ThaiPublica > คอลัมน์ > วัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่แบบ Westrum

วัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่แบบ Westrum

29 พฤษภาคม 2021


จรัล งามวิโรจน์เจริญ Director(CEO Office) Carabao Group

ช่วงนี้ผมอาจจะพูดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเยอะหน่อยเพราะกำลังศึกษานำมาใช้กับการสร้างองค์กรใหม่ วัฒนธรรมองค์กรเป็นรากฐานสำคัญขององค์กรประสิทธิภาพสูงโดยเฉพาะองค์กรด้านเทคโนโลยี ตามที่ Edgar Schein บิดาที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านวัฒนธรรมองค์กร กล่าวว่า วัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นใน 3 ระดับ

1.สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (artifacts) เป็นสิ่งที่จับต้องได้เห็นได้ในองค์กร ประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรม, การออกแบบภายใน, พื้นที่ทำงาน, การตกแต่ง, การแต่งกาย, poster, สิ่งประดับเชิงสัญลักษณ์ เช่น รางวัล, คำพูด, mission/vision ของบริษัท, เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงาน, การฉลอง, วิถีวิธีปฏิบัติของผู้นำ, วิธีปฏิบัติของพนักงาน, วิธีปฏิบัติสังคมในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นที่สังเกตได้หากเข้าไปอยู่ในองค์กร

2.ค่านิยม (values) เป็นสิ่งที่พนักงานเชื่อในอุดมคติว่าเป็นค่านิยมขององค์กร (แต่ว่าจะทำจริงหรือเกิดขึ้นจริงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง) ความเชื่อในค่านิยมนี้มักจะเป็นตัวสร้างวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งหากมีความคลุมเคลือในการสื่อสาร จำกัดความ หรือผู้นำไม่ได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้วัฒนธรรมขององค์กรเสื่อมลง ตัวอย่าง Uber มีหนึ่งใน 14 ค่านิยม ว่า “Always be hustlin” พยายามตลอดเวลา หรือบอกพนักงานว่า “Be themselves” เป็นตัวของตัวเอง ค่านิยมเหล่านี้แปลได้หลายอย่างทำให้อยากต่อการปฏิบัติและไม่ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน

3.ระดับสมมติฐานพื้นฐาน (basic assumptions) คือเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเป้นความเชื่อในองค์กร คนในองค์กรรู้ๆ กันแต่เป็นสิ่งทีอธิบายได้ยากหรือมองไม่เห็น บางอย่างเช่นคนในองค์กรคิดว่าถ้ามีไอเดียดีก็พูดออกมา หรือความเชื่อว่าธุรกิจต้องทำกำไร สมมติฐานพื้นฐานอื่นๆ เช่น อะไรคือความจริง ความสำคัญของเวลา การให้พื่นที่ของพนักงาน ความเชื่อเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ความสัมพ้นธ์ขององค์กรกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (เวลาเล่นเวลาทำงาน เวลาว่าง) การกระจายอำนาจหน้าที่ล้วนเป็นตัวอย่างของสมมติฐานพื้นฐาน

คนส่วนใหญ่ในวงการเทคโนโลยีให้ความสำคัญของค่านิยม (วัฒนธรรมในระดับที่ 2) มี นักสังคมวิทยาชื่อ Ron Westrum ทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยด้านคนในความปลอดภัยของระบบ (human factor in system safety) กับ ในองค์กรในอุตสาหกรรมการบินและสาธารณสุข Westrum จัดกลุ่มวัฒนธรรมองค์กรเป็น 3 ประเภท

1.องค์กรกลัวตาย (pathological — power-oriented) เป็นองค์กรที่คนทำงานอยู่ภายใต้ความกลัวหรือการคุกคามจากอำนาจของผู้บังคับบัญชา ปกติแล้ว คนส่วนใหญ่ในองค์กรนี้จะปกปิดข้อมูลข่าวสารในการทำงานให้กัน เพื่อทำให้ตัวเองดูดี

2.องค์กรแบบราชการ (bureaucratic — rule-oriented) เป็นองค์กรที่ปกป้องพื้นที่ของตนเองเลือกปฏิบัติตามกฎระเบียบตามตัวหนังสือขององค์กรนั้นๆ

3.องค์กรแบบกำเนิด (generative — performance-oriented) เป็นองค์กรที่ให้ความสนใจที่จะบรรลุเป้าหมายและภารกิจขององค์กร ทุกอย่างอยู่ภายใต้การทำงานที่มีประสิทธิภาพ

วัฒนธรรมขององค์กรเป็นสิ่งคาดการณ์การเคลื่อนที่ของข่าวสารข้อมูลขององค์กร ข้อมูลข่าวสารที่ดีต้องตอบคำถามของคนรับ ทันเวลา และใช้งานได้ องค์กรที่มีการไหลของข่าวสารข้อมูลที่ดีก็จะทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี

งานวิจัยของ Westrum ปี 2014 พบว่า

    1.พนักงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบกำเนิดจะทำงานร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเชื่อใจกันในองค์กรในทุกระดับ

    2.วัฒนธรรมแบบกำเนิดเน้นภารกิจโดยทำให้คนมีส่วนร่วม

    3.วัฒนธรรมนี้ สร้างความเท่าเทียม โดยที่คนไม่รู้สึกว่าระดับขั้นมีความสำคัญอะไร

Westrum สรุปว่าองค์กรที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพมีการส่งผ่านข่าวสารข้อมูลขององค์กรดี และมีสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก่อนดังนี้

    1.วัฒนธรรมที่ดีต้องมีความเชื่อมั้นเชื่อใจกันและความร่วมมือกันของคนในองค์กร

    2.วัฒนธรรมยิ่งดี คุณภาพของการตัดสินใจก็จะดีขึ้น การเปิดกว้างและความโปร่งใสในการทำงานของทีมช่วยทำให้ทีมกล้าที่จะเปลี่ยนการตัดสินใจเมื่อรู้ว่ากำลังเดินผิดทาง

    3.ทีมที่มีบรรทัดฐานวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้น มักจะสามารถจัดการคนในทีมได้ดี เพราะวัฒนธรรมทีมที่ดีช่วยค้นพบและแก้ไขปัญหาของทีม

Google เคยใช้เวลา 2 ปีทำวิจัยว่าอะไรที่ทำให้ทีมมีประสิทธิภาพ โดยการสัมภาษณ์พนักงานกว่า 200 คน ดูคุณลักษณะกว่า 250 อย่างจาก 180 ทีม สิ่งที่พบก็คือคนที่อยู่ในทีมไม่ได้สำคัญเท่าการปฏิสัมพันธ์ของคนในทีม ในการทำงาน การมองการมีส่วนร่วมของเพื่อนร่วมงาน หลักๆ คือเป็นเรื่องของพลวัตของทีม ซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนทีม

องค์กรที่ดีมีวัฒนธรรมที่ดี ถ้าเรามองขยายขึ้นมาในระดับสังคมที่มีกลุ่มขององค์กรหลายแบบ รัฐ เอกชน startup สถาบันการศึกษา เรามองเห็นอะไรบ้างละครับที่จะค่อยๆ ทำให้มันไปสู่องค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบกำเนิด

References

https://itrevolution.com/westrums-organizational-model-in-tech-orgs

https://www.fastcompany.com/3068475/this-is-what-caused-ubers-broken-company-culture

https://www.managementstudyhq.com/edgar-schein-model-theory.html

https://thaipublica.org/2020/10/data-driven-society49/