ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังเปิดตัวโครงการ “เราชนะ” แจกคนละ 3,500 บาท 2 เดือน

คลังเปิดตัวโครงการ “เราชนะ” แจกคนละ 3,500 บาท 2 เดือน

12 มกราคม 2021


นายอาคม เต็มพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

คลังเปิดตัวโครงการ “เราชนะ” แจกเงินคนละ 3,500 บาท 2 เดือน เตรียมเปิดลงทะเบียนคนละครึ่งรอบเก็บตก 1 ล้านสิทธิ์ในวันที่ 20 มกราคม 2564

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 นายอาคม เต็มพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯว่าหลังจากที่ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้มีกำหนดวงเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอีกคนละ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะ 2 เดือน ภายใต้ “โครงการเราชนะ” โดยจะมีการนำเสนอรายละเอียดของโครงการนี้ให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันที่ 19 มกราคม 2564 จากนั้นก็จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน คาดว่าจะเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้ภายในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2564 หรือ อย่างช้าไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564

นายอาคม กล่าวต่อไปอีก สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯจะมีทั้งหมดประมาณ 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกโครงการคนละครึ่ง นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เปิดลงทะเบียนใหม่ประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงก็ได้มีการเตรียมการศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งในส่วนของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 ขณะนี้มีสิทธิคงเหลืออยู่ประมาณ 500,000 สิทธิ ส่วนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่าจะมีสิทธิคงเหลืออยู่เท่าไหร่ ในเบื้องต้นพบ 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สมัครที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวนหนึ่ง และอีกกลุ่มเป็นผู้สมัครที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้วไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน ยอดใช้จ่ายเงินไม่มีการเคลื่อนไหว ก็จะถูกตัดสิทธิ์ คาดว่ามีประมาณ 500,000 สิทธิ์เช่นเดียวกัน รวมโครงการคนละครึ่งทั้ง 2 เฟส ก็จะมีสิทธิคงเหลือประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้ก็จะเสนอที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 19 มกราคม 2564

“หลังจากโครงการคนละครึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ในวันที่ 19 มกราคม 2564 ก็จะเปิดให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งอีก 1 ล้านสิทธิ์ในวันที่ 20 มกราคม 2564 หากผู้ที่มาลงทะเบียนมีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายเงินได้ในวันที่ 25 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ยืนยันโครงการเราชนะไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการคนละครึ่ง แต่เป็นการขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ส่วนรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหลังจากที่โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเป็นชอบจากที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 19 มกราคม 2564” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ นายอาคม ได้ให้สัมภาษณ์มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

      1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท และ 3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
      1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
      1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้ 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และ 3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ
      นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

    1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน

      1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท และ 2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
      1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564
      1.2.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” มี 4 มาตรการ ประกอบด้วย

      มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวด ผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 – 29 มกราคม 2564

      มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2564

      มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 26 กุมภาพันธ์ 2564

      และมาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น 1.ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564 หรือ 2.พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ 2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ 3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมไปถึงช่วยบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    – ธนาคารออมสิน โทร. 1115
    – ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02-555-0555
    – ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 0-2645-9000
    – ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 1357
    – ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 0-2617-2111
    – ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 1302
    – บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 0-2890-9999