ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดไส้ใน “กองทุนตราสารหนี้” 400,000 ล้าน

เปิดไส้ใน “กองทุนตราสารหนี้” 400,000 ล้าน

19 เมษายน 2020


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สรุป 14 ข้อ พ.ร.ก.อุ้ม”ตลาดตราสารหนี้” 400,000 ล้าน เปิดช่องตั้งกองทุนถาวร -เสียหายรัฐจ่ายชดเชยไม่เกิน 40,000 ล้านบาท – ซื้อตราสารหนี้ในตลาดรองได้

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๓” หรือกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

รายละเอียดกองทุน

  1. ให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้”  โดยในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนแต่ผู้เดียว
  2. มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่
  3. ในกรณีที่ตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มิใช่ตราสารหนี้ที่ออกใหม่
  4. ให้พ.ร.ก.มีระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เว้นแต่คณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐจะมีมติให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้
  5. กำหนดให้ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
    • เป็นตราสารหนี้ที่ออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด
    • ผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุน
    • เป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ แต่ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกเสนอขายให้แก่กองทุน ประชาชน หรือบุคคลใด ๆ ในคราวเดียวกันที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับต่ำกว่าลงทุนได้ ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวได้กระทำโดยองค์กรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
    • ผู้ออกตราสารหนี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน

กลไกการบริการกองทุน

  1. ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ประกอบด้วย
    • ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
    • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ
    • ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการ
    • ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ
    • ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนด้านตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมาย จำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ
    • ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง เป็นเลขานุการ
  2. ให้คณะกรรมการกำกับฯ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    • กำหนดนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และกรอบการลงทุน รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงของการลงทุนของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยกรอบการลงทุนต้องมีสาะระสำคัญ ดังนี้
      • ประเภท คุณสมบัติ กรอบการกำหนดราคาหรืออัตราผลตอบแทน และอายุของตราสารหนี้ที่จะลงทุน
      • วัตถุประสงค์และข้อจำกัดในการนำเงินไปใช้
      • สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุน เมื่อเทียบกับแหล่งเงินทุนอื่นของผู้ออกตราสารหนี้ในคราวเดียวกัน ซึ่งจะต้องไม่เกิน50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุน
      • หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขอื่น ซึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือสร้างขั้นตอนเกินความจำเป็น
      • ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆและมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือตราสารหนี้ ตราสารหนี้ที่กองทุนซื้อต้องได้รับหลักประกันไม่ด้อยกว่าผู้ถือตราสารหนี้อื่น
    • แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เพื่อดำเนินการจัดการกองทุนโดยต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
    • กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการลงทุน รวมทั้งการลงทุนและการดำเนินการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
    • กระทำการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับกองทุน
    • ให้คณะกรรมการกำกับกองทุนรายงานผลการด าเนินงานต่อรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี
  3. ให้มีคณะกรรมการลงทุน ประกอบด้วย
    1. รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
    2. ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการ
    3. ผู้แทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นกรรมการ
    4. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนหรือด้านการเงินการธนาคาร จำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นกรรมการ
    5. ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง
      เป็นเลขานุการ
  4. ให้คณะกรรมการลงทุนมีหน้าที่และอำนาจคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการลงทุนอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการลงทุนได้ และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการกำกับกองทุนอย่างน้อยทุก 3 เดือน
  5. ให้มีคณะกรรมการพิจารณาผลดำเนินการ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการคำนวณกำไร หรือความเสียหาย และวงเงินชดเชย และวินิจฉัยจำนวนผลกำไร หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ประกอบด้วย
    • อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานกรรมการ
    • รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนหนึ่ง ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
    • รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย เป็นกรรมการ
    • ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการ
    • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ
    • ให้กรมบัญชีกลางแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
    • ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
  6. การแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เพื่อดำเนินการจัดการกองทุน, การแต่งตั้งที่ปรึกษา และการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนหรือตราสารหนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำกับฯ กำหนด โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

การชดเชยความเสียหาย การยุบเลิก และรายละเอียดอื่น ๆ

  1. ในการดำเนินการถ้ามีกำไรเกิดขึ้นให้นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท
  2. เมื่อเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือเมื่อหมดความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนแต่เพียงผู้เดียว คณะกรรมการกำกับกองทุนจะมีมติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขายหน่วยลงทุนที่ถืออยู่หรือให้กองทุนขายหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนดก็ได้
  3. ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาให้คณะกรรมการกำกับฯ พิจารณาเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนการยุติดำเนินการ โดยจะขายคืนหน่วยลงทุนหรือขายหน่วยลงทุนให้บุคคลอื่นเพื่อดำเนินการกองทุนนั้นต่อไปหรือด้วยวิธีการอื่นก็ได้ และในกรณีที่ยังมีการดำเนินการกองทุนนั้นต่อไปภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้กองทุนแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทราบ และให้ถือว่ากองทุนได้รับการจัดตั้งโดยชอบตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว

  • ประกาศแล้ว พ.ร.ก. 3 ฉบับ กู้เงินเยียวยาโควิดฯ 1.9 ล้านล้าน
  • นายกฯ สั่งยกร่างพ.ร.บ. โยกงบฯค้างท่อแสนล้าน โปะงบกลาง-มติ ครม.จัดเยียวยาโควิดฯ เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน
  • รัฐเยียวยาโควิด-19 เฟส 3 ใช้เงินกู้-ซอฟท์โลน อุ้ม 1.9 ล้านล้าน