 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ไทใหญ่ 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 1 คน
  • พรรคชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 1 คน

รายชื่อพรรคการเมือง 53 พรรคที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการเลือกตั้ง

38 พรรคที่ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม มี 9 พรรคซึ่งเป็นพรรคที่มีผู้สมัครชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ได้ผู้ชนะการเลือกตั้งรวม 991 คน แบ่งเป็น

  • พรรคชาติพันธุ์พม่า 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 920 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ไทใหญ่ 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 42 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ตะอั้ง 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 12 คน
  • พรรคชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง 2 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 9 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ว้า 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 3 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ชิน 2 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 3 คน
  • พรรคชาติพันธุ์ลาหู่ 1 พรรค ผู้ชนะเลือกตั้ง 2 คน

การประชุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 อู เตง โซ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งได้อธิบายกับผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับประกาศที่เพิ่งออกไปก่อนหน้า ระบุว่า การประกาศสภานการณ์ฉุกเฉินและถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศ มายังผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นอำนาจตามมาตราที่ 417 และ 418 (a) ของรัฐธรรมนูญเมียนมา ฉบับปี 2008 (2551)

นับจากวันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสภาเมียนมา และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ต้องถูกระงับ และสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาก็ถูกถอนไปด้วยโดยอัตโนมัติ

สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)ได้ตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหม่ ขึ้นมา เพื่อสืบสวนสอบสวนการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 โดยเริ่มต้นการสืบสวนในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการสืบสวนสอบสวนแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่มีความยุติธรรมขึ้น

ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งได้ยืนยันว่า จะร่วมทำงานกับทุกพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นใหม่ได้รับผลสำเร็จ

หากเนื้อหาที่ อู จ่อ โม ทูน กล่าวในที่ประชุม UN ในคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ต้องการให้ประชาคมโลกรับรอง CRPH ในฐานะตัวแทนของรัฐสภาเมียนมา คือการขยายวงปัญหาการเมืองของเมียนมา ให้ขึ้นเป็นประเด็นระดับโลก

เนื้อหาในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 และเนื้อหาที่บอกต่อที่ประชุม 53 พรรคการเมืองในวันถัดมา คือการจำกัดวงบทบาทปัญหาของ CRPH ให้อยู่ภายในประเทศ

คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังชี้ว่า CRPH คือองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยผิดกฎหมาย และเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ

และกำลังบอกเป็นนัยว่า หากพรรค NLD หรือสมาชิกพรรค NLD เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสถาปนา CRPH ขึ้นมา ย่อมต้องเป็นผู้ที่กระทำที่ผิดกฎหมายไปด้วยเช่นกัน

ด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งได้ออกประกาศมาแล้วว่าจะจัดการทางกฎหมายกับการกระทำเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

คงต้องดูว่าเมื่อจะมีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในอีก 1 ปีข้างหน้า ตามพันธะที่คณะรัฐประหารบอกไว้ จะยังมีชื่อของพรรค NLD และคณะบุคคลที่ร่วมกันก่อตั้ง CRPH อยู่ในสารบบการเมืองของเมียนมาอีกหรือไม่???