ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 มีนาคม 2564
สิงคโปร์เปิด Travel Corridors รับนักเดินทางฉีดวัคซีนแล้วครึ่งปีหลัง

การเดินทางระหว่างประเทศแบบจับคู่ประเทศ สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับการฉีดวัคซีน จากประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำถึงปานกลาง อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้นายอ๋อง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวัน 12 มีนาคม ขณะที่สิงคโปร์ยังคงแสวงหาวิธีการเปิดพรมแดนและฟื้นฟูการเดินทางทางอากาศ
ในการให้สัมภาษณ์กับรายการ Money FM 89.3 นายอ๋องกล่าวว่า มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านและมาตรการกักกันอื่นๆ จะมีผลกระทบให้การเดินทางหายไป และว่า สิงคโปร์ต้องการหาวิธียกเลิกข้อกำหนด ซึ่งหยิบยกประเด็นนี้มาหารือในระหว่างการประชุมจัดทำงบประมาณของกระทรวง
“ไม่มีใครหรอกที่จะมาสิงคโปร์และพักอยู่ถึง 14 วัน” นายอ๋องกล่าว
ขณะที่การฉีดวัคซีนกำลังเปลี่ยนสถานการณ์ แต่ก็จำเป็นต้องทำงานควบคู่กับมาตรการอื่นๆ เช่น การทดสอบ การจำกัดการเคลื่อนไหวและการระบุประเทศที่ “ปลอดภัย” และควบคุมไวรัสได้สำเร็จ นายอ๋องกล่าว
ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในระดับปานกลาง แต่มีโครงการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อประกอบเข้ากับการทดสอบหาเชื่อ ก็อาจเปิด travel corridors ที่ปลอดภัยได้”
นายอ๋องกล่าวถึง travel bubbles ว่า การเตรียมการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยระบุว่าสิงคโปร์ได้เปิดพรมแดนให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศและเขตปกครองที่มีการจัดการกับไวรัสแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ
“น่าเสียดายที่เราเป็นสถานที่ปลอดภัยแห่งเดียวในโลกที่เปิดให้คนอื่นๆ” นายอ๋องกล่าว
“ถ้าคนอื่นเริ่มทำอย่างนั้น เราจะมี bubbles และมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และก็เริ่มออกเดินทางได้ และผมหวังว่าปีนี้เราจะทำได้ในอีกระยะหนึ่ง”
สิงคโปร์มีข้อตกลง travel bubbles สำหรับการเดินทางทางอากาศกับฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ยังคงไม่เริ่มขึ้นเพราะยังพบผู้ติดเชื้อหลายรายในสิงคโปร์ในสัปดาห์นี้
นายอ๋องกล่าวว่า สิงคโปร์ยังคงอยู่ใน “สถานการณ์วิกฤติ” โดยชี้ว่าปริมาณผู้โดยสารที่สนามบินชางงีอยู่ที่ 2.6% ของระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19 เท่านั้น
นายอ๋องมองว่า การเดินทางส่วนบุคคลและการพักผ่อนจะกลับมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้
อย่างไรก็ตามนายอ๋องเตือนว่า นี่ไม่ใช่การประมาณหรือการคาดการณ์ แต่เป็นการ “คาดเดา” และย้ำว่าการคาดว่าภาคการบินที่นี่จะฟื้นตัวเป็น “รูปตัววี” นั้นไม่สมจริง เพราะไวรัสกำลังจะครองโลก
“ไวรัสจะกลายพันธุ์ และติดเชื้อโดยไม่มีอาการและไม่รู้ว่ามันจะส่งผลอะไรกับเราต่อไป
“(แต่) หลายประเทศและสถานที่ต่างๆ มีการจัดการกับปัญหานี้ ไม่เฉพาะการฉีดวัคซีน แต่ยังรวมถึงการทดสอบหาเชื้อ การรักษาระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากาก และวิธีการที่แตกต่างกัน ผมคิดว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้รวมถึงการฉีดวัคซีนกำลังจะมีผล เราจะดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นผมคิดว่านี่เป็นพื้นฐานที่เรารู้สึกว่าควรมีการฟื้นตัวบ้าง”
เมื่อถามว่ามีกำลังคนเพียงพอในภาคการบินที่จะพลิกฟื้นหรือไม่หลังจากมีการออกจากวงการหลายรอบเมื่อปีที่แล้ว นายอ๋องกล่าวว่า การออกจากวงการถอนคิดเป็น “เลขเปอร์เซ็นต์หลักเดียว” ของพนักงานทั้งหมดและส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ
“ต้องใช้เวลาหลายปีเป็นสิบปีในการฝึกนักบินและแม้แต่ลูกเรือสายการบิน ตัวอย่างเช่น ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศต้องใช้เวลาหลายปีในการฝึกอบรม ดังนั้นบริษัทจึงไม่ต้องการตกอยู่ในสภาวะที่สูญเสียคนที่ความสามารถไป เพราะเป็นการสูญเสียความสามารถหลักและเมื่อสิ่งต่างๆ ฟื้นตัวจะไม่สามารถนำคนเหล่านั้นกลับคืนมาได้” เขากล่าว
นายอ๋องกล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่เราทำคือรักษากำลังคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยความเชื่อว่าสักวันสิ่งนี้จะฟื้นตัว ซึ่งเราสามารถดึงดูดคนได้ แต่ประเด็นหลักคืออย่าสูญเสียความสามารถหลักของบริษัท พนักงานสำคัญต้องรักษาไว้ ซึ่งโครงการ Jobs Support Scheme ที่ขยายเวลาออกไปอีกหกเดือนสำหรับภาคการบินก็จะช่วยในเรื่องนี้ได้
อินโดนีเซียกำหนด 3 แหล่งท่องเที่ยวในบาหลีปลอดโควิด-19
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม 3 แห่งในบาหลีได้รับการกำหนดให้เป็น โซนสีเขียวปลอดโควิด-19 ในก้าวแรกของการเปิดเกาะอินโดนีเซียสู่โลกภายนอกอีกครั้ง จากการประกาศของรัฐบาลท้องถิ่น
นาย อิ วายัน คอสเตอร์ ผู้ว่าราชการ บาหลี ระบุในแถลงการณ์ว่า สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม 3 แห่ง ได้แก่ อูบุด เกียญาร์ และนูวา ดูอา ซึ่งอยู่ในใจกลางย่านวัฒนธรรม เป็น 3 พื้นที่ที่จะได้รับความสำคัญในการฉีดวัคซีนเป็นอันดับแรก
การกำหนดพื้นที่ปลอดโควิด-19 (พื้นที่สีเขียว) เป็นเงื่อนไขล่วงหน้าสำหรับการเปิดบาหลีให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แถลงการณ์ระบุ
บาหลีเปิดรับนักท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม แต่แผนการที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมาเยี่ยมชมอีกครั้งในเดือนกันยายนนั้น ถูกระงับไปหลังจากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้น และขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นใหม่
อินโดนีเซียได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเกือบ 3.5 ล้านคนโดยใช้วัคซีนที่ผลิตโดยซิโนแวคของจีน
ประเทศมีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากร 185 ล้านคนจาก 270 ล้านคนภายใน 15 เดือนด้วยความหวังว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้
การติดเชื้อโรคโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงในอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 5,144 รายภายในวันเดียวเป็น 1,403,722 รายโดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 117 รายเป็น 38,049 ราย แต่มีผู้รักษาหายและออกจากโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 8,170 คน ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายทั้งหมดเป็น 1,224,603 ราย
ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั้ง 34 จังหวัดทั่วประเทศอินโดนีเซีย
เวียดนามเตรียมใช้วัคซีนพาสปอร์ตรับต่างชาติเดินทางเข้า

นายเหงียน เจือง คานห์ ผู้อำนวยการสำนักงานกล่าวว่า หลังจากทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะหารือกับกระทรวงวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อรายงานต่อรัฐบาลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือ vaccine passports สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวหลายคนเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาเปิดให้บริการฉีดวัคซีนนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ไตรมาสที่สาม ในลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในขณะที่โลกเริ่มเปิดตัววัคซีนโควิด-19 ได้เกิดแนวคิดใบรับรองการฉีดวัคซีนขึ้น เพื่อระบุผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสำหรับการเดินทางข้ามพรมแดน
จีนและอิสราเอลเป็นประเทศแรกที่ออกใบรับรองสุขภาพดิจิทัลสำหรับนักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วและยังเรียกว่า “วัคซีนพาสปอร์ต”
สหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพิจารณาออกใบอนุญาตในลักษณะเดียวกัน ขณะที่สหภาพยุโรปยังกำลังดำเนินการเกี่ยวกับใบรับรองวัคซีน หรือ “green pass” ของตัวเองอยู่ ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางภายในภูมิภาคได้อย่างอิสระมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้
นายมาย เทียน ดุง ผู้อำนวยการสำนักรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้พิจารณาที่จะผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคระบาดให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างครบถ้วน เพราะผู้ที่เดินทางเข้าประเทศและถือ “หนังสือเดินทางวัคซีน” ยังคงต้องกักกันตัว 14 วันตามข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุข
นายเลือง ฮอย นัม กรรมการสมาคมที่ปรึกษาท่องเที่ยวแห่งเวียดนาม (Vietnam’s Tourism Advisory Board: TAB) กล่าวว่า การเปิดการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้ง จะ “ช่วยยกระดับสถานะของประเทศ” ได้เนื่องจากเวียดนามไม่สามารถรอจนกว่าการระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา
นายฟาม ดุย หง่า ผู้อำนวยการ บริษัทเวียดฟู้ดส์เทรแวล ซึ่งเชี่ยวชาญในการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศกล่าวว่า หนังสือเดินทางวัคซีนสามารถหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เมื่อนำไปใช้อย่างกว้างขวางในอนาคต แต่ตั้งข้อสังเกตว่าหนังสือเดินทางเหล่านี้จะใช้ได้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าเมื่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีสัญญาณว่าจะทุเลาลง และคนจำนวนมากในโลกได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
นายเหงียน หง็อก โต่น ผู้อำนวยการ บริษัท อิมเมจแทรเวล ซึ่งเชี่ยวชาญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปมายังเวียดนามเห็นว่า ในขั้นต้น ประเทศควรพิจารณาเปิดรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจจากประเทศและเขตปกครองในภูมิภาคที่เวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิด เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์
“ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนควรเข้าเวียดนามโดยไม่ถูกกักกันตัว ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์และไทย ต่างมีแผนที่จะต้อนรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในเวียดนามเสนอให้ผู้โดยสารต่างชาติที่ถือหนังสือเดินทางวัคซีนต้องกักกันตัวเป็นเวลา 14 วันหากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของเวียดนามลดลง 79% มากเป็นเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายปีในปี 2020 เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางท่ามกลางการระบาดของโรค โดยมีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.83 ล้านคนจาก 18 ล้านคนในปี 2562
รัฐบาลได้ปิดพรมแดนของประเทศและยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม โดยมีเพียงผู้ส่งตัวกลับชาวเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด
เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้เปิดไฟเขียวในการเริ่มต้นเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ไปยังจุดหมายปลายทางในเอเชีย 7 แห่ง ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ ไต้หวัน ลาว กัมพูชา และไทย แต่สายการบินของเวียดนามยังไม่ได้รับอนุญาตให้บริการเที่ยวบินขาเข้า
เวียดนามค่อยๆ ควบคุมการระบาดที่ต่อเนื่องของโรคโควิด-19 ซึ่งระบาดรอบสองเมื่อวันที่ 28 มกราคมหลังจากผ่านรอบแรกไปเกือบสองเดือนและได้แพร่กระจายไปยัง 13 พื้นที่ในประเทศรวมถึงเมืองใหญ่ๆ เช่น ฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้
สนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคีของสิงคโปร์กับอินโดนีเซียมีผลบังคับใช้

สนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากได้รับการให้สัตยาบันในการประชุมเสมือนจริงเมื่อวันที่ 9 มีนาคม
สนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักลงทุนและการลงทุนจากทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังจะให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมแก่การลงทุนของนักลงทุนจากทั้งสองประเทศ
นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และนางเรตโน มาร์ซูดิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ร่วมลงนามโดยมีนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เป็นสักขีพยานในปี 2561
นายชานกล่าวว่า “การที่สนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคีสิงคโปร์-อินโดนีเซียมีผลบังคับใช้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีมายาวนานของทั้งสองประเทศ
นางเรตโนกล่าวว่า “สนธิสัญญาจะให้ความคุ้มครองที่มากขึ้นสำหรับนักลงทุนสิงคโปร์ที่เข้ามาในตลาดอินโดนีเซีย และในทางกลับกัน การปกป้องการลงทุนเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เราหวังว่าจะมีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคี และกระแสการลงทุนระหว่างประเทศของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับต้นๆ ของอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2014 การลงทุนของสิงคโปร์ในอินโดนีเซียมีมูลค่ารวม 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (13.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ในปีที่แล้ว ด้านอินโดนีเซียยังเป็นหนึ่งในคู่ค้า 10 อันดับแรกของสิงคโปร์ในปีที่แล้วด้วยการค้าระหว่างกันสูงถึง 48.8 พันล้านดอลลาร์
นางเรตโนกล่าวว่า สนธิสัญญาที่ให้สัตยาบันจะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจผลักดันให้เกิดการลงทุนแบบสองทางขึ้นระหว่าง 18-22% ใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังสามารถรับรู้มูลค่าการลงทุน 200 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปีในภูมิภาคภายในปี 2573
นางเรตโนกล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวสร้างความแน่นอนและความมั่นใจมากขึ้น เ นื่องจากให้ความคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับนักลงทุนชาวอินโดนีเซียและสิงคโปร์ และสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและภาระผูกพันของนักลงทุนและประเทศที่นักลงทุนเข้าไปลงทุน
นอกจากนี้ “สนธิสัญญานี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งของอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ที่มีต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม โดยเป็นการส่งสัญญาณให้มีความหวังมากขึ้น และการมองโลกในแง่ดีเพื่อค้นหาโอกาสทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน”
นายชานยังกล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวเปิดให้ลงทุนโดยได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น การปฏิบัติต่อการเลือกปฏิบัติและการเวนคืนที่ผิดกฎหมาย
“ในกรณีที่มีข้อพิพาท สนธิสัญญาดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนสามารถขอความช่วยเหลือจากอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้”
“ผมหวังว่าความแน่นอนที่สนธิสัญญานี้ได้ส่งมอบให้ จะส่งเสริมให้เกิดกระแสการลงทุนระหว่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียมากขึ้น สิ่งนี้จะเอื้อให้เกิดกระแสการค้ามากขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศของเรา”
สนธิสัญญาดังกล่าวได้เสริมข้อตกลงอื่นๆ เช่น ข้อตกลงการหลีกเลี่ยงภาษีซ้อนฉบับแก้ไขซึ่งลงนามเมื่อปีที่แล้ว ข้อตกลงฉบับแก้ไขจะช่วยลดภาระภาษีของนักลงทุนจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
นายชานกล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับบริษัทในสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการไหลเข้าของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเคนดัลในชวากลาง
ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิงคโปร์และอินโดนีเซียยังคงต้องหาวิธีที่จะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศลึกซึ้งยิ่งขึ้นในย่านนี้” นายชานกล่าวโดยอ้างถึง นงสา ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งทำหน้าที่เป็น “สะพานดิจิทัล” ให้กับบริษัทเทคโนโลยีทั้งในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ยังเน้นถึง ภูมิภาคบาตัม บินตัน และคาริมุน (BBK) ซึ่งยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
“สิงคโปร์ยังคงกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของ BBK โดยการอำนวยความสะดวกในการลงทุนใหม่ๆ และร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ การบริหาร และกฎระเบียบต่างๆ ที่ธุรกิจเผชิญอยู่”
นายชานตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทสิงคโปร์ให้ความสนใจอย่างมากกับกฎหมาย Omnibus หรือกฎหมายสร้างงานของอินโดนีเซียที่ประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว
“ความพยายามของรัฐบาลชาวอินโดนีเซีย ในการปรับปรุงกฎระเบียบ และปรับปรุงคุณภาพและผลิตภาพของแรงงานอินโดนีเซียผ่านกฎหมายฉบับนี้จะส่งเสริมให้มีการลงทุนที่มีศักยภาพมากขึ้น” เขากล่าว
เวียดนามวางนโยบายหนุนรัฐวิสาหกิจขึ้นผู้นำอุตสาหกรรม

รัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาร่างนโยบายเพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ 4 แห่งนอกเหนือจาก 3 ที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อผลักดันให้เป็นผู้นำของอุตสาหกรรม ได้แก่ Vietnam Posts and Telecommunications Group (VNPT), Vietnam Oil and Gas Group (Petrovietnam), Saigon Newport Corporation และ Vietcombank
ก่อนหน้านี้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้นำ Viettel, Mobifone และ Vietnam Electricity เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น จะมีการพัฒนากลไกและนโยบายที่ดีเพื่อให้ทั้ง 7 บริษัทเป็นหัวหอกในการสร้างความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการเติบโต
แต่กระทรวงไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของนโยบาย
กระทรวงคัดเลือกทั้ง 7 บริษัทโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การมีสินทรัพย์รวมกว่า 20 ล้านล้าน VND (868 ล้านดอลลาร์) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่า 6% และความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 30%
รัฐวิสาหกิจมีสัดส่วน 0.07% บริษัททั้งหมดในประเทศ แต่มีสินทรัพย์รวมกันในสัดส่วน 7% และมีส่วนใน GDP มากกว่า 29%
เวียดนาม กัมพูชา ลาว ส่งเสริมความร่วมมือชายแดน

ทั้งสามประเทศตกลงร่วมกันที่จะรักษาและส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกความร่วมมือ เร่งการประสานงาน และการแลกเปลี่ยนระหว่างจุดผ่านแดน 13 จุด และส่งเสริมการสร้างตลาดชายแดน ตลอดจนศูนย์กระจายสินค้าระหว่างสามประเทศ
นอกจากนี้ ยังตกลงที่จะดำเนินการตามข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิผล เพิ่มความร่วมมือเพื่อรักษาความมั่นคงบริเวณชายแดนและการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมข้ามชาติ เร่งดำเนินการตามแผนเพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจทั้งสามประเทศภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือและการดึงทรัพยากรจากพันธมิตรการพัฒนาเพื่อพัฒนาทางด่วนฮานอย-เวียงจันทน์, ทางรถไฟเวียงจันทน์-หวุงอาง และทางรถไฟโฮจิมินห์ซิตี้-พนมเปญ
นายกรัฐมนตรีทั้งสามประเทศยกย่องการเจรจาซึ่งริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา โดยกล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้จะช่วยยกระดับมิตรภาพดั้งเดิมระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และลาว
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงมิตรภาพพิเศษระหว่างทั้งสามประเทศ ที่เป็นแรงจูงใจในการยืนหยัดร่วมกันต่อสู้เพื่อเอกราชในอดีต และสาเหตุของการสร้างและการพัฒนาของชาติในปัจจุบัน ตลอดจนชื่นชมความสำเร็จของความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง การป้องกันประเทศ การจัดการชายแดน เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการศึกษาและการฝึกอบรม
ทั้งสามประเทศตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ต่อไป โดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับพิธีการศุลกากรสำหรับประชาชนและสินค้าผ่านชายแดน ตลอดจนกิจกรรมความร่วมมือด้านการลงทุน
รวมทั้งตกลงที่จะประสานงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และดำเนินการตามความคิดริเริ่มที่นำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลภายใต้กรอบของอาเซียน 2020 ซึ่งรวมถึงการสำรองเวชภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนและเส้นทางการเดินทางของอาเซียน
ทั้งสามประเทศชื่นชมความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในการประชุมระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศที่ผ่านมา และยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ เพื่อเร่งการสร้างประชาคมอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมืออนุภูมิภาคในอาเซียน รวมทั้งเชื่อมความร่วมมือแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ และแผนความร่วมมือของอาเซียน
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ และแสดงความต้องการที่จะให้เมียนมามีเสถียรภาพ และจัดการกับข้อพิพาทได้โดยเร็ว ผ่านการหารืออย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของพม่าและเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และตกลงที่จะสนับสนุนบทบาทและความพยายามของอาเซียนต่อไป
ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลตะวันออก ตกลงที่จะประสานงานเพื่อสร้างหลักปฏิบัติที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิผลตามกฎหมายระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีทั้งสามประเทศยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการ และการใช้แหล่งน้ำในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน, การประสานงานเพื่อจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสายหลัก และส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาพลังงานที่สะอาดและหมุนเวียน
นายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก แสดงความยินดีกับประชาชนและรัฐบาลของลาวและกัมพูชาที่ประสบความสำเร็จ ในการต่อสู้กับโควิด-19 และในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม
นายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก กล่าวว่า เวียดนามสนับสนุนกัมพูชาให้ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 7 ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนนี้ และการมีบทบาทในฐานะประธานการประชุมสุดยอดการประชุมเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ 13 ซึ่งกำหนดไว้ในสิ้นปี 2564 และสนับสนุนให้ลาวประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมสุดยอด และการดำรงตำแหน่งประธานการประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ในปี 2564-2565
นายกรัฐมนตรีลาวและกัมพูชาชื่นชมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม รวมถึงความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19
รวมทั้งแสดงความยินดีที่เวียดนามประสบความสำเร็จในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2563 และประสบความสำเร็จในการดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในช่วงวาระปี 2563-2564