ThaiPublica > เกาะกระแส > อดีตผู้ว่า สตง. ชนะคดี “วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง กับพวก” กรณีเสนอปปง. อายัดค่าโง่ “คดีคลองด่าน” 9,000 ล้าน

อดีตผู้ว่า สตง. ชนะคดี “วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง กับพวก” กรณีเสนอปปง. อายัดค่าโง่ “คดีคลองด่าน” 9,000 ล้าน

9 กุมภาพันธ์ 2021


โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ศาลฎีกา ยืนยกฟ้องอดีตผู้ว่า สตง. กรณีทำหนังสือถึงเลขาธิการ ปปง. อายัดเงินค่าโง่ “คดีคลองด่าน” กว่า 9,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีระหว่างบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ ฟ้องนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นจำเลย ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่อดีตผู้ว่า สตง. ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขอให้มีคำสั่งยึดหรืออายัดเงินที่โจทก์ทั้งสี่ต้องได้รับจากกรมควบคุมมลพิษตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีค่าโง่คลองด่าน คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 9,000 ล้านบาท (จากการจ่ายชดเชย 7,936.45 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินดอลลาร์อีก 54.29 เหรียญสหรัฐ)

ผลจากการที่อดีตผู้ว่า สตง. ทำหนังสือไปถึงเลขาธิการ ปปง. ครั้งนั้น ทางคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดเงินชดเชยเป็นการชั่วคราว ทั้งเงินที่โจทก์ได้รับไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท และสิทธิเรียกร้องที่กำลังจะได้รับจากกระทรวงการคลังอีก 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้คณะกรรมการ ปปง. ยังทำเรื่องไปอัยการให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องทั้งหมดของโจทก์ตกเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งขอให้ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ทั้งสี่ในข้อกล่าวหาร่วมกันฟอกเงิน จึงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ต้องมายื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขอให้ลงโทษอดีตผู้ว่า สตง. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ภายหลังศาลชั้นต้นได้ตรวจคำฟ้องและพยานเอกสารต่างๆ ศาลมีความเห็นว่าคดีนี้มีข้อเท็จจริงเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องไต่สวน จึงนัดคู่ความมาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “กรณีจำเลยทำหนังสือไปถึงเลขาธิการ ปปง. ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยไม่ได้มีการกระทำใดๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่ หรือมีการฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่ จึงไม่อาจเรียกร้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยไม่ไต่สวนคำฟ้อง วันที่ 15 กันยายน 2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์ทั้งสี่จึงยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติชอบ พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ” ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอีกครั้ง ล่าสุดนี้ศาลฎีกา “พิพากษายืน” ตามที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่มาของคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มผู้รับเหมางานในโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก (คลองด่าน) ตามที่คณะอนุญาโตตุลาการเคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ในขณะนั้นรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับกลุ่มผู้รับเหมา เพื่อขอให้ช่วยลดค่าชดเชย ผ่อนปรนค่าดอกเบี้ย และขอผ่อนจ่ายเป็น 3 งวด โดยงวดแรก จ่ายให้ผู้รับเหมาไปแล้ว 40% คิดเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ทยอยจ่ายงวดละ 30% รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้จ่าย บังเอิญ สตง. ไปเห็นคำวินิจฉัยของศาลอาญาในคดีค่าโง่คลองด่าน พาดพิงไปถึงกลุ่มผู้รับเหมาอาจมีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานปรากฏในคำพิพากษา แต่ศาลไม่ได้ตัดสินประเด็นนี้ พิพากษาลงโทษเฉพาะอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

หลังจากที่ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น ทาง สตง. จึงทำหนังสือไปถึงเลขาธิการ ปปง. ขอให้อายัดเงินผู้รับเหมากว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งต่อมา ปปง. ได้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้รับเหมาที่รัฐบาลได้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท จากนั้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงการคลัง ขอให้ชะลอการจ่ายเงินค่าโง่คลองด่านส่วนที่เหลืออีก 6,000 ล้านบาท รวมทั้งทำหนังสือแจ้งศาลปกครอง และกระทรวงการคลัง เพื่อให้นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลไปยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ทบทวนคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการกระทำอันมิชอบ อาจมีผลทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ ซึ่งผลจากการที่ สตง. ทำหนังสือไปถึงหน่วยงานต่างๆ ตามที่กล่าวมานั้น นำไปสู่การพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่านอีกต่อไป

“และจากการที่ สตง. ทำหนังสือไปถึงเลขาธิการ ปปง. ครั้งนั้น เป็นเหตุให้กลุ่มผู้รับเหมาไม่พอใจ มายื่นฟ้องผมที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พร้อมกับเรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กลุ่มผู้รับเหมาจึงยื่นฎีกาเพื่อให้ศาลพิจารณาคำฟ้องใหม่ ซึ่งศาลฎีกาก็อนุญาต หลังจากศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงเสร็จ ก็มีคำพิพากษายืนตามที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องมาถูกต้องแล้ว ช่วยเซฟเงินหลวงไป 9,000 ล้านบาท” นายพิศิษฐ์กล่าว

  • ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน” บทเรียน 3 หมื่นล้าน ราคาที่คนไทยต้องจ่าย
  • เปิด 3 วิธี พลิก “คดีคลองด่าน” ไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่” – ข้องใจรัฐสู้คดีไม่เต็มที่ จี้ฟ้องแพ่งเอกชนร่วมทุจริต