ThaiPublica > เกาะกระแส > “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้เศรษฐกิจติดลบอีกปีหากล็อกดาวน์รอบใหม่ลากยาว 2 ไตรมาส

“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้เศรษฐกิจติดลบอีกปีหากล็อกดาวน์รอบใหม่ลากยาว 2 ไตรมาส

21 มกราคม 2021


กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดสัมมนาประจำปี The Year Ahead 2021 “Navigating the Path to Recovery” ผ่านระบบออนไลน์เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจและการลงทุนในแต่ละปีให้กับลูกค้า Wealth Management ระหว่างวันที่ 20–22 มกราคม 2564 ซึ่งในวันแรกเป็นการนำเสนอโดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ดร.ศุภวุฒินำเสนอในหัวข้อ Covid-19, Vaccine, and the path forward โดยกล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ทำให้มีการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งอาจจะยืดเยื้อถึงสองไตรมาส และส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2564 ติดลบอีกปีหนึ่งได้แม้ไม่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศจากสองปัจจัยด้วยกันคือ หนึ่ง มาตรฐานการบริหารจัดการสถานการณ์ที่แตกต่างกันตามพื้นที่ จากการที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดดูแล บางจังหวัดควบคุมเข้มงวด เนื่องจากการระบาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานต่างประเทศ และสอง การติดเชื้อมาจากประเทศใกล้เคียงที่มีพื้นที่ติดกัน และการที่ไม่ไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ยังมีการเดินทางข้ามแดนระหว่างกัน ประกอบกับไม่สามารถสกัดการลักลอบการเข้าไทยจากพื้นที่ชายแดนที่มีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตรทางฝั่งเมียนมา และ 500 กิโลมตรที่ติดกับมาเลเซีย

แรงงานต่างด้าวประเด็นหลักที่ต้องจัดการ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การระบาดของไวรัสรอบที่สองนี้ต่างจากรอบแรกอย่างมีนัยเมื่อประเมินจากอัตราการติดเชื้อ โดยรอบที่แล้วจากการติดเชื้อรายแรกและมีการระบาดจนถึงขั้นปิดประเทศ ล็อกดาวน์ทั่วประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมและทั้งเดือนของเดือนเมษายน ช่วงนั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 125 คน แต่ครั้งนั้นด้วยความตื่นตระหนก และรู้ว่าแหล่งการติดเชื้อมาจากนักท่องเที่ยวกับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จึงมีการปิดสนามบิน ดำเนินการควบคุมได้ในเวลาที่ค่อนข้างเร็ว และควบคุมเข้มงวด

การระบาดในรอบนี้มีผู้ติดเชื้อต่อวันสูงกว่ารอบแรก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 394 คนต่อวัน แต่ไม่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลรู้แล้วการล็อกดาวน์มีผลกระทบรุนแรงมาก GDP ไตรมาส 2 ของปีที่แล้วติดลบ 12.2% ผู้ที่ได้รับผลกระทบรอบแรกยังไม่ฟื้นตัว หากได้รับกระทบรอบสองอีกก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้

รอบนี้รัฐบาลจึงกระจายอำนาจในการจัดการ ให้อำนาจว่าราชการจังหวัด แนวทางนี้มีข้อดีตรงที่ไม่มีการล็อกดาวน์ การควบคุมแต่ละจังหวัดเข้มข้นต่างกัน บางจังหวัดกำหนดให้มีใบอนุญาตเดินทางเข้า บางจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ระยอง ที่มีธุรกิจปิโตรเคมีและมีท่าเรือ หากควบคุมเข้มงวดเกินไปก็จะมีผลกระทบมาก

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในรอบนี้คือ การติดเชื้อมาจากแรงงานต่างประเทศที่หลายส่วนเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งกลุ่มคนที่ไปเล่นการพนันในประเทศเพื่อนบ้านและนำเชื้อกลับมา การติดเชื้อในรอบใหม่นี้จึงมาจากประเทศรอบด้าน

“ในเมียนมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 592 คนต่อวัน ส่วนในมาเลเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 2208 คนต่อวัน ทำให้น่าห่วงมากว่า ตราบใดที่ใม่สามารถควบคุมชายแดนได้ และที่ผ่านมาคุมไม่ได้ เพราะพื้นที่ชายแดนติดเมียนมามีความยาว 2,400 กิโลเมตร และพื้นที่ติดชายแดนมาเลเซียมีความยาว 595 กิโลเมตร และยังปล่อยให้มีการปล่อยให้ข้ามแดนไปมาได้ รวมทั้งมีการลักลอบเข้ามา ตลาดมืดของแรงงานยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น การระบาดรอบนี้จะรุนแรงและยืดเยื้อกว่ารอบที่แล้ว”

ดร.ศุภวุฒิยกตัวอย่างการจัดการกับแรงงานต่างประเทศของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวและมีความโปร่งใสในเรื่องข้อมูลแรงงาน ขึ้นมาเปรียบเทียบว่า สิงคโปร์ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดในรอบแรก เพราะการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างประเทศที่มีจำนวนถึง 1.35 ล้านคนและถูกกฎหมายทุกคน

ในช่วงนั้นสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 1,000 กว่าคน ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรกว่า 5 ล้านคน แต่สิงคโปร์สามารถควบคุมได้ การติดเชื้อรอบใหม่เฉลี่ยวันละ 8 คน สิงคโปร์เป็นตัวอย่างว่าสามารถจัดการได้

สำหรับแนวโน้มไทย เมื่อประเมินจากเมียนมาที่มีประชากรมากกว่าราว 5–6 ล้านคนแล้ว มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่าไทย 10 กว่าเท่า หรือมีจำนวนกว่า 1 แสนคน รัฐบาลเมียนมาควบคุมสถานการณ์ได้ โดยตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อสะสม (active case) และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันลดลงจากจาก 1,700 คนลงมาที่หลักร้อย แต่ด้านมาเลเซียยังน่าห่วง เพราะผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 24,000 คนแสดงให้เห็นว่ามาเลเซียสามารถจัดการได้ดี

ล็อกดาวน์ยืดเยื้อ 2 ไตรมาสจีดีพีติดลบอีกปี

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การควบคุมการระบาดรอบใหม่แม้ไม่ล็อกดาวน์ แต่ถือเป็นมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ จึงทำให้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5% เป็น 2.0% จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เพราะทำให้จีดีพีไตรมาส 1 ชะลอตัวแน่นอน และหลายฝ่ายเริ่มไม่มั่นใจว่านักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามา 6-7 ล้านคนในครึ่งหลังของปีจะเป็นตามคาดหรือไม่

“เกียรตินาคินภัทรปรับลดคาดการนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 2 ล้านคน”

ช่วงก่อนโควิดไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวน 40 ล้านคน ใช้จ่ายคนละ 50,000 บาท สร้างรายได้ให้ประเทศ 2 ล้านล้านบาท

“เราคิดว่าการล็อกดาวน์แบบกึ่งๆ ล็อกดาวน์ครั้งนี้อาจจะยาวถึงหนึ่งไตรมาสหรือสองไตรมาสเศษ เพราะการควบคุมรอบนี้ทำได้ยากกว่ารอบแรก เนื่องจากแหล่งการติดเชื้อที่เข้ามาเป็นแหล่งที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ หากล็อกดาวน์ลากยาว 2 ไตรมาสหรือสองไตรมาสเศษ และไตรมาส 3 ไม่กล้ารับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีไวรัสที่กลายพันธุ์ เป็นไปได้ว่า กรณีเลวร้ายสุด จีดีพีปีนี้ติดลบอีกปีหนึ่ง”

นอกจากนี้ วัคซีนจะเข้ามาในประเทศไทยและมีการกระจายอย่างกว้างขวางคงเป็นช่วงปลายปี เพราะกว่ารัฐบาลจะได้วัคซีนในปริมาณเพียงพอคงเป็นช่วงปลายปี จากการที่ได้เตรียมวัคซีนไว้ค่อนข้างจำนวนจำกัดในครึ่งแรกของปีนี้ ในช่วง 2 เดือนข้างหน้าจะมีวัคซีน Sinovac จากจีนเข้ามาเพียง 1 ล้านโดสเท่านั้น และเข้ามาอีก 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน ซึ่งเพียงพอสำหรับประชาชน 1 ล้านคน เพราะหนึ่งคนใช้ 2 โดส และจะได้ 26 ล้านโดสจากบริษัทแอสทราเซเนคาที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน หลังจากนั้นรัฐบาลสัญญาว่าจะจัดหาอีก 35 ล้านโดสจากการซื้อ หรือเป็นส่วนที่ผลิตโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะผลิตวัคซีนได้ เนื่องจากก่อนที่จะผลิตได้ ต้องค้นหาวัคซีนที่ได้รับความเห็นชอบจากองค์การอาหารและยา ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในการทดลองขั้นแรกกับมนุษย์ และยังต้องมีการทดลองในระยะที่สองและระยะที่สาม ที่ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยเกือบปี ดังนั้นวัคซีน 35 ล้านโดสที่รัฐบาลสัญญาไว้จะจัดหามาในครึ่งหลังของปี น่าจะเป็นการซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก”

เมื่อรวมตัวเลขวัคซีนทั้งหมดจะเห็นว่า จะมีจำนวนโดสเพียงพอสำหรับประชากร 31.5 ล้านคน หรือ 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ

ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หากต้องการให้คนไทยสามารถต้านเชื้อได้ทั้งประเทศ จะต้องได้รับวัคซีนในสัดส่วน 80–90% ของประชากร ไม่ใช่ 50–60% ซึ่งไทยยังต้องใช้เวลาอีก ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ มีนโยบายจะรีบนำเข้าวัคซีนและจะฉีดวัคซีนให้ได้มากภายในกลางปี

“ดูท่าทีแล้ว การดำเนินการของรัฐบาลไทยดูเหมือนจะซื้อเวลารอวัคซีน เพราะมาตรการอื่นๆ ที่พยายามเยื้อและอุ้มในการระบาดรอบสอง และหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาแก้ปัญหาทุกอย่าง”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ประชากรในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันมาก ประเทศที่ฉีดประชาชนเร็วที่สุดคืออิสราเอลและตะวันออกกลาง ส่วนประเทศใหญ่ที่เริ่มฉีดวัคซีนมาได้ราว 1 เดือนก็ยังทำได้เพียง 1–2% เท่านั้น ยกเว้นอเมริกาที่น่าจะฉีดได้ครึ่งประเทศ
สำหรับไวรัสกลายพันธุ์ ตั้งแต่อังกฤษ แอฟริกาใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีการติดเชื้อง่ายขึ้น เร็วขึ้น แต่ยังไม่เป็นอันตรายมากขึ้น

บริษัทไบโอเอ็นเท็ค ผู้ผลิตวัคซีนอีกราย ได้ทำการวิจัยและรายงานผลการวิจัยว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์สองสายพันธุ์นี้ไม่ได้ให้ทำวัคซีนมีประสิทธภาพลดลงจากเดิม อย่างไรก็ตาม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบผลการวิจัยนี้อีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

นายอาคมกล่าวว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ตั้งแต่ปีที่แล้วเดือนเมษายน หลังจากล็อกดาวน์าสองเดือน อัตราติดเชื้อทรงตัว เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบในไตรมาสสองกลับมาฟื้นตัว ดัชนีชี้วัดหลายตัวดีขึ้นในไตรมาสสาม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งความมั่นใจว่าจีดีพีไตรมาสสุดท้ายจะไม่ติดลบมากเท่าที่คาด

ในปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากปีที่แล้ว การส่งออก การผลิต กลับมาใช้กำลังการผลิตในระดับเดียวกับก่อนการเกิดโควิด ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน และการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน

“ปีนี้เศรษฐกิจจะเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะขยายตัวจากปีก่อน 4% สำหรับแนวโน้มปีนี้ แม้จะมีการระบาดรอบสอง แต่แตกต่างจากการระบาดรอบแรก เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ว่าจะจัดการได้เร็วแค่ไหน ต้นปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบบ้างเป็นบางส่วน โยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด การเดินทาง การขนส่งสินค้าลดลง แต่โรงงานยังผลิตอยู่ โรงงานที่มีแรงงาติดเชื้อ ได้ทำการฆ่าเชื้อและเปิดใหม่”

นายอาคมกล่าวว่า การควบคุมการระบาดรอบสองของรัฐบาลใช้การจำกัดพื้นที่ พื้นที่ศูนย์กลางการระบาดเป็น 5 จังหวัดชั้นใน แต่มีผลต่อจังหวัดรอบนอก 28 จังหวัด และจังหวัดที่ไกลออกไปอีก 58–59 จังหวัด ซึ่งจังหวัดกลุ่มมีผู้ติดเชื้อราว 1–2 คน แต่รัฐบาลมุ่งไปที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดคือส่วนกลาง และพื้นที่ควบคุม 28 จังหวัด

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ไม่มีการล็อกดาวน์ แต่ประชาชนมีการปรับตัว เช่น งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เอกชน รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการให้ทำงานที่บ้าน เพื่อลดการเดินทางเข้าในชุมชน ทำให้การจัดการง่ายขึ้น ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย

“ภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุดต่อเนื่องจากปีก่อน เดิมคาดว่าปีนี้เมื่อประเทศไทยมีความปลอดภัย อาจจะเปิดการท่องที่ยวได้ในกลางปีนี้ แต่ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางด้วยว่าห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ เพราะเกรงว่าอาจจะนำเชื้อกลับเข้าประเทศ”

นายอาคมกล่าวว่า รายได้ภาคท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีสัดส่วน 12% การท่องเที่ยวในประเทศมีสัดส่วน 6% ของการท่องเที่ยวโดยรวม นโยบายของรัฐบาลจึงกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ไปจนถึง 2564 และ 2565 จะเน้นเศรษฐกิจในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เข้ามา รัฐบาลจึงส่งเสริมธุรกิจโรงแรมในประเทศด้วยมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ยังได้กระตุ้นการใช้จ่ายด้วยโครงการ ชิมช้อปใช้ หลังจากโครงการนี้สิ้นสุดลง ได้มีการออกมาตรการคนละครึ่งตั้งแต่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีก่อน และได้ต่ออายุออกไปในปีนี้ ส่งผลให้พื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม 28 จังหวัดยังมีการใช้จ่าย และเพิ่มขึ้นในช่วงเสาร์อาทิตย์ แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ได้หยุดนิ่งทั้งหมด อย่างน้อยมาตรการนี้ช่วยพยุงศรษฐกิจฐานราก

สำหรับการระบาดรอบใหม่รัฐบาลมีหลายมาตรการ ส่วนหนึ่งต่อเนื่องจากปีก่อน มีทั้งมาตรการกระตุ้นและมาตรการช่วยเหลือ โดยมาตรการกระตุ้น ได้แก่ มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน รัฐจ่ายค่าโรงแรมให้ 40% จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้ไม่เกิน 3,000 บาท รวมทั้งมีวอยเชอร์ให้ไปใช้จ่าย แต่โครงการนี้อาจจะชะลอบ้างเพราะบางจังหวัดมีข้อจำกัดการเดินทางและการกักตัว 14 วัน

อีกโครงการคือ มาตรการช่วยเหลือคนละครึ่ง ที่รัฐบาลกำหนดวงเงินไว้ 3,500 บาทต่อคนและใช้ได้ 150 บาทต่อวัน และได้ต่ออายุมาตั้งแต่เดือนมกราคม นอกจากนี้มีมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 30,000 บาทจากโครงการช้อปดีมีคืน สำหรับการยื่นชำระภาษีปี 2563

ด้านการบรรเทาความเดือดร้อน ปีที่แล้วเดือนเมษายน รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน แต่การจ่ายเงินรอบนี้จะกระจายให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ให้ซ้ำซ้อน เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง ซึ่งคาดว่าน่าจะเบิกจ่ายได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยรอบนี้อาจจะผู้ที่ได้รับประโยชน์ 35 ล้านคนจากรอบแรก 40 ล้านคน

ส่วนมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย คือ การลดค่าน้ำค่าไฟ รวมทั้งเรื่องการลดค่าบริการอินเทอร์เน็ต โดย กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) รับไปพิจารณา และยังมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับอสังหาริมทรัพย์

ด้านการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยรัฐบาลร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศ และกระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการพักชำระหนี้และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอี

เพดานเงินกู้ยังไม่เต็มเงินมีเหลือ

นายอาคมกล่าวว่า การดำเนินนโยบายและมาตรการทั้งหมดนี้ใช้เงินจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ซึ่งยังใช้ไม่หมด ส่วนใหญ่ใช้ในมาตรการเยียวยาปีก่อนที่แจกเงินคนละ 5,000 บาท ใช้เงินในส่วนนี้ไปรวม 395,000 ล้านบาท ส่วนเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจใช้ไป 120,000 ล้านบาท ยังมีวงเงินเหลือ

มาตรการในปีนี้จะใช้เงินอีก 200,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบวงเงิน ไม่กระทบงบประมาณ

“กรณีที่มีความกังวลว่าเงินจะไม่พอ ขึ้นอยู่กับว่าการระบาดรอบสองจะยืดเยื้อนานแค่ไหน และขอบเขตพื้นที่การระบาดจะขยายหรือไม่ เป็นความท้าทาย เพราะปีที่แล้วรัฐบาลจัดการได้ดี ปีนี้ไม่มีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจเดินได้ เรามี ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) คอยดูแลระมัดไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ ต้องดูแลให้สมดุลกระทบน้อยที่สุด แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การแพร่ระบาดน้อยที่สุด ที่สำคัญคือวัคซีน ทำให้มีกำลังใจมากกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วเราไม่รู้อะไรเลย วัคซีนก็ไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ แต่วันนี้ชัดเจนไทยได้จองซื้อวัคซีนและมีปริมาณเพียงพอ โดยจะได้รับลอตแรกในเดือนกุมภาพันธ์จากบริษัทแอสทราเซเนคา วัคซีนเป็นปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อ”

สำหรับมาตรการเพิ่มเติม ในกรณีเลวร้ายสุด นายอาคมกล่าวว่า นโยบายการเงินการคลังมีความสำคัญ เวลานี้นโยบายการเงิน แบงก์ชาติ กระทรวงการคลังประสานงาน มีการผ่อนคลายนโยบายเพื่อให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น

“เรายังมีช่องที่จะใช้เงินได้ ตามพระราชกำหนดกู้เงินฉบับที่สอง ถ้าจำเป็นสามารถทำได้ แต่ยังไม่พูดถึง เพราะการก่อหนี้ปัจจุบันยังอยู่ที่ 50% ของจีดีพี ขณะที่เพดานเงินกู้อยู่ที่ 60% และถ้าจำเป็น พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ก็ให้ขยายเพดานเงินขึ้นได้”

นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลอาจจะมีมาตรการพิ่มเติมในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ในลักษณะการกระตุ้น หากจำเป็น

ส่วนแนวนโยบายหลังโควิด มุ่งไปทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสิ่งที่รัฐบาลดำนินการต่อจากรัฐบาลชุดเดิม คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการเชื่อมอย่างไร้รอยต่อทางกายภาพ ทั้งรถไฟ ถนนที่มีการขยายถนนจำนวนมาก และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ รถไฟ รถไฟฟ้า จัดสรรงบให้กับระบบรางจำนวนมาก เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดและระหว่างประทศ ส่วนการชื่อมต่อทางอากาศได้ปรับปรุงสนามบินจำนวนมาก ขณะที่ท่าเรือก็ได้ลงทุนในอู่ตะเภา โครงการสนามบินนานาชาติ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพื้นฐานพื้นที่EEC

นอกจากนี้ เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ 12 กลุ่มที่เป็นอนาคตของประเทศ เพื่อสร้างรายได้อื่นนอกจากการท่องเที่ยว ทั้งในเกษตร ดิจิทัล และในปี 2564 จะเริ่มผลักดันรัฐบาลดิจิทัล