ThaiPublica > คอลัมน์ > DDD (Dialogue & Deliberative Democracy) จากบทสนทนาเป็นบทอภิปรายแบบประชาธิปไตย

DDD (Dialogue & Deliberative Democracy) จากบทสนทนาเป็นบทอภิปรายแบบประชาธิปไตย

20 กุมภาพันธ์ 2021


จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief AI Evangelist & VP of AI Security and Compliance บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

คุณเคยฟังการพูดคุยกันของคน (Dialogue) จาก Podcast แล้วได้ฉุกคิดหรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไหมครับ บทสนทนาที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดที่แตกต่างเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสรรค์และค้นหาคำตอบของปัญหาที่ซับซ้อน เพราะโดยธรรมชาติของปัญหาที่ซับซ้อนมักจะประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน ทั้งด้านมุมมอง พื้นเพและข้อมูลที่มีไม่เหมือนกัน

หากมีกระบวนการที่ทำให้คนที่มีหลากหลายความคิด มาร่วมกันคิด ปรึกษาหารือ อภิปราย (Deliberation) และสร้างการมีส่วนร่วมกันก็จะดีไม่น้อย นี่จึงเป็นที่มาของการอภิปรายแบบประชาธิปไตย (Deliberative Democracy) หรือ การสำรวจแบบประชาธิปไตย (Deliberative Poll®) บทสนทนาที่นำไปสู่การหารือเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดมาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่ทำการวิจัยการแสดงความเห็นของสาธารณชนกับประชาธิปไตย

ที่ผ่านมามีการนำกระบวนการนี้มาใช้เพื่อพัฒนานโยบายด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ที่เมืองทามาลี (Tamale) ประเทศกานา (Ghana) ประเทศกานามีความเจริญในลำดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ประชากรมีการศึกษาเฉลี่ยประมาณ 7 ปี (จากสถิติปี 2018 เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.4 ปี) สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในทามาลีแย่กว่าประชากรทั่วไปของกานา อาจมีคนสงสัยว่าการคิดปรึกษาหารือต้องใช้กับคนที่มีการศึกษาหรือกับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ก็มีงานวิจัยว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางทีก็ไม่ประสบความเร็จกับบุคคลเหล่านั้นเสมอไป คนทั่วไปอาจให้มุมมองของประสบการณ์ในชีวิตจริง ความรู้ท้องถิ่น และขนบธรรมเนียม ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำนโยบายสาธารณะได้

สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้สำเร็จเป็นเรื่องของการออกแบบกระบวนการ โดยผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายแขนงมีข้อเรียกร้องที่มีหลักการ มีเหตุผล มีความเคารพซึ่งกันและกันในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งมีการจัดกลุ่มอภิปรายแบบสุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมจากหลากหลายภาคส่วน

กระบวนการสำรวจแบบประชาธิปไตย (Deliberative Poll®) ที่ทามาลี ใช้เวลา 2 วัน ตามขั้นตอนดังนี้

1.คัดเลือกผู้เข้าร่วมการทำสำรวจแบบสุ่มประมาณ 208 คน โดยมีตัวแทนเป็นผู้ชายประมาณ 48% ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งจากการประมาณการ 1 ใน 3 ของผู้เข้าร่วม ไม่สามารถอ่านหนังสือได้

2.ผู้ที่เข้าร่วมจะถูกสุ่มเพื่อแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 10-15 คน มีการให้กรอกแบบสอบถาม (Poll) ด้วยการให้คะแนนระหว่าง 1-10 เกี่ยวกับข้อเสนอในข้อที่สำคัญทั้งก่อนและหลังอภิปราย (Pre and Post Survey Poll) เพื่อดูว่ามีความคิดเห็นเปลี่ยนไปหลังจากร่วมกระบวนการนี้หรือไม่

3.ในแต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และจาก NGO มาให้ความรู้ในมุมมองที่แตกต่างกันกับผู้เข้าร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการนำเสนอ (Balanced) มีการนำเสนอเนื้อหาประกอบหัวข้อที่จะอภิปราย เช่น การปลูกพืชให้ได้มากที่สุดแม้ว่าจะต้องใช้น้ำเสียจากห้องน้ำ หรือ การปลูกพืชที่ใช้แค่น้ำสะอาดแต่ได้ผลผลิตน้อย ผู้เข้าร่วมต้องช่วยกันคิด ชั่งน้ำหนัก และตัดสินใจกันเอง สำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออกทาง ทีมงานก็จัดให้มีวิดิโอให้ความรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่อภิปราย

4.มีผู้ดำเนินการอภิปราย (Moderator) ที่ได้รับการฝึกมาแล้วมาช่วยดำเนินการระหว่างการอภิปราย พูดคุยให้ทุกคนในกลุ่มมีโอกาสตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญ แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีใครได้พูดมากกว่าคนอื่น และไม่ตัดสินว่าความคิดเห็นใดผิดหรือถูก

5.การอภิปรายนี้ไม่จำเป็นต้องมีความเอกฉันท์ (Consensus) สิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาจะช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพร่วมกัน โดยที่ผู้ร่างนโยบายจะเอาข้อมูลจากแบบสอบถามที่รวบรวมมา มานำเสนอหลังจากการอภิปราย ทั้งเรื่องปัญหา หรือความกังวลต่าง ๆ ของประชาชนเพื่อไปจัดลำดับความสำคัญ และปรับนโยบายสาธารณะต่อไป

สิ่งที่เราได้เห็นจากกระบวนการนี้คงไม่ต่างไปจากการเปลี่ยนการอภิปรายในสภามาเป็นนอกสภา โดยมีกระบวนการที่ให้ความรู้กับประชาชน มีการออกแบบเพื่อให้ประชาชนที่มีความคิดแตกต่างสามารถที่จะคิดร่วมกันด้วยข้อมูลและความรู้ที่ครอบคลุมในหลายแง่มุม ถ้าประชาชนรับฟังและเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อพร้อมที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาของทุกคนที่อยู่ในสังคมนี้ร่วมกัน การจัดพื้นที่นี้ขึ้นมาก็น่าจะเป็นประโยชน์ ในวันนี้ที่สังคมไทยมีความคิดที่แตกต่าง เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะหันหน้าเข้าหากัน เพื่อปรึกษาหารือก่อนที่มันจะเป็นความแตกแยกที่เกินกว่าจะแก้ไขได้

References:

Chen, Kaiping, How deliberative designs empower citizens’ voices: A case study on Ghana’s deliberative poll on agriculture and the environment

Stanford Center for Deliberative Democracy