ThaiPublica > สู่อาเซียน > เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร สปป.ลาว

เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร สปป.ลาว

14 มกราคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ไซสมพอน พมวิหาน ประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ตรวจการประดับตกแต่งด้านหน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเตรียมรับการประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 11

ใน สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เมื่อต้องพูดถึงองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารประเทศ ทุกคนต้องพูดว่า “พรรค-รัฐ” ควบคู่กัน มิใช่แค่รัฐบาลเพียงอย่างเดียวเหมือนประเทศอื่น

เหตุผลเนื่องเพราะลาวปกครองโดยระบบ “พรรค” เลือก “รัฐ” พรรคจึงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ขณะที่รัฐบาลคือองค์กรที่มีบทบาทในการบริหาร

“พรรค” ที่ว่ามีเพียงพรรคเดียว คือ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ดังนั้น กลไกการทำงานของพรรค จึงเป็นตัวบ่งชี้กลไกการบริหารงานของประเทศด้วยเช่นกัน

พรรคประชาชนปฏิวัติลาว มีการประชุมใหญ่กันทุก 5 ปี เพื่อเลือกคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค หรือโปลิตบูโร และเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจกำหนดตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ 13–15 มกราคม 2564 พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจะมีการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ที่หอประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ ผลจากการประชุมครั้งนี้จะทำให้เห็นทิศทางการเมืองภายใน สปป.ลาว ว่าใครจะได้เป็นคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค คณะเลขาธิการศูนย์กลางพรรค และเลขาธิการพรรค

รวมถึง “ใคร” จะมีบทบาททางการบริหารในตำแหน่ง “ประธานประเทศ” เทียบเท่าประธานาธิบดี และในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

บุนยัง วอละจิต ประธานประเทศ และทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว คนปัจจุบัน รับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2559 ครบ 5 ปีแล้ว ทั้งคู่

การประดับตกแต่งธงทิวที่ประกอบด้วยธงพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและธงชาติ เรียงสลับกัน ตามถนนหนทางทุกแห่งในนครหลวงเวียงจันทน์

“พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” มีจุดกำเนิดจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2473 แต่ได้สลายตัวไปในปี 2494 เพื่อเปิดโอกาสให้ 3 ประเทศอินโดจีน คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว มีพรรคเป็นของตนเอง

ในลาว ได้มีการก่อตั้ง “พรรคประชาชนลาว” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2498 เป็นองค์กรแกนนำของแนวลาวรักชาติและขบวนการประเทศลาว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ในเดือนมีนาคม 2515

เลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาวคนแรกคือ “ไกสอน พมวิหาร” ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ยังใช้ชื่อพรรคประชาชนลาวเมื่อปี 2498 จนเสียชีวิตลงในปี 2535 จากนั้น “คำไต สีพันดอน” ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคให้เป็นประธานของพรรคต่อจนถึงปี 2549

ที่การประชุมใหญ่ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 8 ในปี 2549 ได้เลือก “พลโทจูมมะลี ไซยะสอน” ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค และดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อเนื่อง 10 ปี จนการประชุมครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ได้เลือก “บุนยัง วอละจิต” เป็นเลขาธิการพรรคและดำรงตำแหน่งประธานประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

การประชุมรัฐบาลลาว “เปิดกว้างท้ายสะไหม” เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564

สัปดาห์นี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของ “อำนาจ” ในการบริหารงานประเทศภายใน สปป.ลาว

คณะรัฐบาล สปป.ลาว ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารหน่วยงานระดับนโยบาย ตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี เช่น เจ้าแขวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ฯลฯ มีการประชุมใหญ่เดือนละครั้ง การประชุมเมื่อวันที่ 7–8 มกราคมที่ผ่านมา ใช้ชื่อว่า “กองประชุมรัฐบาลชุดที่ 8 เปิดกว้าง ท้ายสะไหม”

ก่อนเริ่มประชุม นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน ได้มายืนถ่ายภาพร่วมกัน

คณะรัฐบาลลาวถ่ายภาพร่วมกันก่อนการประชุม “เปิดกว้างท้ายสะไหม”

การประชุมวันนั้น มีวาระสำคัญให้พิจารณาหลายเรื่อง เช่น การทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดที่ 8 (2559–2563) , สรุปผลการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี (2559–2563), อนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ครั้งที่ 9 (2564–2568), ความคืบหน้า การปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกและบรรดาตัวชี้วัดต่างๆ ของการทำธุรกิจในลาว และการออกใบอนุญาตลงทุนและใบอนุญาตทำธุรกิจ, มาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19, การร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลเวียดนามฯลฯ

ช่วงท้ายของการประชุม ได้มีการขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กรมการเมืองและคณะเลขาธิการศูนย์กลางพรรค สภาแห่งชาติ ประเทศเพื่อนมิตร กลุ่มประเทศในอาเซียน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศทุกแห่ง และประชาชนลาว ที่ให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลมาตลอด 5 ปี

ลาวยังเป็นประเทศที่ประสพกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ เงินที่นำมาใช้จ่ายในโครงการพัฒนาประเทศ นอกจากภาษีที่เก็บได้ในแต่ละปีแล้ว ยังมีเงินช่วยเหลือ หรือได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ รวมถึงเงินจากการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อกู้โดยตรงจากตลาดการเงิน

แต่ภาคส่วนหนึ่ง ที่มีบทบาทสนับสนุนนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งใจทำ คือองค์กรภาคธุรกิจ

วันที่ 7 มกราคม ก่อนการประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 11 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ มีการเปิดเวทีรับเงินสนับสนุนการจัดประชุมจากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน องค์กรของรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน เป็นผู้มารับด้วยตนเอง

มีการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ด้วยการเผยแพร่ภาพและคลิปข่าว การมอบเงินสนับสนุนของทุกองค์กรผ่านสื่อของรัฐ เช่น สำนักข่าวสารประเทศลาว และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

องค์กรและจำนวนเงินที่แต่ละองค์กรนำมาสนับสนุนการประชุมใหญ่ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ล้วนมีนัยสำคัญ

องค์กรและจำนวนเงินที่องค์กรเหล่านี้ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย…

1. บริษัทเอสที กรุ๊ป และธนาคารเอสที โดยไซยา ไซสุลิวง รองประธานกรรมการบริหาร เอสที กรุ๊ป 1,200 ล้านกีบ

2. บริษัทเอสวี กรุ๊ป โดยไซสงคาม วอละจิต ประธานบริษัท 100 ล้านกีบ

3. บริษัทลาวโทละคมมะนาคม โดยสุพน จันทะวิไซ ผู้อำนวยการใหญ่ 1,100 ล้านกีบ

4. บริษัทพงซับทะวี โดยพงสะหวัด เสนาพวน ประธานกลุ่มพงซับทะวี 1,000 ล้านกีบ

5. บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนและก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า โดยปีซาไซ แก้วไซยะจัก ประธานบริษัท 1,000 ล้านกีบ

6. บริษัทพีทีโซน โดยฮว่าน ฮวน ดาว 1,000 ล้านกีบ

7. บริษัทจะเลินเซกอง พะลังงาน โดยจันทะหนอม พมมะนี ประธานบริษัท 1,000 ล้านกีบ

8. ธนาคารร่วมพัฒนา โดยเอกกะพัน พะพิทัก 800 ล้านกีบ

9. กลุ่มบริษัทพอนสัก 500 ล้านกีบ

10. บริษัทวังตัดขุดค้นบ่อแร่ โดยสิลิวัน ปัดทำมะวง รองผู้อำนวยการ 300 ล้านกีบ

ไซยา ไซสุลิวง รองประธานกรรมการบริหารบริษัทเอสที กรุ๊ป และธนาคารเอสที มอบเงินสนับสนุน 1,200 ล้านกีบ และ ไซสงคาม วอละจิต ประธานบริษัทเอสวี กรุ๊ป สนับสนุนอีก 100 ล้านกีบ
บริษัทลาวโทละคมมะนาคม โดยสุพน จันทะวิไซ ผู้อำนวยการใหญ่ สนับสนุน1,100 ล้านกีบ
บริษัทพงซับทะวี โดยพงสะหวัด เสนาพวน ประธานกลุ่มพงซับทะวี สนับสนุน 1,000 ล้านกีบ
บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนและก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า โดยปีซาไซ แก้วไซยะจัก ประธานบริษัท สนับสนุน 1,000 ล้านกีบ

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ได้นำเงินมาสนับสนุน ประกอบด้วย

  • บริษัทเบียร์ลาว โดยสุนทอน พมมะจัก ประธานบริษัท 500 ล้านกีบ
  • ธนาคารแห่ง สปป.ลาว โดยขันแก้ว หล้ามะนีเงา หัวหน้ากรมบัญชีและการเงิน 500 ล้านกีบ
  • บริษัท รัฐวิสาหกิจหวยพัดทะนา โดยอัคคะวอน หลวงสะวันนะวง ผู้อำนวยการ 300 ล้านกีบ
  • (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 มกราคม 1 บาท เท่ากับ 333.61 กีบ)

จากนี้ คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวขององค์กรเหล่านี้ ว่าหลังจาก สปป.ลาว ได้คณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่แล้ว จะมีบทบาทอย่างไร…